สงครามทุ่งกุรุเกษตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภีษมะนอนบนเตียงธนู

สงครามทุ่งกุรุเกษตร เป็นเหตุการณ์ในมหาภารตะ ทุ่งกุรุเกษตร เป็นที่ราบที่อยู่ใกล้ ๆ กับกรุงหัสตินาปุระ ที่ทั้งสองตระกูลคือปาณฑพและเการพใช้เป็นสมรภูมิรบ มีทหาร เจ้าชายและกษัตริย์จากแคว้นเมืองต่าง ๆ ล้มตายเป็นจำนวนมาก

ที่สมรภูมิรบแห่งนี้ ฝ่ายปาณฑพมีกำลังพลและหน่วยรบรวมกันทั้งหมด 7 อักเษาหิณี (ประมาณ 1.5 ล้านคน) และฝ่ายเการพ 11 อักเษาหิณี (ประมาณ 2.4 ล้านคน) ในสงครามหนนี้ มีผู้คนล้มตายไปเกือบ 4 ล้านคน ที่รอดจากสงครามมาได้ก็มีเพียงฝ่ายเการพ 3 คนและฝ่ายปาณฑพ 8 คน

การเจรจาสงบศึกก่อนสงคราม[แก้]

  • การเจรจาครั้งที่ 1 ฝ่ายปาณฑพ ส่งปุโรหิตของท้าวทรุปัทไปเป็นทูต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
  • การเจรจาครั้งที่ 2 ฝ่ายเการพส่งสัญชัยสารถีไปเป็นทูต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
  • การเจรจาครั้งที่ 3 ฝ่ายปาณฑพส่งพระกฤษณะไปเป็นทูต พร้อมด้วยสาตยกีและกฤตวรมา ก่อนวันเจรจา พระกฤษณะมาพำนักอยู่กับพระนางกุนตีและท้าววิทูร เมื่อถึงวันเจรจาพระกฤษณะได้ยื่นข้อเสนอให้ ทุรโยธน์มอบเมืองให้ปาณฑพห้าเมือง คือ อริสถัล กุสาสถัล วฤกาสถัล มะกาณฑี วรรณาพรต แต่ทุรโยธน์ไม่ยอมให้ และทุรโยธน์ยังพยายามจะจับตัวพระกฤษณะ แต่พระกฤษณะแสดงรูปเป็นพระวิศวรูปต่อหน้าทุกคนในราชสภา และได้กล่าวเตือนถึงหายนะของทุรโยธน์และกุรุราชวงศ์
  • การเจรจาครั้งที่ 4 ฝ่ายเการพส่งอุลูกะ บุตรของท้าวศกุนิไปเป็นทูตแต่ก็ไม่สำเร็จ

ในปีที่เกิดสงครามนั้นมีลางร้ายบอกเหตุ นั่นคือ เกิดสุริยุปราคาขึ้น ถึง 3 ครั้งในปีเดียว ในทางโหราศาสตร์ถือว่าเป็นลางร้าย

ผู้บัญชาการรบเและกำลังพล[แก้]

ฝ่ายปาณฑพ[แก้]

ฝ่ายปาณฑพมีกำลัง 7 อักเษาหิณี ธฤษฏะทยุมันได้รับเลือกเป็นประธานเสนาบดี (แม่ทัพใหญ่) ทุก ๆ อักเษาหิณีจะมีแม่ทัพหนึ่งคน ได้แก่ ธฤษฏัทยุมนะ ศิขัณทิน ท้าวทรุปัท ท้าววิราฎ สาตยกี เจกิตาน ภีมะ นอกจากนั้นยังมีพี่น้องปาณฑพทั้งห้า บุตรของเหล่าพี่น้องปาณฑพและพระกฤษณะ ยุยุตสุ น้องชายต่างมารดาของทุรโยธน์ ที่ย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายปาณฑพ ท้าวสหเทพ บุตรของท้าวชราสันธ์ กษัตริย์แคว้นมคธ ท้าววฤหัธกษัตร กับพี่น้องสี่คน บุตรของท้าวทยุมัตเสน กษัตริย์แคว้นไกเกยะ ท้าวธฤษฏเกตุ บุตรของศิศุปาล กษัตริย์แคว้นเจที ท้าวกุนตีโภช ตาของพี่น้องปาณฑพ และท้าวปุรูชิต พี่ชายของพระนางกุนตี ลุงของพวกปาณฑพ กษัตริย์แคว้นกุนตี ท้าวอภิภู กษัตริย์แคว้นกาศี ท้าวราชา ท้าวโรจมัน กษัตริย์แคว้นภารตวรรษ ท้าวเสนาวินทุ กษัตริย์เมืองเทวปรัสถ์ ท้าวนีละ กษัตริย์แคว้นอนุปะ ท้าวมาลยธวัช กษัตริย์แคว้นปาณฑยา และอีกหลายอาณาจักรได้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายปาณฑพ

ฝ่ายเการพ[แก้]

ฝ่ายเการพมีกำลังถึง 11 อักเษาหิณี มากกว่าฝ่ายปาณฑพ ภีษมะเป็นประธานเสนาบดี (แม่ทัพใหญ่) แม่ทัพคนสำคัญของเการพได้แก่ โทรณาจารย์ ทุรโยธน์ ทุหศาสัน กฤปาจารย์ อัศวัตถามา ชัยทรัถ ศกุนิ กฤตวรมา และท้าวศัลยะ นอกจากนั้นยังมีพี่น้องเการพ บุตรของเหล่าพี่น้องเการพ ท้าวภาคทัตต์ กษัตริย์แคว้นปราคชโยติษะ ท้าวพาหลีกะ ท้าวโสมทัตต์ ภูริศรวัส แคว้นพาหลีกะ สุศรรมา กษัตริย์แคว้นตรีครรตะ สุทักษิณ กษัตริย์แคว้นกัมโพช ท้าววินทะ ท้าวอนุวินทะ กษัตริย์แคว้นอวันตี ท้าวศรุตายุษ กษัตริย์แคว้นกาลิงคะ ท้าวศรุตายุธ กษัตริย์แคว้นโกศล ท้าวพฤหัทพละ กษัตริย์เมืองอโยธยา ท้าวนีละ กษัตริย์เมืองมาหิษมดี และอีกหลายอาณาจักรรวมทั้งกองทัพยาทพของพระกฤษณะหรือเรียกว่านารายณีเสนา ส่วนกรรณะเข้าร่วมรบในภายหลังที่ภีษมะถูกปราบ ภีษมะเป็นแม่ทัพใหญ่สิบวันแรก โทรณาจารย์ห้าวัน กรรณะสองวัน วันสุดท้ายท้าวศัลยะเป็นแม่ทัพ แม่ทัพใหญ่ทุกคนที่กล่าวมาถูกสังหารทุกคน ส่วนอัศวัตถามาเป็นแม่ทัพวันสุดท้ายลอบเข้าไปในค่ายปาณฑพ สังหารแม่ทัพและทหารไปมากมาย

ฝ่ายที่เป็นกลาง[แก้]

พระพลรามพี่ชายของพระกฤษณะ ท้าวรุกมี กษัตริย์แคว้นวิทรรภะ พี่ชายของพระนางรุกมินี มเหสีของพระกฤษณะ และท้าววิทูร ปฏิเสธที่จะร่วมรบ

กฎแห่งสงคราม[แก้]

สงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร มีกฎหรือจริยธรรมแห่งการทำสงคราม เรียกว่า ธรรมยุทธ ซึ่งจะตั้งโดยประธานเสนาบดีของทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้ตั้งไว้ 13 ข้อ ได้แก่

  1. การรบจะเริ่มเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นและสิ้นสุดเมื่อพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า โดยใช้เสียงสังข์เป็นสัญญาณ
  2. นักรบหนึ่งคนต้องรบกับนักรบหนึ่งคนเท่านั้น
  3. นักรบคู่หนึ่งอาจรบกันได้นานหากใช้อาวุธเหมือนกัน หรือใช้พาหนะเหมือนกัน หรือเดินเท้าเหมือนกัน
  4. ห้ามสังหารหรือทำร้ายนักรบผู้ยอมจำนน
  5. นักรบที่ยอมจำนนจะกลายเป็นเชลยศึก และจะได้รับการปกป้องโดยสิทธิเชลยศึก ตามสมควร
  6. ห้ามสังหารหรือทำร้ายนักรบผู้ไร้ซึ่งศาสตราวุธ
  7. ห้ามสังหารหรือทำร้ายนักรบผู้หมดสติ
  8. ห้ามสังหารหรือทำร้ายคนหรือสัตว์ ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในสงคราม
  9. ห้ามสังหารหรือทำร้ายนักรบจากด้านหลัง
  10. ห้ามสังหารหรือทำร้ายสตรี
  11. ห้ามสังหารหรือทำร้ายสัตว์ที่ไม่สร้างภัยคุกคามในสงคราม
  12. นักรบต้องปฏิบัติตามกฎที่เฉพาะเจาะจงสำหรับอาวุธแต่ละชนิด เช่น ห้ามใช้คทาตีต่ำจากสะเอวลงมา ตามกฎของคทายุทธ
  13. นักรบไม่อาจเข้าร่วมในสงครามที่ไม่เป็นธรรมใด ๆ

