สิทธารถะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

"สิทธารถะ" เป็นคำในภาษาสันสกฤตสำหรับ "สิทธัตถะ" สำหรับศาสดาองค์ปัจจุบันของพุทธศาสนา ดู พระโคตมพุทธเจ้า

หน้าปก สิทธารถะ

สิทธารถะ (เยอรมัน: Siddhartha) เป็นวรรณกรรมภาษาเยอรมันที่ประพันธ์โดยแฮร์มัน เฮ็สเซอ ขณะเดินทางมาที่ประเทศอินเดีย โดยเป็นที่รู้จักกันดีว่าเขาเป็นผู้ที่ลุ่มหลงและแตกฉานในหลักคิดแนวปรัชญาตะวันออก นวนิยายเรื่องนี้มีเนื้อหามุ่งไปสู่การค้นหาสัจธรรมของการเวียนว่ายตายเกิด หรือนั่นหมายถึงความเพียรที่จะใฝ่รู้ว่า "อัตตา" คือสิ่งใด ชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นมาทำไมและเพื่ออะไร และนิพพานคืออะไร โดยในเรื่องนี้สื่อภาพของสังคมของอินเดียในยุคสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่และเสด็จออกเผยแผ่ศาสนาพุทธไปทั่วชมพูทวีป

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

เนื้อเรื่องมีขนาดความยาวแบ่งออกเป็น 2 ภาค 12 บท โดยมี สิทธารถะ เป็นชื่อของตัวละครหลักในท้องเรื่อง เขาเป็นบุตรแห่งพราหมณ์ที่ใช้ชีวิตในวัยหนุ่มเคียงข้างกับเพื่อนรักที่เป็นประหนึ่งเงาตามตัวกันและกันชื่อ โควินท์ ทั้งคู่ได้ดั้นด้นออก "แสวงหา" สัจจะในชีวิตว่าคือสิ่งใด รอนแรมไปกับกลุ่มนักพรต บำเพ็ญเพียรนานาประการ จนในที่สุดมาพบเข้ากับ พระผู้มีพระภาคเจ้า ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร ในเมืองสาวัตถี หลังสดับธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว โควินท์ สหายรักของสิทธารถะ เลือกที่จะขอบวช ขณะที่สิทธารถะกลับเลือกที่จะเดินต่อไปเพื่อแสวงหาสิ่งที่ตัวเองยังค้นไม่พบ นวนิยายที่เหลือจากนั้นว่า ด้วยการแสวงหาสัจจะของสิทธารถะ ตั้งแต่พบหญิงคนรัก การกำเนิดบุตร เช้าค่ำวันเดือนที่ล่วงไป หากแต่สัจจะที่ต้องการค้นหากลับยิ่งอยู่ห่างออกไปเรื่อยๆ จนเมื่อความตายมาพรากสิ่งอันเป็นที่รักของสิทธารถะไป ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เมื่อวาสุเทพ ชายแจวเรือจ้างปรากฏขึ้นมาในท้องเรื่อง คำตอบที่สิทธารถะวิ่งไล่กวดมาทั้งชีวิตก็อุบัติขึ้นพร้อมกับ การกลับมาของเพื่อนรัก พระโควินท์ ณ กลางแม่น้ำ เป็นอันว่ามรรคาแห่งวิมุตติสุข ได้บังเกิดขึ้น

บทต่าง ๆ ในหนังสือ[แก้]

เนื้อเรื่องทั้ง 12 บทมีดังนี้

ภาคหนึ่ง[แก้]

  • บุตรแห่งพราหมณ์
  • ในหมู่สมณะ
  • พระสมณะโคตมะ
  • ตื่นตน

ภาคสอง[แก้]

  • กมลา
  • ในหมู่ปุถุชน
  • วัฏสงสาร
  • ณ ริมฝั่งน้ำ
  • ชายแจวเรือข้ามฟาก
  • บุตรชาย
  • โอม
  • โควินทะภิกขุ

ฉบับภาษาไทย[แก้]

สิทธารถะ ฉบับภาษาไทยมี 4 สำนวน ได้แก่ ฉบับของฉุน ประภาวิวัฒน์ ฉบับของสดใส ฉบับของสีมน (แปลโดยตรงจากภาษาเยอรมัน) และฉบับของวีรจิต กลัมพะสุต

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]