หย่งชุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หวิงชุน)
เหว่งช้น
อักษรจีนตัวเต็ม詠春
อักษรจีนตัวย่อ咏春
ความหมายตามตัวอักษร"ขับร้องฤดูใบไม้ผลิ"[1][2]
คำว่า "เหว่งช้น" ในแบบอักษรจีนตัวย่อ

เหว่งช้น (สำเนียงกวางตุ้ง) หรือ หย่งชุน (สำเนียงจีนกลาง) (อักษรจีนตัวเต็ม: 詠春, พินอิน: yǒng chūn, อังกฤษ: Wing Chun, Wing Tsun) เป็นศิลปะการต่อสู้จีนแขนงหนึ่งในแบบของกังฟู

ประวัติ[แก้]

ตามตำนาน เหว่งช้น (หย่งชุน) เกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง หลังจากวัดเส้าหลินถูกเพลิงเผาไหม้จนวอดวาย 5 ปรมาจารย์อาวุโส (五祖) และบรรดาลูกศิษย์ (เช่น หง ซีกวาน และ ฟ้อง ไซหยก) ต่างแยกย้ายกระจัดกระจายออกไปตามเส้นทางของตนเอง แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ต้านแมนจูอยู่

แม่ชีอื่อซ่า (อู่เหมย) หนึ่งใน 5 ปรมาจารย์อาวุโส ได้อพยพไปเป็นกบจำศีลบนเขาซ่งซาน และที่นั่นนางได้คิดค้นศิลปะการต่อสู้แบบใหม่ขึ้น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นการต่อสู้ระหว่างนกกระเรียนกับงูเห่า โดยงูได้พยายามโจมตีนกกระเรียนเป็นเส้นตรง แต่นกกระเรียนได้เคลื่อนไหวตัวเองเป็นวงกลม ทำให้งูไม่อาจทำอะไรนกกระเรียนได้ (บางข้อมูลระบุว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างนกกระเรียนกับงู) [3] นางได้นำเอารูปแบบการต่อสู้แบบนี้มาพัฒนาจนเป็นรูปแบบใหม่ของกังฟูซึ่งแตกต่างจากกังฟูวัดเส้าหลิน

จากนั้นหย่งชุนได้แต่งงานกับ เหลือง ปอกเชา และพยายามจะสอนวิชานี้ให้กับสามีแต่สามีไม่ยอมฝึกเพราะตัวสามีนั้นได้ฝึกฝน มวยเส้าหลินมาอย่างช่ำชองแล้วแต่หย่งชุนก็ได้แสดงฝีมือและได้เอาชนะสามีทุก ครั้ง สุดท้ายสามีจึงยอมเรียนวิชานี้กับภรรยา และจากจุดนี้จึงได้ตั้งชื่อมวยแขนงใหม่นี้ว่า หย่งชุน ตามชื่อภรรยา

รูปแบบ[แก้]

หวิงชุน แตกต่างจากกังฟูแบบอื่นอย่างชัดเจน เป็นมวยที่ไม่ต้องใช้พละกำลังหรือความแข็งแกร่งมากนัก เหมาะสมกับสรีระของผู้หญิง ที่แรงกายอ่อนแอกว่าผู้ชาย เน้นในการป้องกันตัวและจู่โจมในระยะสั้นอย่างรวดเร็ว มีวิธีการยืนเท้าที่มั่นคง

หวิงชุน ได้ถูกถ่ายทอดต่อมาในรุ่นต่อรุ่น จนกระทั่งมาถึงรุ่นของ ฉั่น หว่าซุน และ ยิปมัน โดยเฉพาะยิปมันที่เป็นผู้ที่ทำให้หย่งชุนโด่งดังเป็นที่รู้จักในระดับสากล ด้วยความที่เป็นผู้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ บรูซ ลี ซึ่งต่อมากลายเป็นนักแสดงแอ็คชั่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยมีศิลปะการป้องกันตัวแบบที่เจ้าตัวคิดค้นขึ้นมา ที่เรียกว่า "จีทคุนโด้" เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งบรูซ ลี ได้ยอมรับว่าพื้นฐานของ จีทคุนโด้นำมาจากหวิงชุนนี่เอง

ในประเทศไทย[แก้]

หวิงชุนในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งชาวไทยคนแรกที่นำมาฝึกสอน คือ อาจารย์ อนันต์ ทินะพงศ์ ที่เรียนวิชานี้ที่สหรัฐอเมริกา จาก จู เสาไหล่ หรือ โรเบิร์ต ชู ผู้ซึ่งเป็นศิษย์ของ เจวียง ฮอกกิ่น ผู้ซึ่งเป็นศิษย์โดยตรงของยิปมัน โดยเปิดสอนเริ่มแรกอย่างไม่คิดค่าเล่าเรียนที่สวนลุมพินี

หมัดหนึ่งหุน[แก้]

หมัดหนึ่งหุนเป็นหนึ่งในท่าต่อยที่มีชื่อเสียงที่สุดของบรู๊ซ ลีโดยสามารถชกคู่ต่อสู้กระเด็นไปได้หลายเมตร โดยที่ไม่ต้องง้างหมัดชกเลย ซึ่งเชื่อว่ากระบวนท่านี้ถูกพัฒนามาเป็นพันๆปีตั้งแต่มวยเส้าหลินจนถึงมวยหวิงชุน หรือกังฟูทางตอนใต้ของจีน อื่นๆ

การให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินฝึก[แก้]

ในกลางปี ค.ศ. 2011 สายการบินฮ่องกงแอร์ไลน์ ได้ให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง เข้าคอร์สฝึกกังฟูแบบหวิงชุนเพื่อใช้ในการป้องกันตัวและรับมือกับผู้โดยสารที่หยาบคายหรือเมา เนื่องจากเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ฝึกง่ายและใช้ได้ดีกับสถานที่แคบ ๆ [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ meaning N
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ meaning W
  3. ประวัติของมวยหวิงชุน[ลิงก์เสีย]
  4. [ลิงก์เสีย] แอร์ฮ่องกงเรียนมวยหย่งชุน รับมือผู้โดยสารเมา-หยาบคาย จากสำนักข่าวไทย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]