สงวน รุจิราภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พลเรือตรี สงวน รุจิราภา เป็นอดีตนายทหารเรือชาวไทย เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ประวัติ[แก้]

พล.ร.ต.สงวน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่บ้านบางกระทิง ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบิดามารดาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีความอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียน จนสามารถจบการศึกษาประกาศนียบัตรแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2463

การรับราชการ[แก้]

เข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหารเรือในสังกัดกองเสนารักษ์ทหารเรือ (ปัจจุบัน คือ กรมแพทย์ทหารเรือ) กระทรวงทหารเรือ

คณะราษฎร[แก้]

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ขณะนั้น พล.ร.ต. สงวน ยังมียศเพียง เรือเอก ขณะที่มีอายุเพียง 33 ปี ได้รับการชักชวนจาก น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือของคณะราษฎร ซึ่งทาง ร.อ.สงวนได้ตอบตกลงทันที โดยถือว่าเป็นทหารเรือคนแรกที่ทาง น.ต. หลวงสินธุ์ฯ ชักชวนอีกด้วย ซึ่งขณะนั้น ร.อ.สงวน ได้เปิดกิจการร้านขายยาเป็นของตนเองชื่อ "รุจิราภา" เป็นห้องแถวไม้สามหลังติดต่อกันที่ถนนตะนาว ใกล้กับสามแพร่ง และถนนข้าวสาร ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่พบปะนัดเจอและประชุมวางแผนกันด้วย

บทบาทของ ร.อ. สงวน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากที่ฝ่ายทหารเรือได้ระดมกำลังลำเลียงสรรพาวุธซึ่งได้แก่ กระสุนจำนวน 45,000 นัด และปืนจากคลังอาวุธ รวมถึงกำลังพลทหารด้วยที่ท่าราชวรดิฐได้แล้วนั้น ร.อ.สงวน เป็นผู้ออกไปหารถบรรทุกรับจ้างเพื่อให้ขนสิ่งของเหล่านี้ไปยังจุดนัดหมาย คือ ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเวลา 06.00 น. ร.อ.สงวน ออกเดินตามหารถจนไปถึงท่าเตียน ได้พบกับบุคคลรู้จักโดยบังเอิญ และได้รับคำชี้แนะถึงสถานที่ว่าจ้าง จึงได้ว่าจ้างรถบรรทุกด้วยราคา 15 บาทตามที่คนขับเสนอมา ทำให้ภารกิจลุล่วงสำเร็จไปได้ด้วยดี

ร.อ.สงวน ได้รับราชการต่อไปจนกระทั่งได้ยศสูงสุดคือ พลเรือตรี (พล.ร.ต.) และได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการแพทย์การเรือ ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ถึง 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 นับเป็นเจ้ากรมคนที่ 10

การถึงแก่กรรม[แก้]

พล.ร.ต.สงวน รุจิราภา ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2499 สิริอายุได้ 59 ปี[1][2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

  •  สหรัฐ :
    • พ.ศ. 2493 - โกลด์ ครอส ออฟ ออนเนอร์[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติกรมแพทย์ ทร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-17. สืบค้นเมื่อ 2013-08-25.
  2. นายหนหวย. ทหารเรือปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555. 124 หน้า. ISBN 978-974-02-1025-2
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชาทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 41 ตอนที่ 67 หน้า 68, 25 กรกฏาคม 2493