สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาคมธรรมศาสตร์
ในพระบรมราชูปถัมภ์
Thammasat Association
99 ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
จุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง21 มิถุนายน พ.ศ. 2497
เขตอำนาจนิติบุคคล ในพระบรมราชูปถัมภ์
งบประมาณประจำปีเลี้ยงดูตนเอง
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
เว็บไซต์[1]

สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อังกฤษ: Thammasat Association; ชื่อย่อ: สมธ.) เป็นองค์กรที่เป็นศูนย์กลางของนักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่า และประชาคมทั้งปวงจากทุกคณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการรับรู้ข่าวสารและมีส่วนร่วมในกิจกรรม[1] โดยสมาคมฯ มีภารกิจหลักที่การสนับสนุนและพัฒนากิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม ทั้งนี้ยังเป็นองค์กรที่มีเกียรติและมีชื่อเสียง ในฐานะของสมาคมศิษย์เก่าของสถาบันชั้นนำของประเทศไทย และยังเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินการจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ โดยเป็นคณะกรรมการดำเนินการจัด และผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ[2]

ประวัติ[แก้]

สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมมีชื่อว่า สมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3] ซึ่งมีความเป็นมาลำดับ คือ เมื่อ พ.ศ. 2491 คณะกรรมการประจำคณะปริญญาโทและเอกได้ประชุมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น โดยได้กำหนดให้มีการประชุมธรรมศาสตร์บัณฑิต ทุกรุ่น เพื่อปรึกษาหารือกันจัดตั้งคณะกรรมการร่างข้อบังคับของสมาคม และต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2493 จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างข้อบังคับของสมาคมขึ้นมีจำนวน 15 นาย ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัย

ต่อมาในระยะปี พ.ศ. 2494พ.ศ. 2495 ได้เกิดความผันผวนในทางการเมือง กรรมการนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมได้ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาปริญญาโท ถูกห้ามไม่ให้เข้ามหาวิทยาลัยบ้าง ถูกจับกุมในข้อหาทางการเมืองบ้าง เป็นเหตุให้ความคิดริเริ่มในการก่อตั้งสมาคมระงับไประยะหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2497 การร่างและการพิจารณาข้อบังคับของสมาคมซึ่งได้ประชุมกันหลายครั้ง ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยให้มีมติให้ประกาศใช้ข้อบังคับของสมาคมเรียกชื่อว่า สมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายต่อสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2497 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับสมาคมฯ เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหลังจากที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว สมาคมบัณฑิตได้มีคณะกรรมการบริหารสืบเนื่องกันมาหลายสมัย คณะกรรมการแต่ละชุดก็ได้ดำเนินงานของสมาคมไปตามวัตถุประสงค์และโครงการ

ปี พ.ศ. 2506 นายชมพู อรรถจินดา และนายมารุต บุนนาค รื้อฟื้นประกอบกิจกรรมต่างๆ ขึ้นอีก มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ในช่วงนี้ได้ขอเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งนี้เพื่อขจัดความรู้สึกแตกต่างระหว่างศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยให้สิ้นไป อีกทั้งเพื่อขยายขอบเขตของสมาชิกให้กว้างขวางขึ้นอีกเพื่อส่งเสริมความสามัคคีและความมั่นคงของสมาคม

นอกจากนี้สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมศาสตร์ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสาขาวิชาการต่างๆ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและค้นคว้าในทางวิชาการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งสถาบันการค้นคว้าในทางวิชาการต่างๆ ร่วมมือกับสถาบันอื่นๆ [4]

วัตถุประสงค์[แก้]

  • ส่งเสริมสามัคคีธรรม และผดุงเกียรติของมวลสมาชิก
  • ส่งเสริม และเผยแผ่วิทยาการ
  • บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
  • ส่งเสริมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้า
  • ส่งเสริมสามัคคีธรรม และร่วมมือกับสมาคมในเครือธรรมศาสตร์
  • ส่งเสริมกีฬา และบันเทิง ของมวลสมาชิก

โดยวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

การก่อสร้างอาคารที่ทำการสมาคมธรรมศาสตร์[แก้]

