สงครามวิปลาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามวิปลาส

Château de Vitré หนึ่งในป้อมหลักของชายแดนฝรั่งเศส-บริตัน.
วันที่ค.ศ.1485 – 1488
สถานที่
ประเทศฝรั่งเศส
ผล ฝ่ายราชวงศ์ชนะ
คู่สงคราม
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส

ฝ่ายกบฏหลวง

สนับสนุนโดย:

ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าชาร์ลที่ 8 แห่งฝรั่งเศส
แอนน์แห่งฝรั่งเศส
Louis II de la Trémoille
René II, Duke of Lorraine
Francis II, Duke of Brittany
Jean IV de Rieux
พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส
Charles, Count of Angoulême
Odet d'Aydie
John IV of Orange
Alain d'Albret
แผนที่อาณาจักรหลวง, อาณาจักรดยุคอิสระ และอาณาจักรลอร์ดต่างๆ ใน ค.ศ. 1477 ไม่นานก่อนที่จะเกิด “สงครามวิปลาส”

สงครามวิปลาส (ฝรั่งเศส: guerre folle, อังกฤษ: Mad War หรือ War of the Public Weal) เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในยุคกลางที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขุนนางผู้ครองนครกับราชบัลลังก์ฝรั่งเศส สงครามเกิดขึ้นในสมัยการปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของแอนน์แห่งฝรั่งเศส (Anne of France) ในช่วงหลังจากการเสด็จสวรรคตของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 จนถึงช่วงเวลาก่อนหน้าที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 จะทรงบรรลุนิติภาวะ (ระหว่างปี ค.ศ. 1485 จนถึง ค.ศ. 1488)

ผู้นำของกลุ่มขุนนางก็ได้แก่หลุยส์ที่ 2 ดยุคแห่งออร์เลอองส์ ผู้เป็นพระญาติของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 (ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส); ฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งบริตานี; เรอเนที่ 2 ดยุคแห่งลอร์แรน; อแลง ดาลเบรต์ (Alain d'Albret); ฌอง เดอ ชาลอง, เจ้าชายแห่งออเรนจ์; เคานท์ชาร์ลส์แห่งอองกูเลม และผู้สนับสนุนอื่นๆ

การปฏิวัติต่อต้านอำนาจของราชบัลลังก์ฝรั่งเศสนี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศที่เป็นศัตรูของฝรั่งเศสที่รวมทั้งอังกฤษ สเปน และออสเตรีย ผลหลักของสงครามคือการผนวกบริตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฝรั่งเศส

ที่มาของชื่อ[แก้]

ชื่อเชิงดูหมิ่นของสงครามที่เรียกว่า “สงครามวิปลาส” ที่ใช้ในการบรรยายความขัดแย้งระหว่างผู้ครองนครในการต่อต้านอำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นชื่อที่คิดขึ้นมาโดยพอล อีมิลในหนังสือ “Histoire des faicts, gestes et conquestes des roys de France” ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1581[1]

การนิยามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสงครามรวบยอดครั้งเดียวก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ตามมาจากความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์และขุนนางชั้นนำของราชอาณาจักรในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากการก่อตั้งสหพันธ์ขุนนางนอกราชอำนาจ (League of the Public Weal) ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางอำนาจระหว่าง ค.ศ. 1484 ถึง ค.ศ. 1485 หลุยส์แห่งออร์เลอองส์ผู้ได้รับการสนับสนุนจากฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งบริตานีและขุนนางอื่นๆ พยายามโค่นอำนาจของแอนน์แห่งฝรั่งเศสผู้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งโดยการหว่านล้อมและการขู่ว่าจะใช้กำลังทหาร แต่แอนน์สามารถยุติความขัดแย้งได้โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1485 ทั้งสองฝ่ายก็ทำการตกลงยุติความขัดแย้งกันที่บูร์กส์

ตามคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์การตกลงยุติความขัดแย้งกันที่บูร์กส์เป็นการยุติช่วงแรกของ “สงครามวิปลาส” ช่วงที่สองของความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1486 จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1488 ที่บางครั้งก็เรียกว่า “สงครามบริตานี” ผู้ให้ความเห็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ส่วนใหญ่คือกลุ่มชาตินิยมบริตานี (Breton nationalism) แยกความขัดแย้งครั้งที่สองอย่างเด็ดขาดจากครั้งแรกและเรียกว่า “สงครามฝรั่งเศส-บริตานี” หรือบางครั้งก็ถึงกับเรียกว่า “สงครามอิสรภาพบริตานี” หรือบางครั้งก็กล่าวว่าเป็นสงครามที่ต่อเนื่องจากสงครามสืบครองบริตานี (Breton War of Succession)

เหตุการณ์[แก้]

