สนธิสัญญาเบาว์ริง

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สนธิสัญญาเบาริง)

สนธิสัญญาเบาว์ริง
หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีจักรวรรดิบริเตนกับราชอาณาจักรสยาม
สนธิสัญญาเบาว์ริงฉบับภาษาไทยเขียนลงสมุดไทย ก่อนส่งไปจักรวรรดิบริเตน ให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรประทับตรา
ประเภทสนธิสัญญาการค้า
วันลงนาม18 เมษายน พ.ศ. 2398
ที่ลงนามกรุงเทพมหานคร สยาม
วันตรา6 เมษายน พ.ศ. 2399
วันมีผล6 เมษายน พ.ศ. 2399
เงื่อนไขต้องประทับตราเข้ามาเปลี่ยนกันจึงใช้ได้
ภาคีไทย สยาม
สหราชอาณาจักร จักรวรรดิบริติช
ภาษาไทยและอังกฤษ
th:สนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ วิกิซอร์ซ

หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างจักรวรรดิบริเตนกับราชอาณาจักรสยาม (อังกฤษ: Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam)[1] หรือบนปกสมุดไทย ใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญาเซอยอนโบวริง[2] หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง (อังกฤษ: Bowring Treaty)[3] เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ วันที่ 18 เมษายน 2398 ประทับตราและบังคับใช้วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2399 โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ[4] โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาฉบับก่อนหน้าซึ่งได้รับการลงนามระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2399[5]

สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก[6] สนธิสัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครและรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้[4]

เบื้องหลัง[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2393 มีพระราชปณิธานช่วยเหลือราษฎรด้านความเป็นอยู่ โดยมีพระราชดำริแตกต่างจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐา หลายอย่าง โดยทรงเห็นว่าการเปิดให้ค้าข้าวกับต่างประเทศได้อย่างเสรีจะสร้างประโยชน์แก่บ้านเมืองมหาศาล[7] จะทำให้ข้าวราคาสูงขึ้น เพราะมีความต้องการซื้อข้าวจากต่างชาติ ชาวนาก็จะมีเงินมากขึ้น ข้าวจะกลายเป็นสินค้าส่งออกของไทย สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลเช่นกัน ตลอดจนทรงเห็นว่านโยบาย "ปิดข้าว" สร้างรายได้ให้แก่คนส่วนน้อย ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม[8]

"แต่ก่อนในหลวงห้ามปิดเข้า [ข้าว] ไว้ไม่ให้เอาออกไปขายนอกประเทศ ยอมให้เอาไป แต่ภอเปนสเบียง คนทั้งปวงที่มิใช่ชาวนาแลพ่อค้าเรือต่างประเทศก็มีความสบาย ด้วยเข้าถูก [ข้าวมีราคาถูก] แต่ชาวนาไม่ชอบใจ เพราะขายเข้าได้น้อย ไม่ภอกิน ต้องทิ้งที่นาไปหากินอย่างอื่น ถึงพ่อค้าก็ไม่ชอบใจ ด้วยอยากจะขายเข้าออกไปนอกประเทศ ต้องลักลอบเอาไป ..." (ทั้งหมดสะกดตามต้นฉบับ)[8]

การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมแก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขายกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความตึงเครียดใน พ.ศ. 2393 มิชชันนารีทั้งหลายถึงกับเกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้น[9] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงอันตรายจากการที่ไทยไม่ยอมประนีประนอมกับชาติตะวันตก โดยทรงดูจากจีนและพม่าที่ตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ[10] ตลอดจนทรงตระหนักถึงความจำเป็นของวิทยาการสมัยใหม่สำหรับอนาคตของชาติ[11] จึงได้ทรงประกาศเจตนาว่ายินดีจะทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสได้นำจดหมายของเรเวอเรนด์ ยอนเทเลอโยนส์ ลงพิมพ์ มีใจความว่า

"เจ้าฟ้ามงกุฎได้ตรัสอย่างชัดเจน ว่าทางการที่ปฏิบัติต่อคณะทูตเมื่อปีก่อนนั้นทั้งหมดเป็นไปด้วยความเห็นผิดเป็นชอบของคน ๆ เดียว และถ้าคณะทูตกลับมาอีก ก็คงจะได้รับความต้อนรับโดยเมตตา ไม่ต้องระแวงว่าความประสงค์อันสำคัญยิ่งของคณะทูตจะไม่สำเร็จดังปรารถนา..."[12]

