สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สาธารณรัฐจีน (2455–2492))
สาธารณรัฐจีน

中華民國
จงหฺวาหมิงกั๋ว
ค.ศ. 1912–ค.ศ. 1949
คำขวัญ《民主、自由、博愛》
(ประชาธิปไตย เสรีภาพ ภราดรภาพ)
เพลงชาติ《五族共和歌》
"เพลงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ"
(1912–1913)

《卿雲歌》
"เพลงเมฆมงคล"
(1913–1915, 1921–1928)


《中華雄立宇宙間》
"เมืองจีนยืนแกร่งกลางพิภพ"
(1915–1921)

《中華民國國歌》
"เพลงชาติสาธารณรัฐจีน"
(1930–1949)
เพลงธงชาติ
《中華民國國旗歌》
"เพลงธงชาติสาธารณรัฐจีน"
(1937–1949)
อาณาเขตของสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ. 1945
อาณาเขตของสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ. 1945
เมืองหลวงหนานจิง (1912; 1927-1949)
ปักกิ่ง (1912-1928)
ฉงชิ่ง (ช่วงสงคราม; 1937-1946)
ภาษาทั่วไปภาษาจีนมาตรฐาน (อักษรจีนตัวเต็ม)
ศาสนา
ชาวบ้านจีน
การปกครองสหพันธ์ สาธารณรัฐระบบกึ่งประธานาธิบดี
(1912—1928)
รัฐเดี่ยว เผด็จการทหาร
(1928—1946)
รัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภา
(1946—1949)
ประธานาธิบดี 
• 1912
ดร. ซุน ยัตเซ็น (เฉพาะกาล) (คนแรก)
• 1949
ลี ซงเริน (รักษาการ) (คนสุดท้าย)
นายกรัฐมนตรี 
• 1912
ถัง เฉายี (คนแรก)
• 1949
ย่าน สีชาน (คนสุดท้าย)
สภานิติบัญญัติพรรคชาตินิยมแห่งประเทศจีน
• สภาสูง
สมัชชาแห่งชาติ
• สภาล่าง
สภานิติบัญญัติหยวน
ยุคประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 20
10 ตุลาคม ค.ศ. 1911
• ก่อตั้ง
1 มกราคม ค.ศ. 1912
• กำหนดอำนาจรัฐบาลหลักที่นานกิง
18 เมษายน ค.ศ. 1927
7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937
25 ธันวาคม ค.ศ. 1947
ธันวาคม ค.ศ. 1948
• หนีไปเกาะไต้หวัน
10 ธันวาคม ค.ศ. 1949
พื้นที่
191211,420,000 ตารางกิโลเมตร (4,410,000 ตารางไมล์)
19499,634,057 ตารางกิโลเมตร (3,719,730 ตารางไมล์)
ประชากร
• 1912
432375000
• 1949
541670000
สกุลเงินหยวน,
ดอลลาร์ไต้หวันเก่า
รหัส ISO 3166CN
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชวงศ์ชิง
สาธารณรัฐประชาชนจีน
สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย
สาธารณรัฐจีน
สาธารณรัฐประชาชนตูวา

สาธารณรัฐจีน (อังกฤษ: Republic of China; จีน: 中華民國; พินอิน: Zhōnghuá Mínguó; เวด-ไจลส์: Chung1-hua2 Min2-kuo2) เป็นรัฐในเอเชียตะวันออกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 ถึงปี ค.ศ. 1949 ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1912 หลังจากที่สามารถโค่นล้มราชวงศ์ชิง (การปฏิวัติซินไฮ่ 辛亥革命) ได้สำเร็จ และสิ้นสุดลงหลังสงครามกลางเมืองจีน ด้วยความพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋งหรือจีนคณะชาติ ซึ่งได้ลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวันและก่อตั้งสาธารณรัฐจีนขึ้นมาใหม่ ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นฝ่ายได้ชัยชนะได้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่จีนในปัจจุบัน

สาธารณรัฐจีนมีประธานาธิบดีคนแรกคือ ดร. ซุน ยัตเซ็น ดำรงตำแหน่งหน้าที่เพียงระยะเวลาอันสั้น พรรคของซุนต่อมาได้นำโดย ซ่ง เจี่ยวเริน ซึ่งชนะการเลือกตั้งรัฐสภาที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1912 อย่างไรก็ตามกองทัพนำโดยประธานาธิบดียฺเหวียน ชื่อไข่ยังคงควบคุมรัฐบาลแห่งชาติในปักกิ่งต่อไป ตั้งแต่ปลายปี 1915 ถึงต้นปี 1916 ยฺเหวียนได้รื้อฟื้นระบอบจักรพรรดิจีนที่เรียกว่าจักรวรรดิจีนขึ้นมาใหม่ และสถาปนาตนเองเป็น "จักรพรรดิหงเซี่ยน (洪憲皇帝)" แต่จักรวรรดิใหม่ของยฺเหวียนกลับดำรงอยู่ได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ หลังยฺเหวียนได้เสียชีวิตลง ผู้นำกองกำลังท้องถิ่นตามแคว้นต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นเหล่าขุนศึก และได้ประกาศตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติอีกต่อไป ทำให้จีนเข้าสู่สมัยขุนศึกในเวลาต่อมา

ในปี ค.ศ. 1925 พรรคก๊กมินตั๋งได้เริ่มก่อตั้ง รัฐบาลคู่แข่งในบริเวณตอนใต้ของเมืองกวางโจว ในขณะที่เศรษฐกิจของภาคเหนือมีการขูดรีดเพื่อสนับสนุนเหล่าขุนศึก ซึ่งต่อมาเหล่าขุนศึกได้ถูกยุบในปี 1928 โดยนายพลเจียง ไคเชก ผู้ได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง หลังการเสียชีวิตของซุน ยัตเซ็น เจียงได้นำกองทัพปฏิบัติการทางเหนือ ซึ่งเป็นการรบเพื่อล้มล้างรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง ต่อมารัฐบาลกลางได้ถูกล้มในปี 1928 และเจียงได้สถาปนารัฐบาลชาตินิยมขึ้นที่นานกิง หลังจากนั้นเขาก็ตัดความสัมพันธ์ของเขากับพรรคคอมมิวนิสต์และขับไล่ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ออกจากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งความขัดแย้งนี้ได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองจีน

สาธารณรัฐจีนได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัย แต่ก็ยังมีความปัญหาขัดแย้งระหว่างรัฐบาลคณะชาติในนานกิง อาทิเช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีน, ขุนศึกที่เหลือและ จักรวรรดิญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่อง สาธารณรัฐจีนได้มีการเร่งพัฒนาประเทศอย่างจริงจังเมื่อเกิดสงครามกับญี่ปุ่น เมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้รุกรานจีนอย่างอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 1937

สงครามกับญี่ปุ่นได้ยืดเยื้อจนกระทั่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณรัฐจีนได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงและจักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขในปี ค.ศ. 1945 สาธารณรัฐจีนมีฐานะเป็นผู้ชนะสงครามและได้กลายมาเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจ มีส่วนในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ

ในระหว่างยุคสงครามเย็นได้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต นำไปสู่การขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งได้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1947 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีนได้ถือกำเนิดขึ้นและเป็นกฎหมายพื้นฐานของประเทศ จนกระทั่งพรรคก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเชก ได้พ่ายแพ้ในการสู้รบสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี ค.ศ. 1949 พรรคคอมมิวนิสต์นำโดย เหมา เจ๋อตง ได้จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ขับไล่รัฐบาลจีนคณะชาติออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนเจียง ไคเชกและพรรคก๊กมินตั๋งได้ถอยร่นไปยังเกาะไต้หวัน

ประวัติศาสตร์[แก้]

สาธารณรัฐได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 หลังการปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเริ่มด้วยการเกิดการก่อการกำเริบอู่ชางในประเทศจีน ซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มราชวงศ์ชิงและสิ้นสุดระบอบการปกครองโดยจักรพรรดินับห้าพันปีในประวัติศาสตร์จีน ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปี ค.ศ. 1949 สาธารณรัฐจีนได้ดำรงอยู่กับจีนแผ่นดินใหญ่ อำนาจรัฐบาลกลางของสาธารณรัฐจีนได้สั่นคลอนในสมัยขุนศึก (ค.ศ. 1915–28) ประกอบกับภาวะสงครามกับจักรวรรดิญี่ปุ่น (ค.ศ. 1927–37) เมื่อรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้ดำเนินนโยบายการรวบรวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่นได้อย่างมั่นคงภายใต้ระบบพรรคเดียว[1] เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลง จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยอมจำนนและได้คืนเกาะไต้หวันและหมู่เกาะข้างเคียงแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายสัมพันธมิตรได้พิจารณาให้เกาะไต้หวันได้กลับคืนมาภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐจีน

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยึดครองประเทศจีนได้สำเร็จ หลังสงครามกลางเมืองจีนในปี ค.ศ. 1949 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวันและประกาศให้เมืองไทเป เป็นเมืองหลวงรัฐบาลพลัดถิ่น[2] ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อยึดครองแผ่นดินใหญ่จีนก็ได้สถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และได้ดำเนินนโยบายจีนเดียว อ้างสิทธิ์และอำนาจเหนือดินแดนจีนทั้งหมด โดยมีการอ้างสิทธิ์ในการรวมเกาะไต้หวันมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่งและรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ไทเป

การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน[แก้]

ดร.ซุน ยัตเซ็น ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน
ธงชาติของสาธารณรัฐจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455-2471

การปฏิวัติซินไฮ่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1912 โดยการนำของ ดร.ซุน ยัตเซ็น ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิง สิ้นสุดการปกครองโดยจักรพรรดิของจีน จีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่สาธารณรัฐ[3] เป็นผลทำให้จีนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

สาเหตุที่ก่อให้เกิดการโค่นล้มอำนาจครั้งนี้น่าจะมาจากความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมจีน ชาวจีนอยู่ภายใต้การปกครองโดยราชวงศ์ชิง ชนกลุ่มน้อยเผ่าแมนจูซึ่งได้ให้อภิสิทธิ์แก่เฉพาะชาวแมนจูและกดขี่ชาวจีนฮั่น อีกทั้งราชวงศ์ชิงไม่มีอำนาจกำลังพอที่จะปกครองประเทศได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาปกครอง 268 ปี (ค.ศ. 1644–1912) มีแต่การแย่งชิงอำนาจในหมู่ผู้นำราชวงศ์ ด้วยเหตุนี้ราษฎรส่วนมากจึงตกอยู่ในสภาพยากจน ชาวไร่ชาวนาถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แผ่นดินจีนถูกคุกคามจากเหล่าประเทศลัทธิล่าอาณานิคม[4] โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจตะวันตก และญี่ปุ่น จีนได้ทำสงครามต่อต้านการรุกรานของกองกำลังต่างชาติเป็นฝ่ายแพ้มาโดยตลอด ทำให้ราษฎรหมดความเชื่อถือต่อราชวงศ์ชิงเป็นอย่างมากนำไปสู่การต่อต้านระบอบการปกครองของราชวงศ์แมนจู

แนวความคิดต่อต้านราชวงศ์ชิงเริ่มมาจากการที่ราชวงศ์ชิงได้ทำสงครามฝิ่นกับอังกฤษ โดยสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ทำให้จีนต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงและลงนามสนธิสัญญานานกิง ผลกระทบของสนธิสัญญานานกิงที่จีนจำต้องลงนามเมื่อพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งแรก ในด้านสังคมที่ร้ายแรงที่สุด คือ อังกฤษบังคับให้จีนยอมรับว่าการค้าฝิ่นเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยถือว่าเป็นยารักษาโรคและทำได้โดยเสรี ทำให้สังคมจีนอยู่ในสภาพอ่อนแอ เพราะประชากรจำนวนมากอยู่ในสภาพติดยาเสพติด บ้านเมืองตกอยู่สภาพจลาจลในวุ่นวาย แม้ราชวงศ์ชิงจะพยายามแก้ปัญหาการเสพติดฝิ่นของประชาชน แต่เมื่อจีนได้ทำสงครามฝิ่นครั้งที่สองและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อีกครั้งทำให้จีนต้องทำสนธิสัญญาเทียนจินซึ่งทำให้จีนสูญเสียผลประโยชน์มากขึ้นไปอีก

กบฎนักมวยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1900 กองโจรนักมวยได้บุกเข้าโจมตีฐานที่มั่นของพันธมิตรแปดชาติ ราชวงศ์ชิงนำโดยซูสีไทเฮาได้สนับสนุนการกบฎดังกล่าว แต่ก็ได้พ่ายแพ้ให้กับกลุ่มพันธมิตรแปดชาติ ทำให้จีนถูกบังคับให้ลงนามพิธีสารนักมวย และต้องจ่ายค่าชดใช้สงครามจำนวนมหาศาล[5] ทำให้ชาวจีนอัปยศอดสูเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ราชวงศ์ชิงกำลังอ่อนแอจากปัญหารุมเร้าทั้งภายในประเทศและจากนอกประเทศ ชาวตะวันตกและญี่ปุ่นดูถูกชาวจีนโดยการขนานนามว่า ขี้โรคแห่งเอเชีย ทำให้ชาวจีนบางส่วนมีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและนำไปสู่ขบวนการถงเหมิงฮุ่ยต่อต้านราชวงศ์ชิง นำโดย ดร.ซุน ยัตเซ็น

การจัดตั้งสาธารณรัฐจีนพัฒนามาจากการก่อการกำเริบอู่ชางโดยได้เริ่มลุกฮือต่อต้านราชวงศ์ชิง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ต่อมาการลุกฮือได้พัฒนามาเป็นการปฏิวัติซินไฮ่ การปฏิวัติสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของขบวนการถงเหมิงฮุ่ย ราชสำนักชิงโดยมี ไจ้เฟิง องค์ชายฉุน และ พระพันปีหลงยฺวี่ เป็นผู้สำเร็จราชการ ยอมสละอำนาจโดยประทับตราพระราชสัญจักร คืนอำนาจให้ประชาชน หลังจากการยอมสละอำนาจของราชสำนักชิงแล้ว ชาวจีนทั่วประเทศและชาวจีนโพ้นทะเลได้มีการเฉลิมฉลอง วันแห่งการลุกฮือ วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ที่เป็นที่รู้จักกันใน "วันสองสิบ" ซี่งวันดังกล่าวนี้เองในปัจจุบันได้เป็นวันชาติสาธารณรัฐจีน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ซุน ยัตเซ็น ได้ถูกเลือกเป็นประธานาธิบดี โดยการประชุมที่นานกิงโดยมีตัวแทนจากทุกมณฑลของจีน ซุนได้แถลงกาณ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และให้สัตย์คำมั่นสัญญาว่า จะรวมสาธารณรัฐจีนให้มั่นคงและวางแผนเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน

ซุนได้ตระหนักถึงการขาดแคลนการสนับสนุนทางด้านการทหาร ซึ่งผู้นำกองทัพเป่ย์หยาง นายพลยฺเหวียน ชื่อไข่ได้เสนอให้การสนับสนุนแต่ต้องแลกกับกับการที่เขาจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซุน ยัตเซ็นจึงได้มอบอำนาจตำแหน่งประธานาธิบดีให้แก่ ยฺเหวียน ชื่อไข่ ผู้ซึ่งต่อมาได้บีบบังคับให้จักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิราชวงศ์ชิงองค์สุดท้ายสละราชสมบัติ นายพลยฺเหวียนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อในปี ค.ศ. 1913[4][6]

ยฺเหวียน ชื่อไข่รื้อฟื้นระบอบจักรพรรดิ[แก้]

ยฺเหวียน ชื่อไข่ได้อำนาจปกครองประเทศและมีอำนาจด้านการทหารอยู่ในกำมือ เขากลับแสดงตนเป็นเผด็จการและละเลยต่อหลักการของสาธารณรัฐที่ก่อตั้งโดยเจตนารมณ์ของ ดร. ซุน ยัตเซ็น ยฺเหวียนได้คุกคามขู่เข็ญประหารชีวิตสมาชิกรัฐสภาผู้ไม่เห็นด้วยกับเขาและได้ยุบพรรคก๊กมินตั๋ง มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐ การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ถูกคาดหวังไว้ในปี ค.ศ. 1912 ถูกยุติลงด้วยการลอบสังหารผู้ลงสมัครเลือกตั้งโดยคนของยฺเหวียน ชื่อไข่

ยฺเหวียน ชื่อไข่หลังจากได้ทำลายหลักการประชาธิปไตยแล้วได้ทะเยอทะยานที่ต้องการขึ้นเป็นฮ่องเต้ โดยได้รื้อฟื้นระบอบจักรพรรดิหรือฮ่องเต้ขึ้นมาอีกครั้ง จนในที่สุดยฺเหวียนได้ปราบดาภิเษกตั้งตนเป็นฮ่องเต้หรือ "จักรพรรดิหงเซียน (洪憲皇帝)" และสถาปนาเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น จักรวรรดิจีน ขึ้นในปี ค.ศ. 1915[7] เท่ากับเป็นการทรยศและขัดต่อหลักการลัทธิไตรราษฎรของดร.ซุน และสาธารณรัฐจีน ทำให้แผ่นดินเกิดความวุ่นวายอีกครั้ง เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านฮ่องเต้หงเซียนทั่วประเทศเกิดสงครามพิทักษ์ชาติขึ้นโดยกลุ่มทหารที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อฟื้นระบอบฮ่องเต้กลับมา จักรวรรดิจีนของยฺเหวียน ชื่อไข่ดำรงอยู่ได้เพียง 1 ปี ใน ค.ศ. 1916 ยฺเหวียน ชื่อไข่ได้เสียชีวิตด้วยวัยชราและระบอบจักรพรรดิที่เขารื้อฟื้นก็สิ้นสุดลง[8][9]

หลังจากการตายของฮ่องเต้ยฺเหวียน ชื่อไข่ บรรดาแว่นแคว้นจังหวัดต่าง ๆ ได้ประกาศตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลางอีกต่อไปทำให้ประเทศจีนเข้าสู่ยุคแห่งความแตกแยกหรือยุคที่เรียกว่า สมัยขุนศึก

รัฐบาลเป่ย์หยางและสมัยขุนศึก[แก้]

หลังจากนั้นประเทศจีนก็ได้เข้าสู่สมัยขุนศึก ประชาชนอยู่อย่างยากลำบากเกิดสงครามการสู้รบขึ้นทุกหย่อมหญ้าทั่วทั้งประเทศ อดีตกลุ่มทหารของยฺเหวียน ชื่อไข่ได้เริ่มแตกแยกกัน โดยกลุ่มกองทัพเป่ย์หยางที่เข้มแข็งที่สุดได้ตั้ง รัฐบาลเป่ย์หยาง ที่กรุงปักกิ่งสืบอำนาจเป็นรัฐบาลต่อไป รัฐบาลเป่ย์หยางนั้นถือว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจอมปลอมที่มีประธานาธิบดีที่ถูกแต่งตั้งเป็นเพียงหุ่นเชิดให้แก่กองทัพเท่านั้น ทำให้ชาวจีนเริ่มลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลเป่ย์หยางขึ้น สถานการณ์ที่วุ่นวายได้ทำให้ ดร.ซุน ยัตเซ็นได้ถูกบีบบังคับให้ต้องลี้ภัยกลับไปที่เมืองกวางตุ้งในภาคใต้อีกครั้งด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มขุนศึกที่สนับสนุนประชาธิปไตย ในปี ค.ศ. 1917 และ ค.ศ. 1922 ดร.ซุนได้ตั้งรัฐบาลกู้ชาติเป็นรัฐบาลคู่แข่งในภาคใต้ขึ้นโดยใช้เมืองกวางตุ้งเป็นฐานที่มั่นหวังจะกอบกู้ประเทศจีนให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อปวงชนอีกครั้ง

ดร.ซุนได้ฟื้นฟูพรรคก๊กมินตั๋งอีกครั้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1919 ทั้งนี้ดร.ซุนมิได้หมดหวังท้อแท้เขายังได้มีความหวังที่จะรวมประเทศจีนอีกครั้ง โดยมี เจียง ไคเชก ลูกศิษย์ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของเขาได้กรีฑาทัพรวมชาติขึ้นเหนือเพื่อล้มล้างรัฐบาลเป่ย์หยางที่ปักกิ่งในตอนเหนือหรือการกรีฑาทัพขึ้นเหนือ อย่างไรก็ตาม ดร.ซุนกลับขาดแคลนการสนับสนุนด้านการทหารที่เพียงพอและมีงบประมาณที่จำกัด ในขณะเดียวกันรัฐบาลเป่ย์หยางได้พยายามต่อสู้ดิ้นรนที่จะยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อไป

และความไม่เป็นธรรม[แก้]

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ได้ปะทุขึ้น ประเทศจีนได้ถูกบรรดาชาติตะวันตกและจักรวรรดิญี่ปุ่นบีบบังคับให้เข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรและประกาศสงครามกับเยอรมนี รัฐบาลเป่ย์หยางยอมปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข มีการยึดทรัพย์จับเชลยชาวเยอรมันในจีนและได้ส่งอาหาร, แรงงานไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในการรบ แต่ในปี ค.ศ. 1919 เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลง ถึงแม้จีนจะอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรตามหลักมีสิทธิ์เป็นผู้ชนะสงคราม แต่หลังสงครามสิ้นสุดลงประเทศจีนกลับเป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบ สนธิสัญญาแวร์ซายได้ปล่อยให้สัมปทานของเยอรมนีในมณฑลชานตงของจีนต้องถูกโอนให้แก่ญี่ปุ่นแทนที่จะถูกโอนกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของจีน

อีกทั้งญี่ปุ่นยังได้พยายามรื้อฟื้นประเด็นข้อเรียกร้อง 21 ประการเพื่อขูดรีดผลประโยชน์จากจีนอีกครั้ง ประกอบกับบรรดาประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นไม่ยอมแก้ไขยอมให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนแก่จีน จนทำให้ชาวจีนโกรธแค้นเป็นอย่างมากทำให้เกิดการประท้วงของนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลที่ยอมอ่อนข้อเพิกเฉยต่อสนธิสัญญาแวร์ซายโดยกลุ่มปัญญาชน นำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมหรือเป็นที่รู้จักกันในเหตุการณ์ ขบวนการ 4 พฤษภาคม

การเดินขบวนเคลื่อนไหวในครั้งนี้เกิดการรับเอาอิทธิพลแนวคิดลัทธิมากซ์มาเผยแพร่ทำให้รากฐานของแนวความคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างแพร่หลายในหมู่ปัญญาชนและนักศึกษา จนท้ายที่สุดได้นำไปสู่การก่อตัวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในภายภาคหน้า[10]

กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์จีน[แก้]

หลังดร.ซุนได้ตั้งรัฐบาลในภาคใต้ขึ้น เขาได้ตัดสินใจขอความช่วยเหลือทางด้านการทหารและงบประมาณส่วนหนึ่งจากสหภาพโซเวียตและก่อตั้งโรงเรียนทหารหวังผู่ ซึ่งเป็นโรงเรียนทหารแห่งแรกขึ้น แต่การสนับสนุนของโซเวียตกลับต้องแลกเปลี่ยนกับการให้โซเวียตก่อตั้งและสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต้นกำเนิดจากขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม ที่เริ่มรวมตัวเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก่อตั้งสำเร็จในปี ค.ศ. 1921 ซึ่งได้รับความนิยมพอ ๆ กับพรรคก๊กมินตั๋ง ในระยะแรก ๆ ทั้ง 2 พรรคได้ตกลงที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูและสร้างชาติจีนขึ้นมาโดยยึดหลักการรวมประเทศจีนและความผาสุขของประชาชน

รัฐบาลชาตินิยมจีน (จีนคณะชาติ)[แก้]

ธงรัฐบาลชาตินิยมแห่งสาธารณรัฐจีน (จีนคณะชาติ)
ด้วยความช่วยเหลือจากเยอรมัน, อุตสาหกรรมและการทหารของจีนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ก่อนจะเกิดสงครามกับจักรวรรดิญี่ปุ่น

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1925 ดร.ซุน ยัตเซ็น บิดาแห่งสาธารณรัฐจีนได้เสียชีวิตลง ได้ทิ้งหลักลัทธิไตรราษฎร์ เอาไว้เป็นปรัชญาทางการเมืองที่กล่าวถึงชาติใน 3 ด้าน

เจียง ไคเชก ได้ดำรงตำแหน่งสืบทอดเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งต่อเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ ดร.ซุน เจียง ไคเชกได้นำทัพกรีฑาขึ้นเหนือจนสำเร็จ ในปี ค.ศ. 1926 ถึง ปี ค.ศ. 1928 เจียงได้ล้มรัฐบาลเป่ย์หยางเดินหน้าปราบกลุ่มขุนศึกจนราบคาบ เขาได้ตั้งรัฐบาลที่เมืองนานกิง ประกาศตั้งรัฐบาลชาตินิยมแห่งสาธารณรัฐจีนขึ้น

สงครามกลางเมือง[แก้]

สงครามจีน-ญี่ปุ่น และสงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]

เจียง ไคเชก ผู้นำสูงสุดของจีนในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง

จักรวรรดิญี่ปุ่นพยายามดินจีนมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อบรรลุเป้าที่จะหาประโยชน์สูงสุดจากแผ่นดินจีน จนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 1931 นั่นคือวันที่ญี่ปุ่นได้สร้างสถานการณ์ “เหตุการณ์บึงหลิ่วเถียว” (柳条湖事变)ในการโจมตีเมืองเสิ่นหยางใกล้บึงหลิ่วเถียวของจีน ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นพยายามหาข้ออ้างในการเข้าบุกยึดแมนจูเรียและโจมตีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมาโดยตลอด จึงจงใจจุดชนวนศึกสงครามขึ้น

โดยในวันที่ 18 กันยายนปีนั้น เกิดระเบิดขึ้นที่ทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ของญี่ปุ่น แต่มีความเสียหายน้อยมากจนไม่กระเทือนการให้บริการปกติ ทว่าทหารญี่ปุ่นกลับอ้างว่า ทหารจีนยิงใส่พวกตนจากท้องนา จึงจำเป็นต้อง “ป้องกันตนเอง” เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่จักกันในกรณีมุกเดน ต่อมาญี่ปุ่นจึงเปิดฉากยิงใส่ทหารจีนทันทีและถือโอกาสเข้ารุกรานประเทศจีนโดยเริ่มการรุกรานแมนจูเรีย

ในเวลานั้น รัฐบาลก๊กมินตั๋งอยู่ในช่วงรวบรวมกำลัง เพื่อสู้รบกับคอมมิวนิสต์ที่ลุกขึ้นต่อต้านในประเทศ จึงได้มีคำสั่งห้ามต่อต้าน ให้พยายามแก้ไขด้วยวิธีการทางการทูต และให้ถอนกำลังไปที่ด่านซันไห่กวน ทำให้ทหารญี่ปุ่นบุกยึดเสิ่นหยาง แล้วบุกยึดต่อไปที่จี๋หลิน เฮยหลงเจียง จนกระทั่งสามารถยึด 3 มณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ในเดือนมกราคม 1932

ในเดือนถัดมาญี่ปุ่นได้สร้างรัฐใหม่ขึ้นบนแผ่นดินแมนจูเรีย โดยมีญี่ปุ่นคอยเชิดอยู่เบื้องหลัง ตั้งชื่อว่า ประเทศแมนจูกัว (满洲国) มีฉางชุนเป็นเมืองหลวง แล้วนำจักรพรรดิผู่อี๋ (ปูยี) ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงองค์สุดท้ายที่ถูกปฏิวัติในปี ค.ค. 1911 ซึ่งมีอายุ 25 พรรษในขณะนั้นมาเป็นฮ่องเต้หุ่นเชิดที่ได้ปกครองแต่ในนาม จากนั้นญี่ปุ่นก็ใช้อำนาจในการขูดรีดประชาชน ทำลายวัฒนธรรม ทำให้ชาวจีนกว่า 30 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมาน

เหตุร้าย 18 กันยายนได้กลายเป็นชนวนความแค้นของจีนทั่วประเทศ จนมีการเรียกร้องให้ต่อต้านญี่ปุ่น และถึงขั้นประท้วงรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ไม่ยอมต่อกรกับญี่ปุ่น จนกระทั่งประชาชนจีนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนต่างเริ่มลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อถึงปี 1937 การรวมตัวก็กระจายกว้างออกไป จนสามารถยืดหยัดสู้รบกับทัพญี่ปุ่นได้อย่างยาวนาน

