สรรเสริญพระบารมี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สรรเสริญพระบารมี
โปสการ์ดโน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมี สมัยรัชกาลที่ 5

เพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีของ
ไทย สยาม (พ.ศ. 2431–2475) (44 ปี)
เพลงสรรเสริญพระบารมีของ
ไทย สยาม (พ.ศ. 2475–2482) (7 ปี)
 ไทย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2482) (85 ปี)

ชื่ออื่นเพลงชาติสยาม
เนื้อร้องสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พ.ศ. 2456 (111 ปี)
ทำนองปิออตร์ ชูรอฟสกี
รับไปใช้พ.ศ. 2431 (126 ปี) (เนื้อร้องสำนวนแรก)
พ.ศ. 2456 (111 ปี) (เนื้อร้องปัจจุบัน)
เลิกใช้มิถุนายน พ.ศ. 2475 (91 ปี) (ในฐานะเพลงชาติ)
ตัวอย่างเสียง
สรรเสริญพระบารมี บรรเลงโดยวงดุริยางค์กองทัพเรือสหรัฐ

"สรรเสริญพระบารมี" เป็นบทเพลงซึ่งบรรเลงเพื่อสรรเสริญพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ไทย เคยใช้เป็นเพลงชาติของประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2431–2475 นับเป็นเพลงชาติไทยฉบับที่ 3 ทำนองทางไทยโดยพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) เมื่อ พ.ศ. 2416[1] ทำนองดนตรีตะวันตกโดย ปิออตร์ ชูรอฟสกี (Pyotr Schurovsky) นักแต่งเพลงชาวรัสเซีย[2] ประพันธ์เมื่อ พ.ศ. 2431 คำร้องเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ในตอนแรกคำร้องดังกล่าวในท่อนสุดท้าย ใช้คำว่า ฉะนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนคำว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากคำว่า ฉะนี้ เมื่อร้องตามทำนองของเพลงแล้ว คนมักจะออกเสียงเพี้ยนเป็นคำว่า ชะนี ทำให้พระองค์ทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงเปลี่ยนจากคำว่า ฉะนี้ เป็น ชโย ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ไชโย และ ชย[3]

ประวัติ[แก้]

สรรเสริญพระนารายณ์[แก้]

เพลงสรรเสริญพระบารมี มีเค้าโครงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ก่อนแล้ว ใช้บรรเลงในเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จลงท้องพระโรงและเสด็จขึ้น มีชื่อเรียกว่า "สายสมร" ต่อมาพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ใช้เพลงสายสมรมาเป็นเพลงดำเนินทำนองหลัก และเรียกชื่อเพลงนี้ใหม่ว่า "ศรีอยุธยา", "สรรเสริญพระนารายณ์" [4] แต่ในบ้างแหล่งระบุชื่อเพลงว่า "เสด็จออกขุนนาง"[5]

จอมราชจงเจริญ[แก้]

แต่เพลงสรรเสริญพระบารมีในฐานะเพลงชาตินั้น เริ่มปรากฏในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการใช้เพลง ก็อดเซฟเดอะคิง ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติของสหราชอาณาจักร บรรเลงเป็นเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ ตามแบบอย่างการฝึกทหารของอังกฤษ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ใช้ทำนองเพลงนี้แต่งคำร้องสรรเสริญพระบารมีถวายโดยให้ชื่อว่า "จอมราชจงเจริญ" [6]

จอมราชจงเจริญ
ชื่ออื่นเพลงสรรเสริญพระบารมี
เนื้อร้องพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ทำนองไม่ทราบผู้แต่ง
รับไปใช้พ.ศ. 2395 (172 ปี)
เลิกใช้พ.ศ. 2414 (153 ปี)

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเกาะชวาในปีพ.ศ. 2414 ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สิงคโปร์นั้น ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง "ก็อดเซฟเดอะคิง" บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทั้งอังกฤษและไทยต่างใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงเดียวกัน ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองปัตตาเวีย ปรากฏมีชาวฮอลันดาซึ่งตั้งนิคมอยู่ที่นั้นถามถึงเพลงชาติของสยามเพื่อจะได้นำไปบรรเลงรับเสด็จ พระองค์จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีไทยให้แต่งเพลงแตรวงรับเสด็จเพื่อใช้แทนเพลง "ก็อดเซฟเดอะคิง"[7]

เนื้อร้อง:
ความศุข สมบัติทั้ง บริวาร
เจริญ พละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จง ยืนพระชนม์นาน นับรอบ ร้อยแฮ
มี พระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงเพ็ญจันทร์

บุหลันลอยเลื่อน[แก้]

