หลวงพ่อติ้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


พระพุทธรูปปางมารวิชัย หลวงพ่อติ้ว
ชื่อเต็มพระพุทธรูปปางมารวิชัย หลวงพ่อติ้ว
ชื่อสามัญหลวงพ่อติ้ว วัดหัวถนน
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง
วัสดุไม้แต้ว(ชาวลาวเรียกไม้ติ้ว)
สถานที่ประดิษฐานพระอุโบสถ วัดหัวถนน ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ความสำคัญพระพุทธรูปสำคัญ ของ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระพุทธรูปปางมารวิชัย หลวงพ่อติ้ว พระติ้ว เมืองพนัสนิคม เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย แกะสลักด้วยไม้แต้ว ลักษณะเป็นศิลปะของชาวลาว ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดหัวถนน ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ. 2537

ประวัติ[แก้]

หลวงพ่อติ้ว หรือ พระติ้ว เมืองพนัสนิคม ท้าวศรีวิชัย (บางเอกสารเขียน “ศรีวิไชย”) อุปฮาดเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา(ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม อัญเชิญมาจากเมืองนครพนมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาบุตรผู้ใหญ่ชื่อ ท้าวอินทิสาร ปลัดลาวเมืองสมุทรปราการ ได้บรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรก (ต้นตระกูลทุมมานนท์) จึงอัญเชิญพระติ้วมาประดิษฐานไว้ที่วัดหัวถนน เมืองพนัสนิคมจนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง จุลศักราช ๑๑๗๑ ฝ่ายที่เมืองนครพนมเมื่อ ณ เดือนอ้าย พระบรมราชา (มัง) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครพนมองค์ใหม่ อุปฮาดชื่อท้าวศรีวิไชยวิวาทกันขึ้น ด้วยบ่าวไพร่อุปฮาดไม่ยอมเป็นผู้น้อย จึงพาสมัครพักพวกบุตรหลานท้าวเพี้ยอพยพลงมาสวามิภักดิ์ ประมาณสองพันเศษ มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ณ เดือนยี่ โปรดให้ตั้งบ้านอยู่คลองมหาหงษ์ เมืองสมุทรปราการ ครั้นทำบัญชีตรวจดูได้ชายฉกรรจ์แปดร้อยหกสิบคน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งท้าวอินทิสาร บุตรผู้ใหญ่ของอุปฮาด เป็นปลัดลาวเมืองสมุทรปราการ จะได้ดูแลไม่ให้กรมการไทยข่มเหงลาว

หัวเมืองกรมท่านั้น พวกลาวอาสาปากน้ำตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภายหลังเมื่อปีชวด สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๑๙๐ พวกลาวไม่สบายขอไปตั้งอยู่เมืองพระรถ จึงโปรดเกล้าฯให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรามาตั้งเป็นเมืองพนัสนิคม ตั้งเจ้าเมืองเป็นพระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน “อินทอาสา”)

พระพุทธรูป หลวงพ่อติ้ว เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย แกะจากไม้แต้ว (ชาวลาวเรียกไม้ติ้ว) โดยประดิษฐานห่างจากตัวอำเภอพนัสนิคมประมาณ 10 กิโลเมตรตามเส้นทางพนัสนิคม-สระสี่เหลี่ยม ณ วัดหัวถนน ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม พอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 19 เมษายน ของทุกปีจะมีการแห่องค์หลวงพ่อติ้ว ไปรอบหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าจะช่วยดลบันดาลให้ประสบกับสิ่งที่หวังทุกๆประการ

ประกาศกรมศิลปากร[แก้]

พระพุทธรูปปางมารวิชัย หลวงพ่อติ้ว กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ. 2537

อ้างอิง[แก้]