สุชาดา ถิระวัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุชาดา ถิระวัฒน์
ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2509 – พ.ศ. 2519
ก่อนหน้ามนตรี ชุติเนตร
ถัดไปจรัญ โสตถิพันธุ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2522
ก่อนหน้าบุญเลื่อน เครือตราชู
ถัดไปพรรณชื่น รื่นศิริ
อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2521 – พ.ศ. 2522
ก่อนหน้าประเดิมตำแหน่ง
ถัดไปอุดม วัชรสกุณี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 มิถุนายน พ.ศ. 2467
เสียชีวิต18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 (98 ปี)
คู่สมรสประพจน์ ถิระวัฒน์
(บุตร-ธิดา 4 คน)

คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ (20 มิถุนายน พ.ศ. 2467 — 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565) อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2 (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ) ท่านแรก อดีตอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

ประวัติ[แก้]

คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2467 เป็นธิดาของพระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ สุจริตกุล) อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นพี่ชายของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และนางโสภา พิบูลย์ไอศวรรย์ คุณหญิงสุชาดาเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) และเป็นเหลนทวดของพระยาราชภักดี (โค) ซึ่งเป็นน้องชายของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) ซึ่งเป็นพระอัยยิกา (ยาย) ของพระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังเป็นพระปัยยิกา (ย่าทวด) ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และคุณหญิงราชภักดี (ทองศุข สุจริตกุล) โดยคุณหญิงสุชาดาได้สมรสกับนายประพจน์ ถิระวัฒน์ อดีตประธานศาลฎีกา

การศึกษา[แก้]

คุณหญิงสุชาดาเข้าศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาปี พ.ศ. 2481 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยเป็นนักเรียนรุ่นที่ 1 ของโรงเรียน ต่อมาเข้าศึกษาต่อชั้นอุดมศึกษา และได้รับอักษรศาสตรบัณฑิต (อ.บ.) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ศึกษาด้วยตนเองได้รับวุฒิทางครู พ.ป. และ พ.ม.

รับราชการ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2490 คุณหญิงเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนมัธยมวัดนวลนรดิศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้ตามพระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ สุจริตกุล) บิดา ไปเป็นครูโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ครั้นในปี พ.ศ. 2494 คุณหญิงสุชาดา สุจริตกุล ได้สมรสกับนายประพจน์ ถิระวัฒน์ อดีตประธานศาลฎีกา จึงย้ายไปเป็นครูในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เป็นเวลากว่า 12 ปี ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2506 ย้ายกลับมายังกรุงเทพมหานคร และไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนสตรีวิทยา ระหว่างปี พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2519 คุณหญิงได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2510 ได้ดำเนินการโครงการทดลองหลักสูตรมัธยมแบบประสมเป็นแห่งแรกที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยและประสบความสำเร็จอย่างมาก มีนักเรียนสอบไล่เป็นชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทย และได้รับคะแนนยอดเยี่ยม 3 แผนก ถึง 17 คน ซึ่งยังมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เริ่มใช้หลักสูตรกว้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2521 เป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งฝ่ายประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่ง (ฝ่ายประถมดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2525) และในปี พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2522 คุณหญิงได้กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2521 ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2 (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ) อีกตำแหน่งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2524 ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ต่อมาปี พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2527 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ จวบจนเกษียณอายุราชการ

ในระหว่างการรับราชการของคุณหญิงนั้น ท่านยังได้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์และการกุศลต่างๆ มากมาย อาทิเช่น

  • รองประธานกรรมการจัดตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • ประธานกรรมการจัดทุนการศึกษาในระบบโรงเรียนของมูลนิธิร่วมจิตรน้อมเกล้าเพื่อเยาวชน
  • รองประธานกรรมการดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชะประทรรศนีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการศึกษาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
  • ประธานกรรมการมูลนิธิโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
  • รองประธานกรรมการมูลนิธิกตเวทิน
  • รองประธานกรรมการคนที่ 4 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์
  • กรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัย
  • กรรมการมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
  • ประธานกรรมการที่ปรึกษาสมาคมผู้ปกครองและครูเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๗, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๗, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๐
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๒๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๐๔, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๖๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕, ๒๐ กันยายน ๒๕๓๔
  • 60 ปี เตรียมอุดมศึกษา 2480 - 2540
ก่อนหน้า สุชาดา ถิระวัฒน์ ถัดไป
นายมนตรี ชุติเนตร
ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
(พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2519)
ว่าที่ร้อยตรี ดร.จรัญ โสตถิพันธุ์
ก่อนหน้า สุชาดา ถิระวัฒน์ ถัดไป
คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
(พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2522)
คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