สาริกา กิ่งทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สาลิกา กิ่งทอง)
สาลิกา
ปกแผ่นเสียงเพลง แสนหวังเหวิด
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดสาลิกา ล้ำเลิศสกุล
เกิดเมษายน พ.ศ. 2492
จังหวัดชุมพร ประเทศไทย ไทย
เสียชีวิตพ.ศ. 2540 (48 ปี)
แนวเพลงลูกทุ่ง
อาชีพนักร้อง

สาริกา กิ่งทอง ( สาลิกา ก็เรียก )( เมษายน พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2540) เป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงชื่อดังคนหนึ่งของประเทศไทย และถือกันว่าเป็นขุนพลเพลงลูกทุ่งหญิงจากแดนใต้คนแรกๆของประเทศ เธอเป็นบุตรสาวของนายจูเลี่ยม กิ่งทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี 2535 และนายหนังตะลุงชื่อดังของจังหวัดชุมพร (ปัจจุบันได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปินเมืองสุราษฎร์ธานี เพราะถิ่นฐานที่ตั้งของท่านอยู่ที่ อ.บ้านส่องจังหวัดสุราษฎร์ธานี) โดยสาริกามีผลงานเพลงดังติดหูคนไทยมากมายหลายเพลง และโด่งดังมาจากเพลง "แต๋วจ๋า"

ประวัติ[แก้]

สาลิกา กิ่งทอง ชื่อจริงว่า สาลิกา ล้ำเลิศสกุล [กิ่งทอง]นามสกุลเดิม เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนเมษายน พ.ศ. 2492 ที่ตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มีชื่อเล่นว่า ติ๋ว [1] มีพี่น้อง 10 คน จากภรรยา 5 คนของครูจูเลี่ยม กิ่งทอง เธอสร้างความตื่นตะลึงขนานใหญ่ให้กับวงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทยเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เมื่อผู้เป็นบิดาจัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่งชื่อคณะ สาริกา กิ่งทอง และเปิดทำการแสดงทั่วไป สาริกาได้รับความสนใจจากแฟนเพลงมากมาย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเป็นที่จับตามองนั้น นอกจากผลงานเพลงชื่อ “ แต๋วจ๋า” และอื่นๆ จะเป็นที่ติดอกติดใจแฟนเพลงไม่น้อยแล้ว ก็เป็นเพราะความสงสัยของแฟนเพลงทั่วประเทศว่า สาริกาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่ เพราะแม้เนื้อหาเพลง “แต๋วจ๋า “ และ เพลงอื่นๆของสาริกา จะเป็นบทเพลงสำหรับนักร้องชาย และหลายเพลงก็เป็นการร้องในทำนองเกี้ยวพาราสีผู้หญิง ตัวสาริกาเองก็อยู่ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบนักร้องชาย ทว่าน้ำเสียง และหน้าตาท่าทางของเธอออกไปผู้หญิงมากกว่า จนในที่สุด หลังจากที่สงสัยกันมานาน ก็มีการเปิดเผยออกมาว่า สาริกาเป็นผู้หญิง และในการเปิดการแสดง ต้องมีการใช้ผ้าพันทรวงอก เพื่อปิดบังสัญลักษณ์ความเป็นสตรีของเธอ

ผลงาน[แก้]

ผลงานเพลงของสาริกานั้น มากมายหลายเพลงเกิดจากการประพันธ์ของผู้เป็นบิดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงที่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น “ แต๋วจ๋า “ , “ แสนหวังเหวิด “ , “ ทำพรือมันเล่า “ ,“ หนุ่มล่องซุง" และ “นิราศรักพุมเรียง” นอกจากนั้น ครูจูเลี่ยม ยังทำหน้าที่ควบคุมการร้องของลูกสาวหัวใจชายคนนี้เองด้วย สำหรับเพลง”แสนหวังเหวิด” ที่ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองโดยครูจูเลี่ยมนั้น ได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยด้วย

ในส่วนของเพลง "แต๋วจ๋า" ที่ถือว่าเป็นผลงานที่ฮิตที่สุดของสาริกานั้น ในช่วงที่เพลงกำลังดัง ก็เคยมีคนนำเพลงนี้ไปปรับเนื้อร้องใหม่ พร้อมกับให้ชื่อใหม่ว่า "ตุ๊จ๋า" (ตุ๊ เป็นนามเดิมของ จอมพลประภาส จารุเสถียร) เพื่อใช้ขับร้องในการชุมนุมขับไล่เผด็จการของขบวนการนักศึกษาและประชาชนยุคเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

ผลงานที่เป็นที่รู้จัก

  • แต๋วจ๋า
  • แสนหวังเหวิด
  • ทำพรือมันเล่า
  • รินดาที่รัก
  • นิราศรักพุมเรียง
  • หนุ่มล่องซุง
  • สุราษฎร์แห่งความหลัง
  • ตัวอย่างเลว
  • หัวใจจัดสรร
  • หมอนข้าง
  • ผ้าขาวม้า
  • ชีวิตสาริกา
  • คิดเสียว่าตายจากกัน

ตำนานถูกสานต่อ[แก้]

สาลิกา กิ่งทอง เสียชีวิตเมื่อปี 2540 ด้วยโรคมะเร็งเต้านม และหลายปีหลังจากที่เธอจากโลกนี้ไป เพลง ”นิราศรักพุมเรียง “ ที่ร้องไว้ ก็เพิ่งได้รับการร้องแก้ โดยเมื่อปี 2549 รัชนก ศรีโลพันธุ์ นักร้องลูก ทุ่งชาวใต้รุ่นใหม่ได้ร้อง"เพลงรอที่พุมเรียง “ เพื่อแก้เพลงของสาริกา เพราะตอนที่ครูสลา คุณวุฒิ วางแผนสร้างนักร้อง ได้ติดต่อขอให้ครูจูเลี่ยม ช่วยแต่งเพลงแก้"นิราศรักพุมเรียง" ให้

อ้างอิง[แก้]

  1. เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0