สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ 17
ดำรงพระยศ21 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2516 (1 ปี 139 วัน)
สถาปนา21 กรกฎาคม พ.ศ. 2515
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ก่อนหน้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี)
ถัดไปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
พรรษา56 ปี 224 วัน
สถิตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
นิกายมหานิกาย
ประสูติ30 มีนาคม พ.ศ. 2440
อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ปุ่น
สิ้นพระชนม์7 ธันวาคม พ.ศ. 2516 (76 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
พระชนกเน้า สุขเจริญ
พระชนนีวัน สุขเจริญ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม ปุ่น สุขเจริญ ฉายา ปุณฺณสิริ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดำรงพระยศอยู่ 1 ปีเศษ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2516 สิริพระชันษาได้ 77 ปี 252 วัน

พระกำเนิด[แก้]

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า ปุ่น สุขเจริญ ประสูติเมื่อวันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก จ.ศ. 1258 ร.ศ. 115 เวลา 24 นาฬิกาเศษ ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2440 (นับแบบใหม่) ณ บ้านตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พระชนกชื่อเน้า สุขเจริญ พระชนนีชื่อวัน สุขเจริญ เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน มีพี่เป็นหญิง 4 คน ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย พี่คนที่ 5 เป็นชายชื่อเหลือ น้องชายคนที่ 7 ชื่อเป้ง สุขเจริญ และน้องชายคนที่ 8 ชื่อสิ่ว ถึงแก่กรรมไปทั้งหมดแล้ว

การศึกษาปฐมวัย[แก้]

  • พ.ศ. 2445 พระชันษา 6 ปี ศึกษากับพระชนกที่บ้าน จนอ่านหนังสือแบบเรียนเร็วเล่ม 1 - 2 จบแล้ว พระชนกจึงส่งให้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนเอกชน เป็นเวลาประมาณหนึ่งปี
  • พ.ศ. 2446 พระชนกนำไปฝากเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์หอม เกสโร (แสงจินดา) ซึ่งเป็นญาติมีศักดิ์เป็นอา ณ วัดสองพี่น้อง ได้เริ่มศึกษาภาษาบาลีด้วยอักษรขอม และมูลกัจจายน์ (หนังสือใหญ่) กับพระอาจารย์หอม เกสโร และพระอาจารย์จ่าง ปุณฺณโชติ (พระครูอุภัยภาดารักษ์) เวลาเย็น ต่อบทสวดมนต์กับพระอาจารย์ที่เรียกว่าต่อหนังสือค่ำ
  • พ.ศ. 2454 พระชันษา 15 ปี พระอาจารย์หอม วัดสองพี่น้อง นำมาฝากพระภิกษุป่วน (ภายหลังย้ายมาอยู่วัดพระเชตุพน และเป็นพระครูบริหารบรมธาตุ เจ้าอาวาสวัดนางชี เขตภาษีเจริญ) ผู้เป็นญาติฝ่ายโยมมารดา ณ วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ได้ศึกษาอักษรขอมเพิ่มเติมกับพระภิกษุป่วน
  • พ.ศ. 2455 พระชันษา 16 ปี ย้ายมาอยู่กับพระสด (พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ณ วัดพระเชตุพน

การบรรพชา - อุปสมบท[แก้]

  • พ.ศ. 2455 พระชันษา 16 ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสองพี่น้อง พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง เจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2456 พระชันษา 17 ปี ลาสิกขาจากสามเณร เพราะพระชนกป่วยต้องไปช่วยโยมทำนา
  • พ.ศ. 2457 พระชันษา 18 ปี บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง และกลับมาอยู่วัดพระเชตุพนตามเดิม
  • พ.ศ. 2460 พระชันษา 22 ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรบุรี พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง เจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ตำบลดอนมะดัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศากยบุตติยวงศ์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) ภายหลังเป็นสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2460 ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง

ศึกษาปริยัติธรรม[แก้]

ศึกษาภาษาต่างประเทศ[แก้]

  • พ.ศ. 2462 พระชันษา 25 ปี อุปสมบทได้ 3 พรรษา ศึกษาภาษาอังกฤษกับหลวงประสานบรรณวิทย์ ตลาดนางเลิ้ง ศึกษาภาษาจีนกับนายกมล มะลิทอง

ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในพระอาราม[แก้]