สนธิสัญญาเบาว์ริงนี้มีเนื้อหาคล้ายกับสนธิสัญญานานกิงซึ่งจีนลงนามร่วมกับอังกฤษภายหลังสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ใน พ.ศ. 2385 และก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริงเพียงหนึ่งปี (พ.ศ. 2397) สหรัฐอเมริกาก็บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศด้วยการลงนามในสนธิสัญญาคานางาวะโดยใช้สนธิสัญญานานกิงเป็นต้นแบบ[10] สนธิสัญญาเบาว์ริงถูกเรียกว่าเป็น "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" หรือ "สนธิสัญญาที่เสียเปรียบ" เนื่องจากสยามไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเจรจาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกรงกลัวในแสงยานุภาพทางทหารของอังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งได้ทำให้รู้สึกท้อถอยที่จะป้องกันมิให้มีการค้ากับชาติตะวันตก[13] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ระบุว่า ความต้องการสำคัญของอังกฤษก็คือการเข้ามาค้าฝิ่นได้อย่างเสรีในสยามและไม่ต้องเสียภาษี และอังกฤษพร้อมทำสงครามกับสยามอยู่แล้วหากการเจรจาไม่ประสบผล[14]

การเจรจา[แก้]

จอห์น เบาว์ริง

เมื่อทราบว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ทรงแสดงความต้องการจะทำสนธิสัญญาด้วย รัฐบาลอังกฤษก็ได้ส่งจอห์น เบาว์ริงเข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ใน พ.ศ. 2398 โดยปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมไทย ให้ทูตเชิญพระราชสาส์นสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเข้ามาถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย จึงได้รับการต้อนรับดีกว่าทูตตะวันตกที่ผ่านมาทั้งหมด[12]

จอห์น เบาว์ริง อยู่ในกรุงสยาม 1 เดือน และใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เจรจากับ “ผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม” 5 พระองค์และคน คือ[15]

จอห์น เบาว์ริงกล่าวยกย่องผู้แทนรัฐบาลไทยสองท่าน ว่ามีความเห็นสอดคล้องกับตน ได้แก่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท สำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นั้นได้ตำหนิระบบผูกขาดและการทุจริตของชนชั้นสูงอย่างรุนแรง และออกปากจะช่วยทูตอังกฤษในการแก้ไขสนธิสัญญา ถึงกับทำให้เบาว์ริงสงสัยว่าจะพูดไม่จริง แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่าเป็นคนพูดจริงทำจริง และได้สรรเสริญว่าเป็นบุคคลที่ฉลาดยิ่งกว่าคนอื่นที่พบปะมาแล้ว[16]

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เบาว์ริงได้ตำหนิสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ผู้มีความคิดในการค้าผูกขาด และคัดค้านข้อเสนอของทูตอังกฤษอยู่เสมอ เบาว์ริงเห็นว่า ทั้งสองคนนี้เองที่ทำให้การเจรจาขอแก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ไม่ประสบความสำเร็จ[17]

สาระสำคัญ[แก้]

สรุปสาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง มีดังนี้

  1. คนในบังคับอังกฤษจะอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกงสุลอังกฤษ นับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว
  2. คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และสามารถพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้ ภายในอาณาเขตสี่ไมล์ (สองร้อยเส้น) แต่ไม่เกินกำลังเรือแจวเดินทางในยี่สิบสี่ชั่วโมงจากกำแพงพระนคร คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวได้ คนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล
  3. ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจน
    1. อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
    2. สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก
  4. พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง
  5. รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือและปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ[18]

หนังสือพ่วงท้าย[แก้]

นอกจากหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีแล้ว ยังมีหนังสือพ่วงท้ายอีกสองฉบับ โดยเป็นข้อกำหนดที่พ่อค้าอังกฤษจะต้องปฏิบัติ กับพิกัดภาษี โดยแบ่งสินค้าออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่เสียภาษีเฉพาะเมื่อบรรทุกลงเรือ และประเภทที่เสียเฉพาะภาษีชั้นใน โดยตัวอย่างพิกัดภาษี เช่น[12]

ประเด็นด้านการเก็บภาษีขาเข้า[แก้]

ตามสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยได้รับเงื่อนไขให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งยังเสียเปรียบกว่าจีนและญี่ปุ่นที่ถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 5 โดยตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น พ.ศ. 2400 อังกฤษยังยอมให้สินค้าบางชนิดเก็บอัตราภาษีขาเข้าสูงกว่าร้อยละ 5 โดยบางชนิดสูงถึงร้อยละ 35 ก็มี[17] ส่วนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับก่อนหน้านั้น ทั้งที่ทำกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ต่างก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องภาษีขาเข้าแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมา ในปี พ.ศ. 2409 ชาติตะวันตกหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์จึงได้ร่วมกันบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเก็บอัตราภาษีขาเข้าส่วนใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 5[17]

ใน พ.ศ. 2398 เจ้าพระยาพระคลังได้ขอดูหนังสือสัญญาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกากับเทาเซนด์ แฮริส ทูตอเมริกันที่เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี แต่แฮริสไม่ต้องการให้เห็น จึงได้บ่ายเบี่ยงว่าไม่ได้นำหนังสือติดตัวมาด้วย[17] จึงทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ไทยยังเสียเปรียบประเทศเอเชียอื่นที่ถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกัน

เดิมก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยเคยเก็บภาษีขาเข้าจากพ่อค้าฝรั่งถึงร้อยละ 8[19]

การทำข้อไขสัญญา[แก้]

เมื่อทูตอังกฤษเดินทางนำหนังสือสัญญากลับไปยังรัฐบาลอังกฤษให้ลงหนังสือรับรอง รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าข้อความบางตอนในหนังสือสัญญาคลุมเครือ จึงให้แฮริปากส์ ผู้ถือหนังสือสัญญาแทนเบาว์ริงกลับไปยังลอนดอน มาทำข้อไขสัญญาอีกฉบับหนึ่ง อธิบายความที่ยังคลุมเครืออยู่ ทางรัฐบาลสยามก็ต้องการให้การทำหนังสือสัญญากับอังกฤษเป็นไปด้วยดี ก็ผ่อนปรนตามคำขอของแฮริปากส์ ในส่วนนี้สยามได้อากรสวนผลไม้เพิ่มขึ้น[20]

ผลที่ตามมา[แก้]

ฝ่ายอังกฤษประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยรัฐบาลสยามยอมให้อังกฤษเข้ามาตั้งกงสุล มีอำนาจพิจารณาคดีที่คนอังกฤษมีคดีความกัน และร่วมพิจารณาคดีที่คนไทยกับอังกฤษมีคดีความกัน ข้าว เกลือและปลาไม่เป็นสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป[12] นอกจากนี้ ยังเป็นการรับเอาวิทยาการตะวันตกสมัยใหม่เข้าสู่ประเทศ ซึ่งทำให้ชาวต่างประเทศยอมรับมากขึ้น[21]

การทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับประเทศอื่น[แก้]

เมื่อสยามได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษแล้ว ก็ต้องการจะทำหนังสือสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศอื่นต่อไป เพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้า และเป็นโอกาสให้ของในสยามมีราคาสูงขึ้น และสินค้าต่างประเทศมีราคาต่ำ[19] ในการณ์นี้ รัฐบาลสยามจึงแต่งตั้งให้จอห์น เบาว์ริงเป็นพระยาสยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ คอยทำหนังสือสัญญาต่าง ๆ แทน โดยประเทศที่ทำหนังสือสัญญากับไทยในเวลาต่อมา มีดังนี้

ประเทศที่ทำสัญญาโดยส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร ได้แก่[19]

ประเทศ วันที่ (นับแบบเก่า)
สหรัฐอเมริกา 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2399
ฝรั่งเศส 15 สิงหาคม พ.ศ. 2399
เดนมาร์ก 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401
โปรตุเกส 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2401
แฮนซีแอติกรีปับลิก 25 ตุลาคม พ.ศ. 2403
เนเธอร์แลนด์ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2403
ปรัสเซีย 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404

และที่ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยาสยมานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ ได้แก่[19]

ประเทศ วันที่ (นับแบบเก่า)
นอร์เวย์ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2401
เบลเยียม 29 สิงหาคม พ.ศ. 2401
อิตาลี 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401
โปรตุเกส 3 ตุลาคม พ.ศ. 2401
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2402

การเลิกค้าขายกับจีน[แก้]

