ห้องโถงเอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“ห้องโถงเอก” ของคฤหาสน์บาร์ลีย์ที่ยอร์คที่ได้รับการบูรณะให้เหมือนห้องโถงที่สร้างราว ค.ศ. 1483

ห้องโถงเอก (อังกฤษ: Great hall) คือห้องหลักของปราสาท, พระราชวัง, วัง หรือ คฤหาสน์มาเนอร์ขนาดใหญ่ในยุคกลาง และในคฤหาสน์ชนบทที่สร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในขณะนั้น “Great” ในคำว่า “Great hall” มีความหมายว่า “ใหญ่” และยังมิได้หมายถึงความเป็น “เอก” เช่นในนัยยะของความหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน ในยุคกลางห้องโถงเอกก็จะเรียกกันเพียงว่า “ห้องโถง” เท่านั้นนอกไปเสียจากว่าสิ่งก่อสร้างนั้นจะมีห้องโถงมากกว่าหนึ่งห้อง แต่คำว่า “ห้องโถงเอก” เป็นคำที่ใช้สำหรับห้องโถงประเภทนี้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี เพื่อที่จะแยกจากห้องโถงประเภทอื่นที่สร้างขึ้นในสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นหลังยุคกลาง ห้องโถงเอกมักจะพบในฝรั่งเศส, อังกฤษ และ สกอตแลนด์ แต่ห้องที่มีลักษณะดังว่าก็พบในประเทศอื่นๆ บางประเทศในยุโรปด้วย

ลักษณะของห้องโถงเอกโดยทั่วไปมักจะเป็นห้องสี่เหลี่ยมระหว่างที่ยาวหนึ่งครึ่งถึงสามเท่าของความกว้าง และจะสูงกว่าความกว้าง ทางเข้าก็จะ “ทางเดินที่เป็นฉาก” ทางด้านหนึ่งของห้อง หน้าต่างจะอยู่ทางด้านยาวของตัวห้อง และมักจะรวม มุขหน้าต่าง และเหนือทางเข้าบางครั้งก็จะมีระเบียงนักดนตรี ด้านตรงกันข้ามของห้องยกขึ้นเป็นยกพื้นเป็นที่ตั้งของโต๊ะของประมุขของเจ้าของสถานที่และแขกสำคัญๆ ห้องส่วนตัวของเจ้าของและครอบครัวก็จะอยู่ถัดออกไปจากบริเวณนี้ ส่วนครัว, ห้องเก็บสุรา และ ห้องเก็บอาหารอยู่ตรงกันข้ามกับทางเข้า

ในยุคกลางผู้เป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ มักจะมีห้องพักผ่อนเพียงไม่กี่ห้อง ฉะนั้นห้องโถงเอกจึงเป็นห้องสารพัดประโยชน์ ที่ใช้เป็นสถานที่รับแขก และสถานที่ที่สมาชิกในครอบครัวมากินอาหารร่วมกัน ที่จะรวมทั้งเจ้าของบ้าน, ผู้รับใช้ชั้นสูงและชั้นรองบางคน ในเวลากลางคืน สมาชิกในบ้านก็อาจจะใช้เป็นที่หลับที่นอนด้วย

ลักษณะสถาปัตยกรรม[แก้]

ผังคฤหาสน์มาเนอร์คฤหาสน์ฮอแรมฮอลล์ที่แสดงให้เห็นทางเข้าที่เป็นฉาก (เหนือซุ้มทางเข้า (porch) ในผัง), ยกพื้น, มุขหน้าต่าง, บันไดเอกอยู่ทางด้านที่เป็นที่ตั้งของยกพื้น ความสูงของห้องสูงเท่ากับบ้านสองชั้น