  • พ.ศ. 2463 เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์
  • พ.ศ. 2467 เป็นครูสอนชั้นธรรมบท กอง 1 - 2 และชั้นธรรมบท กอง 3 ซึ่งเป็นชั้นประโยค 3 จนถึง พ.ศ. 2487 นับเวลาเป็นครู 25 ปี
  • พ.ศ. 2484 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน
  • พ.ศ. 2486 เป็นเจ้าคณะเหนือ วัดพระเชตุพน
  • พ.ศ. 2487 เป็นผู้อำนวยการเทศน์ปุจฉาวิสัชนา

ดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางคณะสงฆ์[แก้]

  • 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา
  • 13 มีนาคม พ.ศ. 2486 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาคบูรพา (สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด)
  • 3 กันยายน พ.ศ. 2486 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 2 (อยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี) เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย
  • พ.ศ. 2487 เป็นพระอุปัชฌาย์
  • 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เป็นสมาชิกสังฆสภา
  • 9 มีนาคม พ.ศ. 2490 เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน
  • 6 มีนาคม พ.ศ. 2491 เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ 1) ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก
  • 18 มิถุนายน พ.ศ. 2491 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน
  • 31 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นกรรมการและเลขาธิการ กรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ (ก.ส.พ.)
  • 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 2 (สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด)
  • 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ 2) ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก[3]
  • 11 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ 3) ซึ่งมีพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก[4]
  • 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ 4) ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นสังฆนายก[5]
  • 5 ตุลาคม พ.ศ. 2494 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 7 (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์)
  • 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ 5) ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นสังฆนายก[6]
  • 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ (สมัยที่ 5) แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) ที่มรณภาพ[7]
  • 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 เป็นกรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ (ก.ส.พ.)
  • พ.ศ. 2502 - 2508 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
  • 12 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแพร่ (สมัยที่ 6)[8]
  • 31 ตุลาคม พ.ศ. 2504 เป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
  • 29 มกราคม พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการพิจารณาร่างหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เปรียญตรี โท เอก
  • พ.ศ. 2506 - 2507 เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • 20 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก หนเหนือ และหนใต้
  • 15 มกราคม พ.ศ. 2509 เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต
  • 10 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช[9]
  • 19 มีนาคม พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
  • 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในคณะมหานิกาย[แก้]

  • พ.ศ. 2490 - เป็นกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2494 - เป็นประธานกรรมการเจ้าคณะตรวจการภาค (ก.จ.ภ.)
  • พ.ศ. 2500 - เป็นกรรมการอุปถัมภ์กิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • 27 มีนาคม พ.ศ. 2516 - ตั้งสมัชชามหาคณิสสร และเป็นประธานสมัชชามหาคณิสสร

ดำรงตำแหน่งหน้าที่ศาสนกิจพิเศษ[แก้]

  • พ.ศ. 2483 - เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แผนกพระวินัย
  • พ.ศ. 2492 - เป็นสภานายกสภาพระธรรมกถึก
  • พ.ศ. 2494 - เป็นอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน (ก.อ.ช.)
  • พ.ศ. 2496 - เป็นประธานกรรมการสงฆ์แห่งโรงพยาบาลสงฆ์
  • พ.ศ. 2497 - เป็นประธานทอดผ้าป่าวันโรงพยาบาลสงฆ์ โดยทรงริเริ่มในนามสภาพระธรรมกถึก, เป็นกรรมการวิทยุกระจายเสียงวันธรรมสวนะ
  • พ.ศ. 2498 - เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการทำนุบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์
  • พ.ศ. 2501 - เป็นประธานกรรมการปรับปรุงตลาดเฉลิมโลก
  • พ.ศ. 2508 - เป็นกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์
  • พ.ศ. 2510 - เป็นประธานจิตตภาวันวิทยาลัย

เสด็จไปทรงบำเพ็ญศาสนกิจในต่างประเทศ[แก้]

