ท่าอากาศยานนครราชสีมา

พิกัด: 14°56′58″N 102°18′45″E / 14.94944°N 102.31250°E / 14.94944; 102.31250
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สนามบินนครราชสีมา)

ท่าอากาศยานนครราชสีมา
ลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานนครราชสีมา
ข้อมูลสำคัญ
การใช้งานสาธารณะ (ศุลกากร)
ผู้ดำเนินงานกรมท่าอากาศยาน
พื้นที่บริการจังหวัดนครราชสีมา
สถานที่ตั้งตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
วันที่เปิดใช้งาน5 ธันวาคม พ.ศ. 2540
ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล233 เมตร / 765 ฟุต
พิกัด14°56′58″N 102°18′45″E / 14.94944°N 102.31250°E / 14.94944; 102.31250
เว็บไซต์minisite.airports.go.th/
nakhonratchasima
แผนที่
NAKตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา
NAK
NAK
ตำแหน่งของท่าอากาศยานในประเทศไทย
NAKตั้งอยู่ในประเทศไทย
NAK
NAK
NAK (ประเทศไทย)
ทางวิ่ง
ทิศทาง ความยาว พื้นผิว
เมตร ฟุต
06/24 2,100 6,890 ยางมะตอย
สถิติ (2563)
ผู้โดยสาร0
เที่ยวบิน0
แหล่งข้อมูล: http://www.airports.go.th

ท่าอากาศยานนครราชสีมา[1] หรือ สนามบินหนองเต็ง (IATA: NAKICAO: VTUQ) ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่[2] เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม[3] และได้ประกาศเป็นท่าอากาศยานศุลกากรเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2542[4] โดยสร้างขึ้นเพื่อใช้แทนท่าอากาศยานกองบิน 1 นครราชสีมาของกองทัพอากาศซึ่งอยู่ในเขตทหาร

ท่าอากาศยานนครราชสีมามีสิ่งอำนวยความสะดวกพอรองรับอากาศยานประเภทโบอิง 737 ได้ และมีอาคารผู้โดยสารขนาด 5,500 ตารางเมตร แต่เนื่องจากท่าอากาศยานนครราชสีมาตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง และไม่มีบริการรถสาธารณะในปัจจุบัน จึงทำให้สายการบินต่าง ๆ ปิดเส้นทางบินอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเกิดแผนปรับปรุงหลายแบบ เช่นการสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือการตั้งสายการบินของตนเอง

ประวัติ[แก้]

การก่อตั้ง[แก้]

พ.ศ. 2529 ท่าอากาศยานนครราชสีมาเริ่มเปิดทำการบินเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยตั้งอยู่ที่ในตัวเมือง และใช้ทางวิ่งและลานจอดของกองทัพอากาศกองบิน 1 ในการทำการบิน แต่ประสบปัญหาเนื่องจากต้องใช้พื้นที่ของกองทัพบกในการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ซึ่งอยู่ห่างจากลานจอดประมาณ 2 กิโลเมตร เพราะกองทัพอากาศไม่สามารถจัดสรรพื้นที่บริเวณติดกับลานจอดให้กรมการบินพาณิชย์ (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และยังมีปัญหาเข้าออกท่าอากาศยานของผู้โดยสาร เนื่องจากอยู่ในเขตทหาร ซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างเข้มงวด

ใน พ.ศ. 2537 กรมการบินพาณิชย์ (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) จึงจัดหาที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยได้พื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง–จักราช ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และได้เริ่มก่อสร้าง จากนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ได้เริ่มเปิดใช้บริการท่าอากาศยาน สายการบินพานิชย์ที่ให้บริการในขณะนั้นจึงย้ายไปใช้ท่าอากาศยานแห่งใหม่ทั้งหมด[5]

การพยายามตั้งเที่ยวบิน[แก้]

หลังจากการย้ายท่าอากาศยานไปที่ตั้งแห่งใหม่ก็มีปัญหาเรื่องความสะดวกสบาย เพราะตั้งอยู่ห่างไกลจากเทศบาลนครนครราชสีมา จึงทยอยยกเลิกการบินจนหมด โดยเริ่มจากการบินไทยที่พยายามบินในเส้นทางจากกรุงเทพฯ-ดอนเมืองอยู่ราว 2 ปี จากนั้นแอร์อันดามันได้เข้ามาบินแทนในช่วงปี 2542–2543 โดยมีการช่วยเหลือจากการบินไทย ด้วยการซื้อที่นั่งช่วยจำนวน 10 ที่นั่งในทุกเที่ยวบิน จากนั้นการบินไทยก็พยายามบินเองอีกครั้ง ต่อด้วยไทยแอร์เอเชียที่นำสายการบินราคาประหยัดเข้ามาบินเพื่อหวังให้อยู่ได้ แต่ก็ต้องปิดตัวเช่นกัน[6]

