หีบวัตถุมงคล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หีบวัตถุมงคลปิดทองของนักบุญทอรินัส
ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระโคตมพุทธเจ้าจากพระสถูปในเมืองเปชวาร์ ประเทศปากีสถาน ภายหลังถูกส่งไปเก็บรักษาที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
เครื่องบรรจุวัตถุมงคลที่เซวิลล์

หีบวัตถุมงคล (อังกฤษ: reliquary) หรือบางครั้งก็เรียกว่า “หีบสักการะ” หรือคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “châsse” ที่แปลว่า “หีบ” คือตู้ที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลที่อาจจะเป็นชิ้นส่วนจากร่างของนักบุญ เช่น กระดูก ชิ้นเสื้อผ้า หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับนักบุญหรือบุคคลสำคัญทางศาสนา ความแท้ของสิ่งของดังกล่าวมักจะเป็นเรื่องที่โต้แย้งกัน คริสต์ศาสนสถานบางแห่งก็ระบุว่าต้องการเอกสารที่พิสูจน์ประวัติความเป็นเจ้าของ

ลักษณะรูปทรงและประวัติ[แก้]

“philatory” เป็นหีบวัตถุมงคลแบบใสที่ออกแบบเพื่อให้เห็นกระดูกหรือวัตถุมงคลของนักบุญที่บรรจุอยู่ภายใน หีบวัตถุมงคลอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “แป้นมอนสแทรนซ์” (monstrance) ซึ่งก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่สามารถมองเห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในได้

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าวัตถุมงคลมีความสำคัญต่อทั้งผู้นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ[1][2][3] ในวัฒนธรรมของทั้งสองศาสนา วัตถุมงคลมักจะบรรจุไว้ในเจดีย์หรือวัด เพื่อให้ผู้ศรัทธาสามารถเดินทางมาทำการจาริกแสวงบุญได้

ในแอฟริกาตะวันตก สิ่งบรรจุวัตถุมงคลที่ใช้ในธรรมเนียม Bwete จะประกอบด้วยสิ่งของที่ถือว่าขลังหรือกระดูกของบรรพบุรุษ และจะมีรูปผู้พิทักษ์อยู่ด้วย

รูปเคารพของนักบุญกุรีย์แห่งคาซานที่มีวัตถุมงคลฝังอยู่ด้วยในภาพ

การใช้สิ่งบรรจุวัตถุมงคลกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในธรรมเนียมของผู้นับถือคริสต์ศาสนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 วัตถุมงคลสักการะกันในคริสต์ศาสนสถานของนิกายออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ โรมันคาทอลิก และบางครั้งก็ในนิกายอังกลิคันด้วย ตู้หรือหีบวัตถุมงคลเป็นสิ่งที่ใช้ป้องกันและใช้แสดงวัตถุมงคลที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ได้รับพรจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าให้มีพลังปาฏิหาริย์ สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลมีด้วยกันหลายขนาดตั้งแต่เป็นจี้หรือแหวนไปจนถึงหีบที่มีลักษณะคลายหีบศพอย่างง่าย ๆ ไปจนถึงสิ่งที่ตกแต่งอย่างวิจิตร สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลหลายชิ้นออกแบบเพื่อการขนย้ายได้ง่าย หรือใช้ในการตั้งแสดงให้สาธารณชนทำการสักการะได้ หรือใช้ในการแห่ในกระบวนพิธีทางศาสนาในวันสมโภชน์นักบุญหรือวันสำคัญทางศาสนา นักแสวงบุญก็มักจะนิยมมาทำการสักการะวัตถุมงคลที่อาจจะทำโดยการก้มหรือจูบวัตถุมงคล

สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลในสมัยแรกโดยทั่วไปจะเป็นกล่องที่อาจจะเป็นแบบเรียบง่ายหรือมีลักษณะคล้ายสิ่งก่อสร้าง (ตามทรงคริสต์ศาสนสถาน) ที่เรียกกันว่า “หีบสักการะ” หรือ “chasses” สัตยกางเขน (True Cross) เป็นวัตถุมงคลเป็นที่นิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมาและบรรจุในสิ่งที่เป็นทรงกางเขนที่ทำด้วยเงินหรือทอง ตกแต่งด้วยเอนาเมลและอัญมณี ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 หีบบรรจุวัตถุมงคลทรงเดียวกันกับวัตถุที่แสดงกลายมาเป็นสิ่งที่นิยมทำกัน เช่น พระเศียรของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ก็ได้รับการบรรจุในกล่องที่เป็นทรงศีรษะ ในทำนองเดียวกันกระดูกของนักบุญก็มักจะบรรจุในกล่องที่เป็นทรงเดียวกับส่วนของกระดูกที่แสดง เช่น เท้าหรือมือ เป็นต้น

ในปลายยุคกลางก็มีการเริ่มใช้ “แป้นมอนสแทรนซ์” ที่แสดงวัตถุมงคลในผอบแก้วที่ตั้งบนท่อนโลหะ ในช่วงเดียวกันนี้ก็เริ่มมีที่บรรจุวัตถุมงคลที่เป็นเพชรพลอยที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลขนาดเล็ก เช่น หนามศักดิ์สิทธิ์จากมงกุฎหนาม

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นักปฏิรูปอย่างมาร์ติน ลูเทอร์เป็นปฏิปักษ์ต่อการสักการะวัตถุมงคล เพราะวัตถุดังกล่าวไม่มีเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเป็นสิ่งของที่แท้จริงตามที่กล่าว วัตถุมงคลหลายชิ้นโดยเฉพาะทางตอนเหนือของยุโรปถูกทำลายโดยกลุ่มคาลวินหรือผู้สนับสนุนการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ บางชิ้นก็ถูกหลอมหรือถอดออกเพื่อเอาอัญมณีที่บรรจุอยู่ภายในหรือใช้ตกแต่ง แต่กระนั้นการสร้างสิ่งบรรจุวัตถุมงคลก็ยังคงทำกันอยู่จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Two Gandhāran Reliquaries" K. Walton Dobbins. East and West, 18 (1968), pp. 151–162.
  2. The Stūpa and Vihāra of Kanishka I. K. Walton Dobbins. (1971) The Asiatic Society of Bengal Monograph Series, Vol. XVIII. Calcutta.
  3. "Is the Kaniṣka Reliquary a work from Mathurā?" Mirella Levi d’Ancona. Art Bulletin, Vol. 31, No. 4 (Dec., 1949), pp. 321–323.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หีบวัตถุมงคล