  • พ.ศ. 2497 - ประชุมฉัฏฐสังคายนา ประเทศพม่า, สังเกตการณ์พระศาสนา ประเทศกัมพูชา
  • พ.ศ. 2499 - งานฉลองพุทธชยันตี (25 ศตวรรษ) ประเทศศรีลังกา, นมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย และแวะประเทศสิงคโปร์
  • พ.ศ. 2502 - พิธีเปิดวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย
  • พ.ศ. 2505 - ตั้งผู้ปกครองวัดเชตวัน กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
  • พ.ศ. 2506 - เยี่ยมวัดไทยในรัฐเคดาห์ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์
  • พ.ศ. 2509 - เป็นประธานผูกพัทธสีมา วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และสังเกตการณ์พระพุทธศาสนา ประเทศเนปาล, ตั้งเจ้าอาวาสวัดเชตวัน กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
  • พ.ศ. 2510 - เป็นประธานผูกพัทธสีมา วัดเชตวัน กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
  • พ.ศ. 2511 - งานพระราชทานเพลิงศพ พระนิโครธรรมธาดา ประเทศมาเลเซีย, เยี่ยมวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเสด็จประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ลักเซมเบอร์ก เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี
  • พ.ศ. 2513 - เป็นผู้แทนคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย ในงานถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราช ประเทศกัมพูชา
  • พ.ศ. 2515 - เยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำอาราธานาของรัฐบาลอเมริกัน เยือนสำนักวาติกัน กรุงโรม ตามคำอาราธนาของสมเด็จพระสันตปาปา ประมุขแห่งศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก และเยี่ยมวัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ ผ่านไปเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสเปน

พระกรณียกิจ[แก้]

ผลงานของพระองค์ นอกจากที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ และงานพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับมอบอย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีงานด้านพระศาสนาที่ทรงริเริ่มพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ งานด้านการก่อสร้าง และปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ทั้งปูชนียสถาน เช่น พระอาราม สาธารณสถาน เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน โรงพยาบาล ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก

  • งานด้านมูลนิธิ ก่อตั้งและสนับสนุนมูลนิธิ ที่ดำเนินงานด้านธรรม ด้านวิชาการ และการศึกษา และด้านสาธารณูปการ เป็นจำนวนมาก
  • งานด้านพระนิพนธ์ มีพระธรรมเทศนาจำนวนมาก วันสำคัญทางศาสนา ประมวลอาณัติคณะสงฆ์ สารคดี เช่น สู่เมืองอนัตตา พุทธชยันตี เดีย-ปาล (อินเดีย-เนปาล) สู่สำนักวาติกัน และนิกสัน และบ่อเกิดแห่งกุศล คือ โรงพยาบาล เป็นต้น ธรรมนิกาย เช่น จดหมายสองพี่น้อง สันติวัน พรสวรรค์ หนี้กรรมหนี้เวร ไอ้ตี๋ ดงอารยะ เกียรติกานดา คุณนายชั้นเอก ความจริงที่มองเห็น ความดีที่น่าสรรเสริญ อภินิหารอาจารย์แก้ว กรรมสมกรรม
  • งานด้านต่างประเทศ ไปร่วมประชุมฉัฎฐสังคายนาพระไตรปิฎก ณ ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2497 ไปร่วมงานฉลองพุทธชยันตี (25 พุทธศตวรรษ) ณ ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2499 นอกจากนี้ยังไป และสังเกตการณ์ พระศาสนาและเยือนวัดไทยในต่างประเทศ อีกเป็นจำนวนมาก

งานพระนิพนธ์ "สันติวัน" และ "ศรีวัน[แก้]

นอกจากแต่งและเรียบเรียงพระธรรมเทศนาแล้ว โดยที่สนใจในการประพันธ์มาตั้งแต่ยังเป็นสามเณร โปรดการอ่านหนังสือและสะสมหนังสือต่าง ๆ ทั้งเคยเขียนบทความเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ในพระนามว่า "ป. ปุณฺณสิริ" ยังนิพนธ์หนังสืออีก 20 กว่าเรื่อง ประเภทวิชาการ เมื่อเป็นเลขาธิการ ก.ส.พ. ได้รวบรวมระเบียบข้อบังคับคณะสงฆ์พิมพ์เป็นเล่ม ชื่อประมวลอาณัติคณะสงฆ์ ประเภทสารคดีบันทึกการเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ คือ;

  • สู่เมืองอนัตตา
  • พุทธชยันตี เดีย - ปาล
  • สู่สำนักวาติกัน และนิกสัน
  • ฯลฯ

และพระนิพนธ์เรื่องสุดท้าย คือ;