ต่อมาแฮปปี้แอร์ได้เปิดเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ ใน พ.ศ. 2553[7] จากนั้นไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์จึงเข้ามาทำการบินในเส้นทางเดียวกันใน พ.ศ. 2554[8] จากนั้นกานต์แอร์จึงเข้ามาบินแทน แต่อยู่บนเส้นทางจากเชียงใหม่ โดยเริ่มเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เนื่องจากปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน[9]

ในปี พ.ศ. 2560 โรงเรียนการบินกรุงเทพ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ BAC (Bangkok Aviation Center) ได้ขอกรมท่าอากาศยานเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อฝึกนักเรียนการบิน[10]

สายการบินนิวเจนแอร์เวย์เป็นสายการบินที่ 7 ที่ได้เปิดเที่ยวบินมายังท่าอากาศยานนครราชสีมา จากกรุงเทพฯ-ดอนเมือง, ภูเก็ต และ เชียงใหม่ โดยเริ่มบินเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ใช้เครื่องบินโบอิง 737-400 ขนาด 168 ที่นั่ง และเครื่องบินโบอิง 737-800 ขนาด 189 ที่นั่งแต่บินได้ 4 เดือนก็ต้องหยุดบิน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อยมาก บางเที่ยวบินมีผู้โดยสารไม่ถึง 50 คน จนขาดทุนตลอดทุกเดือน[11]

แผนปรับปรุง[แก้]

ล่าสุดท่าอากาศยานนครราชสีมาได้ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร โดยมีการทาสีใหม่ และปรับปรุงป้ายไฟบนอาคารผู้โดยสาร

ในอดีตมีแผนปรับปรุงที่เกี่ยวกับท่าอากาศยานนครราชสีมาออกมาอยู่หลายแบบ แต่ส่วนมากจะไม่มีความคืบหน้า เช่น

  • พ.ศ. 2558 และ 2560 กระทรวงคมนาคมมีแผนในการใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานนครราชสีมาเพื่อตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานออกมาหลายครั้ง เนื่องจากท่าอากาศยานนครราชสีมายังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งานเป็นป่าร้างอีกมาก แต่ก็ล้มไปหลายครั้ง[12][13] และปัจจุบันยังไม่มีอาคารศูนย์ซ่อมเครื่องบินในบริเวณท่าอากาศยาน
  • พ.ศ. 2561 หลังจากนิวเจนแอร์เวย์ได้ยกเลิกเที่ยวบินไป มีแผนจะนำสายการบินต่างชาติเข้ามาบินในเส้นทางท่าอากาศยานนครราชสีมา เช่นคุนหมิงแอร์ไลน์[14] เนื่องจากท่าอากาศยานนครราชสีมาได้รับการประกาศเป็นท่าอากาศยานศุลกากรเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2542[4] แต่แผนนี้ก็ไม่ค่อยเป็นที่สนใจของคนนอกจังหวัดนครราชสีมาสักเท่าไหร่นัก และมีแผนที่จะตั้งสายการบินของตนเอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้[15]
    • โดยมีการสำรวจความเห็นใน พ.ศ. 2562 ว่าชาวจังหวัดนครราชสีมาต้องการให้เปิดท่าอากาศยานนครราชสีมาถึงร้อยละ 97[16]

ในปี พ.ศ. 2562 กรมท่าอากาศยานมีแผนที่จะให้เอกชนมาร่วมลงทุนท่าอากาศยานนครราชสีมา ร่วมกับท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โดยกรมท่าอากาศยานเบื้องต้นพบว่าท่าอากาศยานนครราชสีมามีความเหมาะสมกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน[17] และมีทุนจีนสนใจลงทุนปรับปรุงพื้นที่ พร้อมเพิ่มความยาวรันเวย์เป็น 3,000 เมตร เพื่อให้รับเครื่องเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ และให้ท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ และมีการเสนอเพิ่มเติมว่า จะมีการตกแต่งเพิ่มเติมหรือพัฒนาบริเวณโดยรอบให้ดูสวยงาม แต่ต้องรอให้อธิบดีกรมท่าอากาศยานลงมาหารือด้วยตนเอง ถึงจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่า จะสามารถร่วมลงทุนกับจีนได้หรือไม่ พร้อมกับมีการติดต่อสายการบิน JC (Cambodia) International Airline ของกัมพูชาว่าจะให้พักเครื่องที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา เวลาบินจากกรุงเทพฯ ไปตามเมืองต่างๆ ในกัมพูชาหรือเวียดนาม[18]

อาคารสถานที่[แก้]

อาคารผู้โดยสาร[แก้]

ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนครราชสีมา

อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยของอาคารประมาณ 5,500 ตารางเมตร[13] รองรับผู้โดยสารได้ 300 คนในเวลาเดียวกัน[2] โดยชั้น 1 ให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก มีทางออกขึ้นเครื่องบิน 1 ประตู มีบริการห้องรับรองพิเศษ และชั้น 2 เป็นสำนักงานท่าอากาศยาน และบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด

ท่าอากาศยานนครราชสีมามีลานจอดอากาศยานขนาดกว้าง 85 เมตร และยาว 323 เมตร สามารถรองรับอากาศยานประเภทโบอิง 737 ได้ 4 ลำพร้อมกัน[13]

อาคารของโรงเรียนการบินกรุงเทพ[แก้]

อาคารของโรงเรียนการบินกรุงเทพตั้งอยู่บริเวณริมถนนทางเข้าท่าอากาศยาน มีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ มีห้องเรียน, หอพัก 2 อาคาร รวม 200 ห้อง, ห้องประชุม, ศูนย์กีฬา และพื้นที่สันทนาการที่ทันสมัย[10]

ทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับ (แท็กซี่เวย์)[แก้]

  • ทางวิ่ง 1 เส้น มีความกว้าง 45 เมตร และมีความยาว 2,100 เมตร พร้อมพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (blastpads) ขนาดกว้างข้างละ 60 เมตร และความยาวข้างละ 60 เมตร สามารถรองรับอากาศยานได้สูงสุดประเภทโบอิง 737
  • ทางขับจำนวน 2 เส้น มีความกว้างเส้นละ 23 เมตร และมีความยาวเส้นละ 320 เมตร[2]

รายชื่อสายการบิน[แก้]

การใช้งานในปัจจุบัน[แก้]

ไม่มีสายการบินพาณิชย์ให้บริการ โดยมีการขนส่งทางอากาศในปี 2566 จำนวน 5,443 เที่ยวบิน ผู้โดยสารจำนวน 41 คน ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินทหารเที่ยวบินฝึกบินถึง 5,264 เที่ยวบิน เที่ยวบินส่วนตัว 175 เที่ยวบิน และเช่าเหมาลำ 4 เที่ยวบิน[19]

และปัจจุบันท่าอากาศยานนครราชสีมาได้ใช้เป็นพื้นที่เพื่อฝึกนักเรียนการบิน ของโรงเรียนการบินกรุงเทพ ของ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ BAC (Bangkok Aviation Center)[10]

สายการบินที่เคยทำการบิน[แก้]

สายการบิน จุดหมายปลายทาง ปีที่ทำการบิน หมายเหตุ
การบินไทย กรุงเทพฯ-ดอนเมือง พ.ศ. 2540–2542, 2543–2544 ในประเทศ
แอร์อันดามัน กรุงเทพฯ-ดอนเมือง พ.ศ. 2542–2543 ในประเทศ
แอร์เอเชีย กรุงเทพฯ-ดอนเมือง พ.ศ. 2547[7] ในประเทศ
แฮปปี้แอร์ กรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ พ.ศ. 2553[7][8] ในประเทศ
ไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์ กรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ พ.ศ. 2554[8] ในประเทศ
กานต์แอร์ เชียงใหม่ พ.ศ. 2558[9] ในประเทศ
นิวเจนแอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ พ.ศ. 2560–2561[11] ในประเทศ
นกแอร์ เชียงใหม่ พ.ศ. 2565 ในประเทศ

สถิติ[แก้]

ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศ[แก้]

ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศในแต่ละปีปฏิทิน[20]
ปี (พ.ศ.) ผู้โดยสาร ความเปลี่ยนแปลง จำนวนเที่ยวบิน คาร์โก้ (ตัน)
2544 62,005 1,474 186.57
2545 30,171 ลดลง 51.34% 1,379 85.30
2546 7,816 ลดลง 74.09% 563 28.77
2547 11,897 เพิ่มขึ้น 65.56% 175 0.00
2548 67 ลดลง 99.44% 17 0.00
2549 45 ลดลง 32.84% 12 0.00
2550 120 เพิ่มขึ้น 166.67% 41 0.00
2551 16 ลดลง 86.67% 5 0.00
2552 0 ลดลง 100.00% 10 0.00
2553 941 เพิ่มขึ้น 248 0.71
2554 552 ลดลง 41.34% 174 0.00
2555 186 ลดลง 66.30% 131 0.00
2556 9 ลดลง 95.16% 33 0.00
2557 41 เพิ่มขึ้น 355.56% 58 0.00
2558 2,984 เพิ่มขึ้น 7,178.05% 154 0.00
2559 105 ลดลง 96.48% 89 0.00
2560 6,834 เพิ่มขึ้น 6,408.57% 151 0.00
2561 10,671 เพิ่มขึ้น 56.15% 190 0.00
2562 26 ลดลง 99.76% 39 0.00
2563 0 ลดลง 100.00% 0 0.00