ตอนนั้น คณะครูดนตรีไทยจึงได้เสนอเพลงบุหลันลอยเลื่อน (หรือเพลงทรงพระสุบิน) ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็กชาวฮอลันดา เรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่ให้เป็นทางดนตรีตะวันตก และได้ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414[8] (ดร. สุกรี เจริญสุข ได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพลงเดียวกันกับเพลงสรรเสริญเสือป่า ซึ่งใช้เป็นเพลงเกียรติยศของกองเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6[9]

สรรเสริญพระบารมี (เนื้อร้องสำนวนแรก)[แก้]

ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) (หรือครูมีแขก) ครูดนตรีคนสำคัญ ที่ได้ประดิษฐ์ทำนองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อราว พ.ศ. 2416 ภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน ซึ่งได้เค้าทำนองมาจากเพลงสรรเสริญนารายณ์ของเก่า[1] และได้เรียบเรียบเสียงประสานสำหรับดนตรีตะวันตกโดยปิออตร์ ชูรอฟสกี นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2431

ชูรอฟสกีประพันธ์เป็นโน๊ตสากลซึ่งไม่มีครูดนตรีชาวสยามผู้ใดอ่านออก สันนิฐานว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเชิญเฮวุดเซนมาบรรเลงเพลงนี้บนเปียโนให้ฟัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ฟังจึงทรงทรงนิพนธ์เนื้อร้องใส่เข้าไป[2] และออกบรรเลงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปีเดียวกัน[10] ต่อมาทรงนิพนธ์เนื้อร้องของเพลงนี้อีกหลายเนื้อร้องเพื่อขับร้องในกลุ่มต่าง ๆ กัน เช่น ทหาร นักเรียนชาย นักเรียนหญิง เป็นต้น แต่มีเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกสำนวนหนึ่งที่เป็นพระนิพนธ์ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สำนวนนี้เป็นสำนวนสำหรับทหารเรือขับร้องโดยเฉพาะ[11]

เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบันนั้น แต่เดิมเป็นเนื้อร้องที่พระองค์ได้นิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทรงเปลี่ยนคำร้องในท่อนสุดท้ายว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย และประกาศใช้ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2456 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ มีอยู่ช่วงหนึ่งมีการตัดทอนเพลงนี้ให้สั้นลง แต่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว

เนื้อร้อง[แก้]

เนื้อร้องสำนวนปัจจุบัน[แก้]

โน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับเผยแพร่โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546

บทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2456

          ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บุญดิเรก
เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย

เนื้อร้องสำนวนสังเขป[แก้]

เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี สำนวนสังเขป ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 8 ลงในราชกิจจานุเบกษา :เล่ม 57/หน้า 78/ลงในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2483
          ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบรรดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย

สำนวนสำหรับทหารบก[แก้]

          ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าพิริย์พลพลา
สมสมัยกา– ละปิติกมล
รวมนรจำเรียงพรรค์ สรรพ์ดุริยพล สฤษดิมลฑล
ทำสดุดีแด่นฤบาล ผลพระคุณรักษา
พลนิกายะสุขศานต์ ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง
หลังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้

สำนวนขับร้องละครดึกดำบรรพ์[แก้]

          อ้าพระนฤปจง ทรงสิริวัฑฒนา
จงพระพุทธศา-สนฐีติยง ราชรัฐจงจีรัง
ทั้งบรมวงศ์ ฑีรฆดำรง
ทรงกรุณาประชาบาล ราชธรรมรักษา
เป็นหิตานุหิตสาร ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง
หลังวรหฤทัย ดุจถวายไชย ฉนี้

สำนวนสำหรับนักเรียนชายหญิงขับร้องร่วมกัน[แก้]

          ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุพยุพดี
ยอกรชุลี วรบทบงสุ์
ซร้องศัพท์ถวายชัย ในนฤปทรง พระยศยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณะรักษา
ชนนิกายะศุขสานต์ ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง
หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้

บทร้องสำนวนโรงเรียนชายล้วน[แก้]

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณกุมารา
โอนศิรวันทา วรบทบงสุ์
ซร้องศัพท์ถวายชัย
ในนฤปทรง พระยศยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณะรักษา
ชนนิกายะศุขสานต์ ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง
หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้

บทร้องสำนวนโรงเรียนหญิงล้วน[แก้]

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณกุมารี
โอนศิรชุลี วรบทบงสุ์
ซร้องศัพท์ถวายชัย
ในนฤปทรง พระยศยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณะรักษา
ชนนิกายะศุขสานต์ ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง
หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้

สำนวนสำหรับทหารเรือ[แก้]