กฎธรรมยุทธ ถูกรักษามาโดยอย่างดี แต่หลังจากโทรณาจารย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเสนาบดี กฎทุกอย่างถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง

เหตุการณ์ตามวัน[แก้]

วันที่หนึ่ง
ผู้ตาย: เจ้าชายอุตตระ โดยท้าวศัลยะ เจ้าชายเศวตะ โดยภีษมะ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปวัชระ (วัชระพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพแบบปลอดภัยทุกด้าน (สรรวะโตภัทรพยุหะ) ภีษมะสร้างความเสียหายย่อยยับให้แก่ฝ่ายปาณฑพ อภิมันยุเผชิญหน้ากับภีษมะและสามารถสู้ได้อย่างสูสี
วันที่สอง
ผู้ตาย: ท้าวศรุตายุษ กษัตริย์แคว้นกาลิงคะ และบุตรอีก 4 คน คือ สักระเทพ ภานุมัต สัตยเทพ สัตยะ เจ้าชายเกตุมัต บุตรของเอกลัพย์ และกองทัพช้างกาลิงคะ โดยภีมะ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปนกกระสา (เกราญจะพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปตะกร้าเหล็ก (ศกฏะพยุหะ) อรชุนปะทะกับภีษมะ ท้าวทรุปัทรบกับอัศวัตถามา ภีมะรบกับทุรโยธน์ สหเทพรบกับศกุนิ อภิมันยุรบกับทุหศาสัน สาตยกีและภีมะช่วยกันทำลายกองทัพจากแคว้นกาลิงคะ สาตยกีฆ่าสารถีของภีษมะตาย
วันที่สาม
ผู้ตาย: ไม่มีแม่ทัพตายในวันนี้
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว (จันทรกาลพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปพญาครุฑ (ครุฑพยุหะ) อภิมันยุและสาตยกีรบกับศกุนิทำให้ศกุนิและทหารแคว้นคันธาระล่าถอย ภีมะและฆโฎตกัจรบกับทุรโยธน์ทำให้ทุรโยธน์สลบไป อรชุนรบอย่างดุเดือดกับภีษมะ
วันที่สี่
ผู้ตาย: เจ้าชายเการพ 8 คน โดยภีมะ บุตรของท้าวศาละ น้องชายของท้าวศัลยะ โดยอภิมันยุ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปเขาสัตว์ (ศฤงคฏกะพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปวงกลม (มณฑลพยุหะ) อภิมันยุและธฤษฏัทยุมนะ รบกับ โทรณาจารย์ กฤปาจารย์ อัศวัตถามา ท้าวศัลยะ ท้าวโสมทัตต์ ท้าวศาละ และจิตรเสน ภีมะสังหารน้องชายของทุรโยธน์ถึงแปดคน และกองทัพช้างของทุรโยธน์ ทุรโยธน์จึงสั่งให้ท้าวภาคทัตต์ไปจัดการกับภีมะ ถูกฆโฎตกัจเข้าขัดขวางและปกป้องภีมะ
วันที่ห้า
ผู้ตาย: ท้าวศตานีกะ น้องชายของท้าววิราฎ โดยภีษมะ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปพญาครุฑ (ครุฑพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปมกร (มกรพยุหะ) ภีมะรบกับภีษมะ สาตยกีรบกับโทรณาจารย์ อภิมันยุรบกับท้าวศัลยะ อรชุนรบกับอัศวัตถามา ศิขัณทินรบกับวิกรรณะ
วันที่หก
ผู้ตาย: เจ้าชายเการพอีก 8 คน โดยภีมะ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปมกร (มกรพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปนกกระสา (เกราญจะพยุหะ) ภีมะรบกับโทรณาจารย์ นกุลรบกับภีษมะ ภีมะสังหารน้องชายอีกแปดคนของทุรโยธน์ ธฤษฏัทยุมนะใช้ศรปราโมหนะ (ศรยาสลบ) ยิงใส่พี่น้องเการพ ทำให้โทรณาจารย์ต้องแผลงศรปรัชนะ(ศรทำให้ตื่น) มาแก้ไขสถานการณ์ อภิมันยุแปรขบวนทัพเป็นรูปรูของเข็มเย็บผ้า (สูจิมุขพยุหะ) เข้าไปช่วยธฤษฏัทยุมนะ ภีมะเข้าไปรบอีกครั้งกับทุรโยธน์จนทุรโยธน์สลบไป ชัยทรัถ ผู้เป็นน้องเขยต้องเข้ามาช่วย อุปปาณฑพ (ลูกชายของพี่น้องปาณฑพ) ทั้ง 5 คน คือ ประติวินธยะ สุตโสม ศรุตเกียรติ ศตานีกะ ศรุตเสนรบกับอัศวัตถามาและทำลายรถศึกของอัศวัตถามา
วันที่เจ็ด
ผู้ตาย: เจ้าชายศังขะ โดยโทรณาจารย์
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปวัชระ (วัชระพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปวงกลม (มณฑลพยุหะ) ยุธิษฐิระรบกับภีษมะ ท้าวทรุปัท ท้าววิราฎ และเจ้าชายศังขะ รบกับ โทรณาจารย์ ศิขัณทินรบกับอัศวัตถามา ธฤษฏัทยุมนะรบกับทุรโยธน์และศกุนิ นกุลและสหเทพรบกับท้าวศัลยะ อรชุนรบกับ ท้าววินทะ ท้าวอนุวินทะ สองพี่น้องกษัตริย์แคว้นอวันตี ภีมะรบกับกฤตวรมา อภิมันยุ รบกับ จิตรเสน วิกรรณะ และทุหศาสัน ฆโฎตกัจรบกับท้าวภาคทัตต์ สาตยกีรบกับอลัมพุษะ ภูริศรวัสรบกับท้าวธฤษฏเกตุ เจกิตานรบกับกฤปาจารย์