  • บ่อเกิดแห่งกุศลคือโรงพยาบาล
  • ฯลฯ

ประเภทธรรมนิยาย เช่น

  • จดหมายสองพี่น้อง
  • สันติวัน
  • พรสวรรค์
  • หนี้กรรมหนี้เวร
  • ไอ้ตี๋
  • ดงอารยะ
  • เกียรติกานดา
  • คุณนายชั้นเอก
  • ความจริงที่มองเห็น
  • ความดีที่น่าสรรเสริญ
  • อภินิหารอาจารย์แก้ว
  • จรัมบุญ
  • กรรมสมกรรม
  • ในพระนามสันติวัน หรือศรีวัน
  • ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังได้เขียนเป็นบทความต่าง ๆ อีกมาก

การบริหารคณะสงฆ์[แก้]

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) บริหารการคณะสงฆ์ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ วัดโสธรวราราม และในตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ตามประกาสสถาปนาสมณศักดิ์นั้นแล้ว นอกจากนี้ยังวิตกถึงวัดที่เป็นพระอารามหลวง ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นจำนวนมาก ปรารภในที่ประชุมพระสังฆาธิการของกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์จะให้วัดเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น สร้างกำแพงหรือรั้วกั้นเขตวัด เมื่อทุเลาจากการประชวรคราวแรก ได้เสด็จไปตรวจเยี่ยมวัดราชโอรสาราม และวัดชัยพฤกษมาลา ที่ได้ตั้งพระเถระไปเป็นเจ้าอาวาส ในขณะประชวรก็ยังมีพระบัญชาให้พระเถระผู้ใหญ่ออกตรวจเยี่ยมวัดแทนพระองค์

ส่วนในตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีเวลาน้อย ทั้งยังต้องรักษาพระองค์อีกเป็นส่วนมาก ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีพระดำริในการคณะสงฆ์หลายประการ โดยมุ่งประโยชน์สุขและความเจริญแก่ประชาชน ทั้งยังมอบความเป็นอิสระในการบริหารคณะ เช่น เมื่อจะแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมในส่วนคณะมหานิกาย ก็ประชุมหารือกับพระเถระในฝ่ายมหานิกาย ในฝ่ายคณะธรรมยุต ก็หารือกับพระเถระในคณะธรรมยุตก่อน

อนึ่ง ดำริถึงพระภิกษุที่ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้รับการยกย่องขึ้นเป็นพระครูประทวน จึงขออนุมัติต่อมหาเถรสมาคม ให้สร้างพัดขึ้นถวายเป็นเกียรติยศ

พระเกียรติคุณพิเศษ[แก้]

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เจริญอยู่ในพรหมวิหารธรรม เป็นครุฐานียอภิปูชนียบุคคล เป็นที่รักที่เคารพบูชาสักการะอย่างยิ่งแห่งปวงชนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ได้รับยกย่องพระเกียรติคุณเป็นอย่างสูง จึงมีพระนามเป็นพิเศษว่า “สมเด็จป๋า” พระเครื่องและเหรียญพระรูป ที่สร้างขึ้นในวาระต่าง ๆ หรือที่มีผู้มาขออนุญาตพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานกุศล ปรากฏว่าเป็นที่นิยมกันมาก ดังนี้

  • พระเครื่อง "สมเด็จแสน" พิมพ์พระองค์เองเป็นปฐมฤกษ์ มีจำนวน 170,000 องค์ แจกในงานบำเพ็ญพระกุศลพระชันษา 72 ปี
  • พระกริ่ง "สมเด็จฟ้าลั่น" และ "สมเด็จฟ้าแจ้ง" (ธรรมจารี) เททองหล่อในวันคล้ายวันประสูติ พ.ศ. 2515 - 2516 จำนวน 1,700 องค์
  • เหรียญพระรูป "เหรียญ 60" "เหรียญ 72" "สมเด็จรอบโลก" "เหรียญทรงฉัตร" ทั้งหมดพิมพ์ประมาณ 600,000 เหรียญ
  • วัด ส่วนราชการ องค์การกุศล ที่โปรดอนุญาตให้พิมพ์เหรียญพระรูปเท่าที่รวบรวมได้ 55 แบบพิมพ์ จำนวนประมาณ 1,00,000 เหรียญ
  • เหรียญพระรูปเหรียญสุดท้าย "สมเด็จเพิ่มบารมี" เป็นที่ระลึกในวันครบปีสถาปนา จำนวน 100,000 เหรียญ