การเดินทางสู่ท่าอากาศยาน[แก้]

ท่าอากาศยานนครราชสีมา ตั้งอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 เข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 26 กิโลเมตร โดยการเดินทางสู่ท่าอากาศยานนครราชสีมาในปัจจุบันจะเป็นทางรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น และบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสารจะมีลานจอดรถความจุประมาณ 150 คัน

ในปัจจุบันไม่มีการขนส่งสาธารณะที่มายังท่าอากาศยานนครราชสีมา แต่เมื่อสายการบินนิวเจนแอร์เวย์ยังทำการบินมายังท่าอากาศยานนครราชสีมา ได้มีบริการรถตู้รับส่งจากเดอะมอลล์ โคราชใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที และบริการรถตู้รับส่งจากเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา โดยมีรถคอยบริการรับส่งทุกไฟล์ทที่ขึ้น-ลงที่ท่าอากาศยาน[21] และบริการแท็กซี่มิเตอร์

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดเขตบริเวณใกล้เคียงสนามบินนครราชสีมา ในท้องที่อำเภอจักราช อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอโชคชัย และอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๑
  2. 2.0 2.1 2.2 "ลักษณะทางกายภาพ ท่าอากาศยานนครราชสีมา". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.
  3. "รายชื่อท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.
  4. 4.0 4.1 "รายชื่อท่าอากาศยานศุลกากร". กรมท่าอากาศยาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-10. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.
  5. "ประวัติความเป็นมา ท่าอากาศยานนครราชสีมา". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.
  6. "เหตุผล! สนามบินมูลค่า2พันล้าน "โคราช" กลายเป็นสนามบินร้าง". 2019-09-23. สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.
  7. 7.0 7.1 7.2 "ปลุกชีพสนามบินโคราช 'แฮปปี้แอร์'หวนเปิดบริการ". ไทยรัฐ. 2010-08-19. สืบค้นเมื่อ 2020-05-26.
  8. 8.0 8.1 8.2 "'ไทยรีเจียนัล'ลองของ ท้าบินโคราช-กทม". 2011-08-30. สืบค้นเมื่อ 2020-05-26.
  9. 9.0 9.1 "กานต์แอร์ เปิดเส้นทางบินโคราช-เชียงใหม่ 990 บาท เริ่ม 2 ก.พ. 2558". 2015-02-01. สืบค้นเมื่อ 2020-05-26.
  10. 10.0 10.1 10.2 "BACผุดโรงเรียนการบินโคราช ใหญ่สุดในประเทศ-ทุ่ม1.5พันล้านผลิตนักบินปีละ300คน". ฐานเศรษฐกิจ. 2017-01-28. สืบค้นเมื่อ 2020-05-26.
  11. 11.0 11.1 "ปิดฉาก"นิวเจน แอร์เวย์ส" สายการบินน้องใหม่โคราช หลังวิกฤติขาดทุนต่อเนื่อง". มติชน. 2018-04-16. สืบค้นเมื่อ 2020-05-26.
  12. "จัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินโคราช". เนชั่น. 2015-02-04. สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.
  13. 13.0 13.1 13.2 "จัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินโคราช". เนชั่น. 2017-02-04. สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.
  14. "โคราชดึง"คุนหมิงแอร์ไลน์"แลนด์ดิ้ง! ทุ่ม 100 ล้านขยายรันเวย์ จัดทัวร์จีนทริป 4 จังหวัดนครชัยบุรินทร์". 2018-11-03. สืบค้นเมื่อ 2020-05-28.
  15. "2 สายการบินพร้อมเสียบแทน"นิวเจน" เล็งระดมทุน 300 ล้าน! ผงาด"โคราช แอร์ไลน์"". 2018-03-26. สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.
  16. "โพลชี้ชาวโคราช 97% ต้องการให้เปิดสนามบิน". คมชัดลึก. 2019-12-31. สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.
  17. "ทย.ปรับแผน PPP สนามบินภูมิภาค 3 แห่ง ชงคมนาคม เม.ย.นี้". ผู้จัดการออนไลน์. 2018-04-02. สืบค้นเมื่อ 2020-05-28.
  18. "จีนสนใจ'สนามบินโคราช' ฝันสายการบินกัมพูชาร่วม". 2019-11-21. สืบค้นเมื่อ 2020-05-28.
  19. ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศ กรมท่าอากาศยาน
  20. "ข้อมูลสถิติท่าอากาศยานสังกัดกรมท่าอากาศยาน". กรมท่าอากาศยาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-10. สืบค้นเมื่อ 2020-05-08.
  21. "สนามบินโคราชกลับมาเปิดใช้บริการแล้ว". 2018-04-11. สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.