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ได้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนตามประเพณี แต่ตอนคณะทูตกำลังเดินทางกลับจากปักกิ่งได้ถูกโจรผู้ร้ายปล้นเอาทรัพย์สินไปกลางทาง "ตั้งแต่นั้นมา ที่กรุงก็มิได้แต่งทูตออกไปจิ้มก้องจนทุกวันนี้"[22] จนถึง พ.ศ. 2403 ก็ปรากฏหลักฐานว่าสยามมิได้แต่งสำเภาไปค้าขายกับจีนอีก

หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่าการที่สยามส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจีนนั้นอาจทำให้ฝรั่งสิ้นความนับถือในเอกราชของสยาม จึงทรงได้ยกเลิกประเพณีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจีนอย่างเด็ดขาด นับเป็นการตัดไมตรีที่มีมากับจีนตั้งแต่สมัยโบราณที่พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน ๆ ทรงพยายามรักษามาโดยตลอด[23]

การทำเงินแป[แก้]

เพียงปีเดียวหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริง มีเรือต่างประเทศเข้ามาค้าขายยังกรุงเทพมหานครเป็น 103 ลำ และแต่งเรือออกไปค้าขายกับต่างประเทศถึง 37 ลำ[24] ทำให้มีเงินเหรียญแพร่สะพัดในสยามเป็นจำนวนมาก แต่ราษฎรสยามที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครไม่มีใครรับ เพราะไม่เคยใช้มาก่อน ต้องให้ช่างในคลังมหาสมบัติทำเงินตรา แม้จะทำไปได้ถึงกว่า 250,000 เหรียญแล้วก็ยังใช้ไม่ทันกาล[24] พ่อค้าต่างชาติก็ขอให้ทางการประกาศให้ใช้เงินเหรียญ รัฐบาลจึงให้เงินตราสิบชั่งเป็นเงินเหรียญ 480 เหรียญ[25] แต่ครั้นประกาศให้ราษฎรรับเงินเหรียญไปใช้แทนเงินพดด้วง ราษฎรก็ไม่รับไป ต้องออกพระราชบัญญัติให้รับเงินเหรียญนอกไว้

แต่เมื่อเงินเหรียญใช้กันแพร่หลาย ราษฎรก็นำเงินบาทไปซุกซ่อนไว้ และจ่ายภาษีด้วยเงินเหรียญ[25] ทำให้เงินบาทขาดแคลน ในปี พ.ศ. 2399 และ พ.ศ. 2400 เกิดความติดขัดด้านการค้าขาย ครั้นพอสยามจะส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศก็ให้ทูตซื้อเครื่องจักรทำเงินเหรียญกลับมาด้วย พอมาติดตั้งที่กรุงเทพมหานครได้แล้ว เรียกเงินตราแบบเงินเหรียญว่าเงินแป พอผลิตออกมาได้แล้วก็พบว่าราษฎรนิยมใช้กัน ปัญหาด้านการค้าจึงหมดไป[26]

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ[แก้]

"เซอร์ยอน เบาริ่งกล่าวถึงความสำเร็จในสนธิสัญญาฯ ว่า จะก่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แก่การคลังของไทย เพราะเอกสิทธิ์และสิทธิผูกขาดการหาผลประโยชน์ ซึ่งเดิมตกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน ถูกเพิกถอนเสียมากมายหลายอย่าง เหตุการณ์ที่ปรากฏต่อมาภายหลังเป็นพยานอย่างดี ว่าความคิดเห็นของเขามีส่วนถูกต้องมากทีเดียว"
—ชัย เรืองศิลป์[27]

การแลกผูกขาดการค้าของรัฐบาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ราษฎรสามารถซื้อขายสินค้าได้โดยอิสระ รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขายสินค้ามีค่า เช่น ไม้ฝาง ไม้กฤษณา หรืองาช้างอีก เพราะรัฐบาลจะขาดทุน[27]

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้แต่งพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงความมั่งคั่งว่า

"ลูกค้านานาประเทศเข้ามาค้าขาซื้อเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๓๐๐ ลำ บางปีก็ถึง ๕๐๐ ลำ ราษฎรก็ได้ขายเข้าไปแก่ลูกค้านานาประเทศ เป็นจำนวนเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๘๐๐๐๐ เกวียน [...] ราษฎรก็ได้มั่งมีเงินทองขึ้นทุกแห่งทุกตำบล จนชั้นแต่ลาวเป็นคนเกียจคร้านไม่ใคร่จะทำไร่ไถนา [...] ทุกวันนี้มีเงินซื้อกิน ไม่เหมือนแต่ก่อน"[28]