วันที่แปด
ผู้ตาย: เจ้าชายเการพอีก 8 คน โดยภีมะ น้องชาย 6 คนของศกุนิ โดยอิราวัต อิราวัต โดยอลัมพุษะ ท้าวสุธรรมัน โดยท้าวภาคทัตต์
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปตรีศูล (ตรีศูลพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปคลื่นในมหาสมุทร (อูรมิพยุหะ) สหเทพ ภีมะ และธฤษฏัทยุมนะ รบกับภีษมะ อิราวัต รบกับศกุนิและอลัมพุษะ นกุลรบกับโทรณาจารย์ หลังจากอิราวัตถูกสังหาร ฆโฎตกัจเกิดความแค้นมากจึงเข้าต่อสู้กับทุรโยธน์ ภีมะต้องเข้ามาช่วยฆโฎตกัจผู้เป็นบุตรชาย ทุรโยธน์เพลี้ยงพล้ำถอยทัพไป และสั่งให้ท้าวภาคทัตต์นำกองทัพช้างเข้าไปโจมตีภีมะ ยุธิษฐิระจึงออกคำสั่งให้ ท้าวสุธรรมัน กษัตริย์แคว้นทารศนะ นำกองทัพเข้าไปรบกับท้าวภาคทัตต์ ท้าวสุธรรมันกระทำยุทธหัตถีกับท้าวภาคทัตต์ ถูกท้าวภาคทัตต์สังหารตาย อรชุนจึงนำทัพมาสมทบ และตีโต้กลับท้าวภาคทัตต์


