หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา

เกิดคุณแม้น
9 พฤษภาคม พ.ศ. 2409
เสียชีวิต2 พฤษภาคม พ.ศ. 2438 (28 ปี)
วังบูรพาภิรมย์ จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
คู่สมรสสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
บุตรพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
บุพการีเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
ท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงศ์ไวยวัฒน์

หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (9 พฤษภาคม พ.ศ. 2409 — 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2438) เป็นหม่อมห้ามสะใภ้หลวงในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช[1]

ประวัติ[แก้]

หม่อมแม้น เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2409 เป็นธิดาคนเล็กของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดกับท่านผู้หญิงอิ่ม และเป็นหลานสาวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หม่อมแม้นมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน โดยพี่หญิงของท่านสองคนได้เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ และเจ้าจอมมารดาโหมด

วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นหม่อมห้ามในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช[2] และให้ประสูติพระโอรสพระธิดารวม 3 พระองค์ คือ

  1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช (7 กันยายน พ.ศ. 2428 – 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2477)
  2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช (7 มีนาคม พ.ศ. 2432 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2452)
  3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (10 มีนาคม พ.ศ. 2435 – 23 มกราคม พ.ศ. 2500)

หม่อมแม้นตามเสด็จสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชไปคล้องช้าง ระหว่างทางเกิดป่วยหนัก[3] ครั้นเมื่อกลับถึงพระนคร หม่อมแม้นก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอหิวาตกโรคเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2438[4]อายุ 28 ปี ได้รับการพระราชทานเพลิงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 พร้อมพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช ซึ่งสิ้นพระชนม์ระหว่างศึกษาวิชาทหารที่เยอรมัน ที่เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส และได้บรรจุอัฐิที่อนุสาวรีย์ในตึกแม้นนฤมิตร และหล่อรูปท่านทั้งสองเอาไว้

เกียรติยศ[แก้]

ตราประจำตัว[แก้]

หม่อมแม้นตราประจำตัว เป็นรูปผึ้งหลวงเกาะท่อนอ้อยที่วางเรียงเป็นอักษรนามภาษาอังกฤษ M ด้านบนเป็นตราสุริยะอย่างตะวันตก ซึ่งเป็นตราประจำตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ปู่ของท่านเอง นอกจากนี้ยังมีอักษรนามคู่กับสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โดยใช้เป็นชื่อย่อในอักษรโรมัน M.B.S. โดย M. หมายถึง หม่อมแม้น และ B.S. หมายถึงเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ มีลักษณะเป็นอักษรไขว้ เบื้องบนมีตราอาทิตย์อุทัย[5]

สถานที่ที่ตั้งตามนาม[แก้]

  • สะพานแม้นศรี – เป็นชื่อสะพานข้ามคลองที่สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ใช้เงินที่ได้รับจากผู้ช่วยในงานศพหม่อมแม้นมาสร้างสะพานข้ามคลองที่ขบวนแห่ศพที่ยิ่งใหญ่หม่อมแม้นเคลื่อนผ่าน เพื่อสาธารณะประโยชน์ และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่หม่อมแม้น เริ่มใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2451[6]
  • แยกแม้นศรี – ตั้งชื่อตามสะพานแม้นศรี ซึ่งภายหลังถูกรื้อออกเพื่อสร้างแยกแม้นศรี
  • ตึกแม้นนฤมิตร – เป็นอาคารภายในโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชทานทุนทรัพย์เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแก่หม่อมแม้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามอาคาร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2445[7]
  • ตึกแม้นสถานศึกษา – เป็นอาคารภายในโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่ทดแทนอาคารแม้นนฤมิตรที่ถูกระเบิดทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทางราชการจึงก่อสร้างอาคารใหม่ใน พ.ศ. 2491 โดยรักษาเค้าโครงเดิมของตึกแม้นนฤมิตรไว้[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. โรงเรียนเทพศิรินทร์,หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา เก็บถาวร 2013-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ไม่ทราบ
  2. ราชกิจจานุเบกษา. ประวัติแม้นในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดช เล่ม ๑๒, ตอน ๗, วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๘, หน้า ๕๒.
  3. "โคลงแสดงประวัติพระเจ้าวรวงษเธอ พระองค์เจ้าศิริวงษวัฒนเดชกับแม้นในพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดช". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. ข่าวตายในกรุง
  5. ปิติรัชต์ จูช่วย (18 พฤศจิกายน 2563). ""M.B.S." ตัวอย่างธรรมเนียมการใช้ตราร่วมกันทั้ง "ฝ่ายหน้า" และ "ฝ่ายใน" ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕". Siam Renaissance. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "ที่มาของ "สี่แยกแม้นศรี" และ "สะพานแม้นศรี"". สยามานุสสติ. 7 กุมภาพันธ์ 2561. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "หม่อมแม้น ปฐมเหตุแห่ง แม้นนฤมิตร". โรงเรียนเทพศิรินทร์. 29 เมษายน 2557. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "ตึกแม้นสถานศึกษา". สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. 7 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ราชกิจจานุเบกษา, การถวายบังคมพระบรมรูปแลพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์, 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1894, หน้า 262