สเกตลีลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การแข่งขันฟิกเกอร์สเกตประเภทคู่

สเกตลีลา (อังกฤษ: figure skating) บางครั้งนิยมเรียกทับศัพท์เป็น "ฟิกเกอร์สเกต" เป็นกีฬาสเกตน้ำแข็ง ซึ่งแข่งขันโดยการแสดง การหมุน, กระโดด, การทำสเต็บเท้า (step sequences) และ การแสดงท่าทางอื่น ๆ โดยทั่วไปมักจะเป็นการแสดงประกอบเสียงดนตรี การแข่งขันมีทั่งแบบเดี่ยว, เป็นคู่ (ชายคู่หญิง) , ไอซ์แดนซิ่ง (ice dancing) และประเภทหมู่คณะ (synchronized skating) (ยังไม่มีการแข่งขันในระดับชิงแชมป์โลกหรือโอลิมปิกในประเภทนี้) การแข่งขันระดับนานาชาติมีหลายรายการ โดยมีการออกกฎการแข่งขัน และกำกับดูแลโดย สหภาพสเกตระหว่างประเทศ (ISU) สเกตลีลาเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันซึ่งบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว

รายการแข่งขันระดับนานาชาติรายการหลักของโลกซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของสหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติมีดังต่อไปนี้ โอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympic Games) การแข่งขันสเกตลีลาชิงแชมป์โลก (World Figure Skating Championships) การแข่งขันสเกตลีลาชิงแชมป์ยุโรป (European Figure Skating Championships) การแข่งขันชิงแชมป์สี่ทวีป (Four Continents Figure Skating Championships) และการแข่งขัน ไอเอสยู กรังปรีซ์ (ISU Grand Prix of Figure Skating)

กีฬานี้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจบันเทิง โดยมีการจัดการแสดงที่ไม่ได้เป็นการแข่งขัน และนอกจากนั้นยังมีการแสดงสเกตเพื่อบันเทิงผู้ชมหลังจากจบการแข่งขันของนักกีฬาที่ได้อันดับต้น ๆ หรือที่เรียกว่า "เอกซิบิชัน" (exhibition) หรือ "กาลา" (gala) ก็เรียก นักสเกตหลายคนหลังจากจบอาชีพการแข่งขัน มักผันอาชีพไปแสดงสเกตโชว์

อุปกรณ์[แก้]

รองเท้าสเกต

รองเท้าสเกตลีลาแตกต่างจากรองเท้าสเกตที่ใช้ในฮอกกี้น้ำแข็ง ตรงที่ส่วนหัวของใบมีดรองเท้าสเกตลีลามีรอยหยักเป็นฟัน เรียก โทพิก (toe pick) (หรือ โทเรคส์) ใช้จิกพื้นช่วยในการกระโดด ไม่ควรใช้ในการหมุน ในปัจจุบันโทพิกนั้นมีการออกแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย บางแบบมีฟันยื่นออกมาที่ด้านข้างของใบมีดอีกด้วย

ใบมีดรองเท้าสเกตลีลา มีรูปร่างโค้งจากด้านหน้าไปจนถึงด้านหลัง ด้วยรัศมีของความโค้งประมาณ 2 เมตร ใบมีดสเกตนั้นมีรูปร่างกลวงเป็นร่องที่ส่วนขอบใบมีด ซึ่งทำให้ใบมีดนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 คมมีด (Edges) คือ คมมีดด้านใน และ ด้านนอก ในการสเกตนั้นจะสเกตบนคมมีดด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ไม่สเกตบนทั้งสองคมพร้อมกัน (ซึ่งเรียกว่าเป็นการสเกตแบบ แฟลต) โดยจากการมีร่องตรงกลางทำให้แบ่งคมมีดออกเป็น 2 ด้านเช่นนี้เอง ทำให้นักสเกตลีลาจะต้องเรียนรู้ที่จะทรงตัวในด้านใบมีดด้านใดด้านหนึ่ง จึงเกิดคำศัพท์ที่ว่า "อินไซด์เอดจ์" (Inside Edge) หรือ การสเกตโดยทรงตัวจากด้านในคมมีด (ด้านที่เข้าหาตัว) และ "เอาต์ไซด์เอดจ์" (Outside Edge) หรือการสเกตโดยทรงตัวบนด้านนอกคมมีด (ด้านออกจากตัว)

การสเกตให้ลื่นไถลได้ดีนั้นมีพื้นฐานมาจากความสามารถในการใช้คมมีดเพื่อเร่งความเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันได้มีการออกแบบ ใบมีดสเกตรูปพาราโบลาเพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพของนักสเกตโดยมีการเพิ่มส่วนเว้ากลางตามด้านยาวของใบมีด และการออกแบบของ "เคพิก" (K-Pick) ซึ่งเสมือนการเพิ่มโทพิกเสริมเพื่อเพิ่มการจิกน้ำแข็งเพื่อเพิ่มแรงกระชากและระยะความยาวของการกระโดด อย่างไรก็ดีการออกแบบทั้งสองขึ้นอยู่กับความถนัดของนักกีฬาด้วย

ในอดีตนั้น รองเท้าสเกตจะทำจากหนัง และผลิตขึ้นด้วยมือ แต่ในปัจจุบัน รองเท้าสเกตที่ทำจากวัสดุเทียมด้วยการหล่อ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากทนทาน มีน้ำหนักเบากว่าหนัง และ มีราคาถูก ในรองเท้ารุ่นใหม่จะมีส่วนข้อเท้าที่พับได้เพื่อความยืดหยุ่น รองเท้าจากวัสดุสังเคราะห์จะสามารถปรับเข้ากับรูปเท้าได้เร็ว ช่วยย่นระยะเวลาการปรับรองเท้าให้เข้ากับรูปเท้า (Break-In) รองเท้าจากวัสดุเทียมจึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้เริ่มฝึกหัด อย่างไรก็ดีรองเท้าสเกตที่ทำจากหนังแท้จะมีราคาสูง และเป็นที่นิยมสำหรับนักกีฬาระดับสูงมากกว่าเนื่องจากจะมีการเสริมชั้นของหนังแท้สูงสุดถึง 3 ชั้นเพื่อเสริมความแข็งแรง และข้อดีอีกอย่างของรองเท้าหนังแท้ก็คือ จะสามารถปรับเข้ากับรูปเท้านักกีฬาได้ดีกว่าเมื่อใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง (Break-In) แม้ว่าจะต้องอาศัยเวลาการปรับตัวที่นานกว่ารองเท้าสังเคราะห์ก็ตาม

