หอยนางรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอยนางรม
หอยนางรมกำลังอ้าปากกินแพลงตอนใต้น้ำ

หอยนางรม หรือ หอยอีรม[1] มีชื่อสามัญ คือ Oyster หอยนางรม (วงศ์ Ostreidae) นั้นมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมเลี้ยงกันอยู่โดยทั่วไปนั้น แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ด้วยกันคือ หอยนางรมพันธุ์เล็กหรือหอยนางรมปากจีบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saccostrea commercialis หอยนางรมพันธุ์นี้มีเลี้ยงมากทางภาคตะวันออก ส่วนหอยรมอีกสองพันธุ์ที่เหลือเป็นหอยนางรมที่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่เรียกว่า หอยตะโกรม (Crassostrea belcheri) และหอยตะโกรมกรามดำ (C.lugubris) แม้ว่าจะมีการเลี้ยงกันบ้างในภาคตะวันออก แต่การเลี้ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี

หอยนางรมเป็นอาหารทะเลที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เป็นอาหารที่จัดได้ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง

อนึ่งคำว่า "หอยอีรม" มิใช่คำหยาบคายแต่อย่างใด ซึ่งคำว่า "อี" ที่อยู่หน้าคำ มีเพื่อประโยชน์ทางการออกเสียง[1]

ประโยชน์ของหอยนางรม[แก้]

ไข่มุกในหอยนางรม

หอยนางรม เป็นอาหารทะเลที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เป็นอาหารที่จัดได้ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่วนเปลือกหอยยังใช้ทำปูนขาว ซึ่งใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง การเกษตรกรรม อุตสาหกรรมหลายประเภท เนื้อหอยนางรมนอกจากจะใช้รับประทานสด และปรุงอาหารได้หลายอย่าง และยังแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปได้อีกด้วย เช่นหอยนางรมดอง หอยรมควัน และสกัดเป็นน้ำมันหอย หอยนางรมพบอยู่ทั่วไปตามบริเวณน้ำตื้นชายเกาะ ชายฝั่งทะเล แหล่งน้ำที่มี อาณาเขตติดต่อกับทะเล หอยนางรมมีหลายชนิดที่พบในประเทศไทย ได้แก่ หอยนางรมปากจีบขนาดเล็ก และหอยนางรมพันธุ์โตที่มีชื่อว่า "หอยตะโกรม" พบมากในจังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ตราด

ยังสามารถสร้างเครื่องประดับแสนงาม อย่างไข่มุกได้อีกด้วย แต่อาจไม่สวยเท่าไข่มุกที่ได้จากหอยมุกเท่าใดนัก

สถาบันหัวใจและปอดแห่งชาติของแคนาดา ระบุว่า หอยนางรมอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร คือเป็นแหล่งของวิตามินเอ บีหนึ่ง (ไทอามิน) บีสอง (ไรโบฟลาวิน) บีสาม (ไนอาซิน) ซี (กรดแอสคอร์บิค) และดี (แคลซิฟีรอล) การบริโภคหอยนางรมตัวที่มีขนาดกลาง 4-5 ตัว ช่วยให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุประเภท แร่เหล็ก ทองแดง ไอโอดีน แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี แมงกานีส และฟอสฟอรัส อย่างไรก็ตาม อาหารดิบ อาจมีแบคทีเรีย ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับ มะเร็ง โรคระบบภูมิคุ้มกัน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหอยนางรมสด

ลักษณะของหอยนางรม[แก้]

ลักษณะของนางรมที่ฝาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

หอยนางรมเป็นหอยทะเลกาบสอง 2 ฝา มีกาบหนาแข็ง ซึ่งฝาทั้งสองมีขนาดไม่เท่ากัน บางชนิดมีสีน้ำตาล หรือสีเทา กาบบนจะใหญ่และแบนกว่ากาบล่าง ส่วนกาบล่างที่มีลักษณะโค้งเว้านี้ จะเป็นส่วนที่มีตัวหอยติดอยู่ ด้านที่มีเนื้อฝังอยู่จะเว้าลึกลงไปคล้ายรูปถ้วย หรือจาน และยึดติดกับวัตถุแข็ง เช่น ก้อนหิน ไม้หลัก หรือเปลือกหอยที่จมอยู่ในทะเล ส่วนฝาปิดอีกด้านหนึ่งแบนบาง ขนาดความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร เปลือกหอยนางรมประกอบด้วยหินปูนร้อยละ 95

หอยนางรมแบ่งเป็น ๒ พวก คือ พันธุ์เล็ก เรียกว่า "หอยเจาะ" หรือ "หอยปากจีบ" พันธุ์ใหญ่เรียกว่า "หอยตะโกรม" รสชาติของหอยนางรมขึ้นอยู่กับแหล่งอาศัย หรือแหล่งเพาะเลี้ยงมากกว่าสายพันธุ์