วันที่เก้า
ผู้ตาย: ไม่มีแม่ทัพตายในวันนี้
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปหมู่ดาวนักรษัตรในท้องฟ้า (นักษัตรมณฑลพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพแบบปลอดภัยทุกด้าน (สรรวะโตภัทรพยุหะ) อภิมันยุและอุปปาณฑพรบกับทุรโยธน์ ชัยทรัถ และอลัมพุษะ สาตยกีรบกับโทรณาจารย์ กฤปาจารย์และอัศวัตถามา ภีมะรบกับสุศรรมา อรชุนรบกับภีษมะ พระกฤษณะทนไม่ได้ที่ภีษมะ สังหารกองทัพฝ่ายปาณฑพไปมากมาย จึงลงจากรถศึกและคว้ากงล้อรถศึก ซึ่งกลายเป็นจักรสุทรรศนะจะสังหารภีษมะ แต่อรชุนเข้ามาห้ามไว้
วันที่สิบ
ผู้ตาย: ภีษมะเจ็บหนักต้องถอนตัวจากสนามรบ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปเทวดา (เทวพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปอสูร (อสูรพยุหะ) แม่ทัพฝ่ายปาณฑพกีดกันแม่ทัพคนอื่น ๆ ให้ออกห่างภีษมะ คือ ธฤษฏัทยุมนะไปรบกับโทรณาจารย์ ภีมะรบกับทุรโยธน์ สหเทพรบกับกฤปาจารย์ ยุธิษฐิระรบกับท้าวศัลยะ สาตยกีรบกับกฤตวรมา นกุลรบกับอัศวัตถามา อภิมันยุรบกับศกุนิ ท้าวทรุปัทรบกับชัยทรัถ ท้าววิราฎรบกับท้าวภาคทัตต์ เจกิตานรบกับทุหศาสัน อรชุนวางแผนให้ศิขัณทินนำหน้ารถศึก ภีษมะปฏิเสธที่จะฆ่าศิขัณทินที่เกิดเป็นหญิง เป็นช่องทางให้อรชุนระดมยิงธนูไปทั่วร่างของภีษมะด้วยความเศร้าใจ หลังจากภีษมะล้มลงบนเตียงธนู ทุกคนทั้งฝ่ายปาณฑพและเการพเข้าห้อมล้อมท้าวภีษมะเพื่อแสดงความอาลัย
วันที่สิบเอ็ด
ผู้ตาย: เจ้าชายเการพอีก 20 คน โดยภีมะ ท้าวอัมพัษฐราช ท้าวสุทรรศนะ ท้าวสมุทรไสนี โดยโทรณาจารย์
เหตุการณ์สำคัญ: กรรณะเข้าสู่สนามรบเป็นวันแรก โทรณาจารย์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเสนาบดี (แม่ทัพใหญ่) แทนภีษมะ โทรณาจารย์สัญญากับทุรโยธน์ว่าจะจับตัวยุธิษฐิระมาให้ ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปนกกระสา (เกราญจะพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปตะกร้าเหล็ก (ศกฏะพยุหะ) อรชุนรบกับกรรณะเป็นวันแรก ยุธิษฐิระรบกับโทรณาจารย์ อภิมันยุรบกับท้าวศัลยะ ศิขัณทินรบกับภูริศรวัส ฆโฎตกัจรบกับอลัมพุษะ สหเทพรบกับศกุนิ ภีมะรบกับพี่น้องเการพ คือ วิกรรณะ วิวินศติ จิตรเสน โสมัน สุวรมัน อุปจิตร และคนอื่น ๆ อีก ภีมะสังหารพี่น้องเการพไปอีก 20 คน วิกรรณะและวิวินศติหนีมาได้ ภีมะเข้ามารบด้วยกระบองกับท้าวศัลยะ เพื่อช่วยอภิมันยุ ท้าวศัลยเพลี้ยงพล้ำถูกภีมะฟาดกระบองใส่อย่างแรง กฤตวรมาต้องเข้ามาช่วยพาท้าวศัลยะ ขึ้นรถศึกหนีออกไป วฤษเสนและอัศวัตถามารบกับพวกอุปปาณฑพ
วันที่สิบสอง
ผู้ตาย: ท้าวนีละ ท้าวมาลยธวัช โดยอัศวัตถามา กษัตรธรรมัน โดยเจ้าชายลักษมัณกุมาร สัตยชิต ท้าววฤตกะ สุจิตร ท้าวอนาธฤษฏิ ท้าวสัตยธฤติ โดยโทรณาจารย์ ท้าวภาคทัตต์ โดยอรชุน วัชรทัตต์ โดยนกุล ภูตกรรมา ศรุตวรมา โดยศตานีกะ
เหตุการณ์สำคัญ: สุศรรมา พี่เขยของทุรโยธน์ กษัตริย์แคว้นตรีครรตะ และน้องชายของเขา รวมกลุ่มกันสาบานหน้ากองไฟ ว่าจะสังหารอรชุน เรียกว่า สังศัปตกะ ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว (จันทรกาลพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปพญาครุฑ (ครุฑพยุหะ) อรชุน รบกับสุศรรมาและน้องชายของเขา อรชุนยิงธนูตัดมือสุพาหุ น้องชายของสุศรรมาขาด และตีกองทัพนารายณีเสนาแตกพ่าย อรชุนแผลงศรทวัสตาสตร์ ทำให้ฝ่ายเการพเห็นภาพลวงตาและสังหารกันเอง และยังแผลงศรวายวยาสตร์ สร้างพายุหมุนในกองทัพฝ่ายเการพ อีกด้านหนึ่งท้าวทรุปัทรบกับทุรโยธน์ อภิมันยุรบกับกรรณะ ธฤษฏัทยุมนะรบกับทุรมุข น้องชายของทุรโยธน์ ยุธิษฐิระรบกับโทรณาจารย์ สัตยชิต เข้ามาช่วยแต่ถูกโทรณาจารย์ ยิงธนูตัดหัวขาด ท้าวภาคทัตต์แผลงศรไวษณวาสตร์ใส่พระกฤษณะ แต่ศรกลับกลายเป็นพวงมาลัย อรชุนแผลงศรใส่ช้างสุประติกะ และแผลงศรปักเข้าที่หน้าผากท้าวภาคทัตต์ เสียชีวิต ส่วนวัชรทัตต์ถูกนกุลสังหาร


