สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
ก่อตั้ง24 มกราคม พ.ศ. 2516
เว็บไซต์www.tpa.or.th

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ชื่อย่อ ส.ส.ท. เรียกชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า "ไทนิจิ-เคไซ กิจุสสุ ชิงโก เกียวไก" เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 泰日経済技術振興協会 และชื่อภาษาอังกฤษ Technology Promotion Association (Thailand-Japan) : TPA เป็นสมาคมในประเทศไทยที่สนับสนุนการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการใน วันที่ 24 มกราคม 2516 จากความร่วมมือร่วมใจ และความเสียสละของกลุ่มผู้เคยไปศึกษาและดูงานโดยทุน ABK & AOTS [1] ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมี ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการก่อตั้ง และสำเร็จด้วยความช่วยเหลืออย่างดี จาก อาจารย์โงอิจิ โฮซูมิ อดีตประธานกรรมการ สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่น-ไทย (JTECS)[2] โดยได้รับความช่วยเหลือทางด้านเงินทุน จากกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีพันธะผูกพันใด ๆ

วัตถุประสงค์[แก้]

  1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสมาชิกและเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
  2. ส่งเสริมด้านการศึกษา และพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี โดยการเปิดอบรมสัมมนา การเรียนการสอน การให้การบริการคำปรึกษาในสาขาต่าง ๆ การรับรองความรู้และความสามารถของบุคลากร การถ่ายทอดและการวิจัยเทคโนโลยี และภาษาต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินกิจการโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรหรือมูลนิธิ ด้านเทคโนโลยีและวิชาการที่เกี่ยวข้อง
  3. ดำเนินกิจการรวบรวม เรียบเรียง แปล และพิมพ์หนังสือทางวิชาการ ออกวารสารของสมาคมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี รวมทั้งเผยแพร่ให้แก่สมาชิก และประชาชนทั่วไป
  4. ดำเนินกิจการบริการด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์สอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม ศูนย์ทดสอบ และให้บริการคำปรึกษาด้านอุตสาหกรรม และการบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
  5. ร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการลงทุนหรือร่วมทุนดำเนินกิจการที่มีวัตถุประสงค์ในทำนองเดียวกับสมาคม ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

สมาชิก[แก้]

สมาชิกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ประกอบด้วยสมาชิก 3 ประเภท

  1. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่เคยไปศึกษา หรือฝึกงาน ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยต้อง มีสำเนาใบรับรอง / ใบประกาศนียบัตร / Transcript ที่รับรองจากประเทศญี่ปุ่นมาแสดง
  2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลทั่วไป ที่มีสัญชาติไทย
  3. สมาชิกนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท/สถานประกอบการ หรือหน่วยงานที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

สอบถามรายละเอียด ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์การและสมาชิก

โทร. 02-258-0320 ต่อ 1112, 1115 โทรสาร 02-259-9117

อีเมล member@tpa.or.th

กิจกรรมและบริการ[แก้]

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ส.ส.ท. จึงดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ จัดหลักสูตรการสัมมนา และฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการจัดการ การศึกษาทางไกล (มหาวิทยาลัยซันโน) บริการวินิจฉัยและให้คำปรึกษาสถานประกอบการ ศูนย์สอบเทียบปรับเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม ศูนย์สอบเทียบเครื่องมือห้องปฏิบัติการและเครื่องมือแพทย์ โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม เช่นภาษาญี่ปุ่น ไทย และอังกฤษ สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. ศูนย์หนังสือ ส.ส.ท. สาขาสุขุมวิท 29 และสาขาพัฒนาการ 18

ส.ส.ท. ได้ขยายกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2518 ได้ย้ายที่ทำการแห่งใหม่มายังซอยสุขุมวิท 29 บนที่ดิน 2 ไร่เศษ และในปี พ.ศ. 2541 ได้ขยายที่ทำการแห่งใหม่เพิ่มที่ ซอยพัฒนาการ 18 บนที่ดิน 3 ไร่เศษ เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรม เสริมสร้างและยกระดับความรู้ ความสามารถ และทักษะเชิงปฏิบัติทั้งทางด้านวิศวกรรมและด้านบริหาร บุคลากรในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย

ในปี พ.ศ. 2550 ได้ก่อตั้ง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ชื่อย่อ ส.ท.ญ. หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ Thai-Nichi Institute of Technology : TNI เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2550 โดยมีเป้าหมายเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง ตามแนวทาง MONOZUKURI ของญี่ปุ่น

จากวันนั้นถึงวันนี้ ส.ส.ท. ได้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ และสำหรับก้าวต่อไป ส.ส.ท.ยืนยันที่จะยึดถือเจตนารมณ์เดิมในการเป็นผู้ส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเผยแพร่และถ่ายทอดให้แก่บุคลากรไทย เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสืบไป

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.abk-aots.org/ สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย)
  2. http://www.tpa.or.th/tpanew/tpapage.php?page=about เกี่ยวกับสมาคม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]