สุรเทิน บุนนาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุรเทิน บุนนาค
เกิด11 ตุลาคม พ.ศ. 2459
เสียชีวิต7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 (51 ปี)
สัญชาติไทย
คู่สมรสท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
บุตร2 คน
บุพการี

นายสุรเทิน บุนนาค (11 ตุลาคม 2459 - 7 มิถุนายน 2511) อดีตผู้ช่วยหัวหน้าข่าวสาร ในสำนักงานสาขาองค์การอาหารและเกษตรแห่งภาคพื้นเอเซียตะวันออกไกล (FAO Regional Office for Asia and the Far East) ผู้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สนองพระเดชพระคุณด้านการพัฒนาที่ดิน และการเกษตรสมัยใหม่[1] และเป็นหนึ่งใน "พระสหจร ในพระราชพิธีทรงผนวชในรัชกาลที่ 9

ประวัติ[แก้]

นายสุรเทิน บุนนาค เกิดที่ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2459 เป็นบุตรของ อำมาตย์ตรี พระพิศาลสุริยศักดิ์ (เทิน บุนนาค) กับนางผัน บุนนาค (สกุลเดิม สินธุสาร) มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 9 คน คือ

  • นางสาวพิศพรรณ บุนนาค
  • นางสาวประไพ บุนนาค
  • นายสุรเทิน บุนนาค
  • นางประภา ดุละลัมพะ
  • นายประธาน บุนนาค
  • นายแพทย์มณเฑียร บุนนาค
  • พันตรี ฐิติ บุนนาค
  • นางบุณฑริก สกุลเอี่ยม
  • นางตาบทิพย์ บุนนาค

ลำดับสกุลวงศ์[แก้]

ครอบครัว[แก้]

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2491 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และเจ้าจอมมารดาอ่อน ในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดการสมรส นายสุรเทิน บุนนาค กับหม่อมหลวงมณีรัตน์ สนิทวงศ์ (ภายหลังคือ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค) ธิดา พลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) โดยทั้ง 2 มีบุตรสองคน คือ

  • พลเอกกรีเมศร์ (ศูลี) บุนนาค สมรสกับ คุณหญิงสุนิดา (สกุลเดิม สัมพันธารักษ์) มีบุตร - ธิดา 2 คือ
  • พันเอกสุรธัช บุนนาค

การศึกษา[แก้]

นายสุรเทิน บุนนาค ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมวัดประยุรวงศาวาส ในปี พ.ศ. 2470-2472 ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 2473-2479 เข้าศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นในปี พ.ศ. 2483 ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (U.P.) ประเทศฟิลิปปินส์ และในปี พ.ศ. 2489 ศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา B.S. (Michigan)

เมื่อจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนแล้ว ได้ดูงานตามสถาบันการเกษตรที่สำคัญ ๆ ของสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง เช่นที่ กระทรวงเกษตร สถานทดลองค้นคว้าที่ Beltsville รัฐแมริแลนด์ สถานีทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับข้าวที่ Crowley รัฐลุยเซียนา สถานีทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับผลไม้เมืองร้อนที่ Houston รัฐเท็กซัส เป็นต้น

การทำงาน[แก้]

นายสุรเทิน บุนนาค เข้ารับราชการในแผนกบำรุงพันธุ์ข้าวท้องถิ่น กองข้าว กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2482 จากนั้นได้ลาไปศึกษาต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2483 หลังจากสำเร้จการศึกษาจึงกลับเข้ารับราชการที่แผนกปราบศัตรูพืช กองพืชพันธุ์ กรมเกษตร กระทรวงเกษตร ในปี พ.ศ. 2486 และลาไปศึกษาต่ออีกครั้งในปี พ.ศ. 2489 ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ประเทศฟิลิปปินส์ และย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2492 ได้กลับเข้ารับราชการประจำกองการทดลองค้นคว้า กรมเกษตร กระทรวงเกษตร จากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมา จึงลาออกจากราชการเพื่อเข้าทำงานกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

นายสุรเทิน บุนนาค มีส่วนร่วมในการทำงานการกุศลสาธารณประโยชน์ต่างๆ และมีตำแหน่งในองค์การ สมาคม และมูลนิธิต่าง ๆ อาทิ เป็นประธานประชาสัมพันธ์ของไลออนส์สากลภาค 310 (ไทย - เวียดนาม) ปี พ.ศ. 2509 - 2511 เป็นอดีตนายกสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2503-2505 เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการชุมนุมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี 2509-2512

เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการอำนวยการสมาคมต่อต้านยาเสพติดให้โทษแห่งประเทศไทย และเป็นกรรมการกลางของสมาคมฯ เป็นกรรมการและเลขานุการสาขาเกษตรศาสตร์ ของมุลนิธิอานันทมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นกรรมการกลางของมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์

หน้าที่พิเศษ[แก้]

นายสุรเทิน บุนนาค เป็นผู้ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับจากต่างประเทศ และทรงเข้าพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสแล้วเป็นต้นมา โดยเฉพาะงานด้านการเกษตร และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (F.A.O)