เรื่องราวในวันที่ 18 กันยายน เป็นหนึ่งในแผนการที่ญี่ปุ่นได้วางไว้นานแล้ว เห็นได้จากเมื่อปี 1927 ที่ญี่ปุ่นได้ประชุมที่โตเกียว แล้วกำหนด “โครงสร้างนโยบายต่อจีน” ออกมา จากนั้นก็ได้แจ้งต่อจักรพรรดิ พร้อมประกาศว่า หากต้องการยึดครองจีน จะต้องสยบแผ่นดินแมนจูเรียก่อน และหากจะพิชิตโลก ก็จะต้องสยบจีนให้ได้ก่อน สงครามครั้งนี้ได้บานปลายจนกลายเป็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองในที่สุด

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การยึดและถอยมาเกาะไต้หวัน[แก้]

เส้นทางการอพยพหนีภัยของรัฐบาลจีนคณะชาติ (พรรคก๊กมินตั๋ง) ไปยังเมืองไทเป เกาะไต้หวัน
แผนที่หลังสงครามกลางเมืองจีนยุติ
 • สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนแผ่นดินใหญ่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดครอง   (สีแดง)
 • สาธารณรัฐจีนที่รัฐบาลจีนคณะชาติลี้ภัยมาที่เกาะไต้หวัน   (สีน้ำเงิน)

2 กันยายน ค.ศ. 1945 หลังการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นยอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไข อเมริกาเข้ายึดครองญี่ปุ่นและหมู่เกาะต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพอยู่ รวมถึงเกาะไต้หวันด้วย ส่วนโซเวียตรัสเซียเข้าตีแมนจูเรียและเกาหลีตอนเหนือขับไล่ญี่ปุ่นกลับประเทศตนไป ประเทศจีนได้เข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรได้เป็นส่วนหนึ่งในประเทศผู้ชนะสงครามเหนือญี่ปุ่น มีศักดิ์ศรีเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศจีนเสียหายย่อยยับ ผู้คนทุกข์ยาก อดอยาก ขาดซึ่งปัจจัยสี่ ประกอบกับตลอดระยะ 10 กว่าปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการเผยแพร่อุดมการณ์ ทั้งแบบใต้ดินบนดิน ทำให้มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพราะอุดมการณ์แบบสังคมนิยมนั้นดึงดูดคนยากคนจนเป็นพิเศษ เวลานี้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (人民解放軍) ก็พร้อมแล้วสำหรับสงครามปลดปล่อยประชาชนจากระบบ นายทุน ขุนศึก ศักดินา

ส่วนรัฐบาลก๊กมินตั๋งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลหมดเนื้อหมดตัวเพราะใช้เงินไปกับสงครามโลกจำนวนมาก ซ้ำด้วยปัญหาการคอรัปชั่นในวงราชการอย่างกว้างขวางทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน อีกทั้งทหารก๊กมินตั๋งก็เหนื่อยล้าจากการรบที่ต่อเนื่องยาวนานทำให้ทหารไร้ระเบียบวินัยทั้งยังขาดแคลนยุทธปัจจัย ขวัญกำลังใจตกต่ำ เทียบไม่ได้เลยกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีนที่มีขวัญกำลังใจเปี่ยมล้น เพียบพร้อมทั้งกำลังพลและยุทธปัจจัยเพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ปี ค.ศ. 1947 อเมริกาพยายามเป็นตัวกลาง ให้ทั้งสองพรรคเจรจากันอย่างสันติ แต่อเมริกาก็ต้องถอนทหารออกไปเพราะเดิมทหารอเมริกันนั้นเพียงแค่มาช่วยก๊กมินตั๋งรบกับญี่ปุ่น อีกทั้งไม่มีกำลังพลมากพอที่จะยับยั้งไม่ให้ทั้งสองพรรคทำสงครามกัน จึงเกิดเป็นสงครามกลางเมืองจีนอีกเป็นครั้งที่สอง

หลังจากนั้นในปี 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ายึดเมืองสำคัญ ๆ ของจีนได้โดยแทบจะไม่มีการต่อต้าน สงครามกลางเมืองได้สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็กต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมา เจ๋อตุง พรรคก๊กมินตั๋งจึงได้หนีไปเกาะไต้หวัน เมื่อเป็นดังนี้ ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1949 เจียง ไคเชก จึงนำพลพรรคก๊กมินตั๋งพร้อมทั้งสมบัติมีค่า เช่น วัตถุโบราณจากวังต้องห้าม ทองคำในธนาคาร ตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่าพ่อค้าประชาชนที่กลัวภัยคอมมิวนิสต์หนีตามเจียงไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวันจำนวนมากกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน เพื่อรอวันมายึดแผ่นดินใหญ่คืน

การเมือง[แก้]

คณะรัฐบาลของดร.ซุน ยัตเซ็น

รัฐบาลแห่งชาติของสาธารณรัฐจีนได้ก่อตั้งเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ที่เมืองนานกิง (จีน: 南京市) โดยมี ดร.ซุน ยัตเซ็น เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวคนแรก บรรดาผู้แทนจากมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนถูกส่งไปเพื่อยืนยันรับรองอำนาจของรัฐบาลแห่งชาติที่นานกิง และต่อมาก็มีการจัดตั้งรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรก อำนาจของรัฐบาลแห่งชาตินี้มี จำกัด และอายุสั้น เนื่องจากสาธารณรัฐจีนอยู่ในช่วงสมัยขุนศึก มียังการแบ่งนายพล หรือขุนศึก ได้ตั้งตนเป็นอิสระควบคุมทั้งภาคกลางและภาคเหนือของจังหวัดและมณฑลทั่วประเทศ การปฏิบัติหน้าที่ที่จำกัดโดยรัฐบาลชุดนี้ ประกอบไปด้วย การประกาศล้มล้างราชวงศ์ชิงอย่างเป็นทางการ จักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง ถูกบีบบังคับให้ออกจากพระราชวังต้องห้ามในปี ค.ศ. 1917 อีกทั้งยังมีแนวนโยบายความคิดริเริ่มทางพัฒนาเศรษฐกิจ

อำนาจของรัฐสภากลายได้น้อยลง เมื่อได้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญโดย นายพลยฺเหวียน ชื่อไข่ และสมาชิกรัฐสภาพรรคก๊กมินตั๋งถูกกองทัพของนายพลยฺเหวียนบีบให้ยอมแพ้ อีกทั้งยังให้สมาชิกของในพรรคก๊กมินตั๋งสนับสนุนเขาด้วยการเสนอเงินจำนวน 1,000 ปอนด์สเตอร์ลิงเป็นการตอบแทน ยฺเหวียนได้รักษาอำนาจของเขาโดยการส่งนายพลคนสนิทใกล้ชิดไปประจำตามจังหวัดและมณฑลทั่วประเทศจีนในฐานะผู้ปกครองแคว้น เมื่อนายพลยฺเหวียน ชื่อไข่ได้ฟื้นคืนระบอบจักรพรรดิและสถาปนาตั้งตนเป็นฮ่องเต้ นามว่า "จักรพรรดิหงเซียน (洪憲皇帝)" ได้มีการต่อต้านทั่วประเทศและเกิดการจลาจลขึ้น เมื่อยฺเหวียนได้เสียชีวิต ในปี ค.ศ. 1916 รัฐสภาได้ถูกเรียกให้มีประชุมอีกครั้งเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้เกิดถูกต้องชอบธรรมให้กับรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตามบรรดานายพลได้ถูกส่งไปประจำยังแคว้นต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนได้ตั้งตนเป็นอิสระหลังจากการเสียชีวิตของยฺเหวียน ชื่อไข่ โดยไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลแห่งชาติอีกต่อไป ทำให้จีนเข้าสู่แห่งความแตกแยกหรือ สมัยขุนศึก แต่รัฐบาลแห่งชาติที่ไร้อำนาจก็ได้ดำรงอยู่อย่างกระท่อนกระแท่น เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น สาธารณรัฐจีนได้เห็นสมควรที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อที่จะได้ยื่นข้อเสนอในการขอแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมและเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืนมา แต่รัฐบาลแห่งชาติก็ยังคงลังเลเพราะต้องการดูสถานการณ์ความได้เปรียบในสงคราม เมื่อหลายประเทศตะวันตกและจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บีบบังคับให้จีนประกาศสงครามกับเยอรมนี ทำให้สาธารณรัฐจีนต้องประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมันและเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือเมื่อเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพื่อที่จะเลิกกิจการการถือครองเยอรมันและยึดครองบรรดาทรัพย์สิน ธุรกิจ ของชาวเยอรมันในประเทศจีน นอกจากนี้รัฐบาลแห่งชาติ สาธารณรัฐจีนยังมีรัฐบาลขุนศึกที่ต้องคอยรับมืออีกในช่วงเวลาเดียวกัน