ห้องโถงเอกมักจะมีเตาผิงใหญ่ที่มีขนาดใหญ่โตพอที่จะเดินหรือยืนข้างในได้ เตาผิงใช้เป็นเครื่องทำความร้อนและสำหรับทำอาหาร แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ การทำอาหารส่วนใหญ่ก็จะทำกันในครัวก็มักจะตั้งอยู่ชั้นล่าง และโดยทั่วไปแล้วเตาผิงก็จะมีหิ้งเตาผิงทำด้วยหินหรือไม้ที่สลักเสลาอย่างงดงาม หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นงานปูนปั้น ที่อาจจะประดับด้วยตราอาร์ม, คำขวัญ (ที่มักจะเป็นภาษาละติน), แคริอาทิด หรือ สิ่งตกแต่งอื่นๆ ห้องโถงชั้นบนของคฤหาสน์มาเนอร์ของฝรั่งเศสเตาผิงมักจะมีขนาดใหญ่มากและตกแต่งอย่างงดงาม ตามปกติแล้วห้องโถงเอกมักจะเป็นห้องที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราที่สุดในบ้าน ที่รวมทั้งการใช้บัวตกแต่งหน้าต่างด้านนอกด้วย และตัวหน้าต่างเองก็จะตกแต่งด้วยลวดลายซี่หินอย่างละเอียด

ทางตะวันตกของฝรั่งเศสคฤหาสน์มาเนอร์สมัยต้นจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ห้องโถงชั้นล่าง ต่อมาห้องโถงที่สงวนไว้สำหรับเจ้าของบ้านและแขกผู้มีเกียรติก็ย้ายขึ้นไปอยู่ชั้นสอง ที่เรียกว่า “salle haute” หรือห้องโถงชั้นบน หรือ ห้องสูง ในคฤหาสน์สามชั้นบางหลังห้องโถงชั้นบนก็อาจจะมีความสูงขึ้นไปถึงหลังคาชั้นสามของอาคาร ห้องโถงชั้นล่างหรือ “salle basse” ยังคงอยู่และใช้เป็นสถานที่สำหรับการรับแขกชั้นอื่นๆ[1] สิ่งที่มักพบกันบ่อยในนอร์ม็องดีและบริตานีคือห้องโถงชั้นบนที่ตั้งซ้อนอยู่บนห้องโถงชั้นล่าง ทางเข้าห้องโถงชั้นบนจากห้องโถงชั้นล่างมักจะทำได้โดยใช้หอบันไดที่ตั้งอยู่ภายนอกอาคาร นอกจากนั้นห้องโถงชั้นบนก็มักจะเป็นที่ตั้งของห้องนอนของเจ้าของบ้านและอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นที่นั่งเล่นและใช้สอยอื่นๆ

ในบางครั้งก็อาจจะมีการติดตั้งเครื่องดักฟังแบบหยาบๆ ที่ทำให้เจ้าของบ้านได้ยินเสียงสนทนาที่เกิดขึ้นในห้องโถงเอกในห้องนอนชั้นบน ในสกอตแลนด์อุปกรณ์นี้เรียกว่า “Laird's lug” หรือในคฤหาสน์มาเนอร์ก็อาจจะมีรูสำหรับเจ้าของบ้านใช้แอบดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องโถงเอกที่เรียกว่า “จูดาส์” ในภาษาฝรั่งเศส

ตัวอย่าง[แก้]

ห้องโถงเอกของปราสาทสเตอร์ลิง
ห้องโถงเอกของคฤหาสน์แฮทฟิลด์

ห้องโถงเอกยังคงมีเหลือให้ชมหลายแห่ง ห้องโถงเอกขนาดใหญ่ที่เป็นของหลวงที่ยังคงอยู่คือห้องโถงเอกของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ และห้องโถงเวนเสลาสที่ปราสาทปราก ห้องโถงเอกของคฤหาสน์เพนสเฮิร์สต์ในเค้นท์ในอังกฤษเป็นห้องที่แทบจะไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ส่วนตัวอย่างของห้องจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในอังกฤษ, เวลส์ และ สกอตแลนด์ยังคงมีด้วยกันเป็นจำนวนพอสมควร เช่นที่คฤหาสน์ลองลีท (อังกฤษ), คฤหาสน์เบอร์ลีย์ (อังกฤษ), คฤหาสน์บอดีสกอลเลน (เวลส์), ปราสาทมูชอลล์ส (สกอตแลนด์) และ ปราสาทแครธ (สกอตแลนด์) แต่เมื่อมาถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1700 ห้องโถงเอกก็เริ่มหมดความหมายและความสำคัญลง เมื่อการปกครองจากศูนย์กลางในมือของพระมหากษัตริย์มีความแข็งแกร่งขึ้น ผู้ที่มาจากตระกูลที่มีฐานะในสังคมดีก็มักจะไม่เข้ารับราชการกับลอร์ดเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้รับการคุ้มครอง เมื่อช่องว่างทางสังคมระหว่างนายกับไพร่แยกจากกันมากขึ้น โอกาสที่ผู้รับใช้กับเจ้าของปราสาทจะกินอาหารด้วยกันก็น้อยลง และผู้รับใช้เองก็ถูกสั่งห้ามเข้ามาในห้องโถงเอก