พระสมณศักดิ์[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ตราประจำพระองค์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม
พะย่ะค่ะ/เพคะ
  • 1 มีนาคม พ.ศ. 2484 พระชันษา 45 ปี พรรษา 24 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรเวที[10]
  • 1 มีนาคม พ.ศ. 2489 พระชันษา 50 ปี พรรษา 29 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี ธรรมปรีชาภิมณฑ์ ปริยัติโกศล ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
  • 8 มิถุนายน พ.ศ. 2490 พระชันษา 51 ปี พรรษา 30 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณ สุนทรธรรมภูษิต ยติคณิสร บวรสังฆาราม คามวาสี[12]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2491 พระชันษา 52 ปี พรรษา 31 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมดิลก ศากยปุตติยนายก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสร บวรสังฆาราม คามวาสี[13]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 พระชันษา 60 ปี พรรษา 39 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏที่ พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการวิภูสิต สุทธิกิจสาทร มหาคณิสร บวรสังฆาราม คามวาสี[14]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 พระชันษา 65 ปี พรรษา 44 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆ์ปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณปธานาดิศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญญวาสี[15]
  • 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 พระชันษา 76 ปี พรรษา 55 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกกลาสุโกสล วิมลคัมภีรญาณ ปุณณสิริภิธานสังฆวิสุทธิ์ ปาวจนุตตมสิกขวโรปการ ศีลขันธสมาจารสุทธิปฏิบัติ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลธรรมวิสารสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์[16]

การประชวร[แก้]

  • พ.ศ. 2492 ประชวรหนักเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้
  • วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2499 ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ที่ประทับหลบรถโดยสาร ตงลงไปค้างที่คลองข้างวัดศรีสำราญ ถนนเพชรเกษม บาดเจ็บเล็กน้อย ประทับรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลสงฆ์
  • พ.ศ. 2502 เสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์โดยปกติ เมื่อประชวร พันโท หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ (นิตย์ เปาเวทย์) เป็นผู้ถวายการรักษาเป็นประจำ
  • พ.ศ. 2510 แพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน ได้รับการรักษาจาก พลตำรวจตรี นายแพทย์ปราโมทย์ ศรศรีวิชัย แห่งเทศบาลกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทราบ จึงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ท่านผู้หญิงศรีจิตรา บุนนาค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนายแพทย์สิโรตม์ บุนนาค เป็นแพทย์ถวายการรักษาพยาบาลประจำพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2510 และได้เสด็จไปประทับ ณ ตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อรับการตรวจเป็นประจำทุก ๆ ปี เมื่อ พ.ศ. 2515 ก่อนเสด็จไปต่างประเทศ ก็ได้รับการตรวจพระอาการทั่วไป

ต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2515 ได้เสด็จไปรับการตรวจพระอาการ เมื่อตรวจเอกซเรย์ ปรากฏว่าพระปัปผาสะ (ปอด) ข้างซ้ายผิดปกติ จึงต้องเสด็จไปประทับ ณ ตึกจงกลณี วัฒนวงศ์ เพื่อให้คณะแพทย์ตรวจพระอาการโดยละเอียด คณะแพทย์พบว่า ปอดข้างซ้ายเป็นเนื้องอก (มะเร็ง) จำต้องรักษาโดยการผ่าตัดโดยด่วน เมื่อความได้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ถวายการรักษาในทางที่เห็นว่าดีและปลอดภัยมากที่สุด

คณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หลังจากถวายการผ่าตัดแล้ว พระอาการดีขึ้นโดยลำดับ จนเสด็จกลับวัดได้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศง 2515 คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำให้ทรงพักรักษาพระองค์อีกสามเดือน ตลอดเวลาที่พักอยู่นั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้จัดบุรุษพยาบาลและเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด มาเฝ้าปฏิบัติและถวายการรักษาเป็นประจำ จนเสด็จประชุมมหาเถรสมาคม และเสด็จไปกิจนิมนต์ได้

ครั้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2516 มีพระอาการผิดปกติ แพทย์ประจำพระองค์ได้มาถวายการตรวจและถวายยา วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2516 รู้สึกพระองค์ว่าความจำเสื่อมผิดปกติไปมาก หลังจากที่เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนา ถึงกับรับสั่งว่า ต่อไปคงจะเทศน์ไม่ได้อีกแล้ว ความจำไม่ดี แพทย์ประจำพระองค์ได้กราบทูลอาราธนาให้เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลเพื่อตรวจพระอาการกำหนดเสด็จไปวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2516 วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หลังจากทรงทำอุโบสถสังฆกรรมแล้ว