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีนก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีนและหลักลัทธิไตรราษฎร์ ซึ่งระบุว่า (สาธารณรัฐจีน) จะเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยของประชาชน จะถูกปกครองร่วมกันโดยประชาชนและเพื่อประชาชน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวาทะของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็น การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน[11]

ต่อมา เจียง ไคเช็ก ผู้นำการทหาร มือขวาผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจาก ดร.ซุน ยัตเซ็น ได้เข้าปราบปรามเหล่าขุนศึกและรวบรวมประเทศให้เป็นหนึ่งและก่อตั้ง รัฐบาลคณะชาติ ขึ้นแทน โดยมีพรรคก๊กมินตั๋งเป็นพรรคหลัก ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1928 การประชุมสมัชชาภาคที่สี่ครั้งที่ 2 ของรัฐสภาแห่งชาติก๊กมินตั๋งที่จัดขึ้นในนานกิงผ่านการปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลคณะชาติ กฎหมายได้ระบุว่ารัฐบาลแห่งชาติจะถูกกำกับและควบคุมภายใต้คณะกรรมการบริหารกลางของพรรคก๊กมินตั๋ง กับคณะกรรมการรัฐบาลแห่งชาติซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากคณะกรรมการกลางของพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้รัฐบาลคณะชาติได้มีการก่อตั้งกระทรวงหลักขึ้น 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการเงิน, กระทรวงการขนส่ง, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการเกษตรและกระทรวงการเหมืองแร่พาณิชย์ และนอกจากนี้เช่น ศาลฎีกา, และสถาบันการศึกษาทั่วไป

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

ดูบทความหลักที่: การแบ่งเขตการปกครองในสาธารณรัฐจีน และ การแบ่งเขตการปกครองในสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ. 1945

เขตการปกครอง จำนวน สาธารณรัฐจีน การแบ่งเขตการปกครองภาคแรก สมัยรัฐบาลเป่ย์หยาง (ภาคเหนือ) เขตปกครองของสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ. 1945
เขตปกครองของสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ. 1945
มณฑล 22 มณฑลจื๋อลี่ (直隸) | มณฑลเฟิ่งเทียน (奉天) | มณฑลจี๋หลิน (吉林) | มณฑลเฮย์หลงเจียง (黑龍江) | มณฑลชานตง (山東) | มณฑลเหอหนาน (河南) | มณฑลชานซี (山西) | มณฑลเจียงซู (江蘇) | มณฑลอานฮุย (安徽) | มณฑลเจียงซี (江西) | มณฑลฝูเจี้ยน (福建) | มณฑลเจ้อเจียง (浙江) | มณฑลหูเป่ย์ (湖北) | มณฑลหูหนาน (湖南) | มณฑลฉ่านซี (陝西) | มณฑลกานซู่ (甘肅) | มณฑลซินเจียง (新疆) | มณฑลเสฉวน (四川) | มณฑลกวางตุ้ง (廣東) | มณฑลกว่างซี (廣西) | มณฑลยูนนาน (雲南) | มณฑลกุ้ยโจว (貴州)
เมืองท่าสำคัญ 2 เจียวอ้าว (膠澳商埠) | ซงฮู่ (淞滬商埠)
เขตบริหารพิเศษ 4 ชวนเปียน (川邊特別區) | เยโฮล (เร่อเหอ) (热河特别区) | ชาร์ฮาร์ (ฉาฮาเอ่อร์) (察哈尔特别区) | ซุยหย่วน (綏遠特別區)
เขตปกครองภูมิภาค 4 ทิเบต (西藏地方) | มองโกเลีย (เหมิงกู่) (蒙古地方) | ชิงไห่ (青海省) | จิงเจ้า (เมืองหลวง) (京兆地方)
เขตการปกครอง จำนวน สาธารณรัฐจีน การแบ่งเขตการปกครองภาคสอง สมัยรัฐบาลจีนคณะชาติ (พรรคก๊กมินตั๋ง)
มณฑล 28 มณฑลเจียงซู (江蘇) | มณฑลเจ้อเจียง (浙江) | มณฑลอานฮุย (安徽) | มณฑลเจียงซี (江西) | มณฑลหูเป่ย์ (湖北) | มณฑลหูหนาน (湖南) | มณฑลเสฉวน (四川) | มณฑลซีคัง (西康) | มณฑลฝูเจี้ยน (福建) | มณฑลกวางตุ้ง (廣東) | มณฑลกว่างซี (廣西) | มณฑลยูนนาน (雲南) | มณฑลกุ้ยโจว (貴州) | มณฑลหูเป่ย์ (河北) | มณฑลชานตง (山東) | มณฑลหูหนาน (河南) | มณฑลชานซี (山西) | มณฑลฉ่านซี (陝西) | มณฑลกานซู่ (甘肅) | มณฑลหนิงเซี่ย (寧夏省) | มณฑลชิงไห่ (青海省) | มณฑลซุยหย่วน (綏遠) | มณฑลชาร์ฮาร์ (ฉาฮาเอ่อร์) (察哈爾) | มณฑลเร่อเหอ (熱河) | มณฑลเหลียวหนิง (遼寧) | มณฑลจี๋หลิน (吉林) | มณฑลเฮย์หลงเจียง (黑龍江) | มณฑลซินเจียง (新疆)
เขตเทศบาล 6 หนานจิง (南京) | เซี่ยงไฮ้ (上海) | เป่ย์ผิง (北平) | ชิงเต่า (青島) | เทียนจิน (天津) | ฮั่นโข่ว (漢口)
นครระดับจังหวัด 2 เวยไห่ (威海衛行政區) | ตงเฉิ่ง (東省特別行政區])
เขตบริหารภูมิภาค 2 ทิเบต (西藏地方) | มองโกเลีย (เหมิงกู่) (蒙古地方)

สาธารณรัฐจีนมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับประเทศมองโกเลีย (มองโกเลียนอก) ในฐานะที่เป็นรัฐสืบต่อจากราชวงศ์ชิง สาธารณรัฐจีนอ้างสิทธิ์ในดินแดน มองโกเลียนอก ประเทศมองโกเลียได้ถูกปกครองโดยรัฐบาลเป่ย์หยางตลอดจนถึงสมัยของรัฐบาลจีนคณะชาตินำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง จนกระทั่งประเทศมองโกเลียได้รับเอกราชจากจีนหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง สาธารณรัฐจีนได้ทำสนธิสัญญาพันธมิตรและพันธไมตรีจีน–โซเวียตเนื่องจากการกดดันโดยสหภาพโซเวียต[12]

เมืองสำคัญ[แก้]

เมืองเซี่ยงไฮ้ในปี ค.ศ. 1930

ในระเวลาแรกที่ก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ได้มีการก่อตั้ง "เขตปกครองชนบทเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบเมือง" ขึ้น เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างชนบทเพื่อขยายเป็นเมืองใหญ่ แต่การพัฒนาเมืองชนบทหยุดชะงักลงในช่วงรัฐบาลเป่ย์หยาง ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 กว่างโจว ถูกพัฒนายกระดับขึ้นเป็นเมือง รัฐบาลเห็นผลของความสำเร็จของเมืองกว่างโจว จึงเพิ่มการใช้ระบบเมืองทั่วประเทศ วันที่ 3 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน รัฐบาลเป่ย์หยางประกาศใช้ "ระบบเขตเทศบาล" ขึ้น "เมือง" ได้ถูกแบ่งออกเป็น "เมืองสำคัญ" และ "เมืองธรรมดา" ได้แก่ "เทียนสิน, ซ่งอู๋ (ปัจจุบันคือเซี่ยงไฮ้), ชิงเต่า, ฮาร์บิน, ฮั่นโข้ว (ปัจจุบันคืออู่ฮั่น) รวมทั้งสิ้น 6 เมืองสำคัญ[13] ในปี ค.ศ. 1930 รัฐบาลจีนคณะชาติได้ประกาศใช้ "กฎหมายบริหารเขตเทศบาล" ขึ้น "เมือง" ได้ถูกแบ่งออกเป็น "เมืองท้องถิ่นภูมิภาค" และ เขตเทศบาลพิเศษ โดยเมืองท้องถิ่นภูมิภาคและเขตชนบทจะอยู่ในระดับเดียวกัน มีฐานะเทียบเท่ากับจังหวัด เมืองแต่ละเมืองของเขตชนบทจะอยู่ภายใต้เขตอำนาจของเมืองท้องถิ่นภูมิภาค กฎหมายได้กำหนดแต่ละเมืองมีประชากรได้ถึงหนึ่งล้านคน แต่มีข้อยกเว้น ในปี ค.ศ. 1948 "รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีน" เมืองแต่ละเมืองจะอยู่ภายใต้เขตอำนาจเขตเทศบาล ก่อนปี ค.ศ. 1949 ทั้งประเทศมีเขตเทศบาล 12 แห่ง[14]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

ก่อนหน้าที่รัฐบาลชาตินิยมจะถูกขับออกจากแผ่นดินใหญ่ สาธารณรัฐจีนได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 59 ประเทศ[ต้องการอ้างอิง] รวมถึงออสเตรเลีย, แคนาดา, คิวบา, เชโกสโลวาเกีย, เอสโตเนีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, นอร์เวย์, ปานามา, สยาม, สหภาพโซเวียต, สเปน, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, และสันตะสำนัก สาธารณรัฐจีนสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเหล่านี้ไว้ได้เกือบทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดในช่วงแรกของการล่าถอยไปยังเกาะไต้หวัน เจียง ไค-เช็ก ได้สาบานว่าจะรีบกลับมาและ "ปลดปล่อย" แผ่นดินใหญ่[15][16] และเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นรากฐานของนโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐจีนภายหลังปี 1949

ภายใต้กฎบัตรแอตแลนติก สาธารณรัฐจีนได้รับสิทธิที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)[17] [18] แม้ว่าจะมีการคัดค้านอยู่หลายต่อหลายครั้งว่าที่นั่งถาวรนั้นควรจะเป็นของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่[19][20] สาธารณรัฐจีนยังคงได้รับสิทธิที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่อไป จนกระทั่งในปี 1971 เมื่อสิทธินั้นถูกแทนที่โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน[21]

สังคม[แก้]

โฆษณาของเมืองเซี่ยงไฮ้ มีสุภาพสตรีสองคนใส่ชุดกี่เพ้า ในปี ค.ศ. 1930 โฆษณาเกี่ยวกับ "สบู่วิคตอเรีย"

หลังจากที่ได้มีการโค้นล้มราชวงศ์ชิงและเปลี่ยนแปลงไปสู่สาธารณรัฐ ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลแห่งชาติชุดแรกของดร.ซุน ยัตเซ็น ได้เริ่มร่างรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีนขึ้น บรรดาชนชั้นของขุนนางราชวงศ์ชิงถูกปลดเป็นพลเมืองธรรมดารวมทั้งจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง จักรพรรดิผู่อี๋ ก็ถูกถอดจากบัลลังก์เป็นเพียงพลเมืองแห่งสาธารณรัฐจีน รัฐบาลมีการออกกฎหมายอาญาและแพ่งขึ้นใช้บังคับทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม มีการรณรงค์แจกใบปลิวและติดป้ายประกาศจำนวนมากให้ตระหนักถึง หน้าที่พลเมืองดี สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และรู้จักติดตามข่าวสารสมัยใหม่ รัฐบาลสาธารณรัฐจีนยังได้สนับสนุนให้มีการยกเลิกการสูบฝิ่นของประชาชน มีการออกกฎหมายถือว่าฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีการส่งเสริมสุขอนามัยประชาชน ในช่วงนี้ทำให้เกิดสมาคมสภากาชาดแห่งสาธารณรัฐจีนขึ้น

ในขณะเดียวกันในยุคสาธารณรัฐจีนได้มีการรณรงค์ให้ใช้ปฏิทินหมิงกั๋วเป็นการนับปีศักราชแทนการนับศักราชแบบปฏิทินจีนโบราณที่นิยมเรียกตามพระนามของจักรพรรดิ โดยกำหนดให้เรียกปีที่หนึ่งของสาธารณรัฐว่า หมิงกั๋วปีที่ 1 หรือ ปีสาธารณรัฐที่ 1

การแต่งกาย[แก้]

กองทัพ[แก้]

ทหารกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีนในสงครามโลกครั้งที่สอง
ทหารกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีนที่เมืองเฉิงตู

กองทัพแห่งสาธารณรัฐจีนมีรากฐานมาจากกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีนซึ่งก่อตั้งโดย ดร.ซุน ยัตเซ็น ในปี ค.ศ. 1925 ที่ เมืองกวางตุ้ง กับเป้าหมายของการรวมประเทศจีนภายใต้ก๊กมินตั๋ง

โดยแรกเริ่มนั้นกองทัพปฏิวัติได้ถูกจัดตั้งโดยการช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียต เพื่อช่วยให้พรรคก๊กมินตั๋งในการรวบรวมประเทศจีนในช่วงสมัยขุนศึก กองทัพปฏิวัติแห่งชาติด้ทำการสู้รบในการรบหลักคือ การกรีฑาทัพขึ้นเหนือ, การต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองและในการสู้รบกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมืองจีน

และการร่วมมือยังคงมีความขัดแย้งและในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ได้แยกออกไปกองทัพปลดปล่อยประชาชนของตนเองหลังสงครามกับญี่ปุ่นยุติลง ด้วยการปรักาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีนปี ค.ศ. 1947 และการสิ้นสุดการปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ของก๊กมินตั๋ง หลังจากการพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋งในสงครามกลางเมืองจีนให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และกองทัพปฏิวัติแห่งชาติได้ล่าถอยอพยพไปยังเกาะไต้หวันในปี ค.ศ. 1949 ต่อมากองทัพปฏิวัติแห่งชาติได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพแห่งสาธารณรัฐจีน

เศรษฐกิจ[แก้]

ธนบัตร ดร.ซุน ยัตเซ็น เงินตราที่ใช้ในสาธารณรัฐจีน ปี ค.ศ. 1930
การจราจรทางน้ำในเซี่ยงไฮ้, ค.ศ. 1920

ในช่วงปีแรก ๆ ของสาธารณรัฐจีนเศรษฐกิจยังคงไม่มั่นคงเนื่องจากประเทศถูกทำให้โดดเด่นด้วยสงครามอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มขุนศึกในภูมิภาคต่าง ๆ รัฐบาลเป่ย์หยางในปักกิ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำอย่างต่อเนื่องและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ซบเซาจนกระทั่งเกิดการรวมชาติของจีนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1928 โดยพรรคก๊กมินตั๋ง

หลังจากที่พรรคก๊กมินตั๋งได้รวมประเทศจีนสำเร็จอีกครั้งในปี ค.ศ. 1928 จีนเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความมั่นคงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางทหารอย่างต่อเนื่องและเผชิญกับการรุกรานของญี่ปุ่นใน มณฑลซานตงและในที่สุดแมนจูเรีย ในปี ค.ศ. 1931

ช่วงทศวรรษที่ 1930 ในประเทศจีนเป็นที่รู้จักกันในนาม "ทศวรรษนานกิง" ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปเนื่องจากความมั่นคงทางการเมืองที่สัมพันธ์กันเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมของจีนเติบโตอย่างมากจากปี ค.ศ. 1928 ถึงปี ค.ศ. 1931 ในขณะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการยึดครองแมนจูเรียของญี่ปุ่นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1931 และในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1931 ถึง 1935 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาสู่จุดสูงสุดก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 1936 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของจีดีพีของจีน ในปี ค.ศ. 1932 จีดีพีของจีนพุ่งสูงสุดที่ 28.8 พันล้านก่อนร่วงลงมาที่ 21.3 พันล้านในปี ค.ศ. 1934 และฟื้นตัวเป็น 23.7 พันล้านในปี ค.ศ. 1935[22] ในปี ค.ศ. 1930 การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 3.5 พันล้าน โดยมีการพยายามแทรกแซงของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาเป็นผู้นำ (1.4 พันล้าน) และสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 1 พันล้าน อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1948 หุ้นทุนได้หยุดลงด้วยการลงทุนลดลงเหลือเพียง 3 พันล้านดอลลาร์โดยผู้นำของสหรัฐฯและอังกฤษ[23]

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในชนบทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่มากเกินไปทำให้ราคาตกต่ำอย่างมากสำหรับจีนรวมถึงการนำเข้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น (เป็นสินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศตะวันตกถูก "เข้ามาขายระบายสินค้า" ในประเทศจีน) ในปี ค.ศ. 1931 การนำเข้าข้าวในประเทศจีนมีจำนวน 21 ล้านบุชเชล (Bushel) เมื่อเทียบกับ 12 ล้านในปี ค.ศ. 1928 สินค้าอื่น ๆ ก็เห็นการเพิ่มขึ้นของการส่ายมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1932 มีการนำเข้าธัญพืช 15 ล้านบุชเชลเมื่อเทียบกับ 900,000 ในปี ค.ศ. 1928 การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนี้นำไปสู่การลดลงอย่างมากในราคาสินค้าเกษตรของจีน (ซึ่งมีราคาถูกกว่า) และทำรายได้ให้เกษตรกรในชนบท ในปี ค.ศ. 1932 ราคาสินค้าเกษตรอยู่ที่ระดับร้อยละ 41 จากปี ค.ศ. 1921[24]

วัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ภาพยนตร์[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Roy, Denny (2003). Taiwan: A Political History. Ithaca, New York: Cornell University Press. pp. 55, 56. ISBN 0-8014-8805-2.
  2. "Taiwan Timeline – Retreat to Taiwan". BBC News. 2000. สืบค้นเมื่อ 2009-06-21.
  3. China, Fiver thousand years of History and Civilization. City University Of Hong Kong Press. 2007. p. 116. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2560. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "The Chinese Revolution of 1911". US Department of State. สืบค้นเมื่อ 2016-10-27.
  5. Spence, Jonathan D. [1991] (1991), The Search for Modern China, WW Norton & Co. ISBN 0-393-30780-8.
  6. Fenby 2009, pp. 123–125
  7. Fenby 2009, p. 131
  8. Fenby 2009, pp. 136–138
  9. Meyer, Kathryn; James H Wittebols; Terry Parssinen (2002). Webs of Smoke. Rowman & Littlefield. pp. 54–56. ISBN 0-7425-2003-X.
  10. Guillermaz, Jacques (1972). A History of the Chinese Communist Party 1921–1949. Taylor & Francis. pp. 22–23.
  11. "The Republic of China Yearbook 2008 / CHAPTER 4 Government". Government Information Office, Republic of China (Taiwan). 2008. สืบค้นเมื่อ 2009-05-28.[ลิงก์เสีย]
  12. name="Japan Contemporary Chinese Society�">"1945年「外モンゴル独立公民投票」をめぐる中モ外交交渉".
  13. "浩學歷史網>国学频道>国学书库>中华民国政治史>第七节市制". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2017-05-23.
  14. 「中國地理」.中華民國國立編譯館發行之地理課本
  15. Li Shui. Chiang Kai-shek Captain of the Guard Publishers. Discloses the history of retaking the mainland. 13 November 2006. [1] เก็บถาวร 2008-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. Qin Xin. Taiwan army published new book uncovering secrets of Chiang Kai-shek: Plan to retake the mainland. 28 June 2006. China News Agency. China News
  17. "1945: The San Francisco Conference". United Nations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 January 2017. สืบค้นเมื่อ 1 July 2015.
  18. Stephen Schlesinger, "FDR's five policemen: creating the United Nations." World Policy Journal 11.3 (1994): 88-93. online
  19. Wellens, Karel C., บ.ก. (1990). Resolutions and Statements of the United Nations Security Council: (1946–1989); a Thematic Guide. Dordrecht: BRILL. p. 251. ISBN 0-7923-0796-8.
  20. Cook, Chris Cook. Stevenson, John. [2005] (2005). The Routledge Companion to World History Since 1914. Routledge. ISBN 0-415-34584-7. p. 376.
  21. CHINA'S REPRESENTATION IN THE UNITED NATIONS by Khurshid Hyder - Pakistan Horizon; Vol. 24, No. 4, The Great Powers and Asia (Fourth Quarter, 1971), pp. 75-79 Published by: Pakistan Institute of International Affairs
  22. Sun Jian, pg 1059–1071
  23. Sun Jian, pg 1353
  24. Sun Jian, page 1089

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]