สราวุธ ประทีปากรชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สราวุธ ประทีปากรชัย
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม สราวุธ ประทีปากรชัย
วันเกิด 10 เมษายน พ.ศ. 2490
สถานที่เกิด ไทย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
วันเสียชีวิต 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 (76 ปี)
ตำแหน่ง ผู้รักษาประตู
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
พ.ศ. 2504– สโมสรฟุตบอลโอสถสภา
พ.ศ. 2507 สโมสรฟุตบอลศุลกากร
พ.ศ. 2508 สโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ
ทีมชาติ
พ.ศ. 2509–2519 ทีมชาติไทย กว่า 120 นัด
จัดการทีม
พ.ศ. 2519 ทีมชาติไทย
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น
สราวุธ ประทีปากรชัย
เหรียญรางวัล
ตัวแทนของ  ไทย
ฟุตบอลชาย
กีฬาแหลมทอง
เหรียญทอง - ชนะเลิศ กีฬาแหลมทอง 1975 ฟุตบอล

สราวุธ ประทีปากรชัย (10 เมษายน พ.ศ. 2490 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2567) ชื่อเล่น ใช้ เป็นผู้รักษาประตูฟุตบอลทีมชาติไทย และสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ[1] รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันกีฬาฟุตบอลในโอลิมปิกฤดูร้อน 1968[2][3] ตลอดจนมีผลงานในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ

นอกจากนี้ สราวุธยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตูให้แก่สโมสรฟุตบอลทีทีเอ็ม พิจิตร

ประวัติ[แก้]

สราวุธ ประทีปากรชัย เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2490 ที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนวัฒนศิลป์ ระดับมัธยมต้นจากสมาคมโรงเรียนราษฎร์ ระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนปานะพันธ์ และระดับอุดมศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อครั้งที่อยู่ระดับประถม เขาได้รับการฝึกสอนการเป็นผู้รักษาประตูจากอาจารย์รังสี บำบัดสรรพโลก เป็นคนแรก ในภายหลัง ช่วง พ.ศ. 2504 สราวุธได้เข้าร่วมสังกัดสโมสรฟุตบอลโอสถสภา โดยมีส่วนช่วยให้ทีมดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นทีมชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนของกรุงเทพมหานคร และได้เข้าร่วมทีมสโมสรฟุตบอลศุลกากรชุดรองแชมป์ถ้วยน้อย (ข) ประจำปี พ.ศ. 2507

จากนั้น สราวุธได้เข้าร่วมทีมสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ โดยได้รับการฝึกสอนจากอาจารย์สำเริง ไชยยงค์ และมีส่วนให้ทีมได้ตำแหน่งชนะเลิศรายการฟุตบอลเยาวชนแห่งประเทศไทยหลายสมัย ครั้นเมื่อ อัศวิน ธงอินเนตร เสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2508 สราวุธก็เข้าทำหน้าที่เป็นผู้รักษาประตูตัวจริงของสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพชุดแชมป์ถ้วยใหญ่ 2 สมัย

พ.ศ. 2509 สราวุธได้เข้าทำหน้าที่เป็นผู้รักษาประตูให้แก่ทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1966 ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เขาลงแข่งไม่น้อยกว่า 120 นัด และนัดที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือการแข่งปรีโอลิมปิกนัดสุดท้าย ที่สนามศุภชลาศัย โดยเป็นการพบกับทีมชาติอินโดนีเซีย ซึ่งสราวุธทำหน้าที่รักษาประตูอย่างสุดความสามารถ ส่งผลให้ทีมชาติไทยสามารถเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายของการแข่งกีฬาฟุตบอลในโอลิมปิกฤดูร้อน 1968 รวมถึงได้รับการตั้งฉายาจากหนังสือพิมพ์เอลเฮรัลโดของประเทศเม็กซิโก ให้แก่สราวุธว่าเป็น "เจ้าแมวป่า" (Gato) เนื่องด้วยการพุ่งตัวรับลูกได้อย่างว่องไว

หลังจากการอำลาการทำหน้าที่เป็นผู้รักษาประตูให้แก่ทีมชาติไทยใน พ.ศ. 2519 ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งสราวุธเป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยในการเข้าแข่งขันเจแปนคัพครั้งแรก ที่ประเทศญี่ปุ่น

สราวุธ ประทีปากรชัย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 สิริอายุ 76 ปี[4]

เกียรติประวัติ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. อีกหนึ่งตำนาน..ลูกหนังไทย - สยามสปอร์ต
  2. บอลไทยในโอลิมปิก : ข่าวสดออนไลน์
  3. "Welcome to Olympic Committee Of Thailand". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-02. สืบค้นเมื่อ 2013-05-31.
  4. "วงการลูกหนังไทยเศร้า! สิ้น "สราวุธ ประทีปากรชัย" นายด่านอลป.ที่เม็กซิโก". www.siamsport.co.th (ภาษาอังกฤษ). 2024-03-24.
  5. "สตีฟฟันธงซีเกมส์บอลไทยชิงญวน คมชัดลึก : กีฬา : ข่าวทั่วไป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-30. สืบค้นเมื่อ 2022-04-04.
  6. มหัศจรรย์ฟุตบอลไทย - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
  7. "จิระพงศ์-รัชนกซิวนักกีฬายอดเยี่ยมสยามกีฬาฯ - Sport - Manager Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-06.
  8. "'จิระพงศ์-รัชนก' ซิวนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยม - ข่าวไทยรัฐออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-07. สืบค้นเมื่อ 2014-03-06.