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุทธพลนาวา
ขอถวายวันทา วรบทบงสุ์
ยกพลถวายชัย
ให้สยามจง อิสระยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ใจทหารทั้งบ่าวนาย
ยอมขอตายถวายท่าน ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง
หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้

วาระและโอกาสในการใช้[แก้]

ชาวไทยแสดงความเคารพต่อเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วยการหยุดนิ่งในอาการสำรวมในระหว่างการบรรเลงเพลง

ระเบียบส่วนราชการในพระองค์กำหนดวาระในการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีไว้ดังนี้[12]

  1. พระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จ
  2. พระราชพิธีหรือพิธีการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง​ เสด็จพระราชดำเนิน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จ
  3. พระราชพิธีหรือพิธีการที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี​ เสด็จพระราชดำเนิน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จ
  4. พระราชพิธีหรือพิธีการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี​ เสด็จพระราชดำเนิน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จ
  5. พระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทหารกองเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือแถวทหารมหาดเล็กรับเสด็จ ถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวแถวรับเสด็จเป่าเพลงคำนับ 3 จบ กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ ถวายความเคารพโดยดุริยางค์ไม่บรรเลง และเมื่อถึงพิธีการเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ ถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับ ให้กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ส่วนกองทหารเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์หรือพระราชานุสาวรีย์ ถวายความเคารพ แต่ดุริยางค์ไม่ต้องบรรเลง
  6. พระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในงานศพที่มีกองทหารเกียรติยศสำหรับศพ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือแถวทหารมหาดเล็กรับเสด็จ ถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แตรเดี่ยวแถวรับเสด็จเป่าเพลงคำนับ 3 จบ กองทหารเกียรติยศสำหรับศพถวายความเคารพ โดยดุริยางค์ไม่บรรเลง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับ ให้กองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายความเคารพด้วย โดยดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ส่วนกองทหารเกียรติยศสำหรับศพถวายความเคารพ แต่ดุริยางค์ไม่ต้องบรรเลง
  7. พระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยประมุขต่างประเทศ
    1. ดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติ​หรือเพลง Royal Anthem​ ของประเทศนั้น จบแล้วบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งรับและส่งเสด็จ ในกรณีที่ประมุขต่างประเทศเสด็จพระราชดำเนิน หรือไปตามลำพัง ดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติหรือเพลง Royal Anthem ของประเทศนั้น
    2. ในกรณีที่จัดกองทหารเกียรติยศ 2 กอง คือกองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกองทหารเกียรติยศสำหรับประมุขต่างประเทศ
      1. เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง ให้กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพพร้อมกันทั้ง 2 กอง เฉพาะกองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียงกองเดียวบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
      2. เมื่อประมุขต่างประเทศเสด็จพระราชดำเนินหรือมาถึง ให้กองทหารเกียรติยศแสดงความเคารพพร้อมกันทั้ง 2 กอง เฉพาะกองทหารเกียรติยศสำหรับประมุขต่างประเทศเพียงกองเดียวบรรเลงเพลงชาติหรือเพลง Royal Anthem ของประเทศนั้น
      3. เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยประมุขต่างประเทศ กองทหารเกียรติยศทั้ง 2 กอง ถวายและแสดงความเคารพพร้อมกัน กองทหารเกียรติยศสำหรับประมุขต่างประเทศบรรเลงเพลงชาติหรือเพลง Royal Anthem ของประเทศนั้นก่อน แล้วกองทหารเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
    3. ในกรณีที่จัดกองทหารเกียรติยศกองเดียว
      1. เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
      2. เมื่อประมุขต่างประเทศเสด็จพระราชดำเนินหรือมาถึง กองทหารเกียรติยศแสดงความเคารพดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติหรือเพลง Royal Anthem ของประเทศนั้น
      3. เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยประมุขต่างประเทศ กองทหารเกียรติยศถวายและแสดงความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติหรือเพลง Royal Anthem ของประเทศนั้นก่อน แล้วจึงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
  8. พิธีการที่ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในงานเสด็จพระราชดำเนิน
    1. กรณีผู้แทนพระองค์เป็นผู้ซึ่งต้องใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีในการรับและส่งเสด็จ เมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถึง ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการรับเสด็จ และเมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการส่งเสด็จ
    2. กรณีผู้แทนพระองค์เป็นผู้ซึ่งต้องใช้เพลงมหาชัย​ในการรับและส่งเสด็จ เมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จมาถึงและลงจากรถยนต์ที่นั่ง ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการรับเสด็จ และเมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จกลับ ก่อนขึ้นรถยนต์ที่นั่ง ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการส่งเสด็จ
    3. ถ้าผู้แทนพระองค์เป็นบุคคลธรรมดา ในกรณีที่รถจอดกับที่จัดงานอยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อผู้แทนพระองค์มาถึงและลงจากรถยนต์หลวงแล้วยืนข้างรถ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเมื่อผู้แทนพระองค์กลับ ยืนข้างรถก่อนขึ้นรถยนต์หลวง ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ถ้าเป็นกรณีที่รถจอดกับที่จัดงานไม่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อผู้แทนพระองค์มาถึง ดุริยางค์ไม่บรรเลงเพลงใด ๆ และเมื่อผู้แทนพระองค์ยืนหน้าเก้าอี้แล้ว ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อเสร็จงานผู้แทนพระองค์ยืนหน้าเก้าอี้ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเมื่อผู้แทนพระองค์กลับ ดุริยางค์ไม่ต้องบรรเลงเพลงใด ๆ[13]