ในปี พ.ศ. 2521 สมัยศาสตราจารย์ประภาสน์ อวยชัย เป็นนายกสมาคม นายสุนทร เสถียรไทย อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้อนุมัติให้สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่าที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 5 ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบแปลน และแต่งตั้งให้นายบุญชู โรจนเสถียร เป็นประธานหาทุนก่อสร้าง และได้ดำเนินงานจำได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยสมเด็จพระพุทธจารย์ วัดสุทัศน์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ในปี พ.ศ. 2522 นายบุญชู โรจนเสถียร ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคม ท่านได้ดำเนินการสานต่อเรื่องการก่อสร้างทันที สถานที่ทำการถาวรของสมาคมเป็นตึก 3 ชั้น หลังคาเป็นรูปโดมซึ่งเปรียบเสมือนมณฑปแห่งปรัชญา และอุดมการของธรรมศาสตร์ที่มีต่อสังคมไทย กล่าวคือสถานที่นี้จะเป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์ ในการสืบทอดนโยบายและเจตนารมย์ในการศึกษา ตลอดจนคุณูปการที่มีต่อชาติบ้านเมืองมาโดยลำดับ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารที่ทำการสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2523 พร้อมปลูกต้นยูงทอง ณ หน้าอาคารสมาคมฯ

การบริหาร[แก้]

ทำเนียบนายกสมาคม[แก้]

ทำเนียบนายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง

1. ศักดิ์ ไทยวัฒน์ พ.ศ. 2497พ.ศ. 2505 (ขณะที่เป็น สมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
2. ชำนาญ ยุวบูรณ์ พ.ศ. 2506พ.ศ. 2507
3. ชมพู อรรถจินดา พ.ศ. 2508พ.ศ. 2509
2. ชำนาญ ยุวบูรณ์ พ.ศ. 2510พ.ศ. 2513
4. วิจิตร ลุลิตานนท์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2514พ.ศ. 2517
5. ประภาสน์ อวยชัย, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2518พ.ศ. 2521
6. บุญชู โรจนเสถียร พ.ศ. 2522พ.ศ. 2525
7. วิโรจน์ เลาหะพันธุ์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2526พ.ศ. 2527
8. พนัส สิมะเสถียร, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2528พ.ศ. 2531
9. สุขวิช รังสิตพล พ.ศ. 2532พ.ศ. 2535
10. สถาพร กวิตานนท์ พ.ศ. 2536พ.ศ. 2537
11. เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ, ร้อยตำรวจตรี พ.ศ. 2538พ.ศ. 2539
12. ศุภชัย พิศิษฐวานิช, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2540พ.ศ. 2543
11. เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ, ร้อยตำรวจตรี พ.ศ. 2544พ.ศ. 2545
13. มนู เลียวไพโรจน์ พ.ศ. 2546พ.ศ. 2547
14. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พ.ศ. 2548พ.ศ. 2549
15. นริศ ชัยสูตร, รองศาสตราจารย์ พ.ศ. 2549พ.ศ. 2554
16. พิชัย ชุณหวชิร พ.ศ. 2554พ.ศ. 2557
17. สมชาย พูลสวัสดิ์ พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน[5]

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะรับตำแหน่ง

สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานวันธรรมศาสตร์ ในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อสังสรรค์กันระหว่างคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน[6] เงินรายได้มอบเป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาที่ขัดสน ช่วยเหลือกิจกรรมนักศึกษาในด้านต่างๆ เช่น กิจกรรมกีฬา การออกตั้งค่ายอาสาพัฒนาชนบท และบางส่วนเก็บรวบรวมไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมของสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์[7] ขณะนี้สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยทุกปี ปีละ 1 ทุน เป็นทุนต่อเนื่องตลอดการศึกษาเป็นเงิน 100,000 บาท และยังมีภารกิจดำเนินการจัดงานเสวนา กิจกรรมทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมคุณค่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ให้สถาวรสืบไป

อ้างอิง[แก้]

  1. MaticonOnline. (2553). สมาคมธรรมศาสตร์ จัดคอนเสิร์ตอภิมหาบันเทิงแห่งปีเพลินเพลงสถาบันการศึกษา โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ “วงใหญ่”. (เข้าถึงเมื่อ: 6 มกราคม 2554).
  2. ข่าวกีฬาแนวหน้า. (2553). ระเบิดศึกฟุตบอลประเพณี "จุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งที่66"[ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 6 มกราคม 2554).
  3. สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2553). รู้จักสมาคม เก็บถาวร 2010-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 ธันวาคม 2553).
  4. ThaiPR.net. (2543). สมาคมธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการสัมมนา เรื่อง โฉมหน้าการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่. (เข้าถึงเมื่อ: 6 มกราคม 2554).
  5. นายสมชาย พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ คนที่ 17 - 14 พฤษภาคม 2558
  6. ThaiPR.net. (2552). สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าว “รำลึก 75 ปี ธรรมศาสตร์”. (เข้าถึงเมื่อ: 6 มกราคม 2554).
  7. ผู้จัดการ. (2553). สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ บทบาทที่ข้ามพ้นบริบทธุรกิจของชนินท์ ว่องกุศลกิจ. (เข้าถึงเมื่อ: 6 มกราคม 2554).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]