การเลือกอุปกรณ์สำหรับนักกีฬานั้น จำเป็นต้องผนวกเอาระดับการเล่นกับรุ่นของรองเท้า และใบมีดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งผู้ผลิตจะมีการอธิบายไว้ชัดเจนว่ารองเท้า หรือใบมีดลักษณะเช่นไร จึงจะเหมาะสมกับระดับของผู้เล่น

ส่วนที่เป็นใบมีดนั้นยึดติดกับพื้นรองเท้า และ ส้นรองเท้า โดยการยึดด้วยตะปูควง อุปกรณ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วก็มี แผ่นสำหรับป้องกันก้นกระแทก ใช้สอดไว้ในกางเกงเพื่อช่วยลดการบอบช้ำเวลาลื่นล้ม และอุปกรณ์สำหรับป้องกันใบมีดสเกตเรียก การ์ด (guard) ใช้ครอบใบมีดเมื่อจำเป็นต้องเดินบนพื้นที่ไม่ใช่ลานน้ำแข็ง เพื่อปกป้องคมของใบมีด อุปกรณ์สำหรับป้องกันใบมีดอีกชนิดเรียก โซกเกอร์ เป็นครอบชนิดอ่อนสำหรับป้องกันใบมีดขึ้นสนิมจากความชื้น ในขณะที่ไม่ได้สวมใส่

แขนงต่าง ๆ[แก้]

ในการแข่งขันระดับนานาชาติ ในกำกับของ "สหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติ" (ISU) รวมถึงการแข่งขันระดับโอลิมปิก นั้นจะแบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็นแขนงต่าง ๆ ดังนี้

แบบเดี่ยว (ซิงเกิล) มีการแข่งขันทั้งแบบชายเดี่ยว และหญิงเดี่ยว มีข้อกำหนด หรือท่าบังคับในการแข่งขันคือ ให้มีการแสดงท่าการกระโดด, หมุนตัว, การก้าวเท้าแบบชุด (สเต๊บซีเคว้นซ์) และ สไปรอล (มีการกำหนดสำหรับประเภทหญิงเดี่ยวเท่านั้น) นอกจากนี้ยังมีการแสดงท่าอื่น ๆ ที่กำหนดโดยนักกีฬ่าร่วมด้วยอีก

แบบคู่ (ชายคู่หญิง หรือการแข่งแบบ "แพร์") มีลักษณะคล้ายคลึงกับแบบเดี่ยว คือมีท่าบังคับแบบให้ทำแยกต่างหาก หรือต่างคนต่างทำ ลักษณะเช่นเดียวกับประเภทเดี่ยว ส่วนที่แตกต่างก็คือ จะมีท่าบังคับเพิ่มเติมคือ การกระโดดแบบโยน (โทรว์จัมพ์) ลักษณะคือการที่ฝ่ายชายอุ้มฝ่ายหญิงขึ้นแล้วโยนขึ้นให้ฝ่ายหญิงหมุนตัวกลางอากาศ ต่างจากการกระโดดแบบธรรมดา ซึ่งต้องกระโดดขึ้นด้วยเท้าของตนเอง, การยก (ลิฟท์) คือการที่ฝ่ายชายยกฝ่ายหญิงขึ้นให้ร่างกายฝ่ายหญิงอยู่สูงกว่าศีรษะฝ่ายชายอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น การแข่งขันแบบคู่จะได้รับความนิยมจากผู้ชมเนื่องจากมีการแสดงที่มีการช่วยกันของทั้งสองฝ่าย ทำให้ท่าทางการแสดงออกดูฝาดโผน งดงาม ทั้งยังต้องมีการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียงในการแสดงทั้งการแสดงแบบต่างคนต่างทำ หรือท่าบังคับแบบคู่ก็ตาม ดังนั้น แม้การทำท่า "สไปรอล" จะเป็นท่าที่บังคับสำหรับฝ่ายหญิงเท่านั้นในการแข่งขันแบบเดี่ยว แบบคู่กลับมีการทำท่านี้ทั้งสองฝ่าย

แบบไอซ์แดนซิง (ชายคู่หญิง หรือ "ไอซ์แดนซิง") ในอดีตเคยมีผู้เรียกว่า "สเกตลีลาส" ต่างจากแบบคู่คือ มีการให้คะแนนการก้าวเท้าเป็นหลัก (ฟุตเวิร์ก) ให้สอดคล้องกับเพลงที่แข่งขัน โดยการยก (ลิฟท์) นั้นมีการบังคับว่า ฝ่ายชายต้องไม่ยกฝ่ายหญิงขึ้นสูงกว่าระดับของหัวไหล่ของฝ่ายชาย

การกระโดด[แก้]

การกระโดดในสเกตลีลา นั้นเป็นกระบวนการเริ่มตั้งแต่การโดดลอยตัวขึ้น หมุนตัวกลางอากาศ และ การลงสัมผัสพื้น การกระโดดนั้นมีหลายประเภท แยกออกโดย ท่าทางของการกระโดดขึ้น การลงสัมผัสพื้น และ จำนวนรอบของการหมุนตัวกลางอากาศ

นักสเกตโดยส่วนใหญ่นิยมหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา แต่ก็มีบางคนที่หมุนตัวตามเข็มนาฬิกา มีนักสเกตจำนวนน้อยคนที่จะหมุนตัวได้ทั้งสองทิศทาง ดังนั้นการอธิบายถึงลักษณะการกระโดดด้านล่างนี้ จะใช้หมายถึงการกระโดดเพื่อหมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา

การกระโดดในสเกตลีลามีอยู่ 6 ประเภทหลัก โดยการกระโดดทั้ง 6 ปรเภทนี้จะลงสัมผัสพื้น บนคมมีดด้านนอกของเท้าขวา (สำหรับการหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา ทั้งแบบรอบเดียว หรือ หลายรอบ) แต่แตกต่างกันตอนกระโดดขึ้น ลักษณะของการกระโดดขึ้นสามารถแยกได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ การกระโดดใช้ปลายเท้า (toe jumps) และ การกระโดดใช้คมมีด (edge jumps) (รายละเอียดด้านล่างอธิบายถึง การกระโดดหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา ส่วนการหมุนตัวตามเข็มนาฬิกานั้นจะสลับข้างกัน)