คณะแพทย์ได้ตรวจพระอาการ ปรากฏว่า โรคมะเร็งขึ้นสมองด้านซ้าย จึงทำให้พระวรกายซีกขวาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ ครั้นเมื่อถวายการรักษาทางยา และฉายรังสีโคบอลท์พระอาการดีขึ้นจนพระหัตถ์ข้างขวาเคลื่อนไหวได้และทรงอักษรได้บ้าง

วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ประชวรพระวาโย ต้องเชิญเสด็จประทับห้องฉุกเฉิน ตั้งแต่นั้นมา พระอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีพระโลหิตออกจากกระเพาะอาหาร คณะแพทย์ต้องถวายการผ่าตัด เมื่อเวลา 23.00 น. หลังจากนั้น พระอาการดีขึ้นเล็กน้อย วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 พระอาการน่าวิตก วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 เวลา 20.00 น. พระอาการทรุดหนักลง ต่อแต่นั้นมาพระอาการมีแต่ทรุดลงเป็นลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เวลา 22.25 น. โดยมีคณะแพทย์ พยาบาล และศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพระเถรานุเถระ ศิษยานุศิษย์ เฝ้าพระอาการอยู่ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาพยาบาลตลอดมา และมีคณะแพทย์กราบบังคมทูลถวายรายงานการประชวรให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทุกระยะ ตั้งแต่ยังสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์

สิ้นพระชนม์[แก้]

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีแถลงการณ์แจ้งข่าวพระอาการตลอดมาทุกระยะ แถลงการณ์ในการสิ้นพระชนม์ มีดังนี้

"สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2516 ด้วยพระอาการเวียนพระเศียร ความจำทรงเสื่อมลง พระวรกายทางซีกขวาอ่อนเคลื่อนไหวไม่ได้ คณะแพทย์ลงความเห็นว่า พระอาการทั่วไปทั้งหมด เนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงประชวรเป็นเนื้องอกในปอดข้างซ้าย ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยรังสีโคบอลท์ พระอาการดีขึ้นบ้าง

ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีพระโรคแทรก คือ พระโลหิตออกจากกระเพาะอาหาร คณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดเพื่อระงับมิให้สูญเสียพระโลหิตทางลำไส้อีก และถวายการผ่าตัดเพื่อมิให้มีพระอาการขึ้นอีก นับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา พระอาการทางสมองมากขึ้น จนครึ่งพระวรกายซีกขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ ทรงมีพระอาการไข้ขึ้นสูงตลอดมา ปอดบวม มีพระอาการทั่วไปอ่อนเพลียลงตามลำดับ ในที่สุดสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เวลา 22.25 น. ด้วยพระอาการอันสงบ

คณะแพทย์ได้พยายามเยียวยาถวายการรักษาพระองค์อย่างสุดความสามารถจนถึงสิ้นพระชนม์ ในตอนกลางคืน วันสิ้นพระชนม์ มีพระสงฆ์เฝ้าเยี่ยมพระอาการประมาณ 300 รูป คฤหัสถ์ประมาณ 200 คน"

การพระศพ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพตามโบราณราชประเพณีทุกประการ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2516 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาถวายน้ำสรงพระศพ ณ ตึกกวี เหวียนระวี แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระโกศประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าประกอบพระลองกุดั่นใหญ่ แวดล้อมด้วยเครื่องประดับพระเกียรติยศ ณ หอประชุมสงฆ์ วัดพระเชตุพน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวัน และกลางคืน รับพระราชทานฉันเช้าวันละ 8 รูป เพลวันละ 4 รูป กำหนด 7 วัน ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานถวาย เมื่อครบ 7 วัน[17] 50 วัน[18] และ 100 วัน[19] พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชกุศลออกพระเมรุ และพระราชทานเพลิง วันที่ 22, 23 และ 24 เมษายน พ.ศ. 2517[20]