การดำรงชีวิตของหอยนางรม[แก้]

หอยนางรมดำรงชีวิต อยู่ได้โดยการดูดน้ำรอบ ๆ ตัวเข้าไปทางด้านหนึ่งและ ปล่อยทิ้งออกอีกด้านหนึ่ง อาหารและแก๊สออกซิเจนจะเข้าไปพร้อมกับน้ำ อาหารของ หอยนางรมได้แก่ แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ หอยนางรมเป็นสัตว์ที่มีเพศผู้ และเพศเมียแยกกัน ในช่วงที่มีการผสมพันธุ์หอยตัวเมียจะปล่อยไข่ และหอยตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกันในน้ำ

แหล่งที่พบหอยนางรมในประเทศ[แก้]

พบโดยทั่วไปตามบริเวณน้ำตื้นชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำลำคลอง ที่สุราษฎร์ธานี แหล่งที่เลี้ยงหอยนางรมใหญ่ที่สุด คือบริเวณอ่าวที่ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ก็มีการเลี้ยงที่บริเวณ แหลมซุย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงหอยนางรมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 741 ราย เนื้อที่ ประมาณ 4,866 ไร่

หอยนางรมที่พบในประเทศไทยจะวางไข่ตลอดปี มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิด และแหล่งที่อยู่ เช่น หอยตะโกรม ที่แม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี วางไข่มากที่สุดในเดือน ตุลาคม-ธันวาคม หอยนางรมปากจีบขนาดเล็กที่ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรีวางไข่เป็น 3 ช่วง คือช่วงแรกเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงที่ 2 เดือนมิถุนายน-กรกฎาคมและช่วงที่ 3 เดือนกันยายน-ตุลาคม ผลผลิตของหอยนางรมส่วนใหญ่จะเก็บได้จากธรรมชาติ

พันธุ์หอยนางรม[แก้]

คนไทยนักชิมอาจคุ้นเคยกันดีกับ หอยนางรมสุราษฎร์ และ หอยนางรมภูเก็ต (ภูเก็ตเรียก "หอยติบ") ที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของหอยนางรมไทยในเรื่องขนาด ประเทศอื่น ๆ ก็มีหอยนางรมเช่นเดียวกัน และมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป เพราะหอยนางรมแต่ละท้องถิ่นมีรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันไป เนื่องจากความแตกต่างของระดับความเค็มของน้ำทะเล อุณหภูมิน้ำทะเล และคุณภาพของน้ำ

หอยนางรมพันธุ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เป็นหอยนางรมที่ได้รับความนิยมในการรับประทานในหมู่นักชิมหอยนางรม และร้านที่จำหน่ายหอยนางรมเหล่านี้ในต่างประเทศนิยมเรียกตัวเองว่าเป็น ออยสเตอร์ บาร์ (Oyster Bar) และมีบริกรเปิดหอยนางรมให้รับประทานกันสด ๆ

ทัสมาเนียน เนทีฟ แฟลต ออยสเตอร์ (Tasmanian Native Flat Oyster) หอยนางรมที่มีชื่อของออสเตรเลีย หอยนางรมชนิดนี้เป็นหอยนางรมประจำถิ่นของเกาะทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เปลือกมีความหนา เจริญเติบโตอยู่ตามก้นทะเลที่เป็นทรายหรือเต็มไปด้วยตะกอนในเขตน้ำลึกรอบชายฝั่งทะเลของเกาะทัสมาเนีย เมื่อเทียบกันในด้านความสด หอยนางรมทัสมาเนียให้กลิ่นที่ชัดกว่าหอยนางรมในแถบแปซิฟิกด้วยกัน

นิวซีแลนด์ แปซิฟิก ออยสเตอร์ (New Zealand Pacific Oyster) เป็นหอยนางรมที่มีชื่อของนิวซีแลนด์ คือ มีชื่อเสียงในด้านเป็นหอยนางรมที่มีถิ่นที่อยู่ในเขตทะเลและสิ่งแวดล้อมที่มีความสะอาดเป็นธรรมชาติสุด ๆ ทำให้หอยนางรมนิวซีแลนด์ได้ชื่อว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง (วิตามิน แร่ธาตุโดยเฉพาะสังกะสี เหล็ก ไอโอดีน) และทำให้เนื้อหอยมีความอวบอูม มีรสเค็มอ่อน ๆ แต่พอดี

คูมาโมโต (Kumamoto) หอยนางรมชนิดนี้โตช้ามาก ๆ จึงมักมีขนาดเล็ก เพาะเลี้ยงกันมากมานานกว่า 20 ปีแล้วตามชายฝั่งทะเลแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และวอชิงตัน เพิ่งมาได้รับความนิยมในการรับประทานและสร้างตลาดได้ราวกลางปี ค.ศ.1980 คูมาโมโตให้กลิ่นและรสชาติที่เต็มปากเต็มคำ การรับประทานหอยนางรมชนิดนี้จะได้กลิ่นและรสชาติที่คล้ายเนยและเค็มนิด ๆ ปิดท้ายด้วยรสและกลิ่นหวานอ่อน ๆ แบบผลไม้เจือแร่ธาตุ ความจริงหอยนางรมชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำเรื่องขอพันธุ์หอยนางรมชนิดนี้กลับไปเพาะพันธุ์ใหม่