ข้าวได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย เรือต่างประเทศก็จะเข้ามาบรรทุกข้าวและสินค้าอื่นไปขายต่อยังจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เงินตราต่างประเทศเข้าสู่ราชสำนักเป็นจำนวนมาก ราษฎรทั่วบ้านทั่วเมืองก็มีเงินตราหมุนเวียนอยู่ในมืออย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน[29] และเมื่อเลิกห้ามไม่ให้ส่งข้าวขายยังต่างประเทศ ก็ทำให้มีการทำนาแพร่หลายกว่าแต่ก่อน มีที่นาใหม่เกิดขึ้นทุกปี พ่อค้าต่างชาติก็ขนข้าวออกไปปีละหลายหมื่นเกวียน "ราษฎรก็กดราคาเข้าให้แพงอยู่เป็นนิตย์ ด้วยคิดจะขายเอาเงินให้มาก"[30] ทั้งนี้ ราคาข้าวในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ที่เกวียนละ 16 ถึง 20 บาท แพงกว่าสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งอยู่ที่เกวียนละ 3 ถึง 5 บาท[31]

การที่ราษฎรมีเงินมากกว่าแต่ก่อนก็ทำให้ชาวนามีโอกาสไถ่ลูกเมียที่ขายให้แก่ผู้อื่น ทั้งราคาทาสก็แพงขึ้นกว่าสมัยก่อนด้วย โดยใน พ.ศ. 2412 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ฝรั่งผู้หนึ่งซื้อทาสเป็นเงิน 350 บาท ผัวเป็นคนขาย[31]

ฝรั่งที่เข้ามาจ้างลูกจ้างคนไทยต่างก็ให้ค่าจ้างเป็นรายเดือนและโบนัส คิดเป็นมูลค่าสูงกว่าข้าราชการไทยเสียมาก[32] เพราะได้รับพระราชทานเงินเบี้ยหวัดประจำปีอย่างเดียว รัฐบาลจึงได้เพิ่มเงินเบี้ยหวัดและค่าแรงแก่ข้าราชการและคนงานมากขึ้น จนเพิ่มเป็นหมื่นชั่งเศษในปลายรัชกาลที่ 4[33] ส่วนพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้างที่ออกในรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดอัตราค่าจ้างไว้ดังนี้: ถ้ากินอาหารของหลวง วันละ 16 อัฐ ถ้านำอาหารมาเอง วันละ 32 อัฐ (ยกเว้นมณฑลนครศรีธรรมราชให้ 24 อัฐ) ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มค้าแรงจากสมัยก่อนทั้งหมด ตามแนวโน้มราคาของกินของใช้[33]

ด้านพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับแจ้งจากทางกงสุลว่าฝรั่งในกรุงไม่มีหนทางขี่รถขี่ม้าไปเที่ยว ทรงพระราชดำริว่า การตัดถนนจะเป็นการทำให้บ้านเมืองงดงามขึ้น จึงทรงให้สร้างถนน ได้แก่ ถนนหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง และถนนสีลม แต่ละเส้นกว้าง 5 ศอก กับคลองถนนตรงและคลองสีลม[34] นอกจากนี้ยังมีการสร้างตึกแถวและสะพานเหล็กอีกด้วย

ในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ฝรั่งต่างก็เข้ามาตั้งโรงงานในสยามเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาลทราย อู่ต่อเรือ โรงเลื่อยไม้ เป็นต้น การที่สยามรับเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้หลายอย่างนี้ทำให้ฝรั่งเรียกขานว่าเป็น "เมืองไทยยุคใหม่"[35]

ผลของสนธิสัญญายังเป็นการให้สิทธิเสรีภาพในการถือครองที่ดินแก่ทั้งราษฎรไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งแต่ก่อนราษฎรไม่ค่อยกล้าให้ชาวต่างประเทศถือครองที่ดินเพราะกลัวในหลวงจะกริ้ว[36] รัฐบาลไทยอยากให้ฝรั่งเข้ามาตั้งโรงงานสมัยใหม่ จำต้องยอมผ่อนปรนเรื่องการถือครองที่ดินให้แก่ฝรั่ง แต่ก็ไม่ใช่จะถือครองได้ทุกที่ รัฐบาลแบ่งที่ดินออกเป็นสามเขต คือ ในพระนครและห่างกำแพงพระนครออกไปสองร้อยเส้นทุกทิศ ยอมให้เช่าแต่ไม่ยอมให้ซื้อ ถ้าจะซื้อต้องเช่าครบ 10 ปีก่อน หรือจะต้องได้รับอนุญาตจากเสนาบดี เขตที่ล่วงออกไป เจ้าของที่และบ้านมีสิทธิให้เช่าหรือขายกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่มีข้อแม้ แต่ล่วงจากเขตนี้ไปอีก ห้ามมิให้ฝรั่งเช่าหรือซื้อโดยเด็ดขาด[37] เมื่อราษฎรได้รับสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ราษฎรก็มีทางทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง คือ การจำนองที่ดินเพื่อกู้เงิน หรือขายฝากขายขาดที่ดินของตนได้[38]