นอกจากนี้ ในการมหรสพต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น การแข่งขันกีฬา การฉายภาพยนตร์หรือการแสดงดนตรี ก็นิยมมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนทำการแสดงเสมอ สำหรับการกระจายเสียงของสถานีวิทยุและการแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์ เพลงสรรเสริญพระบารมีก็ได้ถูกในเป็นเพลงสำหรับแจ้งการยุติการกระจายเสียงประจำวันของสถานีวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย และใช้เป็นเพลงยุติการแพร่ภาพออกอากาศประจำวัน หรือในกรณีที่มีการออกอากาศตลอดทั้งวัน จะใช้เมื่อเปลี่ยนเวลาเข้าสู่วันใหม่ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทย

การบันทึกเสียง[แก้]

เพลงสรรเสริญพระบารมีมีการบันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2443 ซึ่งเป็นการบรรเลงโดยวงดนตรีคณะละครนายบุศมหินทร์ที่ประเทศเยอรมนี บันทึกลงบนกระบอกเสียงชนิดไขผึ้งของบริษัทเอดิสัน[14] และมีการบันทึกเสียงโดยมีการขับร้องประกอบครั้งแรกโดยเป็นเสียงร้องของแม่ปุ่น (ไม่ทราบนามสกุล) และแม่แป้น (แป้น วัชโรบล) ในแผ่นเสียงปาเต๊ะร่องกลับทางของบริษัทปาเต๊ะ ประเทศฝรั่งเศส ส่งแตรวงกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์) เมื่อ พ.ศ. 2450[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Karl Stumpf . 1898. Beiträge zur akustik und musikwissenschaft. German: Leipzig, J. A. Barth.
  2. 2.0 2.1 จากรัสเซียสู่ไทย แกะรอย ‘ชูรอฟสกี้’ และ เพลงสรรเสริญพระบารมี 13 กรกฎาคม 2560
  3. เนื้อร้อง เพลงชาติ โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์[ลิงก์เสีย]
  4. 128 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี : สรรเสริญพระบารมีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ โดยสุกรี เจริญสุข จาก มติชน
  5. บุญช่วย โสวัตร และบุษยา ชิตท้วม. 2549. วิเคราะห์ที่มาของเพลงสรรเสริญพระบารมี. กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  6. สุกรี เจริญสุข. 99 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี, หน้า 33.
  7. "เพลงชาติ โดย ดร.สุกรี เจริญสุข". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-26. สืบค้นเมื่อ 2009-10-26.
  8. "เพลงชาติ โดย ดร.สุกรี เจริญสุข". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-26. สืบค้นเมื่อ 2009-10-26.
  9. สุกรี เจริญสุข. 99 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี, หน้า 25-26.
  10. สุจิตต์ วงษ์เทศ, ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี, หน้า 15
  11. กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ . จอมทัพไทยกับราชนาวี. กรุงเทพฯ : กองทัพเรือ, 2539
  12. ระเบียบส่วนราชการในพระองค์ ว่าด้วยการบรรเลงดุริยางค์ในการพระราชพิธีหรือพิธีการ พ.ศ. 2562
  13. ระเบียบส่วนราชการในพระองค์ ว่าด้วยการบรรเลงดุริยางค์ในการพระราชพิธีหรือพิธีการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563
  14. ""กระบอกเสียงนายบุศย์ ความบังเอิญที่เกิดเป็นตำนาน"". สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2009.
  15. ""เพลงสรรเสริญพระบารมีในสมัยรัชกาลที่ ๕ (จานเสียงปาเต๊ะ พ.ศ. ๒๔๕๐)"". สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2009.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]