พรรณเพ็ญแข กฤดากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรณเพ็ญแข กฤดากร

เกิดหม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข
11 กันยายน พ.ศ. 2448
เสียชีวิต1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 (68 ปี)
คู่สมรสหม่อมราชวงศ์บรรลือศักดิ์ กฤดากร (2475–2508)
บุพการีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
หม่อมเจ้าวรรณวิไลย เพ็ญพัฒน์

พรรณเพ็ญแข กฤดากร (เดิม: หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์; 11 กันยายน พ.ศ. 2448 – 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517) เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ประสูติแต่หม่อมเจ้าวรรณวิไลย เพ็ญพัฒน์

หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร (แถวหลัง ที่ 4 จากซ้าย)

ประวัติ[แก้]

หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงเพ็ญ[1] เป็นพระธิดาองค์เดียวในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ประสูติแต่หม่อมเจ้าวรรณวิไลย เพ็ญพัฒน์ (ราชสกุลเดิม กฤดากร) เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2448 ณ วังท่าเตียน ที่ประทับของพระบิดา อันเป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) บิดาของเจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นอัยยิกาในหม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข โดยพระนาม พรรณเพ็ญแข นั้นได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขมีโสทรเชษฐาหนึ่งองค์ คือ หม่อมเจ้าชาย (ยังไม่มีพระนาม; 25 กันยายน พ.ศ. 2447 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2447) และมีอนุชาต่างมารดาหนึ่งองค์ คือ หม่อมเจ้าเผ่าเพ็ญพัฒน์ เพ็ญพัฒน์ (9 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 - 10 มกราคม พ.ศ. 2503)

เมื่อหม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขประสูติได้ไม่กี่เดือน เจ้าจอมมารดามรกฎ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ผู้เป็นปิตุจฉา ได้ขอไปทรงเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาขณะชันษาได้ 4 ปี พระบิดาได้สิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารีทรงรับหม่อมเจ้าเผ่าเพ็ญพัฒน์ไปทรงเลี้ยงอีกองค์หนึ่ง

หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขทรงศึกษาชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วจึงศึกษาต่อที่โรงเรียนราชินี

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2469 หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขเป็นพนักงานเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร โดยมีหน้าที่เชิญพานฟัก

หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขประทับในพระบรมมหาราชวังกระทั่งพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารีสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2473 ขณะหม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขชันษาได้ 25 ปี

ชีวิตครอบครัว[แก้]

ปลาย พ.ศ. 2474 หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขได้เสกสมรสกับหม่อมราชวงศ์บรรลือศักดิ์ กฤดากร พระโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร การสมรสของทั้งสองต้องประสบอุปสรรคมาก เพราะเป็นการขัดต่อพระราชประเพณี แต่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการสมรสได้โดยต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์เสียก่อน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2475[2] พรรณเพ็ญแขจึงเป็นเจ้านายองค์แรกในราชวงศ์จักรี ที่ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส มีบุตรธิดา 3 คน ดังนี้

  • หม่อมหลวงเพ็ญศักดิ์ กฤดากร (เกิด 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476) สมรสกับมยุรี สุขุม และจุฑามาศ สุคนธา มีบุตรหนึ่งคน
  • หม่อมหลวงพรรณศิริ กฤดากร (เกิด 15 กันยายน พ.ศ. 2478) สมรสกับวัฒนา อัศวรักษ์ มีบุตรหนึ่งคน
  • หม่อมหลวงธิดาเพ็ญ กฤดากร (เกิด 30 ธันวาคม พ.ศ. 2480) สมรสกับวัฒนา อัศวรักษ์ และศุภโยกต์ มาลิก มีบุตรสี่คน

ในระหว่างสงครามแปซิฟิก พรรณเพ็ญแขและสามีได้สมัครเป็นสมาชิกอาสากาชาด จนสิ้นสงคราม และได้บริจาคเงินช่วยอาสากาชาดมาตลอด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 พรรณเพ็ญแขและเจ้านายบางองค์ที่ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า ท่านหญิง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดพระราชวงศ์ประจำปี

พรรณเพ็ญแขเป็นเจ้านายที่สนุกร่าเริง โปรดการท่องเที่ยว ได้ตามเสด็จพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารีประพาสจังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ อยู่เสมอ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เสด็จไปต่างประเทศเป็นประจำ ภายหลังเริ่มประชวรต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดและรักษาองค์แทบทุกปี แต่ก็ยังเสด็จไปต่างประเทศอีกหลายครั้ง กระทั่งสิ้นชีพตักษัยด้วยโรคตับไม่ทำงาน ณ ตึกจงกลณีวัฒนวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517[3] สิริชันษา 68 ปี นับเป็นหม่อมเจ้าองค์สุดท้ายของราชสกุลเพ็ญพัฒน์

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข
(พ.ศ. 2448–2475)
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนกระหม่อม/หม่อมฉัน
การขานรับกระหม่อม/เพคะ

ฐานันดรศักดิ์และคำนำหน้านาม[แก้]

  • 11 กันยายน พ.ศ. 2448 – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 : หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข
    • 11 กันยายน พ.ศ. 2448 – 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 : หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข ในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์
    • 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข ในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
    • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 : หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
    • 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 : หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข ในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
  • 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2475 : หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์
  • 23 สิงหาคม พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2505 : นางพรรณเพ็ญแข กฤดากร
  • พ.ศ. 2505 – 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 : ท่านหญิงพรรณเพ็ญแข กฤดากร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพุธ ที่ 23 มิถุนายน 2519. [ม.ป.ท.]: มงคลการพิมพ์; 2519.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศศาลาว่าการพระราชวัง พระราชวงศ์กราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์, เล่ม 49, ตอน 0 ง, 28 สิงหาคม พ.ศ. 2475, หน้า 1807
  3. นราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า กรมหลวง, 2466-2551. จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา . [ม.ป.ท.]:บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2517. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2023. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:126181.
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตต์ภายใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 วันที่ 23 มิถุนายน 2484