หอยหวาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หอยตุ๊กแก)
หอยหวาน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
โดเมน: Eukaryota
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Gastropoda
ชั้นย่อย: Caenogastropoda
อันดับ: Neogastropoda
ไม่ได้จัดลำดับ: clade Hypsogastropoda
วงศ์ใหญ่: Muricoidea
วงศ์: Babyloniidae
สกุล: Babylonia
สปีชีส์: B.  areolata
ชื่อทวินาม
Babylonia areolata
(Link, H.F., 1807)
ชื่อพ้อง[1]
ชื่อพ้อง
  • Babylonia areolata f. austraoceanensis Lan, 1997
  • Babylonia lani Gittenberger & Goud, 2003
  • Babylonia magnifica Fraussen & Stratmann, 2005
  • Babylonia tessellata (Swainson, 1823)
  • Buccinum areolatum Link, 1807 (การจัดกลุ่มเดิม)
  • Buccinum maculosum Röding, 1798 (ไม่ถูกต้อง: คำพ้องรูปรองของ Buccinum maculosum Martyn, 1784)
  • Eburna chemnitziana Fischer von Waldheim, 1807
  • Eburna tessellata Swainson, 1823

หอยหวาน หรือ หอยตุ๊กแก หรือ หอยเทพรส (อังกฤษ: Spotted babylon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Babylonia areolata) เป็นหอยทะเลฝาเดี่ยวชนิดหนึ่ง

เปลือกของหอยหวานค่อนข้างหนา ทรงไข่ ผิวเรียบสีขาว มีลายสีน้ำตาลเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียงเป็นแถวตามเกลียวเปลือก ลำตัวแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ หัว ประกอบด้วยปากที่เป็นงวงยื่น หนวด 1 คู่ และตา 1 คู่ คออยู่ถัดมาจากหนวด เป็นบริเวณที่พบอวัยวะเพศผู้ แมนเทิลเป็นส่วนที่ขดอยู่ภายในเปลือก ประกอบด้วยอวัยวะภายในต่าง ๆ ช่องขับถ่าย และท่อหายใจ (Siphon tube) และเท้าเป็นแผ่นกล้ามเนื้อแผ่กว้างใช้ในการเคลื่อนที่[2] อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นทรายหรือทรายปนโคลน ในระดับความลึกตั้งแต่ 2–20 เมตร พบได้เฉพาะฝั่งอ่าวไทย[2] ในต่างประเทศพบได้ที่ ทะเลฟิลิปปิน, ทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และศรีลังกา ออกหากินตอนกลางคืน กินอาหารโดยใช้ปากที่เป็นงวง (proboscis) ยื่นออกมา โดยจะยื่นงวงไปยังอาหารและหลั่งน้ำย่อยไปย่อยอาหารและดูดอาหารเข้าร่างกาย หลังกินอาหารจะเคลื่อนที่ฝังตัวใต้ทราย ซึ่งอาหารได้แก่ ซากพืช ซากสัตว์ชนิดต่าง ๆ มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 40–100 มิลลิเมตร

ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ โดยหอยตัวเมียจะวางไข่เป็นฟัก วางไข่ครั้งละประมาณ 20–70 ฝัก โดยวางไข่ได้ทั้งปี ระยะเดือนมกราคมถึงมีนาคม จะวางไข่ได้มากที่สุด ฝักไข่มีความกว้างเฉลี่ย 10.32 มิลลิเมตร ความยาวเฉลี่ย 29.31 มิลลิเมตร มีก้านยึดติดกับวัตถุในพื้นทะเล เช่น เม็ดทราย ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 5–7 วัน ลูกหอยวัยอ่อนเป็นระยะ veliger ดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน คือ ลอยไปมาตามกระแสน้ำ กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ระยะเวลาเติบโตจนเป็นวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 1 ปี[3]

ปัจจุบัน หอยหวานถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง นิยมรับประทานกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นอาชีพ แต่ทว่าปริมาณหอยที่ได้นั้นยังไม่เพียงพอต่อการตลาด[4] ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง จึงมีการนำหอยหมากที่มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับหอยหวาน แต่มีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงและการประมงมากกว่า รสชาติแย่กว่า และมีราคาต่ำกว่า มาจำหน่ายในชื่อหอยหวานแทน สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bouchet, P. (2015). Babylonia areolata (Link, 1807). In: MolluscaBase (2015). Accessed through: World Register of Marine Species at http://www.marinespecies.org/aphia.php?p=taxdetails&id=475109 on 2015-09-21
  2. 2.0 2.1 นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์, ศิรุษา กฤษณะพันธุ์, วรรณณี แสนทวีสุข, และ สากล โพธิ์เพชร. 2556. การทำฟาร์มเพาะและเลี้ยงหอยหวานเชิงการค้าของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. รัตนา มั่นประสิทธิ์ และ ประวิม วุฒิสินธุ์. 2531. การศึกษาเบื้องต้นในการเพาะเลี้ยงหอยหวาน (Babylonia areolata). เอกสารวิชาการฉบับที่ 8 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก, กองประมงทะเล, กรมประมง. 14 หน้า.
  4. "เกษตรน่ารู้ : หอยหวาน". ช่อง 7.
  5. ขุนพิเรนทร์. 2022. “หอยหวาน-หอยหมาก” หลอกขายหอยกันจนเคยชิน. เรื่องเล่า ข่าวเกษตร. สืบค้นเมื่อวันที่ 29/7/2566

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]