การกระโดดแบบใช้ปลายเท้า หรือโทจัมพ์ (Toe Jumps) หรือการกระโดดโดยใช้โทพิก

  1. โทลูป (Toe loop (T)) เริ่มออกตัวกระโดดจากการไถลไปด้านหน้า แล้วทำการกลับตัวด้วยเท้าขวา นิยมโดยการกลับตัวแบบทรีเทิร์น (3 Turn) ไปด้านหลัง จากคมมีดด้านนอกของเท้าขวา แล้วใช้โทพิกส์เท้าซ้ายจิกพื้นช่วยในการออกตัว บางครั้งนักกีฬาสามารถกลับตัวด้วยเท้าซ้ายก่อน แล้ววางเท้าขวาลงไปขณะเดียวกับที่เคลื่อนเท้าซ้ายออกด้านหลังแล้วจึงค่อยยกเท้าซ้ายขึ้นจิกฟื้นออกตัวเล่นเดิมก็สามารถทำได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้มักแสดงให้เห็นกับนักกีฬาในยุคปัจจุบันมากกว่าการกลับตัวด้วยเท้าขวาแบบแรก ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ และมีนักกีฬาชายชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 4 รอบได้ในการแข่งขัน แต่นักกีฬาหญิงยังไม่มีผู้ใดใช้การหมุน 4 รอบในการแข่งขัน หากแต่ด้วยความเข้มงวดของกติกา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแข่งขัน ทำให้ผู้ควบคุมทางเทคนิคการเล่น สามารถหักคะแนนความสมบูรณ์ของจำนวนรอบ (Underrotation) ที่ไม่ครบวงรอบได้ง่าย ซึ่งการหักคะแนนลักษณะนี้จะทำให้ผลคะแนนต่ำลงอย่างมาก จึงทำให้ปัจจุบันมีความนิยมน้อยลงสำหรับนักกีฬาชายเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกลดคะแนนพื้นฐานประจำท่า (Base Value)
  2. ฟลิป (Flip (F)) ออกตัวกระโดดจากด้านหลัง ทรงตัวด้วยคมมีดด้านในของเท้าซ้าย และ ใช้โทพิกส์เท้าขวาช่วยในการออกตัว ปัจจุบันมีนักกีฬาหญิ่งคนเดียวชื่อ Tonya Harding จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่สามารถทำการหมุน 4 รอบสำหรับท่ากระโดดนี้ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1991
  3. ลัทซ์ หรือ ลุตซ์ (Lutz (Lz)) ออกตัวกระโดดจากด้านหลัง ทรงตัวด้วยคมมีดด้านนอกของเท้าซ้าย และ ใช้โทพิกส์เท้าขวาช่วยในการออกตัว ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ และมีนักกีฬาชายผู้เดียวคือ เยฟกินี ปูเชงโก (Evgeni Plushenko) นำสามารถกระโดดหมุน 4 รอบในการแข่งขันเพียงครั้งเดียวที่ประเทศรัสเซีย หากแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์กีฬาสเกตลีลา เนื่องด้วยการกระโดดครั้งนั้นยังไม่สมบูรณ์แบบ ปัจจุบันจึงยังถือว่าการกระโดดท่านี้ ยังไม่มีผู้ใดสามารถกระโดด 4 รอบได้สำเร็จ และท่านี้ยังถือเป็นท่ากระโดดที่มีคะแนนพื้นฐานประจำท่า (Base Value) ตามกติกาใหม่สูงที่สุดในจำนวนท่าทั้งหมดของการโดดแบบใช้ปลายเท้าหรือ โทจัมพ์ อีกด้วย

การกระโดดใช้คมมีด หรือเอดจ์จัมพ์ (Edge jumps) นั้นจะไม่มีการใช้โทพิกส์ช่วยในการกระโดด ซึ่งหมายถึงนักกีฬาจะโดดขึ้นโดยใช้ใบมีดส่งตัวขึ้นเท่านั้นแบ่งออกเป็น

  1. ซาลคาว (Salchow (S)) เริ่มออกตัวกระโดดจากการไถลไปด้านหลัง (มักมีการเปลี่ยนการเคลื่อนที่จากด้านหน้าด้วยการกลับตัวแบบ ทรีเทิร์น หรือ โมฮอกค์เทิร์น) จากคมมีดด้านในของเท้าซ้าย และใช้การเหวี่ยงขาที่เหลืออีกข้างเป็นวง ช่วยในการออกตัวกระโดด ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ และมีนักกีฬาชายชั้นนำบางคนสามารถกระโดดหมุน 4 รอบได้ ส่วนนักกีฬาหญิงที่สามารถกระโดดหมุน 4 รอบได้ในการแข่งขันระดับนานาชาติมีคนเดียวคือ อันโดะ มิกิ (Miki Ando) แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรในหมู่นักกีฬาชายหากเทียบกับการโดด 4 รอบของการโดดแบบ "โทลูป" แม้ว่าคะแนนของการโดดแบบซาลคาวจะต่ำที่สุด (ซึ่งหมายถึงเป็นท่าง่ายที่สุด) เมื่อเทียบกับการโดดท่าอื่นก็ตาม เนื่องจากการควบคุมวงรอบให้สมบูรณ์แบบนั้นยากกว่าท่า "โทลูป" จึงทำให้นักกีฬาไม่นิยมบรรจุท่านี้ไว้ในโปรกแกรมการแข่งขันของตน
  2. ลูป (Loop (Lp)) หรือ ริตซ์เบอร์เกอร์ (Rittberger) ตามชื่อผู้คิดค้นท่า หากแต่ปัจจุบันนิยมเรียกเพียง "ลูป" เท่านั้น เป็นออกตัวกระโดดทางด้านหลัง จากคมมีดด้านนอกของเท้าขวา และ ลงสัมผัสพื้นด้วยคมมีดเดียวกัน ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยังไม่มีนักกีฬาคนใดสามารถกระโดดท่าชนิดนี้ 4 รอบในการแข่งขัน
  3. แอกเซิล (Axel (A)) เป็นท่าการกระโดดเดียวที่กระโดดจากการไถลตัวไปด้านหน้า โดยออกตัวจากคมมีดด้านนอกของเท้าซ้าย เนื่องจากการกระโดดเริ่มออกตัวจากการไถลไปด้านหน้า จึงมีรอบการหมุนตัวเพิ่มขึ้นอีกครึ่งรอบในความเป็นจริง ตัวอย่างเช่นนักกีฬาหญิงระดับชั้นนำจะนิยมโดดหมุน 2 รอบแต่ความเป็นจริงแล้ว นักกีฬาจะต้องหมุน 2 รอบครึ่งในอากาศ จึงทำให้การกระโดดแบบนี้ถือว่าเป็นการกระโดดที่ยากที่สุดในบรรดาการกระโดดทั้ง 6 แบบ การกระโดดในลักษณะเดียวกันนี้แต่หมุนตัวเพียงครึ่งรอบเรียกว่า การกระโดดแบบวอลทซ์ และโดยปกติจะเป็นท่ากระโดดท่าแรก สำหรับผู้เริ่มฝึกสเกต การโดดแบบวอลทซ์นี้ ไม่ถือว่าเป็นการโดดที่มีรอบสมบูรณ์ครบ 360 องศา หากเพียง 180 องศาเท่านั้น ในการแข่งขันจึงไม่ถือเป็นการกระโดด ถือว่าเป็นการกลับตัวชนิดหนึ่งเท่านั้นนักกีฬาบางคนจึงบรรจุท่าวอลทซ์นี้เป็นอีกหนึ่งท่าในการแสดงสเต็บเท้าในการแข่งขัน ปัจจุบันนักกีฬาชายชั้นนำส่วนมากกระโดดหมุน 3 รอบได้ และนักกีฬาหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 2 รอบได้ ยังไม่มีผู้ใดที่กระโดดหมุน 4 รอบได้ ส่วนนักกีฬาหญิงที่สามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ในการแข่งขันระดับนานาชาติมีเพียง 5 คน ท่านี้ถือเป็นท่าบังคับตามกติกาใหม่ กำหนดให้นักกีฬาทุกคนต้องกระโดดอย่างน้อย 2 รอบในการแข่งขันระดับอาชีพ (Senior) ทั้งนักกีฬาชายและหญิง ทั้งในโปรแกรมสั้น และโปรแกรมยาว จะต้องมีการบรรจุท่านี้ในการแข่งขัน

