หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์
ประสูติ9 เมษายน พ.ศ. 2445
ชีพิตักษัย18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 (74 ปี)
ชายาหม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล วรวรรณ
ราชสกุลเกษมสันต์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
พระมารดาหม่อมอั๋น เกษมสันต์ ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์ (9 เมษายน พ.ศ. 2445 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ และเป็นพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระประวัติ[แก้]

หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์ ประสูติเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2445 จบชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2461 ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในพระอนุเคราะห์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรพาณิชย์คมนาคม ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาวิชาพฤกษอนุกรมวิธาน ได้มีโอกาสฝึกงานที่สวนพฤกษชาติคิว และฝึกงานกับศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอะเบอร์ดีน

หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์ เริ่มรับราชการในปี พ.ศ. 2468 ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้ากรมกองตรวจพันธุ์รุกขชาติ กรมตรวจกสิกรรม กระทรวงเกษตรพาพิณชย์คมนาคม ได้ร่วมกับเจ้ากรม Dr. A.F.G. Kerr ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ทั่วทุกภาคของประเทศ ได้พบพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ และได้ช่วยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไม้แห้ง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นนักพฤกษศาสตร์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพฤกษศาสตร์ กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองพืชพรรณ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมเกษตร รองอธิบดีกรมกสิกรรม อธิบดีกรมกสิกรรม เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำกระทรวง และผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรจนครบเกษียณอายุราชการ

ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2485[1] และได้รับเกียรติใช้พระนามตั้งชื่อพรรณไม้ ดอกหรีด, ลักษณา Gentiana hesseliana Hosseus var. lakshnakarae (Kerr) Toyok

หม่อมเจ้าลักษณากร เสกสมรสกับหม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีโอรส-ธิดา 3 ท่าน คือ

  1. หม่อมราชวงศ์หญิงลักษณ์สอางค์ เกษมสันต์
  2. หม่อมราชวงศ์ศรีลักษณ์ เกษมสันต์
  3. หม่อมราชวงศ์หญิงนฤมล เกษมสันต์

หม่อมเจ้าลักษณากร สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2520 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สมประสงค์ ทรัพย์พาลี. ๑๐๑ จุลจักรี ๑๐๑ ปี จุลจอมเกล้า. กรุงเทพ : [ม.ป.พ.], พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555. 154 หน้า. ISBN 9786169092605
  2. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่ม 78 ตอน 40ง วันที่ 9 พฤษภาคม 2504