สิรินธรวัลลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิรินธรวัลลี
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
สกุล: Bauhinia
สกุลย่อย: Phanera
สปีชีส์: P.  sirindhorniae
ชื่อทวินาม
Phanera sirindhorniae

สิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Phanera sirindhorniae) พืชตระกูลเสี้ยว (Bauhinia ) เป็นหนึ่งในสมาชิกพืชวงศ์ถั่ว (Leguminosae-Caesalpinioideae ) สิรินธรวัลลีเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งในสกุลชงโค วงศ์ถั่ว มีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วโลกกว่า 300 ชนิด กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่ เปลือกเถาเรียบ บิดตามยาวเล็กน้อย เนื้อไม้เมื่อตัดตามขวาง สีน้ำตาลเข้มออกแดง มีลวดลายสีน้ำตาลอ่อนเป็นกลุ่มเหมือนกลีบดอกไม้[2] ดอกออกเป็นช่อสีน้ำตาล ออกดอกตลอดปี แต่ดอกจะบานมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย พบครั้งแรกโดย ดร.ชวลิต นิยมธรรม เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่ภูทอกน้อย จากบริเวณป่าภูทอกน้อย​ อำเภอบุ่งคล้า​​ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดบึงกาฬ) ดอกสิรินธรวัลลี ดอกไม้ประจำจังหวัดบึงกาฬ[3] ชื่อของพืชชนิดนี้ตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และตีพิมพ์โดย​ ศาสตราจารย์​ ไค ลาร์เซน​ (Kai Larsen)​ และอาจารย์สุพีร์​ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน​ (Supee Larsen)​[4] โดยทั้งสองท่านร่วมกับกรมป่าไม้ ขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระนามพระองค์ท่านที่ทรงสนพระทัย และให้การสนับสนุนงานทางพฤกษศาสตร์ตลอดมา โดยใช้ชื่อ Bauhinia sirindhorniae  K.& S.S. Larsen หรือ สิรินธรวัลลี อันหมายถึง วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพฯ ในปี พ.ศ. 2540[5][6]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

สิรินธรวัลลีเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ในวงศ์ถั่ว[7] เป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย[8] พบขึ้นกระจายตามป่าดิบแล้ง[9]ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลำต้น: กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมแดง กิ่งแก่ไม่มีขน กิ่งเกลี้ยงเรียบมีใบพัน

ใบ: ใบเป็นลักษณะใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่จนเกือบกลม โดยใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน และใบแก่มีสีเขียวแก่ ปลายใบฉีก ฐานใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ปลายใบพูมน มีขนบริเวณเส้นกลางใบ แผ่นของใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเข้มเป็นมัน เส้นใบข้างละ 9–11 เส้น จากโคนใบ ก้านใบยาว 2–7 เซนติเมตร

ดอก: ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน ดอกมีสีน้ำตาลแดงหรือสีส้มเข้ม ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกออกเป็นช่อ​ ดอกย่อยสีน้ำตาลหรือสีส้มแดง​ กลีบดอก​ 5 กลีบ ไม่สมมาตรและหลุดร่วงง่าย​ เกสรผู้​ 3 อัน​ ดอกตูมรี ช่อดอกยาวได้ถึงประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 3 เซนติเมตร[10]

ผล: เป็นฝักแบน กว้าง 3 – 5 เซนติเมตร ยาว 10 – 18 เซนติเมตร มีขนอ่อนปกคลุม ภายในมี 5 – 7 เมล็ด

การขยายพันธุ์: ตอนกิ่งและเพาะเมล็ด ชอบน้ำปานกลาง และชอบแสงแดดตลอดวัน ดินปลูกควรเป็นดินร่วนระบายน้ำดี

สรรพคุณทางยา[แก้]

ตำรายาไทย:

เนื้อไม้: ใช้รักษาอาการประดงที่เกิดจากระบบโลหิตในร่างกายชนิดต่าง ๆ รวมเรียกว่า ประดงทั้งสามสิบสองประการ อาการโดยรวมคือเป็นเม็ด ผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อน แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ลมพิษ หรือภูมิแพ้ต่าง ๆ[11]

ผลอ่อน: ขับปัสสาวะ แก้โรคหนองใน กามโรค ขับพยาธิในเด็ก ทำให้แท้งได้[12]

ใบ: เป็นยาขับพยาธิ

ลำต้นและรากแห้ง: ทารักษาอาการฝีและหนอง[13]

ตำรายาโบราณ:

เนื้อไม้: เนื้อไม้ของสิรินธรวัลลีใช้รักษาโรคที่ในตำรายาโบราณเรียกว่า ประดงทั้งสามสิบสองประการ อาการโดยรวมคือเป็นเม็ด ผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อน แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ลมพิษ หรือภูมิแพ้ต่าง ๆ ในจังหวัดมุกดาหารใช้แก้โรคประดง บำรุงกำลัง[2]

ประโยชน์[แก้]

สิรินธรวัลลีมีลำต้นเป็นเถาเลื้อยหนา และแตกใบดก จึงปลูกเพื่อทำซุ้มสำหรับเป็นร่มเงาบังแดด ส่วนดอกสิรินธรวัลลีออกดอกเป็นช่อใหญ่ ตัวดอกมีสีน้ำตาลแดงสวยงาม จึงใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม[14]

ระเบียงภาพ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย. กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551 หน้า 15
  1. ฉายาชื่อพรรณไม้
  2. 2.0 2.1 สามสิบสองประดง-ฐานข้อมูลเครื่องยา
  3. ดอกไม้ประจำจังหวัด ดอกสิรินธรวัลลี ดอกไม้ประจำจังหวัดบึงกาฬ
  4. ชื่อพรรณไม้ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
  5. Bauhinia sirindhorniae ตั้งชื่อ K.& S.S. Larsen
  6. ตั้งชื่อ สิรินธรวัลลี อันหมายถึง วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพฯ
  7. สิรินธรวัลลี สำนักพิมพ์บ้านและสวน
  8. สิรินธรวัลลี ถิ่นไม้ไทย[ลิงก์เสีย]
  9. สิรินธรวัลลี สภาพการปรับตัว
  10. สิรินธรวัลลี - สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย
  11. สิรินธรวัลลี - ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบล
  12. สิรินธรวัลลี สมุนไพรไทย
  13. สิรินธรวัลลี ละโวยสมุนไพร
  14. สิรินธรวัลลี - โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดคามีเลียและน้ำมันพืชอื่น