นอกเหนือจากการกระโดดดังกล่าวข้างต้น ยังมีการกระโดแบบอื่นๆ ซึ่งปกติใช้ในการเล่นแบบเดี่ยว ใช้ในการเชื่อมโยงความต่อเนื่องระหว่างท่าต่างๆ หรือใช้ในการเน้นท่าก้าวต่อเนื่อง หรือ "สเต็บซีเคว้นซ์" (Step Sequences) ซึ่งตามกฎของ ISU จะมิได้พิจารณาคะแนนเช่นเดียวกับการกระโดดทั่วไป แต่จะนำไปพิจารณาในคะแนนของการก้าวเท้าต่อเนื่องแทน

  1. การกระโดดครึ่งลูป (Half loops) ออกตัวกระโดดด้วยคมมีดด้านนอกของเท้าขวาทางด้านหลัง เหมือนกับการกระโดดลูป แต่ลงสัมผัสพื้นบนคมมีดในด้านหลังของเท้าซ้าย บางครั้งนิยมนำเป็นท่าเชื่อมระหว่างการกระโดดแบบเป็นชุด (in sequence)
  2. การกระโดดวัลลีย์ (en:Walley jump) ออกตัวจากคมมีดในของเท้าขวาด้านหลัง ท่านี้อาจนับได้ว่าเป็นท่าที่ยากกว่าแอกเซิล เนื่องการทิศทางการเคลื่นที่ของคมมีดด้านในนั้นหมุนตามเข็มนาฬิกา ซึ่งสวนทางกับทิศทางการหมุนตัวในอากาศซึ่งทวนเข็มนาฬิกา
  3. การกระโดดสปลิต (Split jump) เป็นการกระโดหมุนตัวครึ่งรอบตามแบบ ฟลิป ลัทซ์ หรือ ลูป แต่ผู้เล่นจะยืดขาทั้งสองให้แยกออกจากกันให้มากที่สุด ซึ่งมักอยู่ที่ประมาณ 180 องศาระหว่างขาทั้งสอง
  4. การกระโดดแอกเซิลด้านใน (Inside axel) เป็นการกระโดดหมุนตัวหนึ่งรอบครึ่ง ที่ออกตัวกระโดดทางด้านหน้าจากคมมีดด้านในของเท้าขวา
  5. การกระโดดแอกเซิลขาเดียว (One-foot axel) เป็นการกระโดดหนึ่งรอบครึ่ง ด้วยการออกตัวแบบเอกเซิล ซึ่งเป็นการออกตัวกระโดดทางด้านหน้าจากคมมีดด้านนอกของเท้าซ้าย แต่ลงสัมผัสพื้นทางด้านหลังบนคมมีดด้านในของเท้าซ้าย

การกระโดดนั้น นอกจากจะแยกกระโดด แยกเป็นท่าเดี่ยว ๆ แล้ว ยังสามารถเป็น การกระโดดแบบต่อเนื่อง หรือ การกระโดดแบบเป็นชุด (in combination or in sequence) หลายท่าได้ โดยมากแล้วการกระโดดแบบเป็นชุด หรือ "คอมบิเนชัน" นั้น มักนิยมโดยการกระโดดใด ๆ ก็ได้ก่อนจากท่าหลักทั้ง 6 แล้วจึงกระโดดตามทันทีหลังจากเท้าขวาสัมผัสพื้นแล้ว โดยมักกระทำท่า โทลูป หรือ ลูป ตามเนื่องจากทั้งสองท่านี้จะกระโดดจากเท้าขวาอยู่แล้ว แต่หากถ้าต้องการกระโดดด้วยท่าที่ต้องกระโดดขึ้นจากเท้าซ้าย มักจะแสดงท่า "ครึ่งลูป" ทันทีที่เท้าขวาสัมผัสพื้นเพื่อปรับเท้าหลักให้ยืนด้วยเท้าซ้ายก่อนจะกระโดดท่าอื่นที่ต้องการต่อไป เรียกการกระโดดต่อเนื่องเช่นนี้ว่า "ซีเคว้นเซส" โดยการกระโดดแบบชุดนั้น นักกีฬาสามารถกระโดดต่อเนื่องกี่ครั้งก็ได้ ตามความสามารถของนักกีฬา ปัจจุบันมักจะพบเห็นการกระโดดแบบคอมบิเนชัน มากกว่าแบบ ซีเคว้นเซส ในการแข่งขัน และการกระโดดแบบเป็นชุดยังเป็นท่าบังคับในการแข่งขันโปรแกรมสั้นประเภทเดี่ยวด้วย

