สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานรถไฟฟอร์ธออกแบบโดยเซอร์เบ็นจามินเบเคอร์และจอห์น เฟาว์เลอร์ ที่เปิดเมื่อปี ค.ศ. 1890 ในปัจจุบันเป็นของ Network Rail เป็นสิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ระดับ เอ ขององค์การประวัติศาสตร์สกอตแลนด์ (Historic Scotland)

สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ (อังกฤษ: Listed building) ในสหราชอาณาจักรเป็นสิ่งก่อสร้างหรือโครงสร้างที่ได้รับการระบุอย่างเป็นทางการว่ามีความสำคัญทางด้านสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม การระบุว่าเป็น “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” เป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่ในปัจจุบันประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างทั้งสิ้นราวครึ่งล้านแห่ง

สิ่งก่อสร้างที่ได้รับการระบุว่าเป็น “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” ไม่สามารถจะถูกรื้อทิ้ง, ขยายต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานวางแผนท้องถิ่น (ผู้มีหน้าที่ปรึกษาสำนักงานกลางของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ของสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ) ข้อยกเว้นก็ได้แก่วัดอังกลิคันที่ยังใช้เป็นวัดอยู่ และวัดที่บริหารโดยได้รับสิทธิพิเศษ ในบางกรณีเจ้าของสิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์มีหน้าที่ที่จะต้องบำรุงรักษาและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดี ถ้าละเลยหรือทำการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีโทษตามกฎหมาย เพราะการได้รับการระบุมีผลในการจำกัดสิทธิในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจึงอนุญาตให้ผู้เป็นเจ้าของสามารถประท้วงการระบุได้

แม้ว่าสิ่งที่ที่ได้รับการระบุว่าเป็น “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งก่อสร้าง แต่ก็มีโครงสร้างอื่นที่อยู่ในรายการด้วยเช่นสะพาน, อนุสาวรีย์, ประติมากรรม, อนุสรณ์สงคราม หรือแม้แต่หลักไมล์ สิ่งก่อสร้างโบราณ, สิ่งก่อสร้างทางการทหาร และสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สำหรับการอยู่อาศัย (เช่นสโตนเฮนจ์) แทนที่จะอยู่ในข่าย “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างโบราณภายใต้การพิทักษ์ (Scheduled monument) ที่อยู่ภายใต้การพิทักษ์ของพระราชบัญญัติที่เก่ากว่าพระราชบัญญัติที่ใช้สำหรับ “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” ขณะที่ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมเช่นอุทยานและสวนในปัจจุบันอยู่ในรายการที่ไม่มีกฎหมายพิทักษ์ พระราชบัญญัติที่ใช้สำหรับ “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” เริ่มโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวางแผนเมือง ค.ศ. 1947 (Town and Country Planning Act 1947)

“สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างของสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ต้องได้รับการอนุญาตก่อนที่จะทำได้

ระดับของการพิทักษ์แบ่งเป็นสามระดับตามลำดับของความสำคัญและความยากในการขอใบอนุญาตในการเปลี่ยนแปลง:

  • “เกรด I”: รวมสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญอย่างเด่นชัดทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างของสิ่งก่อสร้างระดับนี้ก็ได้แก่ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์, ตึกเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ และหอแสดงดนตรีอัลเบิร์ต
  • “เกรด II*”: รวมสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญที่กว้างกว่าความสนใจแต่เพียงในท้องถิ่นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้าง
  • “เกรด II”: รวมสิ่งก่อสร้างที่มีความน่าสนใจทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์

“เกรด III” ถูกยุบเลิกไปในปี ค.ศ. 1970.[1] ส่วน เกรด A, B และ C ใช้สำหรับวัดในนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ที่ยังใช้เป็นวัดอยู่ เกรดเหล่านี้ใช้ก่อนปี ค.ศ. 1977 แต่ก็ยังมีสิ่งก่อสร้างบางแห่งที่ยังใช้เกรดนี้อยู่

อ้างอิง[แก้]

  1. "About Listed Buildings". heritage.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-10-26. สืบค้นเมื่อ 2009-05-18.

ดูเพิ่ม[แก้]


แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ เกรด I วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ เกรด II* วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ เกรด II