ส่วนต้นของกระดูกต้นแขน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนต้นของกระดูกต้นแขน
(Upper extremity of humerus)
มุมมองด้านหน้าของกระดูกต้นแขนด้านซ้าย แสดงจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ
มุมมองด้านหลังของกระดูกต้นแขนด้านซ้าย แสดงจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ
ตัวระบุ
FMA23362
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก

ส่วนต้นของกระดูกต้นแขน เป็นส่วนของกระดูกต้นแขน ประกอบด้วยหัวกระดูกรูปร่างกลมขนาดใหญ่ เชื่อมกับส่วนกลางของกระดูกต้นแขนโดยส่วนคอดที่เรียกว่า คอกระดูก และส่วนยื่น 2 อันได้แก่ ปุ่มใหญ่และปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขน

ส่วนหัวกระดูกต้นแขน[แก้]

ส่วนหัวกระดูกต้นแขน (Head of humerus; ละติน: caput humeri) มีรูปร่างเกือบเป็นครึ่งทรงกลม ชี้ขึ้นด้านบนไปทางด้านใกล้กลางและไปทางด้านหลังเล็กน้อย เป็นปลายด้านที่รับกับเบ้าแอ่งกลีนอยด์ (glenoid cavity) ของกระดูกสะบักโดยข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (Glenohumeral joint) ซึ่งปลายด้านนี้จะมีลักษณะกลมมน เพื่อรับกับเบ้าของแอ่งกลีนอยด์ (Glenoid fossa) บนมุมด้านข้างของกระดูกสะบัก ถัดลงมาจากส่วนหัวกระดูกจะมีลักษณะคอดลงเล็กน้อย ซึ่งเรียกแนวคอดนี้ว่า คอกระดูกเชิงกายวิภาค (Anatomical neck) ซึ่งเป็นขอบของข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล ซึ่งอยู่คนละที่กับรอยคอดใต้ปุ่มกระดูกที่เรียกว่า คอกระดูกเชิงศัลยศาสตร์ (surgical neck) ซึ่งมักเกิดกระดูกหักที่บริเวณนี้มากกว่า

คอกระดูกเชิงกายวิภาค[แก้]

คอกระดูกเชิงกายวิภาคของกระดูกต้นแขน (anatomical neck; ละติน: collum anatomicum) อยู่ในแนวเฉียง เกิดเป็นมุมป้านกับส่วนกลางของกระดูก จะเห็นได้เด่นชัดที่สุดทางครึ่งล่างของเส้นรอบคอกระดูก ครึ่งบนของคอกระดูกจะเห็นเป็นร่องแคบๆ ที่แยกระหว่างส่วนหัวกระดูกและปุ่มกระดูก คอกระดูกนี้เป็นที่ยึดเกาะของแคปซูลข้อต่อของข้อต่อไหล่ และยังมีช่องสำหรับหลอดเลือดเข้ามาเลี้ยงอีกมากมาย บริเวณนี้มักไม่ค่อยเกิดกระดูกหัก

คอกระดูกเชิงกายวิภาคมีลักษณะเป็นขอบขรุขระ ซึ่งเป็นขอบปลายสุดที่ปลอกหุ้มข้อต่อไหล่เข้ามายึดเกาะ

ปุ่มกระดูกใหญ่[แก้]

ปุ่มใหญ่ของกระดูกต้นแขน (greater tubercle หรือ greater tuberosity; ละติน: tuberculum majus) เป็นปุ่มกระดูกที่อยู่ด้านข้างต่อส่วนต้นของกระดูกและปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขน และอยู่ด้านข้างของคอกระดูกเชิงกายวิภาค พื้นผิวด้านบนของปุ่มกระดูก (upper surface) มีลักษณะกลม และมีรอยประทับแบนๆ 3 รอย ได้แก่ หน้าประกบที่อยู่บนสุด เป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อซุปปราสไปนาตัส (Supraspinatus) หน้าประกบตรงกลางเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้ออินฟราสไปนาตัส (Infraspinatus) และหน้าประกบล่างสุดรวมยาวลงมาถึงส่วนตัวกระดูกประมาณ 2.5 เซนติเมตร เป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเทเรส ไมเนอร์ (Teres minor) ส่วนพื้นผิวด้านข้าง (lateral surface) ของปุ่มกระดูกใหญ่มีลักษณะนูน ขรุขระ และต่อเนื่องกับพื้นผิวด้านข้างของตัวกระดูก

ปุ่มกระดูกเล็ก[แก้]

ปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขน (lesser tubercle หรือ lesser tuberosity; ละติน: tuberculum minus) เป็นปุ่มกระดูกที่แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าปุ่มกระดูกใหญ่ (greater tubercle) แต่ก็ยื่นออกมามากกว่า ตั้งอยู่ด้านหน้า และชี้ไปทางใกล้กลางลำตัวและไปด้านหน้า เหนือต่อและหน้าต่อปุ่มกระดูกนี้เป็นรอยประทับซึ่งเป็นจุดเกาะปลายของเอ็นกล้ามเนื้อใต้กระดูกสะบัก (Subscapularis)

ร่องไปซิพิทัล[แก้]

ร่องไบซิพิทัล หรือ ร่องระหว่างปุ่มกระดูก (bicipital groove หรือ intertubercular groove) เป็นร่องลึกบนกระดูกต้นแขนที่แบ่งระหว่างปุ่มใหญ่ (greater tubercle) และปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขน (lesser tubercle) ซึ่งเป็นช่องสำหรับเอ็นของปลายจุดเกาะต้นด้านยาวของกล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ เบรคิไอ (Biceps brachii) และเป็นทางผ่านของแขนงหลอดเลือดแดงรอบต้นแขนด้านหน้า (anterior humeral circumflex artery) ไปยังข้อต่อไหล่ (shoulder-joint) ร่องนี้วิ่งลงมาในแนวเฉียง และสิ้นสุดประมาณ 1/3 ด้านบนของกระดูกต้นแขน

เมื่ออยู่ในร่างกาย ส่วนบนของร่องนี้จะถูกคลุมด้วยแผ่นกระดูกอ่อนบางๆ เรียงตัวโดยการยืดยาวออกของเยื่อบุข้อ (synovial membrane) ของข้อต่อไหล่ ส่วนล่างเป็นจุดเกาะปลายของเอ็นกล้ามเนื้อแลททิสซิมุส ดอร์ไซ (latissimus dorsi) ร่องนี้ด้านบนจะลึกและแคบ และจะตื้นขึ้นและกว้างขึ้นเล็กน้อยด้านล่าง แนวด้านข้างของร่องนี้เรียกว่า สันของปุ่มกระดูกใหญ่และปุ่มกระดูกเล็ก (crests of the greater and lesser tubercles) (สันไบซิพิทัล (bicipital ridges)) และสร้างเป็นส่วนบนของขอบด้านหน้าและขอบด้านใกล้กลางของส่วนกลางของกระดูก

คอกระดูกเชิงศัลยศาสตร์[แก้]

คอกระดูกเชิงศัลยศาสตร์ของกระดูกต้นแขน (Surgical neck of the humerus) เป็นรอยคอดของกระดูกต้นแขนที่อยู่ใต้ปุ่มใหญ่ (greater tubercle) และปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขน (lesser tubercle) เป็นบริเวณที่กระดูกมักจะหักได้บ่อย การหักของกระดูกต้นแขนบริเวณนี้มักจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทรักแร้ (axillary nerve) และหลอดเลือดแดงรอบต้นแขนด้านหลัง (posterior humeral circumflex artery)

ภาพอื่นๆ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]