การหมุนตัว[แก้]

การหมุนตัว หรือ เรียกในภาษาอังกฤษ ว่า สปิน (spin) แบ่งออกเป็นหลายประเภทตาม ตำแหน่งของแขน ขา และ มุมของหลัง การหมุนตัวนั้นเป็นการหมุนบนส่วนโค้งของใบมีด ในตำแหน่งที่อยู่หลังโทพิกส์เล็กน้อย (คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าการหมุนตัวนั้นทำบนโทพิกส์) ส่วนโค้งของใบมีดนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า บอลของเท้า (ball of the foot) ซึ่งใช้หมายถึงส่วนโค้งมนที่ยื่นออกมา ท่าหมุนตัวมีเกณฑ์การแบ่งระดับความยากไว้ 4 ระดับ โดยปกตินักกีฬาชั้นนำจะทำท่าได้ในระดับ 3 และ 4 บางครั้งจะมีการหมุนโดยรวมเอาหลาย ๆ ท่ามาแสดงต่อเนื่องกัน เรียก "คอมบิเนชันสปิน (Combination Spin) โดยการหมุนต่อเนื่องนี้ สามารถเปลี่ยนแสดงท่าต่อไปโดยจะเปลี่ยนเท้าที่ทำการหมุนหรือไม่ก็ได้

การหมุนตัวนั้น ทำบนเท้าข้างใดก็ได้ หากนักสเกตหมุนตัวในทิศทวนเข็มนาฬิกา โดยหมุนบนเท้าขวาจะเรียก หมุนไปข้างหน้า หรือ ฟอร์เวิร์ดสปิน (forward spin) หากหมุนอยู่บนเท้าขวาจะเรียกว่าเป็นการหมุนกลับหลัง หรือ แบ็กสปิน (back spin)

  • อัปไรต์สปิน (upright spin - การหมุนตัวตรง) หรือเรียก คอร์กสกรูว์สปิน (corkscrew spin - การหมุนตัวเป็นเกลียว) ซึ่งเป็นการหมุนในลักษณะที่ตัวตั้งตรงในแนวดิ่ง โดยขาอิสระมักจะวางอยู่ในลักษณะไขว้ไว้ด้านหน้าของขาที่ใช้ในการหมุน การหมุนตัวในลักษณะนี้ที่เป็นการหมุนตัวอย่างเร็วนั้นเรียกว่า สแครชสปิน
  • แคเมลสปิน (Camel spin) หรือเรียก พาราเรลสปิน (parallel spin - การหมุนตัวแบบขนาน) เป็นการหมุนโดยมีการวางตัวอยู่ในลักษณะของ "เครื่องบิน" (airplane position) หรือ วางตัวในลักษณะขดเป็นวง (spiral position) ซึ่งขาอิสระจะยืดออกไปทางด้านหลังในระดับเดียวกับสะโพก ขนานกับพื้นน้ำแข็ง
  • ซิตสปิน (sit spin - การนั่งหมุน) เป็นการหมุนโดยงอเข่าของขาที่ใช้สเกตจนต่ำมากคล้ายท่านั่งยอง ส่วนขาอิสระจะยืดตรงยื่นไปข้างหน้าขนานกับพื้นน้ำแข็ง
  • ครอสฟุตสปิน (crossfoot spin - การหมุนไขว้เท้า) เป็นการหมุนในลักษณะตัวยืนตรง โดยที่ขาอิสระจะไขว้ไปด้านหลังของขาที่ใช้สเกต
  • เลย์แบ็กสปิน (layback spin - การหมุนแอ่นหลัง) เป็นการหมุนในลักษณะที่แอ่นตัวไปด้านหลัง และมีการจัดลักษณะของแขนให้เกิดความสวยงามของท่วงท่า
  • แคตช์เดอะฟุตสปิน (Catch-the-foot spins - การหมุนจับเท้า)
  • บีลล์มันน์สปิน (Biellmann spin - การหมุนแบบบีลล์มันน์) ผู้สเกตจะดึงขาอิสระขึ้นมาเหนือสีรษะจากทางด้านหลัง (ท่านี้ใช้โดยนักสเกตสตรีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากต้องใช้ความยืดหยุ่นในการดัดตัวสูง) โดยการยึดจับบนใบมีดของรองเท้าสเกต ชื่อของท่านี้ตั้งตามนักสเกตแชมเปียนโลกฝ่ายหญิง ปี ค.ศ. 1981 ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อ เดนิส บีลล์มันน์ (Denise Biellmann)
  • โดนัทสปิน (Doughnut spin - การหมุนตัวรูปโดนัท) เป็นการหมุนที่ดัดแปลงจากแคเมลสปิน โดยที่นักสเกตใช้แขนข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างจับใบมีดของเท้าอิสระดึงไปด้านหลัง โดยส่วนของหลังโค้งเป็นวงขนานกับพื้นน้ำแข็ง
  • เดทดรอปสปิน (Death drop spin)
  • บัตเตอร์ฟลายสปิน (Butterfly spin)
  • ฟอร์เวิร์ดเชนจ์เอดจ์สปิน (Forward change-edge spin)
  • แบ็กเวิร์ดเชนจ์เอดจ์สปิน (Backward change-edge spin)
  • การหมุนตัวแบบอื่น เช่น ฟลายอิงสปิน (flying spin - การหมุนลอยตัว)

สเต็บ และ เทิร์น (step and turn)[แก้]

ลำดับการก้าวเป็นองค์ประกอบบังคับหนึ่งในการแข่งขัน โดยในการแข่งขันจะเป็นการนำเอาการก้าวเท้าต่าง ๆ มาลำดับเป็นขั้นตอนโดยนักกีฬาเป็นผู้กำหนด เรียกว่า "สเต็บซีเคว้นเซส" ลำดับการก้าวนี้หมายถึงการผสมผสานระหว่างการหันตัว การก้าวเท้า การกระโดดสั้น และ การเปลี่ยนคมมีด (การเปลี่ยนเอจ) ที่สัมผัสพื้น โดยลำดับของการแสดงเหล่านี้อาจกระทำติดต่อกันในระหว่างเคลื่อนที่ไปรอบสนามแบบเป็นเส้นตรง เป็นวง หรือ เป็นรูปตัว S

