สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันทรัพยากรมนุษย์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Human Resources Institute,
Thammasat University
ตราประจำมหาวิทยาลัย
สถาปนา16 ธันวาคม พ.ศ. 2524
ผู้อำนวยการรศ.ดร.ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์
ที่อยู่
วารสารวารสารทรัพยากรมนุษย์
เว็บไซต์http://www.hri.tu.ac.th

สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สทม.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เป็นสถาบันในกลุ่มวิจัยเฉพาะด้านและฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบทบาท ภาระหน้าที่ ในการดำเนินการวิจัย การฝึกอบรม สัมมนา เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ และผลงานวิจัย รวมทั้ง การให้บริการด้านการให้คำปรึกษาแนะนำแก่หน่วยงานต่าง ๆ โดยเน้นถึงปัญหาทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ผู้อำนวยการสถาบันคนปัจจุบัน คือ รศ.ดร.ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์

วัตถุประสงค์ของสถาบันทรัพยากรมนุษย์[แก้]

  1. เพื่อศึกษาวิจัยสภาพและปัญหาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย
  2. เพื่อเผยแพร่ข้อมูล และให้ความรู้ทางวิชาการแก่ผู้เกี่ยวข้อง และผู้สนใจโดยทั่วกัน
  3. เพื่อจัดให้มีการศึกษาในระดับสูงในลักษณะสาขาวิชาซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจกรรมด้านต่าง ๆ[แก้]

  1. งานวิจัยและคลังข้อมูล
  2. งานสัมมนาและเผยแพร่
  3. งานฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน
  4. งานให้คำปรึกษา
  5. งานที่ปรึกษาและพัฒนาระบบงาน
  6. งานโครงการสมาชิกสถาบันทรัพยากรมนุษย์
  7. งานโครงการพัฒนา Webpage

รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย[แก้]

สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ริเริ่ม รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย (Thailand Top 100 HR) ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2550 โดยจะจัดให้มีการมอบรางวัลนี้เป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อยกย่องนักทรัพยากรมนุษย์ตัวอย่างของประเทศซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์การและสังคม พร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์สู่สาธารณะ เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขององค์การและประเทศ ในปีแรกได้จัดพิธีมอบรางวัลนี้แก่นักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย จำนวน 45 ท่าน ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550 โดยมีผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ นายบัณฑูร ล่ำซำ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2552 สถาบันทรัพยากรมนุษย์กำหนดที่จะจัดพิธีมอบรางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทยครั้ง ที่ 2 โดยจะมีการมอบรางวัลแก่นักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นอีก 55 ท่าน เพื่อมีนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นครบ 100 ท่านตามโครงการที่วางไว้

ผู้อำนวยการสถาบัน[แก้]

นับแต่มีการจัดตั้งสถาบันทรัพยากรมนุษย์ถึงปัจจุบัน มีผู้อำนวยการสถาบัน จำนวน 6 คน คือ

  1. รองศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 – มกราคม พ.ศ. 2539)
  2. รองศาสตราจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ (มกราคม พ.ศ. 2539 – เมษายน พ.ศ. 2541)
  3. รองศาสตราจารย์ สุปราณี ศรีฉัตราภิมุข (กรกฎาคม พ.ศ. 2541 – กรกฎาคม พ.ศ. 2547)
  4. รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร (กรกฎาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2547)
  5. รองศาสตราจารย์ ไว จามรมาน (มกราคม พ.ศ. 2548 – สิงหาคม พ.ศ. 2554)
  6. รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร (กันยายน พ.ศ. 2548 – สิงหาคม 2557 )
  7. รองศาสตราจารย์ ดร.ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์ (กันยายน พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน)

โครงสร้างของสถาบันทรัพยากรมนุษย์[แก้]

สถาบันฯ มีโครงสร้างการบริหารตามแนวทางโครงสร้างสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย ดังนี้

  1. สำนักงานเลขานุการสถาบันฯ มีเลขานุการสถาบันฯ ดูแลรับผิดชอบ แบ่งงานเป็น 2 งาน โดยมีหัวหน้างานดูแล คือ
    1. งานบริหารและธุรการ ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วยงานย่อย ได้แก่ หน่วยสารบรรณและงานพิมพ์ หน่วยการเจ้าหน้าที่ หน่วยการเงิน บัญชี และงบประมาณ หน่วยวิเคราะห์นโยบายและแผน หน่วยพัสดุ อาคาร และสถานที่ และ หน่วยวิเทศสัมพันธ์ โดยมีภาระงานในการบริหารและดำเนินงานในภารกิจของสถาบันฯ ตามขอบเขตภาระหน้าที่ขององค์การ
    2. งานบริการวิชาการ ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วยงานย่อย ได้แก่ หน่วยฝึกอบรมและสัมมนา หน่วยที่ปรึกษาและพัฒนาระบบงาน หน่วยเผยแพร่ข้อมูลสมาชิก หน่วยบริการงานวิจัย หน่วยคลังข้อมูล และหน่วยเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยมีภาระงานในการให้บริการสังคมด้านการฝึกอบรมสัมมนาวิชาการ การให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบงานแก่หน่วยงานภายนอก การเปิดรับสมาชิกและเผยแพร่ข้อมูลและผลงานวิจัยแก่สมาชิกทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ และเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันฯ
  2. ฝ่ายวิจัย มีหัวหน้าฝ่ายวิจัยดูแลรับผิดชอบ การรับมอบหมายงานขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการสถาบัน มีภาระงานในการดำเนินโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการวิจัยในประเทศและการวิจัยระหว่างประเทศ

สถาบันฯ มีบุคลากรทั้งสิ้น 18 คน เป็นข้าราชการ จำนวน 14 คน พนักงานตำแหน่งนักวิจัย 1 คน และลูกจ้างประจำ 3 คน ในจำนวนนี้มีนักวิจัย 4 คน

สถาบันทรัพยากรมนุษย์ เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ ข่าวสาร เอกสารการวิจัย และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มากมาย และหลากหลาย จึงได้จัดตั้งโครงการสมาชิกสถาบันทรัพยากรมนุษย์ขึ้น ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการอันเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผน และการวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจน เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบัน โดยรับสมัครสมาชิกเป็นรายปีจากฝ่ายบุคคล และฝ่ายต่าง ๆ ของหน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไป

สถาบันฯ จะจัดส่งเอกสารให้แก่สมาชิกทุก ๆ 2 เดือน ได้แก่ เอกสารทางวิชาการต่าง ๆ จดหมายข่าวสถาบัน และคำปรึกษาแนะนำทางด้านข้อมูล การวางแผน รวมทั้งข่าวสารกิจกรรมของสถาบันฯ ปัจจุบันสถาบันฯ มีสมาชิกอยู่มากกว่า 150 ราย

อ้างอิง[แก้]