หลุยส์แห่งที่ 2 แห่งออร์เลอองส์

ในต้นรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 หลุยส์แห่งออร์เลอองส์พยายามยึดอำนาจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่มิได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแห่งตูร์ ที่ประชุมกันระหว่างวันที่ 15 มกราคมจนถึงวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1484 ในเดือนเมษายนหลุยส์แห่งออร์เลอองส์ก็ออกเดินทางไปบริตานีเพื่อไปรวมตัวกับฟรองซัวส์แห่งบริตานี ขณะเดียวกันก็ส่งจดหมายไปถึงพระสันตะปาปาทูลขอให้ประกาศให้การเสกสมรสของตนกับฌานน์เป็นโมฆะ เพื่อที่จะได้เป็นอิสระและหันไปเสกสมรสกับแอนน์แห่งบริตานีผู้เป็นทายาทของฟรองซัวส์ได้ หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาที่คาดว่าจะเป็นการเสกสมรสกับแอนน์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1484 หลุยส์ก็กลับเข้าราชสำนักและพยายามยึดการควบคุมพระเจ้าชาร์ลส์ให้มาอยู่ในมือตนเอง แต่ถูกหยุดยั้งด้วยกำลังทางทหารของแอนน์แห่งฝรั่งเศส และถูกจับโดยถูกกักกันไว้ในบ้านที่เกียง (Gien)

หลุยส์หนีจากเกียงเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1485 ไปพยายามยึดปารีสแต่ล้มเหลว และหลบหนีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ไปยังอลองซง และทำการขอพระราชทานอภัยโทษ (amende honorable) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม จากนั้นหลุยส์ก็ถูกควบคุมและจำขังไว้ที่ออร์เลอองส์เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถเดินทางไปสมทบกับผู้หนุนหลังในบริตานีได้ ขณะเดียวกันกองกำลังของฝ่ายพระมหากษัตริย์ก็ปราปรามขุนนางผู้ก่อการในบริตานีได้

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม หลุยส์ก็ออกประกาศต่อต้านรัฐบาลผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีก กองทัพฝ่ายพระมหากษัตริย์ก็นำทัพไปยังออร์เลอองส์ แต่หลุยส์หลบหนีไปยังโบชองซี (Beaugency) แต่ไปพ่ายแพ้ต่อ Louis II de La Trémoille ในเดือนกันยายน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งบริตานีก็ตกลงสงบศึกเป็นเวลาหนึ่งปี ที่เรียกว่า “สัญญาสันติภาพบูร์กส์” ที่ได้รับการลงนามกันเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1485

การฟื้นฟูความเป็นปฏิปักษ์[แก้]

ฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งบริตานี

หลังจากช่วงเวลาความตกลงสงบศึกสิ้นสุดลงการปฏิวัติก็ปะทุขึ้นอีก ในขณะนั้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1486, แม็กซิมิเลียนที่ 1 แห่งออสเตรีย ก็เข้ารุกรานทางตอนเหนือของฝรั่งเศสแล้วแต่ก็ถอยทัพ ในเดือนพฤศจิกายนกองทัพฝ่าปฏิวัติของฟรองซัวส์ เดอ ดูนัวส์ก็ยึดปราสาทที่พาร์เทเนย์ (Parthenay) เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1487 หลุยส์ก็หนีจากปราสาทที่บลัวส์โดยมีนายขมังธนูไล่ตาม แต่ก็รอดไปได้ถึงบริตานี กองทัพหลวงออกเดินทางจากตูร์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์และเริ่มทำการรุกรานทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของบริตานี ที่บอร์โดซ์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม Odet d’Aydie ข้าหลวงแห่ง Guyenne ผู้สนับสนุนฝ่ายปฏิวัติก็ถูกปลดและแต่งตั้ง Pierre de Beaujeu ขึ้นแทน กองทัพหลวงออกเดินทางจากบอร์โดซ์เมื่อวันที่ 15 มีนาคมเพื่อยึดพาร์เทเนย์ในวันที่ 30 มีนาคม ฟรองซัวส์ เดอ ดูนัวส์สามารถหนีไปสมทบกับหลุยส์ได้ที่นองต์ ฝ่ายกองทัพหลวงก็เดินทัพต่อไปยังบริตานี ซึ่งทำให้ขุนนางบริตานียอมสวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์ในสนธิสัญญาชาโตบริองต์ (Treaty of Chateaubriant) กองทัพหลวงตกลงว่าจะปฏิบัติต่อดยุคแห่งบริตานีฉันท์ศตรู และจะออกจากบริตานีทันที่ที่จับตัวหลุยส์และดูนัวส์ได้

ขณะเดียวกันทางตอนเหนือมาร์แชลเดอเอสแคร์เดส์ก็สามารถต่อต้านกองทัพของแม็กซิมิเลียนที่ 1 แห่งออสเตรียผู้ที่เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ทางด้านใต้ลอร์ดแห่งคองดาเลก็ได้รับชัยชนะต่ออแลง ดาลเบรต์ผู้นำของฝ่ายปฏิวัติในยุทธการที่นงทรง (Nontron) ดาลเบรต์ตั้งใจที่จะไปรวมตัวกับกองทัพฝ่ายปฏิวัติทางตอนเหนือ แต่ถูกบังคับให้ยินยอมคืนผู้ถูกลักตัว ในบริตานีพันธมิตรฝ่ายกษัตริย์ที่นำโดยไวเคานท์แห่งโรฮังก็ยึดทางตอนเหนือของราชอาณาจักรบริตานีได้ และยึด Ploërmel

ในเดือนเมษายนดยุคฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งบริตานีก็พยายามรวบรวมกำลังทหารในบริตานี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีผู้ที่เกลียดชังการฉ้อโกงของรัฐบาล ขณะเดียวกันกองทัพหลวงก็เริ่มเดินทางมายังบริตานี และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีที่ชาโตบริองต์, วิเทร องเซอนีส์ และคลิส์ซง กองทัพหลวงเข้าล้อมนองต์แต่พันธมิตรคอร์นนิชของบริตานีที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารรับจ้างสามารถได้รับชัยชนะต่อผู้ล้อมได้ แต่ในขณะเดียวกันทหารนอร์มันก็ปิดกันฝั่งทะเลบริตานีเพื่อกันกองสนับสนุนบริตานีที่มาจากอังกฤษและอื่นๆ ไม่ให้ขึ้นฝั่ง

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1488 ดยุคแห่งออร์เลอองส์และดยุคแห่งบริตานีก็ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในรัฐสภาแห่งปารีสว่าเป็นกบฏ ดยุคทั้งสองและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่บัดนั้นก็ไม่ถือว่าเป็น “บริวาร” (vassal) ของราชอาณาจักรอีกต่อไป แต่เป็น “ข้าแผ่นดิน” (subject) ที่มีความผิดในข้อหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté) ในฤดูใบไม้ผลิดยุคแห่งออร์เลอองส์ก็เริ่มการต่อต้านขึ้นอีกโดยการยึด Vannes, Auray และ Ploërmel

เมื่อวันที่ 24 เมษายน รัฐสภาก็ตัดสินให้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดของหลุยส์ ดยุคแห่งออร์เลอองส์ ขณะเดียวกันอแลง ดาลเบรต์ก็สามารถไปหาทุนมาได้จากราชสำนักสเปนและเดินทางไปสมทบในบริตานีพร้อมด้วยกองทหารอีก 5000 คน แม็กซิมิเลียนที่ 1 แห่งออสเตรียก็ทรงส่งกองทหารไปสมทบอีก 1500 คน ทางผู้นำฝ่ายอังกฤษลอร์ดสเคลส์ก็สามารถขึ้นฝั่งได้พร้อมกับกองกำลังสนับสนุน แต่แม้ว่าจะมีกองกำลังสมทบจากหลายฝ่ายแต่ฝ่ายพันธมิตรก็ยังมีกองกำลังน้อยกว่ากองทัพหลวงเป็นจำนวนมาก และยิ่งมาเสียเปรียบเมื่อแม็กซิมิเลียนต้องนำกองทัพไปปราบปรามกบฏในฟลานเดอร์สที่ได้รับการสนับสนุนจากมาร์แชลเดอเอสแคร์เดส์ และในบรรดากลุ่มขุนนางที่สนับสนุนบริตานีก็ยังคงมีความขัดแย้งกันเองในการแก่งแย่งกันเสกสมรสกับแอนน์แห่งบริตานี ทั้ง หลุยส์, อแลง และแม็กซิมิเลียนต่างก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน

แม่ทัพของกองทัพหลวง Louis II de la Trémoille รวบรวมกำลังที่พรมแดนบริตานีเพื่อเตรียมตัวโจมตี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม กองทัพหลวงก็ยึด Fougères และต่อมาดินอง ไม่นานนักกองทัพของทั้งสองฝ่ายก็ปะทะกันในยุทธการแซงต์-โอแบง-ดู-โคมิเยร์ (Battle of Saint-Aubin-du-Cormier) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1488 ฝ่ายบริตานีนำโดยนายพล Rieux ได้ความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ความพ่ายแพ้เป็นการยุติสงคราม หลุยส์ ดยุคแห่งออร์เลอองส์ถูกจับ และดยุคฟรองซัวส์ถูกบังคับให้ยอมรับสนธิสัญญาที่เป็นการลดอำนาจลงเป็นอันมาก

ดยุคฟรองซัวส์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 กันยายน แอนน์แห่งบริตานีกลายเป็นดัชเชสแห่งบริตานีในปีต่อมา Lescun และ ดูนัวส์และผู้เข้าร่วมการปฏิวัติส่วนใหญ่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ หลุยส์ ดยุคแห่งออร์เลอองส์ถูกจำขังในป้อมปราการแต่ในที่สุดก็ได้รับการพระราชทานอภัยโทษจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะสามปีต่อมา ต่อมาหลุยส์ที่ 2 ดยุคแห่งออร์เลอองส์ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 และได้ทำการเสกสมรสกับแอนน์แห่งบริตานี

อ้างอิง[แก้]

  1. Didier Fur. Anne of Brittany. Bookshop Guénégaud Edition: Paris, 2000.

ดูเพิ่ม[แก้]