สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส
ร.ศ. 122
อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122
สำเนาสนธิสัญญาฯ ฉบับภาษาไทย
ประเภทอนุสัญญา
บริบท
วันร่าง11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446
วันลงนาม13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446
ที่ลงนามกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ผู้ลงนามไทย เกิด บุนนาค
ฝรั่งเศส เตโอฟิล เดกาสเซ
ภาคีไทย ราชอาณาจักรสยาม
ฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3
ภาษาภาษาไทย
ภาษาฝรั่งเศส
หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 ที่ วิกิซอร์ซ
เจดีย์อิสระภาพ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ภายในป้อมไพรีพินาศ สร้างขึ้นมาบริเวณเขาแหลมสิงห์เพื่อเป็นที่ระลึกในการประกาศอิสระภาพหลังประเทศฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกจากจังหวัดจันทบุรี

สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122[1] (อังกฤษ: Franco–Siamese Treaty of 1904; ฝรั่งเศส: Traité français–siamois de 1904) เป็น อนุสัญญา (convention) หรือที่ในสมัยนั้นเรียกว่า "สัญญาน้อย" ระหว่าง ราชอาณาจักรสยาม (ต่อมาคือ ประเทศไทย) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ กับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในสมัยของประธานาธิบดีเอมีล ฟรังซัวส์ ลูแบ (Émile François Loubet) มีเนื้อหาสำคัญเป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนใกล้เคียงซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้ว กับทั้งยังให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ชาวฝรั่งเศสหรือผู้อยู่ในบังคับฝรั่งเศสด้วย

การลงนาม[แก้]

ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายสยามซึ่งลงลายมือชื่อในสนธิสัญญา คือ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เอกอัครราชทูตสยามประจำประเทศฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายฝรั่งเศส คือ เตโอฟิล เดกาสเซ (Théophile Delcassé) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[2]

การเจรจามีขึ้น ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 (ตรงกับ ค.ศ. 1904 และ พ.ศ. 2446) และลงลายมือชื่อกันในอีกสองวันถัดมา[3]

เนื้อหา[แก้]

การกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชา[แก้]

เนื้อหาสำคัญของสนธิสัญญานี้ ข้อ 1 เป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชาซึ่งสมัยนั้นเป็นรัฐอารักขา (protectorate) ของประเทศฝรั่งเศส โดยให้ใช้สันปันน้ำ (watershed) หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า "ภูเขาปันน้ำ" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขาบรรทัดหรือที่ในภาษากัมพูชาเรียก "พนมดงรัก" (Pnom Dangrek) เป็นเส้นเขตแดน โดยกำหนดว่า[4]

"เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชานั้น ตั้งต้นแต่ปากคลองสดุงโรลูออสข้างฝั่งซ้ายทะเลสาบ เป็นเส้นเขตแดนตรงทิศตะวันออก ไปจนบรรจบถึงคลองกะพงจาม ตั้งแต่ที่นี้ต่อไป เขตแดนเป็นเส้นตรงทิศเหนือขึ้นไปจนบรรจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือ ภูเขาบรรทัด) ต่อนั้นไป เขตแดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูนอีกฝ่ายหนึ่ง จนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไปแม่โขง เป็นเขตแดนของกรุงสยามตามความข้อ 1 ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112"

อนึ่ง ข้อ 3 ว่า ในการกำหนดเขตแดนตามข้อ 1 ให้ภาคีทั้งสองฝ่ายตั้ง "คณะกรรมาธิการร่วม" (Joint Commission) หรือที่ในสมัยนั้นเรียก "ข้าหลวงร่วม" ไปร่วมกันปักปันเขตแดนตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อ 1 นั้นเอง โดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมนี้ ให้รีบดำเนินการภายในสี่เดือนนับแต่สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ[5]

ข้อ 5 ยังระบุว่า เมื่อกระบวนการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายประเทศฝรั่งเศสจะได้สั่งให้ถอนกองทหารของตนที่เข้าประจำการในจังหวัดจันทบุรีโดยอาศัยอำนาจตามสนธิสัญญา ลงวันที่ 2 ตุลาคม ร.ศ. 112 นั้น ออกจากจังหวัดดังกล่าวทันที[6]

การสละอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศลาว[แก้]

ในข้อ 4 แห่งสนธิสัญญาดังกล่าว รัฐบาลสยามยังยอมสละอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศลาวให้แก่ประเทศฝรั่งเศส[7] นอกจากนี้ ข้อ 2 แห่งสนธิสัญญา ยังกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศลาวด้วย ว่า[8]

"ฝ่ายเขตแดนในระหว่างเมืองหลวงพระบางข้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง แลเมืองพิชัย กับเมืองน่านนั้น เขตแดนตั้งต้นแต่ปากน้ำเฮียงที่แยกจากแม่โขง เนื่องไปตามกลางลำน้ำแม่เฮียง จนถึงที่แยกปากน้ำตาง เลยขึ้นไปตามลำน้ำตางจนบรรจบถึงยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขง แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่ภูเขาแดนดิน ตั้งแต่ที่นี้ เขตแดนต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขงแลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา จนบรรจบถึงปลายน้ำควบแล้ว เขตต่อแดนเนื่องไปตามลำน้ำควบจนบรรจบกับแม่น้ำโขง"

อื่น ๆ[แก้]

ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญา ว่า ประเทศสยามให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประเทศฝรั่งเศส โดยกำหนดว่า คนในบังคับฝรั่งเศสมีสิทธิที่จะไม่ขึ้นศาลสยามได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา[9]

ส่วนเนื้อหาอื่น ๆ เป็นการตกลงกันว่า

  • สยามกับฝรั่งเศสจะร่วมมือกันพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสารในบริเวณประเทศลาวและประเทศกัมพูชาซึ่งติดต่อกับประเทศสยาม
  • ประเทศสยามจะอุทิศดินแดนบางส่วนในประเทศให้เป็นที่ตั้งที่ดำเนินงานของฝ่ายฝรั่งเศส[10]
  • กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าเป็นคนในบังคับของประเทศฝรั่งเศส[11]
  • ทหารไทยที่จะเข้าไปในบริเวณแม่น้ำโขงต้องเป็นผู้ถือสัญชาติไทยเท่านั้น ยกเว้นตำรวจภูธรของไทยที่มีผู้บังคับบัญชาเป็นชาวเดนมาร์ก ถ้าสยามจะใช้คนสัญชาติอื่น ต้องแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบก่อน
  • ในมณฑลบูรพา สยามจะจัดให้มีแต่พลตระเวนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น
  • สยามอนุญาตให้ฝรั่งเศสใช้ที่ดินบริเวณ เชียงคาน หนองคาย เมืองสนัยบุรี ปากแม่น้ำคาน มุกดาหาร เมืองเขมราฐ ปากแม่น้ำมูล ตามรายละเอียดในสนธิสัญญา พ.ศ. 2436
  • ถ้าข้อความทั้งสองภาษามีความขัดแย้งกัน ให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก

การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชา[แก้]

แผนที่ตามเอกสารแนบท้ายหมาย 1[แก้]

ผลของสนธิสัญญา[แก้]

สนธิสัญญานี้มีผลต่อการกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับลาวในปัจจุบัน และเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาบางส่วน โดยเมื่อสยามยกมณฑลบูรพาให้ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2449 ได้มีสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส พ.ศ. 2449 เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างไทย-กับกัมพูชาบริเวณมณฑลบูรพาเดิมใหม่[ต้องการอ้างอิง] และยังได้รับการอ้างถึงในคำพิพากษาศาลโลกในกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารไทย-กัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2505

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ชื่ออื่นของสนธิสัญญานี้ คือ
    • ชื่ออย่างเป็นทางการ - "อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122" (Convention between France and Siam Modifying the Stipulations of the Treaty of 3 October 1893 Concerning the Territories and the Other Agreements, Signed at Paris on 13 February 1904; Convention entre la France et le Siam Modifiant les Stipulations du Traité du 3 Octobre 1893, Concernant des Territoires et des Autres Arrangements, Signé à Paris le 13 Février 1904)
    • ชื่อที่ใช้ในต้นฉบับภาษาไทย - "หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ซึ่งได้ลงชื่อกันที่กรุงปารีส ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122"
  2. ดู อารัมภบทสนธิสัญญาฯ นี้
  3. ดู ท้ายสนธิสัญญาฯ นี้
  4. ดู ข้อ 1 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
    ทั้งนี้ ข้อความในสนธิสัญญาฉบับภาษาฝรั่งเศสระบุดังนี้

    "La frontière entre le Siam et le Cambodge part, sur la rive gauche du Grand-Lac, de l'embouchure de la rivière Stung-Roluos ; elle suit le parallèle de ce point dans la direction de l'Est jusqu'à la rencontre de la rivière Prék-Kompong- Tiam, puis, remontant vers le Nord, elle se confond avec le méridien de ce point de rencontre jusqu'à la chaîne de montagnes Pnom-Dang-Rek. De là elle suit la ligne de partage des eaux entre les bassins du Nam-Sen et du Mékong, d'une part, et du Nam-Moun d'autre part, et rejoint la chaîne Pnom-Padang dont elle suit la crête vers l'Est jusqu'au Mékong. En amont de ce point, le Mékong reste la frontière du royaume de Siam, conformément à l'article 1er du traité du 3 octobre 1893."

  5. ดู ข้อ 3 วรรค 1 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  6. ดู ข้อ 5 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  7. ดู ข้อ 4 วรรค 1 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  8. ดู ข้อ 2 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้ ทั้งนี้ ข้อความในสนธิสัญญาฉบับภาษาฝรั่งเศสระบุดังนี้

    "Quant à la frontière entre le Luang-Prabang, rive droite, et les provinces de Muang-Phichaï et Muang-Nan, elle part du Mékong à son confluent avec le Xam-Huong et, suivant le thalweg de cette rivière jusqu'à son confluent avec le Nam-Tang, remontant ensuite le cours dudit Nam-Tang, elle atteint la ligne de partage des eaux entre les bassins du Mékong et celui de la Ménam en un point situé près de Pou-Dène-Dinc. A partir de ce point, elle remonte vers le Nord, suivant la ligne de faite entre les deux bassins jusqu'aux sources de la rivière Nam-Kop dont elle suit le cours jusqu'à sa rencontre avec le Mékong."

    <
  9. ดู ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  10. ดู ข้อ 7-9 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้
  11. ดู ข้อ 10-11 แห่งสนธิสัญญาฯ นี้

ดูเพิ่ม[แก้]