อีเกิล ร็อค (Eagle Rock) หอยนางรมชนิดนี้ครั้งแรกถูกเลี้ยงในถุงตาข่ายขนาดใหญ่วางไว้เหนือก้นทะเลนอกฝั่งวอชิงตัน (ทางตอนใต้) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นแปดเดือน อีเกิล ร็อค จะถูกนำมาปล่อยไว้ตามชายหาดให้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ก่อนจะจับมาบริโภค มร.แพทริคบอกว่า เนื้อของอีเกิล ร็อค อวบอิ่ม มีรสเค็มอ่อน ๆ และจบด้วยรสหวานคล้ายผลไม้ประเภทแตง

บารอน พอยท์ (Barron Point) หอยนางรมชนิดนี้ถูกเลี้ยงนอกชายฝั่งวอชิงตันทางตอนใต้เช่นเดียวกัน แต่เลี้ยงอยู่ในรางโดยตลอด จึงทำให้เปลือกหอยมีความกลม ตัวถ้วยของเปลือกมีความลึก น้ำทะเลทางตอนใต้ของวอชิงตันมีสารอาหารมากมายและไม่ค่อยเค็ม จึงทำเนื้อหอยนางรม 'บารอน พอยท์' มีรสชาติเค็มแบบนุ่มนวล เนื้อหอยมีไขมันประเภทไกลโคเจน (Glycogen) จึงทำให้เนื้อมีความชุ่มฉ่ำและมีรสหวาน

เซนต์ ไซมอน (St.Simon) เป็นหอยนางรมที่เติบโตนอกชายฝั่งทะเล นิว บรันสวิค (New Brunswick) ทางตอนเหนือประเทศแคนาดา ตัวหอยมีลักษณะกลม และเนื่องจากน้ำทะเลทางตอนเหนือของประเทศแคนาดาค่อนข้างเค็มจัด เต็มไปด้วยสารอาหาร จึงทำให้เนื้อหอยนางรมเซนต์ ไซมอนมีความเค็ม แต่ก็มีรสหวานด้วยเพราะตัวอ้วนพีด้วยไกลโคเจน

เบลอน ดับเบิลโอ (Belon OO) เป็นหอยนางรมที่นักชิมหอยนางรมรู้จักดี ค่อนข้างมีลักษณะกลมสมส่วน กลิ่นและรสชาติเต็มปากเต็มคำ และราคาแพง การกินหอยนางรมชนิดนี้ไม่ควรปรุงโดยผ่านความร้อนโดยเด็ดขาด เบลอน ดับเบิลโอ เป็นหอยนางรมท้องถิ่นของเกาะอังกฤษ ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดในช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นฤดูวางไข่ของหอยนางรมชนิดนี้ ทำให้เนื้อหอยมีลักษณะเป็นเม็ดหยาบเล็ก ๆ และกลิ่นหอมน้อยลง จึงไม่นิยมกินในช่วงเวลาดังกล่าว

ความเกี่ยวข้องกับเทศกาลกินเจ[แก้]

มีบางความเชื่อว่า หอยบางชนิดสามารถกินเป็นอาหารเจได้ โดยมีตำนานมาจากเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านซึ่งพาประชาชนส่วนหนึ่งที่นับถือในพระพุทธศาสนาหนีจากการเข่นฆ่าจากพระเจ้าเมี่ยวจวงลงเรือออกทะเลไป พอนาน ๆ วันเข้าเสบียงที่เตรียมมานั้นก็เริ่มจะหมดลงทุกทีจนหมด ผู้คนขาดอาหารเกิดความหิวโหย เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านทรงตั้งจิตอธิษฐานโดยเอาไม้พายจุ่มลงสู่ทะเลว่าหากสิ่งใดติดขึ้นมาก็จะเสวยสิ่งนั้นเป็นอาหาร ผลปรากฏว่ามีหอยนางรมติดไม้พายขึ้นมา ด้วยหอยนางรมเองก็ยอมปวารณาตนถวายแด่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านและเหล่าพุทธศาสนิกชน จากนั้นเป็นต้นมา หอยนางรมจึงสามารถกินเป็นอาหารเจได้ และนำมาทำเป็นซอสปรุงอาหารผัดกับผักต่าง ๆ เช่น คะน้าน้ำมันหอย เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 บรรจบ พันธุเมธา, ศาสตราจารย์, ดอกเตอร์. ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2514, หน้า 67

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]