อันที่จริงแล้วผู้รับใช้มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้บันไดเป็นทางเข้าห้องโถงเอกของสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ เดียวกับเจ้าของบ้านในสมัยแรกๆ ฉะนั้นบางครั้งจึงพบบันไดสำหรับผู้รับใช้เช่นที่ปราสาทมูชอลล์ส ต่อมาห้องพักผ่อนนั่งเล่นในคฤหาสน์ชนบทก็มีเพิ่มมากขึ้น และมีวัตถุประสงค์ของการใช้สอยที่เฉพาะเจาะจงและมีความสำคัญขึ้น เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ห้องโถงของคฤหาสน์ใหม่จึงใช้เป็นเพียงทางเข้าที่ใช้เพียงเดินผ่านเพื่อไปยังส่วนอื่นๆ ของคฤหาสน์แต่ไม่ใช่ที่สำหรับการอยู่อาศัยอย่างเช่นที่เคยเป็นมา

วิทยาลัยเช่นมหาวิทยาลัยเดอแรม, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ต่างก็มีห้องโถงที่มีลักษณะที่มาจากห้องโถงเอกที่ยังคงใช้เป็นโรงอาหารอยู่เป็นประจำวัน ห้องโถงดังกล่าวที่ใหญ่ที่สุดเป็นของมหาวิทยาลัยคอลเลจเดอแรม และ Inns of Court ในลอนดอน และ King's College Schoolที่วิมเบิลดัน "โต๊ะสูง" (ที่มักจะตั้งบนยกพื้นด้านหนึ่งของห้อง ที่ตรงกันข้ามกับทางเข้า) เป็นที่นั่งของอาจารย์ ขณะที่นักเรียนจะนั่งรับประทานอาหารบนโต๊ะที่ตั้งฉากกับโต๊ะสูง ตลอดความยาวของห้องโถง ซึ่งเทียบเท่ากับการรักษาระดับความสูงต่ำของฐานะผู้ใช้ห้องเช่นเดียวกับในยุคกลาง

การเสื่อมความนิยมและการฟื้นฟู[แก้]

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาห้องโถงก็หมดความสำคัญลง และมาแทนที่ด้วยห้องเฉพาะกิจต่างที่เริ่มมีกันขึ้นมาสำหรับทั้งครอบครัวและแขก เช่นห้องรับประทานอาหาร, ห้องนั่งเล่น และสำหรับคนรับใช้ก็จะมีห้องโถงคนรับใช้โดยเฉพาะ และห้องนอนของคนรับใช้ก็จะอยู่บนห้องใต้เพดาน ห้องโถงของคริสต์ศตวรรษที่ 17, 18 และ 19 ของคฤหาสน์ชนบทหรือวังส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้เป็นโถงทางเข้าแม้ว่าจะเป็นห้องที่สร้างอย่างงดงามก็ตาม แต่เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้มีการรื้อฟื้นการใช้ห้องโถงเอกขึ้นมาอีก โดยใช้เป็นห้องเลี้ยงรับรอง หรือการสังสรรค์ แต่มิได้ใช้เป็นห้องรับประทานอาหารหรือที่หลับที่นอนสำหรับคนรับใช้ การนำกลับมาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูยุคกลางเช่นที่คฤหาสน์ธอร์บีย์ฮอลล์

อ้างอิง[แก้]

  1. Jones, Michael and Gwyn Meirion-Jones, Les Châteaux de Bretagne, Rennes: Editions Quest-France,1991, pp 40-41

ดูเพิ่ม[แก้]