ในด้านเกี่ยวกับการศึกษา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสุรเทิน บุนนาค เป็นกรรมการและเลขานุการ สาขาเกษตร ของมูลนิธิอานันทมหิดล นายสุรเทิน ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อย ทำการติดต่อช่วยเหลือนักเรียนทุนเกษตรทุกคนอย่างใกล้ชิด เอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของนักเรียนตลอดเวลาที่อยู่ในต่างประเทศ จนกระทั่งสำเร็จกลับมา[2]

ภารกิจการส่งเสริมการเลี้ยงครั่ง[แก้]

เนื่องด้วยครั่งได้เป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทย ในระยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้ส่งสินค้าครั่งไปขายเป็นมูลค่าเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาทเศษ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของครั่ง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงครั่งให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมอาชีพทางเกษตรกรรมอีกด้านหนึ่ง โดยกรมป่าไม้เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมครั่งให้บรรลุเป้าหมายเป็นลำดับเรื่อยมาโดยมิได้หยุดยั้ง แต่เนื่องจากในระยะหลังจาก พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา ราคาครั่งได้ตกต่ำ ราษฎรไม่นิยมการเลี้ยงครั่ง ทางกระทรวงเกษตรก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตร เป็นประธานกรรมการ เรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมการผลิตครั่งของกระทรวงเกษตร ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการเพาะเลี้ยงครั่งมารวมเป็นกรรมการด้วย ซึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ มี นายสุรเทิน บุนนาค ด้วยผู้หนึ่ง ที่ได้รับเชิญเป็นกรรมการ นายสุรเทิน บุนนาค ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะหาทางส่งเสริมครั่งให้ราษฎรสนใจ ทั้งยังได้เสนอแนะให้ทางกรมป่าไม้ จัดการเพาะเลี้ยงครั่งขึ้นในพระราชวังสวนจิตรลดา โดยเป็นผู้ได้นำเมล็ดพันธุ์ไม้มะแฮะนก (Mogania macrophylla) จากประเทศอินเดียไปทดลองปลูกปล่อยครั่ง โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นผู้ทรงปลูก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2503 นอกจากนี้ ยังได้ขอพระบรมราชานุญาต ให้กรมป่าไม้ไปทดลองปล่อยครั่งกับไม้ก้ามปู ที่พระราชวังไกลกังวล อีกด้วย

ในระยะ พ.ศ. 2504 - 2509 ครั่งมีราคาตกต่ำ ทำให้ราษฎรผู้เลี้ยงครั่งเลิกล้มกิจการไปเป็นส่วนมาก ต่อมา ใน พ.ศ. 2510 ครั่งเริ่มมีราคาดีขึ้น ราษฎรสนใจในการเลี้ยงครั่งมากขึ้น แต่ก็ขาดแคลนพันธุ์ครั่งที่จะใช้เพาะเลี้ยงอยู่โดยทั่วไป กรมป่าไม้จึงต้องรับภาระหนักที่จะต้องเตรียมเพาะพันธุ์ครั่งไว้แจกแก่ราษฎรอย่างขนานใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ นายสุรเทิน บุนนาค เป็นผู้เรียบเรียง หนังสือ "อุตสาหกรรมครั่ง" ขึ้น เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรผู้สนใจ

ช่วงปลายของชีวิต[แก้]

นายสุรเทิน บุนนาค เริ่มป่วยด้วยโรคตับ เมื่อ พ.ศ. 2509 ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ ได้เป็นผู้ตรวจรักษามาตั้งแต่ต้น และแนะนำให้นายสุรเทิน บุนนาค พักผ่อนมาก ๆ รับประทานอาหารจืด ๆ และงดอาหารที่มีรสเค็ม กับให้งดเดินทางไกล แต่คำแนะนำประการหลังนี้ นายสุรเทินไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะนายสุรเทินเป็นคนรักหน้าที่ ฉะนั้น จึงมักจะฝืนคำแนะนำของแพทย์ และเดินทางไปต่างจังหวัดบ้าง ต่างประเทศบ้าง อยู่เสมอ ๆ

ก่อนถึงแก่กรรมประมาณห้าเดือน นายสุรเทิน บุนนาค เดินทางเข้าไปในอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลายครั้ง เพื่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของ F.A.O. และเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ในการพัฒนาอำเภอกุยบุรี ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างอยู่ในอำเภอกุยบุรีครั้งหนึ่ง ได้รับเชื้อไข้รากสาดใหญ่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2511 ได้เจ็บหนัก มีไข้สูง หนาวสั่น ตัวและตาเหลือง พิษจากไข้นี้ได้แผ่เข้าไปทำลายตับจนตับวาย และนายสุรเทิน บุนนาค จึงถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 รวมอายุ 51 ปี 239 วัน

เมื่อ นายสุรเทิน บุนนาค ถึงแก่กรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับการศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมหลวงบัว กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ นายสุรเทิน บุนนาค ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองลายสลักประกอบศพ และพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม กำหนด 7 คืน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายสุรเทิน บุนนาค ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2511

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

สุรเทิน บุนนาค ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัติ นายสุรเทิน บุนนาค ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสุรเทิน บุนนาค. หน้า (1) - (12). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2511.
  2. http://www.ohmpps.go.th/download.php?di_key=T0001_0056&dc_key=BN2511024&di_sub=0&download=pdf&file=T0001_0056[ลิงก์เสีย]
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๔๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๖, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๑๕, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๕๔ ง หน้า ๒๙๖๖, ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๖