วันที่สิบสาม
ผู้ตาย: เจ้าชายลักษมัณกุมาร ท้าวพฤหัทพละ กษัตริย์แคว้นโกศล กษัตริย์แคว้นอัศมกะ มารติกวัต บุตรของกฤตวรมา ชยัตเสน รุกมะรถ บุตรของท้าวศัลยะ ท้าวนีละ โดยอภิมันยุ อภิมันยุ โดยทุรโยธน์ ทุหศาสัน กรรณะ ศกุนิ กฤตวรมา อัศวัตถามา สุศรรมาและน้องชายของเขา โดยอรชุน
เหตุการณ์สำคัญ: โทรณาจารย์วางกลศึกจัดทัพเป็นรูปกงจักร (จักรพยุหะ) ยุธิษฐิระขอร้องให้อภิมันยุซึ่งเป็นคนเดียวที่รู้วิธีการทะลวงเข้า แต่ไม่รู้จักวิธีออก ฝ่ายปาณฑพพยายามจะตามเข้าไป โดยเฉพาะท้าวทรุปัท ผู้รู้วิธีทะลวงออกจากจักรพยุหะ แต่ไม่อาจฝ่ากองทัพของชัยทรัถเข้าไปได้ เพราะชัยทรัถได้พรวิเศษจากพระศิวะ ให้สามารถรบชนะพวกปาณฑพได้หนึ่งวัน หากในสมรภูมิไม่มีพระกฤษณะและอรชุน ซึ่งถูกสุศรรมาดึงตัวออกไปรบเพื่อป้องกันแคว้นมัตสยะ ของท้าววิราฎ อภิมันยุถูกรุมโจมตี จนอาวุธต่าง ๆ ถูกทำลาย ต้องใช้ล้อรถศึกมาเป็นอาวุธแทน สุดท้ายเขาถูกรุมสังหารอย่างโหดเหี้ยม และถูกทุรมะเสน ลูกชายของทุหศาสันใช้กระบองฟาดหัวจนตาย อรชุนสาบานจะล้างแค้นโดยการสังหารชัยทรัถ ผู้เป็นต้นเหตุการณ์ตายของอภิมันยุ
วันที่สิบสี่
ผู้ตาย: สุทักษิณ ท้าวศรุตายุธ กษัตริย์แคว้นโกศล และน้องชาย 2 คน คือ ศรุตายุส อชุตายุส ท้าววินทะ ท้าวอนุวินทะ ชัยทรัถโดยอรชุน บุตร 10 คน ของสาตยกี โดยภูริศรวัส ท้าวชลาสันธ์ ท้าวศัลวะ จิตรเสน ประเสน ภูริศรวัส โดยสาตยกี ท้าวจิตรยุธ ท้าวจิตรโยธิน โดยวิกรรณะ พนเสน บุตรของกรรณะ เจ้าชายเการพ 6 คน คือ วิกรรณะ วิวินศติ ทุรชัย ทุรมุข ทุรมรรศนะ ทุหสาลัน โดยภีมะ ท้าววฤหัทวาหนะ โดยท้าวธฤษฏเกตุ ท้าวเกษมธุรติ โดยท้าววฤหัทกษัตร ท้าววฤหัทกษัตร ท้าวธฤษฏเกตุ ท้าวกุนตีโภช ท้าวปุรุชิต ท้าวสหเทพ ท้าวอภิภู ท้าวราชา ท้าวโรจมัน โดยโทรณาจารย์ ท้าวศาละ ท้าวภีมรถ ท้าวกุลินทะ โดยศรุตเสน
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปพระขรรค์ (ขัฑคะพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพรัดกุมมาก ถึงสามชั้นคือ ชั้นที่หนึ่ง เป็นรูปกงจักร (จักรพยุหะ) ชั้นที่สอง เป็นรูปตะกร้าเหล็ก (ศกฏะพยุหะ) ชั้นที่สาม เป็นรูปรูของเข็มเย็บผ้า (ศูจิมุขพยุหะ) เพื่อปกป้องชัยทรัถ อรชุนแค้นถึงกับบุกทะลวงเข้าไปเข่นฆ่าทหารฝ่ายเการพไปถึง 1 อักเษาหิณี สาตยกีและภีมะตามเข้าไปช่วยอรชุน สาตยกีถูกภูริศรวัสขัดขวาง แต่สาตยกีสามารถสังหารภูริศรวัสได้ ส่วมภีมะเข้าปะทะกับกรรณะ และพ่ายแพ้ในการรบกับกรรณะ แต่กรรณะไว้ชีวิตภีมะ เมื่อรบกันไปจนใกล้จะเย็น พระกฤษณะใช้จักรสุทรรศนะบดบังดวงสุริยะ ทำให้เกิดสุริยคราส ฝ่ายเการพเข้าใจว่าสุริยะลับขอบฟ้าไปแล้ว ชัยทรัถจึงออกมาจากแนวป้องกัน เมื่อพระกฤษณะเรียกจักรกลับมา แสงส่องอีกครั้ง อรชุนจึงแผลงศรปาศุปัต ตัดหัวชัยทรัถ
วันที่ 16 ภีมะดื่มเลือดทุหศาสัน
คืนวันที่สิบสี่
ผู้ตาย: ท้าวเสนาวินทุ โดยท้าวพาหลีกะ ท้าวโสมทัตต์ โดยสาตยกี ท้าวพาหลีกะ ทุรมะเสน ลูกชายของทุหศาสัน และเจ้าชายเการพอีก 30 คน โดยภีมะ บุตรของเหล่าพี่น้องเการพ โดยอุปปาณฑพ อัญชนปรรวัน บุตรฆโฎตกัจ โดยอัศวัตถามา อลัมพูษะ อลายุธ โดย ฆโฎตกัจ ฆโฎตกัจ โดยกรรณะ
เหตุการณ์สำคัญ: การต่อสู้เลยมาถึงตอนกลางคืน สหเทพรบกับกรรณะ คันธนู หอก และขวานของสหเทพ ถูกยิงจนหัก สารถีถูกยิงจนตาย ล้อรถศึกถูกยิงจนแตก คทาถูกทำลาย สหเทพจึงใช้ดาบ เข้าต่อสู้กับกรรณะ ก็ได้รับความพ่ายแพ้ แต่กรรณะไว้ชีวิตสหเทพ ฆโฎตกัจมีพละกำลังเพิ่มในยามค่ำ ไม่มีใครปราบได้ กรรณะถึงกับต้องใช้หอกวาสวีศักติ อาวุธวิเศษจากพระอินทร์ สังหารฆโฎตกัจตายในที่สุด แต่ทำให้กรรณะหมดฤทธิ์ไปมาก หลังการรบอย่างหนักในคืนนี้ทหารทั้งหลาย ต่างสลบไสลหลับไป ด้วยความเหนื่อยอ่อน
วันที่สิบห้า
ผู้ตาย: ท้าวทรุปัทและท้าววิราฎ โดยโทรณาจารย์ โทรณาจารย์ โดยธฤษฏัทยุมนะ
เหตุการณ์สำคัญ: โทรณาจารย์ สังหารท้าวทรุปัทและท้าววิราฎ อีกทั้งยังทำลายกองทัพแคว้นปัญจาละ แคว้นมัตสยะ ภีมะออกอุบายว่าอัศวัตถามาลูกชายของโทรณาจารย์ถูกฆ่าตาย โทรณาจารย์หลงเชื่อและเศร้าใจอย่างยิ่ง ธฤษฏัทยุมนะถือโอกาสตัดหัวโทรณาจารย์ล้างแค้นให้บิดา อัศวัตถามาแผลงศรนารายณาสตร์ และ ศรอาคเนยาสตร์ หมายจะแก้แค้นเช่นกัน แต่ไม่อาจทำอันตรายฝ่ายปาณฑพได้


