สมศรี สุกุมลนันทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมศรี สุกุมลนันทน์
เกิด8 ตุลาคม พ.ศ. 2462
กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต19 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 (85 ปี)
กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
อาชีพรับราชการครู, ช่างต่างเสื้อ, นักเขียน
คู่สมรสชวาลา สุกุมลนันทน์
บิดามารดา
ลายมือชื่อ

สมศรี สุกุมลนันทน์ สกุลเดิม อนุมานราชธน (8 ตุลาคม 2462 – 19 พฤษภาคม 2548) เป็นบุตรีของ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) กับ คุณหญิงละไม เป็น ครู อาจารย์ ในหลายสถาบันการศึกษา เป็นนักออกแบบเสื้อผ้าสตรีไทย นักเขียน นักตอบปัญหาชีวิตทางหนังสือพิมพ์ นักวิชาการที่ออกรายการให้ความรู้ทางโทรทัศน์

บิดาตั้งชื่อว่าสมศรี ซึ่งถือว่าเป็นชื่อทันสมัยในยุคนั้น เกิดที่บ้าน ถนนเดโช (ซอยอนุมานราชธน) สมัยก่อนเป็นบ้าน ปลูกต้นไม้โดยรอบ บิดาเป็นชาวไทยพุทธ มารดาเป็นชาวคริสต์นิกายคาทอลิก ที่บ้านบิดา สะสมหนังสือต่างๆ ไว้มาก ตั้งแต่เด็กชอบอ่านหนังสือของบิดาในตู้ต่างๆ อาทิ วรรณคดีไทย รวมทั้งหนังสือพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ทั้งหมด และยังชอบอ่านสารานุกรมภาษาต่างประเทศ นิยายไทย ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารไทยเขษม

ประวัติ[แก้]

การศึกษา[แก้]

อาจารย์ สมศรีเข้าศึกษาในชั้นประถมที่โรงเรียนของครูกิมเหล็ง ใกล้ๆ บ้าน ศึกษาภาษาไทย ส่วนบิดาสอนภาษาอังกฤษให้เองในตอนเย็น ต่อมาไปศึกษาต่อที่โรงเรียน อัสสัมชัญคอนแวนต์ ซึ่งอยู่ใกล้กรมศุลกากร ที่ทำงานของบิดา สมัยนั้นนักเรียนยังไม่มีเครื่องแบบ นุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อไม่มีแขนตัวหลวมๆ สีใดก็ได้ ต่อมาจึงมีเครื่องแบบ เป็นเสื้อขาวแขนยาว นุ่งผ้าถุงสีแดง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกระโปรงจีบ เสื้อเป็นปกคอบัว ผ้าผูกคอสีแดง มีที่บังคับผ้าผูกคอ ต่อมาไปศึกษาต่อในชั้นมัธยม ๔ ที่ โรงเรียนเบญจมราชาลัย อยู่ 1 ปีกับอีก 1 เทอม ก็ย้ายไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ (ริมถนนเพชรบุรี) เนื่องจากอาจารย์ใหญ่ย้ายไปที่นั่น ครูและนักเรียนย้ายตามไปกันมาก จนจบมัธยมแปด จึงศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีแล้ว ศึกษาต่อประโยคครูมัธยมอีก ๑ ปี ขณะที่เรียนประโยคครูมัธยมอยู่ ได้ไปเป็นครูฝึกสอนที่โรงเรียนหอวัง และโรงเรียนราชินี เมื่อจบการศึกษาใน พ.ศ. 2485

ครอบครัว[แก้]

อาจารย์ สมศรี แต่งงานกับ นายชวาลา สุกุมลนันท์ อดีตข้าราชการ กรมโฆษณาการ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. 2485 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเจ้าภาพ ทำพิธีรดน้ำ และมีงานเลี้ยงจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันกว่า ๕๐ ปีจนเสียชีวิต ทั้งสอง มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ

  1. นางวัลยา ชาญเลขา
  2. นายปรัชวาล สุกุมลนันทน์
  3. นางมานิดา ฮูปเนอร์
  4. นางสิริชา สุกุมลนันทน์ เกอเบล

การทำงาน[แก้]

สมศรี เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งยุคนั้นเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ยุคนั้นอาจารย์ก็มีเครื่องแบบ ดังที่เขียนไว้ในอัตตชีวประวัติว่า "เครื่องแบบอาจารย์เป็นเสื้อสองชั้น ชั้นในคอแหลมติดกระดุมแป๊บไม่มีแขน ชั้นนอกเป็นเสื้อคอปกแบะ กลัดดุมที่แนวเอวหนึ่งเม็ด ทั้งเสื้อชั้นนอกและในเป็นผ้าชิ้นเดียวกันสีนวล" และ อาจารย์สมัยนั้นมีเลขประจำตัว เช่นเดียวกับนักเรียน

ราว พ.ศ. 2499 สมศรี ย้ายไปทำงานที่ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ก่อนย้ายไป ได้รับทุนไปศึกษาด้าน ออกแบบเสื้อผ้า Dress Design ที่ คณะ Home Economics สถาบันเดรกเซลเทคโนโลยี (Drexel) เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพ็นซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี (สำหรับคำว่า Home Economics นี้ ในราว พ.ศ. 2502 พระยาอนุมานราชธน เสนอให้ใช้คำว่า คหกรรมศาสตร์ แทนคำที่มีผู้เคยใช้ว่า คหเศรษฐศาสตร์) ขณะทำงานที่ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ได้รับตำแหน่งเป็น หัวหน้าวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย ต่อมา ได้เป็น หัวหน้าคณะคหกรรมศาสตร์

ก่อนจะมีงานฉลองรัฐธรรมนูญปีหนึ่ง สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง โดย ท่านผู้หญิง ดุษฎี มาลากุล มอบหมายให้ สมศรี ไปค้นคว้าเกี่ยวกับเสื้อผ้าสตรีไทยยุคโบราณ ตั้งแต่สุโขทัย เป็นต้นมา และตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อแสดงหุ่นตั้งในงานดังกล่าว ท่านต้องไปศึกษาจากเอกสารประวัติศาสตร์และปรึกษาผู้รู้หลายคน ก่อนจะทำได้เรียบร้อย ต่อมา เครื่องแต่งกายเหล่านี้เคยนำไปตั้งแสดงที่ตึกกลาง กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมา บางส่วนย้ายไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นัยว่าเป็นต้นแบบของชุดไทยในเวลาต่อมา

ที่สำคัญคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ออกแบบฉลองพระองค์แบบไทย สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป และก่อนการเสด็จประพาส ได้เขียนบทความเรื่อง ประวัติเครื่องแต่งกายไทย ไปลงในนิตยสารแฟชั่น Vogue ของสหรัฐฯ เพื่อแนะนำชาวต่างชาติในเรื่องเครื่องแต่งกายชุดไทยนี้ก่อนด้วย

พ.ศ. 2516 เมื่ออายุได้ 55 ปี มีการประท้วงของนักศึกษาต่อผู้บริหาร จึงถือโอกาสลาออกจากงาน เพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนสามีที่เกษียณอายุไปก่อนหน้านั้น อาจารย์ สมศรี ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๗๐, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๖๕, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

  • วิลลา วิลัยทอง. (2560, ม.ค.-เม.ย.). แต่งตัวให้ผู้หญิงชนชั้นกลางไทย: “นักดีไซน์แบบ” และวัฒนธรรมความงามในสมัย “พัฒนา”. รัฐศาสตร์สาร. 38(1): 109-161.