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าฝรั่งต้องการดีบุกมาก เนื่องจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองกระ เมืองระนองและเมืองภูเก็ต ซึ่งเคยทำงานขุดแร่ดีบุกมาก่อน ก็ระดมไพร่มาขุดแร่ดีบุกอย่างเต็มที่ จึงผลิตดีบุกได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน รัฐบาลก็พลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย[39]

ใน พ.ศ. 2410 รัฐบาลมีรายได้ปีละ 3,200,000 บาท ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่ารายได้ที่ควรจะเป็นอยู่มาก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำต้องปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและการคลัง เพื่อมิให้เงินแผ่นดินรั่วไหลไปสู่มือข้าราชการ[40]

การยกเลิก[แก้]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความพยายามเจรจาเพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษ โดยเอ็ดเวิร์ด เอช. สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน เสนอให้ไทยแลกหัวเมืองมลายู พร้อมกับขอกู้เงิน 4 ล้านปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 โดยรัฐบาลไทยยอมยกสี่รัฐมาลัย (ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส) ตลอดจนเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ ฝ่ายอังกฤษให้คนในบังคับตนที่ลงทะเบียนไว้กับกงสุลก่อนหน้านี้ขึ้นกับศาลต่างประเทศ และให้คนในบังคับหลังทำสนธิสัญญาฉบับนี้ขึ้นกับศาลไทย โดยมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมพิจารณาคดี แต่ศาลกงสุลยังมีอำนาจนำคดีไปพิจารณาได้[41]

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ รัฐบาลสยามพยายามเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีศุลกากร ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีเงื่อนไขว่าสยามจะต้องบังคับใช้ประมวลกฎหมายตามแบบสมัยใหม่ และบางประเทศได้ขอสิทธิพิเศษเพิ่มเติมอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ภายใน พ.ศ. 2470 ประเทศต่าง ๆ นับสิบประเทศก็ยินยอมลงนามแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าว[42]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 160.
  2. พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 168.
  3. พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 169.
  4. 4.0 4.1 Siam. Encyclopædia Britannica Eleventh Edition. สืบค้น 17-12-2553.
  5. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 155.
  6. "Ode to Friendship, Celebrating Singapore - Thailand Relations: Introduction". National Archives of Singapore. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-03. สืบค้นเมื่อ 2007-04-24.
  7. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 173.
  8. 8.0 8.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 174.
  9. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 168.
  10. 10.0 10.1 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 17.
  11. ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6. หน้า 150.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 179.
  13. "Impacts of Trade liberalization under the Agreement on Agriculture (AoA) of the World Trade Organization: A Case Study of Rice". Rural Reconstruction and Friends Alumni, Asia Pacific Research Network. 2002-12-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-04-24.
  14. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 23.
  15. พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 160-161.
  16. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 179-180.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 180.
  18. Ingram, James C. (1971). Economic Change in Thailand 1850-1970. California: Stanford University Press. p. 34.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 181.
  20. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 197.
  21. ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6. หน้า 151.
  22. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 182.
  23. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 183.
  24. 24.0 24.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 184.
  25. 25.0 25.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 185.
  26. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 186-187.
  27. 27.0 27.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 202.
  28. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 188.
  29. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 204.
  30. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 205.
  31. 31.0 31.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 206.
  32. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 207.
  33. 33.0 33.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 208.
  34. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 208-209.
  35. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 215.
  36. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 218.
  37. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 218-219.
  38. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 220.
  39. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 220-221.
  40. ชัย เรืองศิลป์. หน้า 222.
  41. ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6. หน้า 182.
  42. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 50-51.

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2 ed.). กรุงเทพฯ: มติชน. 2547. ISBN 9743230866.
  • ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244.