วันที่สิบหก
ผู้ตาย: สุเษณ จิตรเสน สัตยเสน โดยนกุล ท้าวจิตระ โดยประติวินธยะ ท้าวจิตรรถ ท้าวจิตรเสน โดยศรุตกรรมา ท้าววฤหันต์ โดยทุหศาสัน พี่น้องเการพที่เหลืออยู่อีก 18 คน โดยภีมะ
เหตุการณ์สำคัญ: กรรณะเป็นขึ้นเป็นประธานเสนาบดี (แม่ทัพ) แทนโทรณาจารย์ ทุรโยธน์ขอร้องให้ ท้าวศัลยะ มาทำหน้าที่สารถีให้กรรณะ ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว (จันทรกาลพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปมกร (มกรพยุหะ) นกุลรบกับกรรณะ คันธนูของนกุล ถูกยิงจนหัก สารถีถูกยิงจนตาย ล้อรถศึกถูกยิงจนแตก คทาถูกทำลาย นกุลจึงใช้ดาบ เข้าต่อสู้กับกรรณะ ก็ได้รับความพ่ายแพ้ แต่กรรณะไว้ชีวิตนกุล หลังจากนั้นกรรณะได้เข้าไปช่วยทุรโยธน์ ที่กำลังรบกับยุธิษฐิระ ภีมะรบกับทุหศาสัน จับทุหศาสันจิกผมลากไปกับพื้น และถูกภีมะฉีกแขนทั้งสองข้าง และแหวกอกดื่มเลือดทุหศาสัน และนำเลือดของทุหศาสันมาล้างผมของพระนางเทราปตี เพื่อล้างแค้นให้พระนางเทราปตี


