หยง แซ่แต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หยง แซ่แต้
คู่สมรสกรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
บุตรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

หยง แซ่แต้ (จีน: 鄭鏞; พินอิน: Zhèng yōng; แต้จิ๋ว: Dên Iong; ?–?)[1] เป็นพระราชชนกในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นพระภัสดาในกรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) ท่านเป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์ธนบุรี

หยง แซ่แต้ ที่มีถิ่นฐานเดิมในตำบลหัวฟู่ อำเภอเทงไฮ้ (เฉิงไห่)[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดนายสินจึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า[3] ส่วน ตำนานอากรบ่อนเบี้ย พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ข้อมูลว่าตำแหน่งขุนพัฒน์เพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[4] ต่อมาหยง สมรสกับนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์) ได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อว่า สิน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277[1] และภายหลังได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) ซึ่งต่อมานายสินได้เป็นผู้กอบกู้อิสรภาพให้ชาวสยาม และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี

จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารต้าชิง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [暹羅國; ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [鄭昭; สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." [5]

ที่มาของชื่อ "ไหฮอง"[แก้]

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง [海豐] เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1]

ชูสิริ จามรมาน กล่าวว่า "...การที่ผู้เขียนประวัติเอาชื่ออำเภอเป็นชื่อคนดังกล่าว อาจเป็นความคิดของพระบิดาพระเจ้าตากสินเองก็ได้ เพราะบอกชื่อที่อยู่ไว้ยังพอไปสืบเสาะบรรพบุรุษเอาได้ หากใครคิดจะสืบเสาะ ตัวบอกเพียงชื่อตัวและแซ่อาจจะหากันไม่เจอ เพราะชื่อแซ่ซ้ำกันมากเหลือหลาย พระบิดาของพระเจ้าตากสิน แซ่แต้ [鄭] ซึ่งจีนปักกิ่งออกเสียงเป็น เจิ้ง คนแซ่แต้มีอยู่นับไม่ถ้วนในแต้จิ๋ว..."[6]

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอธิบายไว้ในหนังสือคืนถิ่นจีนใหญ่ว่า "...คำว่า ไหฮอง เป็นภาษาจีนกลางอ่านว่า "ไห่เฟิง" เป็นตำบลอยู่ทางใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ครึ่งทางไปทางเท่งไฮ้ ([滕海] ชื่ออำเภอ ๆ หนึ่ง) ไปเสิ่นเจิ้น..."[7] ที่เริ่มกล่าวสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นคนเท่งไฮ้[8] นั้นมาจากหนังสือของ G. William Skinner เรื่อง Chinese Society in Thailand (New York : Cornell University Press, 1975) ซึ่งตรงกับพระราชพงศาวดารจีนราชวงศ์เช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง

แต่ พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส ได้ให้คำอธิบายชื่อ ไหฮอง ดังนี้ "...เป็นนามของ พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นจีน ไหหลำ แน่นอน เห็นได้จากคำว่า "ไห" ซึ่งเป็นแซ่หนึ่งของจีนไหหลำ จากการสอบถามชาวจีนเขาบอกว่า แซ่ห่าน แซ่ฮู้ แซ่ไห จีนพวกอื่นเช่น แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี๋ยน อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น มีแต่จีนไหหลำพวกเดียว อนึ่งคำว่า "ไหหลำ" เข้าใจว่าเป็นคำเพี้ยน ที่ถูกจะต้องเป็น "ไหหนำ" [海南] ซึ่งแยกศัพท์แล้ว "ไห" แปลว่า "ทะเล" "หนำ" แปลว่า "ใต้" รวมแล้วแปลว่า "ทะเลใต้" ถ้าคิดถึงสถานที่อาจมุ่งความว่า "เกาะทะเลใต้"..."[9]

ในหนังสือ อภินิหารบรรพบุรุษ อันเป็นสมุดไทย กระดาษข่อยขาว ตัวหมึก รวม 2 เล่ม (เป็นสมบัติของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์) กล่าวว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ชื่อ ไหฮอง มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ (นายอากรบ่อนเบี้ย) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ กอปรด้วยทาสชายหญิง ได้ไปพึ่งบารมีท่านเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กำแพงพระมหานครศรีอยุธยา คำว่า "ฮอง" หรือ "ฮง" เป็นภาษาแต้จิ๋ว ส่วนภาษาปักกิ่งอ่านว่า "ฟง" หรือ "เฟิง"

ชื่ออื่น ๆ[แก้]

ในหนังสือ เวียดนามสือกี้ หรือ พงศาวดารญวน ฉบับที่นายหยอง ญวน ทหารปืนใหญ่แปลเมื่อ 80 ปีเศษมาแล้ว (พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2443) นั้นกล่าวว่า บิดาพระเจ้าตากสินฯ เป็นจีนแต้จิ๋วชื่อ ก๊กฮวย แซ่ติ้น "...ประการหนึ่งอันพระเจ้ากรุงธนบุรีคือเจ้าตากสิน ชาติตระกูลบิดาเป็นจีน แต้จิ๋ว ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตแขวงกรุงเก่า แซ่ติ้น ชื่อ ก๊กฮวย ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาโบราณเสียแก่พม่าข้าศึก พระยาตากจึงตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งกรุง ณ ประเทศตำบลบางกอกใหญ่ เรียกกรุงธนบุรี..."[10] ในบันทึกของเวียดนาม มีการเรียกพระบิดาพระเจ้าตากสินฯ ว่า Trịnh Yển (鄭偃)[11][12]

พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีหลายพระนาม เช่น ไหฮอง เซิ่นหยาง หรือเซิ่นย้ง หยง ก๊กฮวย และเจียนโล้ว ส่วนแซ่ของท่านอาจเป็นแซ่แต้ หรือ แซ่ติ้น หรือ แซ่ลิ้ม อีกทั้งกล่าวกันว่าท่านเป็นจีนแต้จิ๋ว หรือเชื้อสายกวางตุ้ง มีพ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส เพียงคนเดียว คิดว่าท่านเป็นจีนไหหลำ[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 63.
  2. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "ลูกจีนกู้ชาติ" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย. ในศิลปวัฒนธรรม., หน้า 103.
  3. นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 82-83.
  4. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "ลูกจีนกู้ชาติ" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย. ในศิลปวัฒนธรรม., หน้า 104.
  5. ประยุทธ์ สิทธิพันธ์, มหาราชและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระภัทรมหาราช (กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2520) หน้า 223.
  6. ชูสิริ จามรมาน. หน้า 67.
  7. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. คืนถิ่นจีนใหญ่ , หน้า 6.
  8. G. William Skinner. Chinese Society in Thailand (New York : Cornell University Press, 1975)
  9. พิศาล เสนะเวส. หน้า 328.
  10. เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 หน้า 33.
  11. Việt Nam sử lược, vol. 2, chap. 6
  12. Đại Nam chính biên liệt truyện sơ tập, vol. 32: "茫薩地名長鄭國英一名生淸潮洲人其父偃流寓于暹爲茫薩長"
  13. วีณา โรจนราธา , 2540 หน้าที่ 86.

บรรณานุกรม[แก้]

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. มติชน. ISBN 9789740201779.