หลอดแสงจันทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟสนามที่ใช้หลอดแสงจันทร์ขนาด 175 วัตต์ ภาพนี้เป็นภาพหลังหลอดติด 15 วินาที
หลอดแสงจันทร์ขนาด 175 วัตต์. อุปกรณ์แท่งขนาดเล็กที่ติดอยู่ด้านล่างหลอดเป็นตัวต้านทานที่จ่ายไฟให้กับส่วนขั้วสตาร์ตเตอร์
ไฟถนนที่ใช้หลอดแสงจันทร์ขนาด 250 วัตต์

หลอดแสงจันทร์ หรือ หลอดไฟไอปรอท (อังกฤษ: mercury-vapor lamp) เป็นหลอดไฟฟ้าระบบปล่อยประจุชนิดหนึ่ง[1] ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าแรงสูง กระโดดผ่านไอปรอทที่อยู่ในหลอดเพื่อให้เกิดแสงสว่าง, โครงสร้างจะประกอบด้วยหลอดแก้วควอตซ์ขนาดเล็ก ซึ่งบรรจุไอปรอทและขั้วไฟฟ้า ครอบด้วยหลอดแก้วบอโรซิลิเกตขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันความร้อน และปิดกั้นรังสีเหนือม่วงที่เปล่งออกมาจากไอปรอทพร้อมกับแสง

หลอดแสงจันทร์จะทำงานโดยใช้ความดันไอปรอทประมาณ 1 บรรยากาศ และต้องอาศัยบัลลาสต์กับสตาร์ตเตอร์ (คล้ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ แต่สตาร์ตเตอร์จะบรรจุมาในตัวหลอด) และจะต้องใช้เวลา 4-7 นาทีหลังหลอดติด เพื่อให้สว่างเต็มที่

หลอดแสงจันทร์ มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่าหลอดไฟไส้และหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั่วไป ให้ความสว่างในช่วง 35 ถึง 65 ลูเมนต่อวัตต์ ให้แสงขาวที่มีความเข้มสูง, และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน (ประมาณ 24000 ชั่วโมง[1]) จึงนิยมติดตั้งในบริเวณขนาดใหญ่ที่ต้องการการส่องสว่างต่อเนื่องจากด้านบน เช่น โรงงาน, โกดัง, สนามกีฬา หรือใช้เป็นไฟถนน[1] แต่เนื่องจากหลอดแสงจันทร์ให้แสงขาวที่มีสีออกไปทางฟ้า-เขียว (จากสเปกตรัมของปรอท) จึงไม่นิยมใช้เป็นแสงสว่างในร้านค้า เพราะทำให้สีผิวคนดูไม่เป็นธรรมชาติ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 พรรณชลัท สุริโยธิน. วัสดุและการก่อสร้าง : หลอดไฟฟ้า. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. ISBN 974-13-2978-4.