ในการบำเพ็ญกุศลถวายพระศพนี้ มหาเถรสมาคม คณะสงฆ์ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาค คณะรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม สมาคม พ่อค้า ประชาชน ศิษยานุศิษย์ คณะสงฆ์จีน คณะสงฆ์ญวน สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา สมาคมฮินดูสมาช สมาคมฮินดูธรรมสภา และในต่างประเทศ ก็มีพระภิกษุสงฆ์พร้อมด้วยพุทธบริษัทจากฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ได้โดยเสด็จพระราชกุศลมาจนถึงวันพระราชทานเพลิงพระศพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน องค์ที่ 11 เป็นเวลา 26 ปี 8 เดือน 30 วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 18 วัน สิริพระชันษา 77 ปี

พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2517

สิ่งอันเนื่องด้วยพระนาม[แก้]

โรงพยาบาล[แก้]

โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 ตั้งอยู่ที่ ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

อ้างอิง[แก้]

  • สุเชาว์ พลอยชุม, เรียบเรียง. พระเกียรติคุณสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม. นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2541.
  • โกวิท ตั้งตรงจิตร. 19 สมเด็จพระสังฆราช กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2549.
  • สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ). สู่เมืองอนัตตา (พิมพ์ประกาศเกียรติคุณ วันอดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม). กรุงเทพมหานคร : สหธรรมิก, 2556.
  1. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญ, เล่ม 33, ตอน ง, 23 กรกฎาคม 2459, หน้า 1003
  2. ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งเปรียญ, เล่ม 33, ตอน ง, 23 กรกฎาคม 2459, หน้า 1000
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม 67, ตอนที่ 43 ง, 8 สิงหาคม 2493, หน้า 3374-6
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม 68, ตอนที่ 38 ง, 19 มิถุนายน 2494, หน้า 2593-5
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม 68, ตอนที่ 50 ง, 19 มิถุนายน 2494, หน้า 3087-8
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม 72, ตอนที่ 61 ง ฉบับพิเศษ, 13 สิงหาคม 2498, หน้า 18-20
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม 73, ตอนที่ 98 ง, 27 พฤศจิกายน 2499, หน้า 3564
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่ม 77, ตอนที่ 41 ง, 17 พฤศจิกายน 2503, หน้า 1437-9
  9. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง สมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เล่ม 84, ตอนที่ 15, 14 กุมภาพันธ์ 2510, หน้า 646.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เล่ม 58, 11 มีนาคม 2484, หน้า 498.
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 63, ตอนที่ 15 ง, 19 มีนาคม 2489, หน้า 354.
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 64, ตอนที่ 27, 17 มิถุนายน 2490, หน้า 1527.
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 65, ตอนที่ 71, 7 ธันวาคม 2491, หน้า 3963.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ โปรดสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 6, 12 มกราคม 2500, ฉบับพิเศษ หน้า 14 - 20.
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ โปรดสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 78, ตอนที่ 104, 15 ธันวาคม 2504, ฉบับพิเศษ หน้า 1 - 6.
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 89, ตอนที่ 114, 27 กรกฎาคม 2515, ฉบับพิเศษ หน้า 1 - 7.
  17. ราชกิจจานุเบกษา หมายกำหนดการ ที่ 21/2516 พระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน พระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เล่ม 90, ตอนที่ 163, 13 ธันวาคม 2516, ฉบับพิเศษ หน้า 125 - 126.
  18. ราชกิจจานุเบกษา หมายกำหนดการ ที่ 2/2517 พระราชกุศลทักษิณานุปทาน 50 วัน พระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เล่ม 91, ตอนที่ 10, 24 มกราคม 2517, ฉบับพิเศษ หน้า 9 - 10.
  19. ราชกิจจานุเบกษา หมายกำหนดการ ที่ 4/2517 พระราชกุศลทักษิณานุปทาน 100 วัน พระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เล่ม 91, ตอนที่ 49, 19 มีนาคม 2517, หน้า 694 - 695.
  20. ราชกิจจานุเบกษา หมายกำหนดการ ที่ 7/2517 พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมษายน พุทธศักราช 2517 เล่ม 91, ตอนที่ 68, ฉบับพิเศษ หน้า 1 - 7.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ถัดไป
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(จวน อุฏฺฐายี)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
(21 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระวันรัต
(เผื่อน ติสฺสทตฺโต)

เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
(8 มีนาคม พ.ศ. 2490 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(กมล กมโล)