สัทธัมมปัชโชติกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สัทธัมมปัชโชติกา คือคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความนิทเทส ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคที่ 1 อธิบายความในมหานิทเทส และภาคที่ 2 อธิบายความในจูฬนิทเทส ผลงานของพระเทวะ [1] [2] อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า เป็นผลงานของพระอุปเสนะ รจนาขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 1,100 [3] นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นามของพระเทวะที่ปรากฏในอารัมภกถาสัทธัมมปัชโชติกา คือพระเถระผู้ที่อารธนาผู้ที่รจนาคัมภีร์นี้ คือพระอุปเสนะให้แต่งตำราขึ้นมาอธิบายเนื้อความของนิทเทส ในขุททกนิกาย โดยใช้แนวทางของสำนักมหาวิหาร อันเป็นคณะสงฆ์หลักของลังกาทวีปในขณะนั้น [4] ทั้งนี้ คัมภีร์ฎีกา หรือคัมภีร์ขยายความของคัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา รจนาโดยพระวัชรพุทธิ [5]

เนื้อหา[แก้]

สัทธัมมปัชโชติกา เป็นการขยายความข้อธรรม ด้วยการยกถ้อยคำหรือถ้อยความในนิทเทสนั้นๆ มาอธิบายโดยพิสดาร นอกจากนี้ ยังอรรถธิบายศัพท์สำคัญที่ปรากฏในมหานิทเทส และจูฬนิทเทส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายความคำศัพท์ในลักษณะเดียวกับพจนานุกรมและสารานุกรมในเวลาเดียว โดยให้ความกระจ่างทั้งในด้านนิรุกติศาสตร์ และไวยากรณ์ รวมถึงความกระจ่างด้วยการยกตัวอย่างเทียบเคียงด้วยคำศัพท์อื่นๆ บ้าง ด้วยวัตถุอื่นๆ บ้าง และด้วยอุปมาอย่างรวบรัดแต่ลึกซึ้งเห็นภาพ โดยสังเขปแล้ว สัทธัมมปัชโชติกามีลักษณะคล้ายพจนานุกรมเชิงสารานุกรม (Encyclopedic dictionary) ทางพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันพระอรรถกถาจารย์ยังใช้อุปมาอุปมัยทางภาษาที่ลึกซึ้งเห็นภาพ มีความงดงามเชิงกวีพจน์ นับเป็นจุดเด่นสำคัญของคัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา

ตัวอย่างเนื้อหา[แก้]

การอธิบายเชิงนิรุกติศาสตร์[แก้]

ตัวอย่างการอธิบายขยายความศัพท์ที่สำคัญหรือน่าสนใจในนิทเทส เช่นในอรรถกถากามสุตตนิทเทสที่ 1 มีการยกคำศัพท์อธิบายในเชิงนิรุกติศาสตร์และนัยยะทางธรรม ดังนี้ "ชื่อว่า สหชาโต เพราะอรรถว่าเกิดในขณะเดียวกัน, ชื่อว่า สัตว์ เพราะอรรถว่า ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องแล้วในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น, ชื่อว่า นระ เพราะอรรถว่า นำไปสู่สุคติแลทุคคติ, ชื่อว่า มาณพ เพราะอรรถว่า เป็นลูก คือเป็นบุตรของพระมนู, ชื่อว่า ชีว เพราะอรรถว่า ทรงไว้ซึ่งชีวิตินทรีย์" [6]

การอธิบายด้วยการขยายความหมาย[แก้]

ตัวอย่างการแจกแจงความนัยของศัพท์ เช่นในอรรถกถาทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดภาพพจน์ ในกรณีของคำว่า บังสุกุล ที่อรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า ที่เรียกผ้าชนิดหนึ่งว่าบังสุกุล เพราะ "เป็นเหมือนเกลือกกลั้วด้วยฝุ่นในที่นั้นๆ ด้วยอรรถว่า ฟุ้งไป เพราะตั้งอยู่บนฝุ่นทั้งหลายในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง มีถนน ป่าช้า และกองหยากเยื่อเป็นต้น" ต่อมาพระอรรถกถาจารย์อธิบายอีกนัยหนึ่งว่า "ชื่อว่าบังสุกุล เพราะอรรถว่า ถึงภาวะน่าเกลียดเหมือนฝุ่น ท่านอธิบายว่า ถึงความเป็นของน่ารังเกียจ การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลที่มีคำไขอันได้แล้วอย่างนี้ ชื่อว่า บังสุกุล การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้นภิกษุนั้นถึงชื่อว่า บังสุกูลิก ผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล องค์แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้นชื่อบังสุกูลิกังคะ" [7]

