สุริยปริตตปาฐะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สุริยปริตตปาฐะ หรือสุริยปริตร เป็นบทสวดหนึ่งที่รวบรวมไว้ในภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง อย่างไรก็ตาม สุริยปริตรนี้มิได้รวมไว้เป็นหนึ่งในพระปริตรที่นิยมสวดสาธยายกันในบทสวดมนต์ "เจ็ดตำนาน" หรือ "สิบสองตำนาน" พบว่า มีเฉพาะในภาณวารเท่านั้น เนื้อหาเกี่ยวกับอานิสงส์ของการประกาศให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่ง เมื่อมีพระองค์เป็นที่พึ่งแล้ว ผู้คิดปองร้ายจะปลาศไป

ที่มา[แก้]

สุริยปริตตปาฐะ หรือสุริยปริตร มีเนื้อหามาจากสุริยสูตร อยู่ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เนื้อหามิได้ระบุว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้ ณ ที่แห่งใด แต่ในบทสวดมนต์หลวงได้มีการระบุว่า พระสูตรนี้ทรงแสดงที่วัดเชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี[1] ขณะที่พระไตรปิฎกบาลี ฉบับฉัฏฐสังคายนา ระบุว่า ทรงแสดงที่เมืองสาวัตถีเท่านั้น[2]

ส่วนในพระพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ระบุเพียงว่า "ก็โดยสมัยนั้น สุริยเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้น สุริยเทวบุตร ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค" [3] ซึ่งสุริยเทวบุตรนี้ อรรถกถาสารัตถปกาสินี อธิบายเนื้อความในสังยุตตนิกาย ได้อธิบายว่า "สุริโย คือ เทวบุตร ผู้สถิตอยู่ ณ สุริยวิมาน"[4]

ครั้นพระโคตมพุทธเจ้าทรงทราบ จึงตรัสให้อสุรินทราหูปล่อยตัวสุริยเทวบุตร เพราะเทพบุตรนี้ได้ประกาศให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่ง อสุรินทราหูได้สดับดังนั้นจึงปล่อยตัวเทพบุตร "แล้วมีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาท้าวเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ"[5] ท้าวเวปจิตติจอมอสูรจึงไถ่ถามว่า เหตุใดอีกฝ่ายจึงแสดงท่าทีหวาดกลัวเช่นนั้น อสุรินทราหู จึงตอบว่า ได้สดับพระคาถาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงหนีมา และว่า "หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยพระสุริยะ ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง มีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้ความสุข"[6] ดังนี้

ทั้งนี้ สุริยสูตรมีเนื้อหาเกือบจะคล้ายคลึงกับจันทิมสูตร อันเป็นที่มาของจันทปริตตปาฐะ หรือจันทปริตรในภารณวาร ผิดแต่เปลี่ยนพระจันทร์ถูกราหูทำร้าย เป็นพระสุริยะหรือพระอาทิตย์ถูกปองร้ายจากราหู

อนึ่ง สุริยสูตรปรากฏในพระไตรปิฎก 2 พระสูตร คือ อยู่ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรคบทหนึ่ง อันเป็นที่มาของสุริยปริตตปาฐะ และสุริยสูตรที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต บทหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างกัน และมิได้มีความเกี่ยวข้องกัน

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาของสุริยปริตตปาฐะ หรือสุริยปริตร ยกเนื้อหาและคาถาจากมาทั้งหมดสุริยสูตรทั้งหมด แต่ได้มีการเสริมบทที่มาของการแสดงพระสุตร (เอวมฺเม สุตฺตํฯ) โดยแบ่งออกเป็นส่วนร้อยแก้วเป็นการเล่าเรื่องราว และส่วนของคาถา ซึ่งมีทั้งหมด 4 บาท เป็นของสุริยเทวบุตร 1 บท ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 บท ของท้าวเวปจิตติ 1 บท และของอสุรินทราหู 1 บท โดยมีเนื้อหา ดังนี้

สูริยสุตฺตํ (ปาฬี)[แก้]

สาวตฺถินิทานํฯ เตน โข ปน สมเยน สูริโย เทวปุโตฺต ราหุนา อสุริเนฺทน คหิโต โหติฯ อถ โข สูริโย เทวปุโตฺต ภควนฺตํ อนุสฺสรมาโน ตายํ เวลายํ อิมํ คาถํ อภาสิ –

‘‘นโม เต พุทฺธ วีรตฺถุ, วิปฺปมุโตฺตสิ สพฺพธิ;

สมฺพาธปฏิปโนฺนสฺมิ, ตสฺส เม สรณํ ภวา’’ติฯ

อถ โข ภควา สูริยํ เทวปุตฺตํ อารพฺภ ราหุ อสุรินฺทํ คาถาหิ อชฺฌภาสิ –

‘‘ตถาคตํ อรหนฺตํ, สูริโย สรณํ คโต;

ราหุ สูริยํ [สุริยํ (สี. สฺยา. กํ. ปี.)] ปมุญฺจสฺสุ, พุทฺธา โลกานุกมฺปกาฯ

‘‘โย อนฺธกาเร ตมสิ ปภงฺกโร,

เวโรจโน มณฺฑลี อุคฺคเตโช;

