สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสถาบันภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของสภาพมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีจุดประสงค์เพื่อดูแลการเรียนการสอน การอบรม วิจัย และบริการวิชาการเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแก่ประชาชนชาวไทย

ประวัติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อจัดการเรียนการสอน การอบรม วิจัย และบริการวิชาการเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแก่ประชาชนที่สนใจ นับได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งแรกๆของประเทศไทยที่มีการนำความรู้ด้านทัศนมาตรศาสตร์และเทคโนโลยีด้านสารสนเทศทางสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานดังกล่าว นับเป็นมิติใหม่ในการเรียนรู้และศึกษาอบรมทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพซึ่งจะเป็นแบบการดำเนินงานทางด้านสาธารณสุขสมัยใหม่ของการให้บริการทางสุขภาพให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าระบบที่ใช้อยู่เดิมในขณะนั้น การเปิดสอนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการศึกษาไทย โดยเฉพาะในสาขาทัศนมาตรศาสตร์ที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทยหรือแม้แต่ในเอเชียเปิดสอนหลักสูตรตามแบบหลักสูตรของสหรัฐอเมริกามาก่อน เพื่อให้ในอนาคตคนไทยไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือชาวชนบท จะมีโอกาสได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพที่เท่าเทียมและเสมอภาคกัน

หลักสูตรที่เปิดสอน[แก้]

  1. ทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ หลักสูตร 6 ปี เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพของสายตา และสาเหตุของความผิดปกติและวิธีแก้ไข เป็นหลักสูตรปริญญาตรีใช้เวลาศึกษา 6 ปี สำหรับผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และโปรแกรมเร่งรัด 4 ปี สำหรับผู้จบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปมาแล้ว โดยเปิดรับนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หลักสูตรนี้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2545
  2. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแพทย์แผนไทย หลักสูตร 4ปี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น แพทย์แผนไทยบัณฑิต ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการวิชาชีพแพทย์แผนไทย) มีจุดมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ ความเข้าใจวิถีชุมชน มีความสามารถทางวิชาการระดับมาตรฐานสากล สามารถประกอบโรคศิลปะในสาขาแพทย์แผนไทย สามารถรักษา ดูแล สร้างเสริมสุขภาพและช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ พร้อมกับส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพอย่างบูรณาการ สามารถวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพทย์แผนไทย อนุรักษ์ และคุ้มครองภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอย่างยั่งยืน
  3. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศทางสุขภาพ เป็นหลักสูตรปริญญาโทที่เปิดรับผู้จบปริญญาตรีจากทุกสาขาเข้าศึกษา โดยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2545

ความร่วมมือระหว่างประเทศ[แก้]

มหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมกับมหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นแห่งแรกของทวีปเอเชีย โดยได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดคณาจารย์มาช่วยสอนและให้คำแนะนำต่าง ๆ ในระยะแรก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นว่าจะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ตามหลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต (Doctor of Optometry) เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลของสาขาวิชานี้[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ความร่วมมือระหว่างประเทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-10. สืบค้นเมื่อ 2010-08-15.