การอธิบายโดยอุปมาอุปมัย[แก้]

อีกหนึ่งตัวอย่างของการอุปมาแสดงภาพพจน์ อยู่ในอรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ 2 ซึ่งอธิบายลักษณะของสมาธิดังนี้ว่า "บรรดาวิตกและวิจารเหล่านั้น วิตกมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจารมีลักษณะประคองจิตไว้ในอารมณ์ วิตกและวิจารเหล่านั้น แม้เมื่อไม่แยกกันในอารมณ์อะไรๆ วิตกเข้าถึงจิตก่อนด้วยอรรถว่าหยาบและเป็นธรรมชาติถึงก่อน ดุจการเคาะระฆัง วิจารตามพัวพันด้วยอรรถว่าละเอียดและด้วยสภาพตามเคล้า ดุจเสียงครางของระฆัง ก็วิตกมีการแผ่ไปในอารมณ์นี้ เป็นความไหวของจิตในเวลาที่เกิดขึ้นครั้งแรก ดุจการกระพือปีกของนกที่ต้องการจะบินไปในอากาศ และดุจการโผลงตรงดอกปทุมของภมรที่มีใจผูกพันอยู่ในกลิ่น, วิจารมีความเป็นไปสงบ ไม่เป็นความไหวเกินไปของจิต ดุจการกางปีกของนกที่ร่อนอยู่ในอากาศ และดุจการหมุนของภมรที่โผลงตรงดอกปทุม ในเบื้องบนของดอกปทุม" [8]

การอธิบายด้วยการชี้แจงข้อธรรม[แก้]

ตัวอย่างการขยายความข้อธรรม เช่นในอรรถกถากามสุตตนิทเทสที่ 1 ได้แจกแจงศัพท์โดยอธิบายในเชิงธรรมไว้ว่า "ชื่อว่า สัทธาพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความไม่เชื่อ, วีริยพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความเกียจคร้าน, ชื่อว่า สติพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความลืมสติ, ชื่อว่า สมาธิ เพราะอรรถว่า ให้ยึดมั่น ... พึงเห็นว่า ความตั้งมั่นแห่งใจเหมือนความหยุดนิ่งของเปลวประทีปในที่สงัดลม ชื่อว่า สมาธิพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่าน (และ) ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ชัด รู้ชัดอะไร? รู้ชัดอริยสัจทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า นี้ทุกข์ ดังนี้" [9]

การอธิบายโดยยกข้อมูลประกอบ[แก้]

ตัวอย่างการขยายความโดยให้ความรู้ตามบริบทแวดล้อม เช่นที่ปรากฏในอรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ 2 ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ความว่า "เทวดาเหล่านั้นชื่อว่า จาตุมมหาราชิกา เพราะอรรถว่า มีมหาราชทั้ง 4 กล่าวคือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวกุเวร เป็นใหญ่ ชื่อว่า เทพเพราะอรรถว่า รุ่งเรืองด้วยรูปเป็นต้น เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเหล่านั้นอยู่ท่ามกลางสิเนรุบรรพต, บรรดาเทวดาเหล่านั้น พวกที่อยู่ที่บรรพตก็มีพวกที่อยู่ในอากาศก็มี อยู่ต่อๆ กันไปถึงจักรวาลบรรพต เทวดาเหล่านี้คือ พวกขิฑฑาปโทสิกะ พวกมโนปโทสิกะ พวกสีตวลาหกะ พวกอุณหวลาหกะ จันทิมเทพบุตร สุริยเทพบุตร แม้ทั้งหมดอยู่เทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกาทั้งนั้น" เป็นต้น [10]

อ้างอิง[แก้]

  1. วรรณคดีบาลี หน้า 77
  2. วรรณคดีบาลี หน้า 81
  3. The Buddha's Philosophy หน้า 176
  4. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส. หน้าที่ 33
  5. ดู PRIMARY TEXTS BY AUTHORS WHOSE DATES ARE UNKNOWN ใน http://faculty.washington.edu/kpotter/xtxtdu.htm เก็บถาวร 2012-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 74 - 75
  7. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 454 - 455
  8. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 301
  9. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 126 - 127
  10. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1 หน้า 343

บรรณานุกรม[แก้]

  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • G F Allen. ( 2008). The Buddha's Philosophy: Selections from the Pali Canon and an Introductory Essay. London. Routledge.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 ภาค 1