สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาตีลด์
สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม
ดำรงพระยศ21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน
ก่อนหน้าเปาลา
พระราชสมภพมาตีลด์ มารี คริสตียาน กีแลน
20 มกราคม พ.ศ. 2516 (51 พรรษา)
อูคเคิล ประเทศเบลเยียม
พระราชสวามีสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม
(พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน)
พระบุตร
ราชวงศ์ดูว์เดอแกม ดาโก
พระราชบิดาเคานต์ปาทริก ดูว์เดอแกม ดาโก
พระราชมารดาเคาน์เตสอันนา มารียา คอมอรอฟสกา

สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม (ฝรั่งเศส: Mathilde, Reine des Belges; ดัตช์: Mathilde, koningin der Belgen; พระราชสมภพ: 20 มกราคม พ.ศ. 2516) หรือพระนามเดิมว่า มาตีลด์ มารี คริสตียาน กีแลน ดูว์เดอแกม ดาโก (Mathilde Marie Christiane Ghislaine d'Udekem d'Acoz) เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม ทรงมีเชื้อสายสืบแต่สกุลขุนนางของโปแลนด์[1][2] พระองค์เป็นพระราชินีพระองค์แรกที่ถือสัญชาติเบลเยียม ภายหลังจากการขึ้นครองราชย์ของพระราชสวามี

พระราชประวัติ[แก้]

สมเด็จพระราชินีมาตีลด์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2516 เป็นธิดาคนแรกจากบุตรทั้งห้าคนของเคานต์ปาทริก ดูว์เดอแกม ดาโก[3][4] กับเคาน์เตสอันนา มารียา[5] (สกุลเดิม คอมอรอฟสกา) พระชนกเป็นบุตรของบารอนชาร์ล ดูว์เดอแกม ดาโก มีเชื้อสายวอลลูน ส่วนพระชนนีเป็นพระธิดาของเคานต์มีคาเอล คอมอรอฟสกี กับเจ้าหญิงโซเฟีย ซาพีฮาแห่งกราชิตชึน[1]

พระองค์มีพระพี่น้อง 5 คน โดยมีพระองค์เป็นบุตรคนโต มีพระอนุชาและพระขนิษฐา ได้แก่

  1. นางสาวมารี-อาลิกซ์ ดูว์เดอแกม ดาโก (16 กันยายน พ.ศ. 2517 – เมษายน พ.ศ. 2540)
  2. มาร์กราวีน เอลีซาแบ็ต ปัลลาวีชีนี (17 มกราคม พ.ศ. 2520) สมรสกับมาร์กราฟอัลฟอนโซ ฟอน ปัลลาวีชีนี มีบุตรด้วยกันสองคน
  3. บารอเนสเอแลน ยานเซน (22 กันยายน พ.ศ. 2522) สมรสกับบารอนนีกอลา ยานเซน มีธิดาหนึ่งคน
  4. เคานต์ชาร์ล-อ็องรี ดูว์เดอแกม ดาโก (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2528)

พระองค์ตรัสภาษาฝรั่งเศส ดัตช์ อังกฤษ และอิตาลีได้ แม้ว่าจะทรงสืบเชื้อสายโปแลนด์มาจากพระชนนี แต่พระชนนีมิได้สอนภาษาโปแลนด์แก่พระองค์ ด้วยเห็นว่าไม่สำคัญนัก พระองค์จึงทราบเพียงคำในภาษาโปแลนด์ไม่กี่คำ[6]

พระองค์มีพระจริยวัตรนุ่มนวลงดงาม เรียบง่าย และเป็นกันเองกับประชาชนโดยทั่วไป[2] ชาวเบลเยียมเห็นด้วยว่าสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปทรงสนพระทัยประกอบพระราชกรณียกิจมากขึ้น[2]

การศึกษา[แก้]

ทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นสถาบันเวียร์ฌฟีแดล (Institut de la Vierge Fidèle) ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการฝึกอรรถบำบัด (เกียรตินิยม) จากสถาบันเสรีมารี ฮัปส์ (Institut Libre Marie Haps) ที่กรุงบรัสเซลส์ ช่วง พ.ศ. 2534–2537

สมเด็จพระราชินีมาตีลด์ทรงงานเป็นนักอรรถบำบัด ช่วง พ.ศ. 2538–2542 ภายหลังทรงเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งลูแวง และได้รับปริญญาบัตร (เกียรตินิยม) ใน พ.ศ. 2545

อภิเษกสมรส[แก้]

พระราชสวามีและพระองค์ ขณะเสด็จไปในงานอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารีวิกตอเรีย กับดาเนียล เวสต์ลิง