ลักษณะการเลี้ยวซึ่งนักสเกตใช้ประกอบในลำดับการก้าวมีหลายชนิด ดังนี้

  • การเลี้ยวรูปหมายเลข 3 (3 turn) ซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะของรูปร่างการเลี้ยวโค้งของใบมีดรองเท้าสเกต ซึ่งมีการหันใบมีดตามแนวโค้ง และทิ้งริ้วรอยเหมือนกับหมายเลข "3" ไว้บนผิวน้ำแข็ง
  • การเลี้ยวรูปปีกกา (bracket turn) เป็นการเลี้ยวด้วยเท้าข้างเดียวโดยที่ผิวน้ำแข็งจะทิ้งรอยเป็นรูปปีกกา
  • การเลี้ยวแบบร็อกเกอร์ (rocker turn) และการเลี้ยวแบบเคาน์เตอร์ (counter turn)
  • การเลี้ยวแบบโมฮอว์ค (Mohawk turn)
  • การเลี้ยวแบบชอคทาว์ (Choctaw turn)
  • การเลี้ยวแบบทวิซเซิล (twizzle) มีหลักษณะเป็นการเลี้ยวหลาย ๆ ครั้งติอต่อกันโดยมีการเคลื่อนที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งแตกต่างจากลักษณะของการหมุนแบบสปินที่ต้องอยู่กับที่

สเต็บซีเคว้นเซสมีการแบ่งเกณฑ์การให้คะแนนความยากเป็น 4 ระดับ จากความเร็ว จำนวนท่า และความยากง่ายของท่าต่าง ๆ โดยนักกีฬาชั้นนำจะนิยมบรรจุท่า และความเร็วเพื่อให้ได้คะแนนความยากระดับ 3 มีเพียงไม่กี่คนจะใช้ระดับความยากที่ระดับ 4

สไปรอล (Figure skating spirals)[แก้]

คือท่าบังคับอย่างหนึ่งในการแข่งขัน (ยกเว้นการแข่งขันฝ่ายชายเดี่ยวจะไม่ถือว่าเป็นท่าบังคับ) ลักษณะการแสดงเป็นการเคลื่อนที่บนน้ำแข็งด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว โดยมีข้อกำหนดว่า เท้าข้างที่เป็นเท้าอิสระจะต้องยกขึ้นอย่างน้อยเหนือสะโพกของนักกีฬา ท่านี้มีการดัดแปลงท่าทางในหลายลักษณะ ซึ่งสามารถทำได้ในหลายท่าทาง เช่นการยกขาด้านหน้า หรือด้านหลัง แม้กระทั่งการชูเท้าขึ้นเหนือศีรษะเป็นต้น การทำท่าสไปรอลนี้สามารถนำมาทำต่อเนื่องกันซึ่งเรียกว่า "สไปรอลซีเคว้นเซส" โดยอาจทำได้โดยการเปลี่ยนคมมีดในการเคลื่อนที่ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนการยกเท้า หรือการสลับเท้าที่เคลื่อนที่ก็ได้

กติกา การแข่งขัน[แก้]

กติการการแข่งขัน จะถูกตราขึ้นโดย "สหพันธ์สเกตน้ำแข็งนานาชาติ" หรือ ISU ซึ่งจะเป็นผู้ออกกฎกติกาของการแข่งขันระดับนานาชาติ หรือแม้กระทั่งการแข่งขันในระดับโอลิมปิกก็ตาม โดยการแข่งขันประเภทเดี่ยว หรือคู่ จะมีการแข่งขัน 2 ครั้งต่อการแข่งขัน คือการแข่งขันโปรแกรมสั้น หรือShort Program (SP) และการแข่งขันโปรแกรมยาว หรือ Long Program (LP) ซึ่งบางครั้งจะเรียก Free Skate (FS) โดยโปรแกรมสั้นจะมีการเรียกให้แสดงท่าบังคับน้อยกว่าโปรแกรมยาว และจะสิ้นสุดลงเร็วกว่าโปรแกรมยาว ทำให้คะแนนในรอบโปรแกรมสั้นจะต่ำกว่าคะแนนในรอบโปรแกรมยาว บางครั้งในการแข่งขันระดับใหญ่เช่นการแข่งขันชิงแชมป์โลก หรือโอลิมปิก จะใช้การแข่งขันแบบ Short Program เพื่อตัดนักกีฬาที่คะแนนน้อยออกจากการแข่งขันเพื่อทำให้รอบ Long Program มีนักกีฬาที่ผ่านเข้ารอบน้อยลงเพื่อความกระชับในการแข่งขัน ส่วนในการแข่งขันแบบ Ice Dancing นั้นมีการแข่งขัน 2 รอบคือ รอบเพลงบังคับ (compulsory dances) และรอบเพลงอิสระ ซึ่งการแข่งขันจะค่อนข้างคล้ายคลึงกับการแข่งขันในกีฬาลีลาศ (Dance Sport) กล่าวคือ ในรอบเพลงบังคับนั้น นักกีฬาต้องแข่งขันในจังหวะ และเพลงที่กรรมการการแข่งขันจะเป็นผู้กำหนดให้ ดังนั้นนักกีฬาทุกคู่จะต้องแข่งขันในจังหวะเดียวกัน หากแต่รอบเพลงอิสระนั้น นักกีฬาจะสามารถแข่งขันในเพลง และจังหวะที่นักกีฬาเป็นผู้กำหนดขึ้นเองได้

ระบบคะแนน 6.0[แก้]

เป็นระบบการให้คะแนนแบบเก่า ซึ่งจะให้คะแนนเป็น 2 ประเภทคือ คะแนนด้านเทคนิค (technical merit) และคะแนนด้านความสวยงาม (presentation) ในทั้งการแข่งขันประเภทโปรแกรมสั้น และโปรแกรมยาว โดยคะแนนเต็มของกรรมการแต่ละท่านคือ 6.0 ในแต่ละด้าน ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากทั้งโปรแกรมสั้น และโปรแกรมยาวรวมกันจะได้เป็นผู้ชนะ โดยคะแนนในโปรแกรมสั้นจะมีน้ำหนักคะแนนรวมน้อยกว่าคะแนนในโปรแกรมยาว ของกรรมการทุกท่านรวมกัน ระบบคะแนนนี้ได้ประสบปัญหาในหลายด้าน ทั้งเรื่องความเอนเอียงไม่เป็นธรรมของกรรมการ รวมถึงความสามารถของกรรมการที่จะน้ำหนักคะแนนได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ดีระบบคะแนนแบบ 6.0 ได้ถูกใช้จนกระทั่งได้มีปรับเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ในปี ค.ศ. 2006 ในการแข่งขันนานาชาติในปีดังกล่าว รวมถึงโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองตูรินในปีเดียวกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว

ระบบคะแนน ISU[แก้]

ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี ค.ศ. 2002 ระหว่างการแข่งขันประเภทคู่ ซึ่งมีผู้ชนะเลิศ 2 ประเทศ คือรัสเซีย และแคนาดา ทำให้คณะกรรมการของ ISU ได้มีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการปรับปรุงระบบการให้คะแนนที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้นในปี ค.ศ. 2004 โดยได้มีข้อสรุปและประกาศใช้กับการแข่งขันในนานาชาติในกำกับดูแลของ ISU เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2006 รวมถึงการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองตูรินประเทศอิตาลี ระบบการให้คะแนนใหม่นี้จะแบ่งการให้คะแนนออกเป็น "คะแนนท่าบังคับ" และ "คะแนนส่วนประกอบโปรแกรม"

คะแนนของท่าบังคับ (Total Element Score หรือ TES) นี้จะแยกการให้คะแนนออกเป็นแต่ละท่าแล้วจะนำคะแนนในแต่ละท่ามารวมกัน เรียกว่า "คะแนนรวมท่าบังคับ" โดยในคะแนนของแต่ละท่าจะมี "คะแนนมาตรฐาน"(Base Value) ซึ่งจะมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าตามความยากง่ายของแต่ละท่าโดย "ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค" และอีกหน้าที่หนึ่งของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคก็คือะทำการย้อนดูวิดีโอหลังจากแข่งขันเสร็จสิ้นเพื่อดูความสมบูรณ์แบบของการแสดงท่าต่าง ๆ ในแง่ของการทำผิดกติกา เช่นการโดดขึ้นผิดคมมีด หรือความครบรอบการหมุนตัวกลางอากาศของนักกีฬาภายหลังการสัมผัสพื้น เป็นต้น ในขณะเดียวกัน กรรมการทั้ง 12 คนจะทำหน้าที่ให้คะแนนในส่วนของ "คะแนนความสมบูรณ์แบบ" (Grade Of Execution หรือ GOE) ซึ่งจะมีระดับคะแนนตั้งแต่ -3 จนถึง +3 โดยอ้างถึงกฎการให้คะแนนความสมบูรณ์ในคู่มือกรรมการของ ISU ทั้งนี้คะแนนดิบจากกรรมการทั้ง 12 คนจะถูกตัดสุ่มโดยระบบคอมพิวเตอร์ ให้เหลือเพียง 9 คน จากนั้นจะนำคะแนนดังกล่าวมาตัดคะแนนที่สูงสุด และต่ำที่สุดออก เหลือเพียงคะแนนนจากกรรมการ 7 คนแล้วจึงนำมาหาค่าเฉลี่ย ทำให้ระดับของ GOE จะไม่มีค่าเกิน +3 และต่ำว่า -3 ได้ ดังนั้นเมื่อนักกีฬาทำท่าบังคับเสร็จสิ้นในแต่ละท่า ก็จะมีการนำคะแนนในส่วนของ "คะแนนมาตรฐาน" ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค มารวมกับคะแนนเฉลี่ยของ "คะแนนความสมบูรณ์แบบ" หรือ GOE ออกมาเป็นคะแนนรวมของแต่ละท่า ตัวอย่างเช่น นักกีฬาทำท่ากระโดด ดับเบิ้ลเอ็กเซล (โดดเอกเซล 2 รอบ) ซึ่งท่านี้มีคะแนนมาตรฐานอยู่ที่ 3.5 (แต่ละท่าจะมีคะแนนมาตรฐานความยากง่ายไม่เท่ากัน) ซึ่งนักกีฬาแสดงได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้คณะกรรมการทั้ง 12 คนให้คะแนน ความสมบูรณ์แบบ หรือ GOE เฉลี่ยและสุ่มโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ อยู่ที่ 1.71 (ไม่เกิน 3 คะแนน) คะแนนจะถูกนำมารวมกันได้เป็น 5.21 (3.5+1.71) แต่หากถ้านักกีฬาคนดังกล่าว แสดงท่านี้โดยมีการนำมือสัมผัสพื้นขณะที่เท้าลงถึงพื้น คะแนนเฉลี่ยจากกรรมการทั้ง 12 ออกมาเป็น -1 ก็จะนำมาหักจากคะแนนมาตรฐานเหลือเพียงคะแนนรวมที่ 2.5 เป็นต้น

คะแนนองค์ประกอบของโปรแกรมการแสดง (Program Components Score หรือ PCS) คล้ายกับลักษณะการให้คะแนนความสวยงามของการแสดง (Presentation Score) ในระบบ 6.0 ซึ่งจะแบบหัวข้อการให้คะแนนเป็นลำดับดังนี้

  1. ทักษะการเล่น (Skating Skills หรือ SS) ,
  2. ความต่อเนื่องขอกการเล่น (transitions หรือ TR) ,
  3. พละกำลัง ความสมบูรณ์ของโปรแกรมการแสดง (performance/execution หรือ PE) ,
  4. การออกแบบท่าการแสดง (choreography หรือ (CH) ,
  5. การตีความหมายเพลงจากท่าการแสดง (interpretation หรือ (IN).

โดยจะมีคะแนน "ตัวคูณ" หรือ Factor นำมาคิดคำนวณกับคะแนนเฉลี่ยจากกรรมการแต่ละคนที่สุ่มมาจากคอมพิวเตอร์ ก่อนนำคะแนนทั้งหมดมารวมกันกลายเป็น PCS คะแนนทั้งหมดในส่วนของ TES และ PCS นี้จะนำมารวมกันครั้งสุดท้ายเป็น "คะแนนรวม" (Total Segment Score) ของแต่ละโปรแกรม ด้วยจำนวนท่าและเวลา ทำให้คะแนนรวมของ Short Program จะน้อยกว่า Long Program ดังนั้น นักกีฬาที่ทำคะแนน Short Program ได้น้อยแต่หากทำคะแนน Long Program ซึ่งสามารถแสดงท่าได้มากกว่าได้ดี ก็มีโอกาสจะพลิกกลับมาชนะได้

กีฬาสเกตน้ำแข็งในปัจจุบัน[แก้]

นับแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 กีฬานี้ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ของทวีปยุโรป จากนั้นได้กลายเป็นที่นิยมในทวีปอเมริกาเหนือเนื่องจากภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่นำเอากีฬาชนิดนี้มาเป็นโครงเรื่อง จากนั้นก็ได้เป็นที่นิยมเรื่อยมา และได้กลายเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในอเมริกาหลังจากที่อเมริกาได้กลายเป็นแชมป์โอลิมปิกฤดูหนาวหลายปีติดต่อกัน รวมถึงการมีนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง มิเชล กวาน (Michelle Kwan) ผู้ซึ่งได้รับคำนิยมให้เป็นนักสเกตผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกาตลอดไป และเข้าสู่ทุกทวีปของโลก โดยสังเกตได้จากปัจจุบัน ได้มีนักกีฬาสเกตน้ำแข็งจากทุกทวีปทั่วโลก โดยเฉพาะนักกีฬาในระดับแนวหน้านั้นมิได้จำกัดแค่เพียงกลุ่มนักกีฬาในแถบทวีปยุโรป หรืออเมริกาเท่านั้น แต่ได้มีนักกีฬาแนวหน้าในทวีปเอเชียหลายคนขึ้นทำเนียบแนวหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิเช่น อาราคาวะ ชิซูกะ (Shizuka Arakawa) (ญี่ปุ่น) เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2006 อาซาดะ มาโอะ (Mao Asada) (ญี่ปุ่น) แชมป์โลกปีค.ศ. 2008 หรือแม้แต่ คิม ยูนา (Yu-na Kim) (เกาหลีใต้) แชมป์โลกคนปัจจุบัน (ค.ศ. 2009) ทำให้เป็นที่พอให้สรุปได้ว่า กีฬานี้เป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมของคนทั้งโลกไปเสียแล้ว โดยเฉพาะในโซนเอเชียนั้น การชิงชนะเลิศระหว่าง "อาซาดะ มาโอะ" และ "คิมยูนา" นั้นถือเป็นคู่หลักที่ทุกคนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเป็นประวัติการณ์ (และในปัจจุบัน (ค.ศ. 2009) มีนักสเกตลีลาหญิง 2 คนนี้เท่านั้นที่มีคะแนนรวมสูงเกิน 200 แต้ม) ซึ่งสถิติโลกคะแนนรวม และคะแนนแยกตามโปรแกรมสั้น และโปรแกรมยาว เป็นของ "คิม ยูนา" ซึ่งได้ทำไว้ล่าสุดที่การแข่งขัน สเกตน้ำแข็งโลกปี 2009 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเธอได้ทำลายสถิติโลกในโปรแกรมสั้น และผลคะแนนรวม และถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้คะแนนรวมเกินกว่า 200 คะแนนเป็นคนแรก ก่อนที่ อะซาดะ มาโอะ จะทำได้ในการแข่งขัน เวิร์ลทีม แชมเปี้ยนชิปในปีเดียวกัน แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถทำลายสถิติโลกของ "คิม ยูนา" ได้ สำหรับประเภทชายนั้น นับแต่นักกีฬาชายจากประเทศรัสเซีย ได้ครองความเป็นใหญ่บนลานน้ำแข็งระดับนานาชาติมาเป็นระยะเวลานาน นับแต่ อเล็กซี ยากูดิน (Alexei Yagudin) ได้เหรียญทองโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2002 และ เยฟกินี ปูเชงโก (Evgeni Plushenko) ผู้เป็นเจ้าของเหรียญทองในปี 2006 ได้สิ้นสุดความยิ่งใหญ่ลงเนื่องจากภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน นักกีฬาทั้งสองได้ประกาศอำลาการวงการไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้นักกีฬาจากชาติอื่น ๆ อาทิ ไบรอัน จูแบร์ (Brian Joubert) จากฝรั่งเศส หรือแม้แต่ ทากาฮาชิ ไดสุเกะ (Daisuke Takahashi) จากประเทศญี่ปุ่น มีโอกาสแทรกขึ้นมาอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกได้ไม่ยากเย็น นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการสเกตลีลาในประเทศรัสเซีย ก่อนที่ไม่นานมานี้จะมีกระแสข่าวออกมาว่า เยฟกินี ปูเชงโก กำลังหารือกับสหพันธ์สเกตน้ำแข็งรัสเซีย เกี่ยวกับการขอกลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน โอลิมปิกฤดูหนาวปี 2010 ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา นับเป็นข่าวใหญ่ของวงการสเกตลีลาชายเลยทีเดียว

กีฬาสเกตน้ำแข็งในประเทศไทย[แก้]

กีฬาสเกตน้ำแข็งเริ่มต้นในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว นับตั้งแต่ลานสเกตน้ำแข็งยุคแรกได้ถือกำเนิดขึ้น จนไปถึงลานสเกตน้ำแข็งมาตรฐานแห่งแรกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นที่ "เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์" ซึ่งเวลานั้นได้รับความนิยมอย่างมาก จนถึงขนาดที่ได้มีลานสเกตน้ำแข็งเกิดขึ้นมากมายทั้งกลางเมือง และชานเมืองของกรุงเทพมหานคร รวมถึงต่างจังหวัดอย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม จนกระทั่งกระแสกีฬานี้ได้ซบเซาลงไป เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้วงการนี้อย่างจริงจัง ทำให้การเล่นกีฬานี้เปรียบเสมือนการเล่นเพื่อความบันเทิงมากกว่าการเล่นเพื่อการกีฬา จนลานต่าง ๆ ได้ทยอยปิดตัวลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแม้แต่เวิร์ลดเทรดเซ็นเตอร์ก็ได้ปิดลานสเกตแห่งดังกล่าวอย่างถาวรไปแล้ว แต่เป็นที่น่ายินดีว่า ในปัจจุบัน กีฬาชนิดนี้ เริ่มมีกระแสตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้มีลานสเกตน้ำแข็งเปิดใหม่อย่าง Zub Zero ที่อาคารศูนย์การค้า ดิ เอสพละนาดย่านรัชดา และรัตนาธิเบศร์ ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีลานสเกตทั้งสิ้น 7 แห่ง คือที่ ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิร์ล สำโรง, ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิร์ล ลาดพร้าว และที่ ศูนย์การค้าดิ เอสพละนาด สาขารัชดา และสาขารัตนาธิเบศร์ Central World ที่ The Rink central อุดร ,ซีคอน ,mega บางนา

ดูเพิ่ม[แก้]