หลวงศรีธรรมศาสน์ (สิงห์ สิมมาโคตร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปหลวงพ่อธรรมศาสน์
รูปเหมือนหลวงปู่ศรีธรรมศาสน์
เหรียญหลวงพ่อธรรมศาสน์รุ่นแรก

พระหลวงศรีธรรมศาสน์ (สิงห์ สิมมาโคตร) วัดใต้โกสุม (10 พ.ค. พ.ศ. 2413 -- 10 สิงหาคม พ.ศ. 2497) เป็นพระเถระซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งในเขตอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ตลอดจนเขตอำเภออื่นและจังหวัดอื่น โดยเฉพาะในด้านเกี่ยวกับคาถาอาคมอยู่ยงคงทน ชื่อเสียงของท่านได้แพร่สะพัดไปหลายจังหวัด

ประวัติ[แก้]

พระหลวงศรีธรรมศาสน์ นามเดิม สิงห์ นามสกุล สิมมาโคตร เกิดที่ บ้านแก่งแก ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2413 บิดาชื่อ สิ้ม มารดาชื่อ ซิง ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2431 ณ วัดใต้โกสุม ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ครั้นถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2433 อายุครบ 20 ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดกลางโกสุม ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พระอาจารย์เจ้าอริยวงษา เจ้าอาวาสวัดสังข์ทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หลักคำ พรหมศร วัดใต้โกสุม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โสภาวดี วัดบ้านฟ้าเหลื่อม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้สมณฉายาว่า ธมฺมโชโต เมื่ออุปสมบทแล้วได้กลับมาอยู่ที่วัดใต้โกสุมตามเดิม อุปสมบทอยู่ได้ 13 พรรษา จึงได้ลาสิกขา ได้เข้ารับราชการเป็นกำนันตำบล หัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ครั้งพระสุนทรพิพิธเป็นนายอำเภอโกสุมพิสัย ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีธรรมศาสน์ ได้มีครอบครัวและมีบุตรชายหญิงรวม 5 คน ต่อมาภรรยาและบุตรชายหญิงอีก 3 คนได้ถึงแก่กรรม คงเหลือบุตรชายอยู่เพียง 2 คน คือ นายประสิทธิ์ สีมาโคตร รับราชการเป็นครูประชาบาล และนายละม้าย สีมาโคตร เปรียญ อยู่บ้านคุ้มใต้ ซึ่งบุตรทั้งสองคนนี้ยังมีชีวิตอยู่จนบัดนี้ (ปัจจุบันที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ได้เสียชีวิตหมดแล้ว) ท่านได้รับราชการเป็นกำนันอยู่ ๙ ปี จึงได้ลาออกมาประกอบอาชีพทำนาค้าขายอยู่ตามลำพัง จนถึง พ.ศ. 2461 ซึ่งเวลานั้นท่านมีอายุได้ 47 ปีแล้ว ได้กลับเข้าอุปสมบทอีกเป็นครั้งที่ 2 ที่วัดใต้โกสุม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2461 โดยมีท่านอาจารย์มุล เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองบอน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี วัดใต้โกสุม เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวง วัดกลางโกสุม (เวลานี้เป็นสังฆนายกอยู่ ณ นครเวียงจันทร์) เป็นอนุสาวนาจารย์ มีสมณฉายาว่า ธมฺมโชโต อย่างเดียวกับที่อุปสมบทคราวก่อน อุปสมบทแล้วอยู่ประจำวัดใต้โกสุม ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ตราบจนถึงกาลมรณภาพ

การศึกษาเล่าเรียน ครั้งแรกได้เรียนอักษรสมัย ไทยน้อย ไทยใหญ่ อักษรไทย อักษรขอม พออ่านออกเขียนได้จากสำนักของบิดา เรียนสัททาสังคหะ พระปาฏิโมกข์ และยกศัพท์แปล-พระปาฏิโมกข์จนจบ ณ สำนักพระอาจารย์หลักคำ พรหมศร ผู้เป็นอาจารย์ เรียนคัมภีร์อาทิกรรม และเรียนเวทมนตร์คาถาอยู่ยงคงกระพันธ์ชาตรี ตามตำราทางไสยศาสตร์ ณ สำนักอาจารย์โสภาวดี วัดฟ้าเหลื่อมอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม สอบนักธรรมชั้นตรีได้ เมื่อ พ.ศ. 2469 สอบนักธรรมชั้นโทได้ เมื่อ พ.ศ. 2470

ตำแหน่งและหน้าที่พิเศษ ได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะหมวดประจำตำบลหัวขวาง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2474 ในหน้าที่ เจ้าคณะหมวด ได้รับภารกิจในการบริหารคณะสงฆ์ในหมวดของตนและได้เอาใจใส่แนะนำสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร ให้ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบทางการคณะสงฆ์ตามหน้าที่ของผู้เป็นประธานในหมวด ได้เคยรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอโกสุมพิสัย ในระหว่างที่ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอว่างลงถึง 2 สมัย นับว่าท่านได้เอาใจใส่ในการศึกษาอักษรสมัย พระธรรมวินัยเป็นอย่างดี ควรที่อนุชนทั้งหลายยึดไว้ซึ่งปฏิปทาของท่านเพื่อเป็นหลักปฏิบัติต่อไป

หลวงพ่อศรีธรรมศาสน์ อาพาธเป็นโรคชราถึงกาลมรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ตรงกับวันอังคาร เดือน 9 ปีมะเมีย เวลาประมาณ 20:10 น. สิริอายุได้ ๘๔ โดยปี

อ้างอิง[แก้]

  • อนุสรณ์ท่านหลวงศรีธรรมศาสน์ ฉบับเก่าแก่ คุณพ่อเชย แก่นชัยภูมิ เป็นผู้เก็บรักษา สืบค้น โดยนายบัวเรียน แก่นชัยภูมิ รวบรวมและคัดลอกใหม่โดย พระธี จิตติภทฺโท (กันยายน ๒๕๕๔)
  • เอกสารรวบรวมในงานพิธีมหาพุทธาภิเษกและนมัสการรูปเหมือนหลวงปู่ศรีธรรมศาสน์ วัดใต้โกสุม ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยท่าน พระครูรัตนวรานุยุต เจ้าอาวาสวัดใต้โกสุม