กษัตริย์ฟีลิปและพระองค์ทรงหมั้น และได้เสกสมรสกันเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ทรงจดทะเบียนสมรสที่ศาลาว่าการกรุงบรัสเซลส์ และทำพิธีทางศาสนาที่มหาวิหารแซ็งมีเชลและแซ็งกูดูลา พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าหญิงแห่งเบลเยียม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 (ประกาศเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน และมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น) ทั้งสองมีพระโอรสและพระธิดา 4 พระองค์ คือ[7]

  1. เจ้าหญิงเอลีซาแบ็ต เตแรซ มารี เอแลน (ประสูติ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2544)
  2. เจ้าชายกาบรีแยล โบดวง ชาร์ล มารี (ประสูติ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2546)
  3. เจ้าชายแอมานุแอล เลออปอล กีโยม ฟร็องซัว มารี (ประสูติ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2548)
  4. เจ้าหญิงเอเลออนอร์ ฟาบียอลา วิกตอรียา อาน มารี (ประสูติ 16 เมษายน พ.ศ. 2551)

พระองค์เป็นแม่ทูนหัวของเจ้าหญิงอะเลกซียาแห่งเนเธอร์แลนด์และเจ้าหญิงอิซาเบลลาแห่งเดนมาร์ก

พระราชกรณียกิจ[แก้]

ในฐานะที่พระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจและได้อุปถัมภ์องค์กรการกุศลหลายรายการ ทั้งนี้พระองค์มีส่วนร่วมในสภาเศรษฐกิจโลก พระองค์ได้ตั้งกองทุนขึ้นใน พ.ศ. 2544 เพื่อส่งเสริมดูแลบุคคลที่มีความเสี่ยง และรางวัลประจำปีแก่ผู้ที่ทำงานเป็นอย่างดี[8] เป็นต้นว่า การศึกษา สุขภาพสตรี และการปกป้องสตรีจากความรุนแรง[9]

ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของยูนิเซฟเบลเยียม โดยทรงหน้าที่พิเศษเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน[10]

พระองค์และพระราชสวามีนำผู้แทนทางเศรษฐกิจไปยังสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2554 และประเทศเวียดนามใน พ.ศ. 2555[11]

พระเกียรติยศ[แก้]

พระอิสริยยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม
ตราประจำพระอิสริยยศ
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลHer Majesty
(ใต้ฝ่าละอองพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับYour Majesty
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)
  • นางสาวมาตีลด์ ดูว์เดอแกม ดาโก (20 มกราคม พ.ศ. 2516 — 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542)
  • เฮอร์รอยัลไฮนิส เจ้าหญิงมาตีลด์แห่งเบลเยียม, ดัชเชสแห่งบราบันต์ และเคาน์เตสแห่งดูว์เดอแกม ดาโก (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 — 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556)
  • เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งชาวเบลเยียม (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 — ปัจจุบัน)

หลังการอภิเษกสมรส พระชนก และพระปิตุลาของพระองค์ ได้รับการสถาปนาเป็น เคานต์

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 M.J. Miankowski, Genealogia potomków Sejmu Wielkiego: Anna Maria Komorowska
  2. 2.0 2.1 2.2 สารคดีพิเศษ: ๒๕ พระราชอาคันตุกะ[ลิงก์เสีย]
  3. RTL Info - 'Le père de la princesse Mathilde est mourant' เก็บถาวร 2008-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฝรั่งเศส)
  4. Vader prinses Mathilde ligt op sterven (ดัตช์)
  5. "Father of Princess Mathildes passes away". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-08. สืบค้นเมื่อ 2012-07-08.
  6. Wprost Weekly, The Polish-Belgian Queen (Krolowa polsko-belgijska) 21 December-28, 2008
  7. นิตยสาร WhO? - คิมหันต์บันเทิงของเจ้ายุโรป Royal Summer:Denmark/Belgium/Dutch/Spain
  8. Princess Mathilde Fund http://www.monarchie.be/monarchy-today/royal-initiatives/princess-mathilde-fund
  9. Prix Princess Mathilde (French) http://www.kbs-frb.be/call.aspx?id=209800&LangType=2060
  10. WHO/Europe press release http://www.euro.who.int/en/what-we-publish/information-for-the-media/sections/latest-press-releases/princess-mathilde-of-belgium-to-visit-albania-as-who-special-representative-focus-on-frontline-health-workers-and-immunization เก็บถาวร 2013-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. สถานีวิทยุเวียดนาม ภาคภาษาไทย - มกุฎราชกุมารฟีลิปพร้อมด้วยเจ้าหญิงมาธิลด์แห่งเบลเยียมเสด็จเยือนเวียดนาม[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม ถัดไป
ดอญาเปาลา รูฟโฟ ดิคาลาเบรีย
สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม
(21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 — ปัจจุบัน)
ปัจจุบัน