หน้าต่างชีวิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าต่างชีวิต
กำกับอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก
เขียนบทต้นฉบับ:
คอร์เนล วูลริช
บทภาพยนตร์
จอห์น ไมเคิล เฮย์ส
อำนวยการสร้างอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก
นักแสดงนำเจมส์ สจ๊วต
เกรซ เคลลี
เธลม่า ริตเตอร์
เวนเดลล์ คอรีย์
เรย์มอนด์ เบอร์
กำกับภาพโรเบิร์ต เบิร์คส์
ตัดต่อจอร์จ โทมาชินี่
ดนตรีประกอบลินน์ เมอร์เรย์
ผู้จัดจำหน่ายพาราเมาท์ พิคเจอร์
วันฉาย1 สิงหาคม ค.ศ. 1954
ความยาว112 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก IMDb

หน้าต่างชีวิต ชื่อภาษาไทยของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Rear Window ออกฉายในปี ค.ศ. 1954 นำแสดงโดย เจมส์ สจ๊วต, เกรซ เคลลี, เธลม่า ริตเตอร์, เวนเดลล์ คอรีย์, เรย์มอนด์ เบอร์ กำกับการแสดงโดย อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก

เนื้อเรื่อง[แก้]

กลางฤดูร้อนอันอบอ้าวที่นิวยอร์ก แอล.บี.เจฟฟรีย์ส (เจมส์ สจ๊วต) หรือ เจฟฟ์ ตากล้องหนุ่มประสบอุบัติเหตุขาหัก ต้องเข้าเฝือกบนรถเข็น จากการถ่ายภาพการแข่งขันรถยนต์ เจฟฟ์จึงได้แต่นอนพักในห้องของอพาร์ตเมนต์ของตน โดยไปไหนไม่ได้ เจฟฟ์ฆ่าเวลาอันน่าเบื่อหน่ายนี้ด้วยการใช้กล้องส่องทางไกลส่องมองพฤติกรรมของผู้คนที่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ตรงข้ามกับตน ซึ่งมีหญิงวัยกลางคนที่อยู่อย่างเปลี่ยวเหงา ที่เจฟฟ์เรียกเธอว่า มิสโลนลี่ ฮาร์ท, นักบัลเล่ต์สาวที่มีผู้ชายมาติดพันมากมาย ที่เจฟฟ์เรียกเธอว่า มิสทอร์โซ่ และเซลล์แมนวัยกลางคน Lars Thorwald (เรย์มอนด์ เบอร์) ซึ่งดูแลภรรยาที่ป่วยซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเตียง

ทุก ๆ วัน เจฟฟ์จะได้รับการทำกายภาพบำบัดจาก สเตลล่า (เธลม่า ริตเตอร์) พยาบาลประจำตัวของเขา และได้รับการเตือนจากสเตลล่าว่าไม่ควรไปยุ่งกับเรื่องชาวบ้าน ต่อมา ลิซ่า (เกรซ เคลลี) แฟนสาวของเจฟฟ์ก็ย่องเข้ามาหาเขาในยามดึกโดยที่เขาไม่รู้ตัว เธอบอกว่าจะทำให้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ลืมไม่ลงสำหรับเจฟฟ์ จู่ ๆ คืนหนึ่งที่อพาร์ตเมนต์ฝั่งตรงข้ามก็มีเสียงผู้หญิงกรีดร้องพร้อมเสียงแก้วแตก และในช่วงดึกสงัดในคืนนั้น Lars Thorwald ก็ได้นำกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ออกไปข้างนอกถึงสองครั้ง ทำให้เจฟฟ์สรุปโดยสมมติฐานของตนเองว่า อาจเกิดฆาตกรรมขึ้นแล้ว เจฟฟ์พยายามเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนที่เป็นนักสืบของเขาฟัง แต่ไม่เป็นผล เพราะเพื่อนนักสืบไม่เชื่อและหาว่าเจฟฟ์เหลวไหล ท้ายที่สุด ลิซ่า แฟนสาวของเจฟฟ์จำต้องบุกเข้าไปในห้องของเซลล์แมนคนนี้โดยลำพัง จากความช่วยเหลือของอย่างไม่เต็มใจนักของเขาและสเตลล่า ซึ่งนั่นทำให้เขาถูกเอาคืนจากเซลล์แมนที่เขาคิดว่าคือฆาตรกร จนต้องตกลงมาและขาหักไปอีกข้าง

การวิเคราะห์วิจารณ์และการประสบความสำเร็จ[แก้]

เจฟฟ์ และ ลิซ่า

Rear Window นับเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากอีกเรื่องของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ฮิตช์ค็อกเริ่มต้นงานภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยที่ยังถ่ายทำ Dial M For Murder ภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้านี้ไม่เสร็จด้วยซ้ำ บทภาพยนตร์เขียนมาจากเรื่องสั้นของคอร์เนล วูลริช ที่ชื่อ It Had to Be Murder โดยที่เล่นกับพฤติกรรมชอบสอดรู้สอดเห็นของมนุษย์ แบบที่อาจเรียกได้ว่า "ถ้ำมอง" จนท้ายที่สุด ตัวของผู้ที่แอบไปมองเรื่องของคนอื่นเขาก็ต้องประสบชะตากรรมอันเลวร้ายอย่างเดียวกัน

ภาพยนตร์ถูกถ่ายทำในพื้นที่จำกัด แต่ฮิตช์ค็อกกลับใช้มุมกล้องโดยผ่านทางมุมมองของเจฟฟ์ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งนับเป็นการใช้ภาษาภาพยนตร์อย่างเต็มที่ และได้รับการวิเคราะห์ว่า มีเนื้อหาที่เสียดสีคนในสังคมเมืองใหญ่ที่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่มีใครสนใจกันและกัน ซึ่งสาระสำคัญของการเอาตัวเองเข้าไปพัวพันกับเรื่องเล็ก ๆ แต่ขยายลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โตนั้น ก็ได้กลายเป็นแนวทางของภาพนตร์ในยุคต่อมาอีกหลายเรื่อง เช่น Chinatown ของโรมัน โปลันสกี้ ในปี ค.ศ. 1974 หรือ All The President's Men ในปี ค.ศ. 1976 เป็นต้น

ในปี ค.ศ. 1998 ได้มีการสร้าง Real Window ขึ้นมาอีกครั้งเป็นภาพยนตร์สำหรับฉายทางโทรทัศน์ นำแสดงโดย คริสโตเฟอร์ รีฟ นักแสดงผู้เป็นอัมพาตตัวจริงที่เคยรับบทซูเปอร์แมนมาก่อน โดยมีการดัดแปลงเนื้อหาและชื่อตัวละครบางตัวเสียใหม่ สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2546 ทางบริษัท ซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ได้ผลิตวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์เรื่องนี้ ในฉบับของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ออกมาทั้งจำหน่ายและให้เช่า

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]