มา ราหุ คิลี จรมนฺตลิเกฺข,

ปชํ มมํ ราหุ ปมุญฺจ สูริย’’นฺติฯ

อถ โข ราหุ อสุริโนฺท สูริยํ เทวปุตฺตํ มุญฺจิตฺวา ตรมานรูโป เยน เวปจิตฺติ อสุริโนฺท เตนุปสงฺกมิ; อุปสงฺกมิตฺวา สํวิโคฺค โลมหฎฺฐชาโต เอกมนฺตํ อฎฺฐาสิฯ เอกมนฺตํ ฐิตํ โข ราหุ อสุรินฺทํ เวปจิตฺติ อสุริโนฺท คาถาย อชฺฌภาสิ –

‘‘กิ นุ สนฺตรมาโนว, ราหุ สูริยํ ปมุญฺจสิ;

สํวิคฺครูโป อาคมฺม, กิ นุ ภีโตว ติฎฺฐสี’’ติฯ

‘‘สตฺตธา เม ผเล มุทฺธา, ชีวโนฺต น สุขํ ลเภ;

พุทฺธคาถาภิคีโตมฺหิ, โน เจ มุเญฺจยฺย สูริย’’นฺติฯ [7]

สุริยสูตร (แปล)[แก้]

ก็โดยสมัยนั้น สุริยเทวบุตร ถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้น สุริยเทวบุตร ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า

ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้วซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภสุริยเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า

สุริยเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึง ดูกรราหู ท่านจงปล่อยสุริยะ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก สุริยะใดเป็นผู้ส่องแสง กระทำความสว่างในที่มืดมิด มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง ดูกรราหู ท่านอย่ากลืนกินสุริยะนั้น ผู้เที่ยวไปในอากาศ ดูกรราหู ท่านจงปล่อยสุริยะ ผู้เป็นบุตรของเรา ฯ

ลำดับนั้น อสุรินทราหู ปล่อยสุริยเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า

ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบ ปล่อยพระสุริยะเสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปเศร้าสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ

อสุรินทราหู กล่าวว่า

ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยพระสุริยะ ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง มีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ

วิเคราะห์พระสูตร[แก้]

พระสูตรนี้มักถูกนำไปอธิบายปรากฏการณ์สุริยคราสว่า เกิดจากการกลืนกินของราหู อย่างไรก็ตาม เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาได้แสดงความเห็นไว้ว่า สุริยสูตรอาจเป็นสูตรที่แต่งขึ้นใหม่ และเป็นของแปลกปลอมมิใช่พระสูตรดั้งเดิม โดย เสฐียรพงษ์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้การบรรยายเรื่อง "ความเป็นมาของพระไตรปิฎก" ความว่า

"จันทิมสูตรและสุริยสูตร ในเทวปุตตสังยุตต์ มีสูตรแปลกอยู่ 2 สูตร คือ จันทิมสูตร และสุริยสูตร กล่าวถึงจันทิมเทวบุตร (พระจันทร์) และสุริยเทวบุตร (พระอาทิตย์) ถูกราหูจับได้ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า กล่าวขึ้นว่า "ข้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในฐานะคับขันขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วย" พระพุทธเจ้าตรัสบอกอสุรินทราหูว่า "จันทิมเทวบุตรและสุริยเทวบุตรได้ถึงเราตถาคตเป็นที่พึ่งแล้ว ท่านจงปล่อยพวกเขาไปเถิด อสุรินทราหูปล่อยเหยื่อแล้วกระหืดกระหอบไปเฝ้าเวปจิตติจอมอสูร เมื่อถูกถามจึงรายงานให้จอมอสูรทราบว่า กลัวพระพุทธเจ้าจึงรีบปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์หนีมา ... มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พระสูตรนี้แปลกปลอมเข้ามา (ดังมีอีกหลายสูตรที่เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น) มีเค้าว่าถูกสอดแทรกเข้ามาในยุคที่นำเอาพระสูตรไปสวดเป็นปริตรป้องกันภยันตรายต่างๆ ซึ่งเป็นยุคหลังพุทธกาลมา"[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. ปุ้ย แสงฉาย. สุริยสูตร ใน บทสวดมนต์หลวง. หน้า 206
  2. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สคาถาวคฺคปาฬิ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ จนฺทิมสุตฺตํ
  3. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 342
  4. สารัตถปกาสินี. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 344
  5. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 342
  6. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 343
  7. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สคาถาวคฺคปาฬิ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ สูริยสุตฺตํ
  8. เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2555) คำบรรยายในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ ธรรมสภา.

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สคาถาวคฺคปาฬิ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ สูริยสุตฺตํ
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 .
  • สารัตถปกาสินี อรรถกาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม 1 ภาค 2 .
  • ปุ้ย แสงฉาย. สุริยสูตร ใน บทสวดมนต์หลวง.
  • เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2555) คำบรรยายในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ ธรรมสภา.