หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
หม่อมเจ้า ชั้น 2
ประสูติพ.ศ. 2397 - 2399
สิ้นชีพตักษัยพ.ศ. 2477 – 2479 (ราว 80 ปี)
สวามีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร
นายเวร (ผึ้ง)
ออกญานครบาล (มัน)
ออกญาแสรนธิบดี (ปัล)
พระพิทักราชถาน (ทอง)
ขุนศรีมโนไมย
พระบุตรนุด หรือ นุศ
ราชสกุลปราโมช
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ
พระมารดาหม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช

หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช (พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์)[1] เมื่อราวปี พ.ศ. 2397 - 2399 เมื่อเจริญวัยทรงหมั้นหมายกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงทราบภายหลังว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรมีหม่อมอยู่ในวังแล้วหนึ่งคน คือ หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา ด้วยมีดำริก้าวหน้า หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงไม่ทรงยินยอม ทรงบังคับให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระคู่หมั้น เลิกรากับหม่อมสุ่น แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไม่ยินยอม นอกจากหม่อมเจ้าฉวีวาดไม่ยินยอมด้วยแล้ว ยังแสดงพระอาการเอาแต่ทัยผิดวิสัยกุลสตรีในสมัยนั้น คือโยนของหมั้นทิ้งทางพระบัญชรตำหนักเรี่ยราดกับพื้น จนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้องให้มหาดเล็กมาเก็บคืนไป

หม่อมเจ้าฉวีวาด เสกสมรสกับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสนิทสนมกับครอบครัวของโทมัส น็อกซ์ กงสุลประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมาหม่อมเจ้าฉวีวาดพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างวังหลวงและวังหน้า โดยในวันรุ่งขึ้นหลังเหตุระเบิดที่ตึกดินในวังหลวง[2] หม่อมเจ้าฉวีวาดว่าจ้างเรือสำเภาในการขนสมบัติและผู้ติดตามหนีไปยังประเทศกัมพูชา พร้อมคณะละครของเจ้าจอมมารดาอัมพา ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งถือเป็นคณะละครที่มีชื่อเสียงที่สุดในราชสำนักสยาม จนเรือถึงราชสำนักกัมพูชา ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (พระนามเดิม คือ นักองค์ราชาวดี) ด้วยความพอพระทัยในหม่อมเจ้าฉวีวาดและคณะละคร โรงละครโรงใหญ่ของเจ้าจอมมารดาอำภา จึงได้กลายเป็นต้นแบบของละครของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

ครั้นเวลาล่วงเลยไป หม่อมเจ้าฉวีวาด เสด็จนิวัติสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชเป็นชีและใช้ชนม์ชีพอย่างสงบ กระทั่งถึงชีพิตักษัยเมื่อชันษาราว 80 ปี[3]

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวอ้างในหนังสือ "โครงกระดูกในตู้" ว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์โปรดสถาปนาหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เป็นพระชายา[4] มีพระอิสริยยศเป็นพระราชเทวี มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้านโรดม พานคุลี[5] จึงมีการกล่าวถึง "โครงกระดูกในตู้" ว่าให้ข้อมูลเกี่ยวกับหม่อมเจ้าฉวีวาดผิดจากข้อเท็จจริงทั้งในเว็บพันทิป[6] และเรือนไทย โดยได้ให้ข้อมูลว่าหม่อมเจ้าฉวีวาดมิได้เสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร และไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตวังหน้า แท้จริงแล้วหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมชได้สมรสกับสามัญชนกัมพูชา[7] 5 คน มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ นุด หรือ นุศ[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
  2. วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2542. 359 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7377-29-2
  3. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2550. 360 หน้า. หน้า หน้าที่ 287. ISBN 978-974-323-989-2
  4. "ความรู้คือประทีป" (PDF). Esso. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2013.
  5. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2550. 360 หน้า. หน้า หน้าที่ 286. ISBN 978-974-323-989-2
  6. "โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร". พันทิป. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2013.
  7. หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมชได้สมรสกับสามัญชนกัมพูชา
  8. "โครงกระดูกในตู้ โดยคึกฤทธิ์ : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร". เรือนไทย. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2013.