หลักกิโลเมตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลักไมล์ในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ

หลักกิโลเมตร หรือ หลักไมล์ เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่กำกับด้วยตัวอักษรและตัวเลข ส่วนมากจะเป็นเสาหินหรือเสาปูนเตี้ย ๆ แล้วจารึกหรือเขียนตัวอักษรด้วยสี ติดตั้งไว้เป็นระยะ ๆ เท่ากัน (ทุก 1 กิโลเมตรหรือ 1 ไมล์) ตลอดเส้นทางที่ริมถนนหรือระยะโดยเฉลี่ยตรงกลางถนน จุดประสงค์ของการสร้างหลักกิโลเมตรเพื่อเป็นการบอกผู้เดินทางว่า ได้เดินทางมาเป็นระยะทางเท่าใดแล้ว หรืออีกไกลเท่าไรกว่าจะถึงจุดหมาย สำหรับการเลือกใช้หลักกิโลเมตรหรือหลักไมล์ ขึ้นอยู่กับว่าในประเทศนั้นนิยมการวัดความยาวในระบบอังกฤษหรือระบบเมตริก

หลักกิโลเมตรในประเทศไทย[แก้]

หลักกิโลเมตรบนถนนทางหลวงแผ่นดินในประเทศไทย

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2481 ได้มีการสร้างหลักกิโลเมตรไปพร้อม ๆ กับการสร้างถนนพหลโยธิน โดยเริ่มแรกนั้นใช้ในจุดประสงค์เพื่อเป็นการกำหนดค่าบำรุงรักษาเส้นทางของกรมทางหลวง โดยใช้รหัสแขวงที่ปรากฏบนหลักเป็นส่วนแบ่งความรับผิดชอบ นอกจากนั้นยังสามารถใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการออกโฉนดที่ดิน หรือการเวนคืนที่ดิน แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีการปรับปรุงถนนหรือการสร้างทางใหม่ หลักกิโลเมตรที่แท้จริงอาจคลาดเคลื่อนไปจากที่ตั้งเดิมจนต้องมีการวัดระยะเพื่อวางหลักใหม่ ทำให้ใช้อ้างอิงตำแหน่งเกี่ยวกับที่ดินไม่ได้ จุดประสงค์สุดท้ายจึงตกไป

หลักกิโลเมตรในประเทศไทย เป็นเสาปูนสี่เหลี่ยม ยอดสามเหลี่ยมหรือพีระมิด ทาสีขาว ด้านที่ติดถนน (อาจจะมี 2 ด้านก็ได้) มีสัญลักษณ์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมทางหลวงจะใช้ตราครุฑ กรมโยธาธิการจะใช้รูปเทวดา 3 องค์ เป็นต้น พร้อมหมายเลขทางหลวง และมีเลขกิโลเมตรสำหรับเส้นทางนั้น ๆ อยู่ใต้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน ด้านข้างมีชื่อสถานที่เช่นจังหวัดหรืออำเภอ พร้อมตัวเลขบอกระยะทางจากสถานที่ดังกล่าวที่ต้องเดินทางบนถนน (ไม่ใช่การกระจัด)

บริเวณถนนบางแห่งที่ไม่สามารถติดตั้งหลักกิโลเมตรได้ เช่นบนสะพาน หรือด้วยเหตุผลอื่นใด จะใช้ ป้ายกิโลเมตร ติดตั้งไว้แทน ซึ่งมีลักษณะเป็นห้าเหลี่ยมคล้ายหลักกิโลเมตรเมื่อมองจากด้านหน้า และมีรายละเอียดคือสัญลักษณ์ของหน่วยงานกับเลขกิโลเมตรเท่านั้น และบนถนนบางสายจะมีการติดตั้ง หลักร้อยเมตร หรือ ป้ายร้อยเมตร เป็นระยะ เพื่อการวัดระยะทางที่แม่นยำมากขึ้น

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]