หมึก (อาหาร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หมึก เป็นสัตว์ที่นิยมนำมาทำอาหารมากมายทั่วโลก คำว่า กาลามารี (calamari) ในภาษาอิตาลีซึ่งหมายถึงหมึกได้กลายเป็นคำสามัญในภาษาอังกฤษหมายถึงอาหารที่ทำจากหมึก โดยเฉพาะหมึกทอด[1] ความหลากหลายของอาหารที่ทำจากหมึกในพื้นที่ต่าง ๆ มีดังนี้

หมึกทอด[แก้]

หมึกชุบแป้งทอดจากสเปน

หมึกทอดหรือกาลามารี (ฟริตตี) เป็นชื่ออาหารอิตาลีที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง เป็นหมึกกล้วยหั่นเป็นวงนำไปชุบแป้งทอด สูตรดั้งเดิมนั้นใช้แป้งชุบหมึกเพียงบาง ๆ ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยป่น เมื่อจะรับประทานจึงบีบเลมอนเพื่อแต่งรส ปัจจุบันได้ประยุกต์ให้มีหลายแบบ มีทั้งแบบใช้แป้งให้กรอบชุบแป้งเปียกแบบเท็มปุระญี่ปุ่น เพิ่มเครื่องปรุงที่เป็นปาปริกา ออริกาโน และกินกับซอสต่าง ๆ มากมาย เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก มายองเนส และยังนำไปรับประทานกับสลัดผักด้วย

หมึกยัดไส้[แก้]

อิกาเมชิ หมึกยัดไส้แบบญี่ปุ่น

หมึกยัดไส้เป็นการปรุงอาหารจากหมึกชนิดหนึ่ง นำไส้ยัดลงในลำตัวของหมึกแล้วปรุงให้สุก การปรุงอาหารแบบนี้แพร่หลายไปทั่วโลก ในตะวันออกกลางไส้ที่ยัดเป็นส่วนผสมของหนวดหมึก ข้าว และเมล็ดสน และเครื่องเทศผสมเช่น ยี่หร่าและคำฝอย ในกรีซ เครื่องปรุงเป็นแบบตะวันออกกลาง แต่ตัดเครื่องเทศกลิ่นแรงออก มีการเคี่ยวหมึกยัดไส้ในซอสที่ส่วนผสมเป็นไวน์ หอม กระเทียม ในยุโรปใต้ ไส้เป็นหนวดหมึก เกล็ดขนมปัง หอม มะกอก ชีส และไข่ ลดเครื่องเทศลง นิยมเคี่ยวกับไวน์และซอสมะเขือเทศ ในจีน หมึกยัดไส้มีไส้ที่ทำจากหมูสับเป็นหลัก ใส่กระเทียม รากผักชี พริกไทย ในเวียดนามเพิ่มวุ้นเส้นและเห็ดหูหนู นิยมนำไปย่าง ในญี่ปุ่นมีหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวผสมถั่วลิสง เคี่ยวกับซีอิ๊วญี่ปุ่นและมิริง เรียก อิกาเมชิ (烏賊飯) ส่วนชาวมลายูมีหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวเรียก ตูปะก์โซตง เคี่ยวกับกะทิ

คุณค่าทางสารอาหาร[แก้]

เดิมเคยเชื่อว่า หมึกเป็นอาหารที่ให้คอเลสเตอรอลสูง จึงไม่ควรรับประทานมาก แต่ความจริงแล้ว หมึกมีคอเลสเตอรอลสูงก็จริง แต่ทว่ามีปริมาณไขมันอิ่มตัวต่ำ จึงมิได้เป็นตัวสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกาย อีกทั้งยังมีกรดโอเมกา3สูง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลได้ดีอีกด้วย[2]

อ้างอิง[แก้]

  • พจน์ สัจจะ. หมึกเมดิเตอร์เรเนียน. ครัว. ปีที่ 21 ฉบับที่ 243 กันยายน พ.ศ. 2557 หน้า 65-67
  1. "Definition of calamari". Merriam-Webster's Online Dictionary.
  2. "ปลาหมึก - เรื่องน่ารู้". เดลินิวส์. 17 July 2015. สืบค้นเมื่อ 18 July 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]