วันที่สิบเจ็ด
ผู้ตาย: กรรณะ วฤษเสน ศัตรุญชัย ทวิปัต โดยอรชุน ทุหศาสัน โดยภีมะ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปกระบือ (มหิษพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นรูปดวงสุริยะ (สูรยะพยุหะ) อรชุนต่อสู้กับกรรณะอย่างดุเดือด กรรณะใช้ศรนาคาสตร์ซึ่งคือพญาตักษกะนาคราช สถิตอยู่ในลูกศร แผลงศรออกไปใส่อรชุน พระกฤษณะกระทืบเท้าทำให้รถศึกเอียงข้างหนึ่ง ทำให้ศรนาคาสตร์ไปโดนมงกุฎกิรีฏิของอรชุน แทนที่จะโดนอรชุน และในที่สุดรถศึกของเขาพลัดตกลงไปในหล่มขยับไม่ได้ เขาจึงลงจากรถศึกมาเข็นล้อรถขึ้นจากหล่ม เขาอ้อนวอนให้อรชุนหยุดยิงธนูตามหลักธรรมยุทธ พระกฤษณะไม่เห็นด้วยเพราะ กรรณะมีส่วนร่วมในการรุมสังหารอภิมันยุ ซึ่งผิดหลักธรรมยุทธ จึงสั่งให้อรชุนแผลงศรอัญชลิกะตัดหัวกรรณะ ในที่สุดกรรณะก็ถึงแก่ความตาย พระนางกุนตีเปิดเผยตัวว่าเป็นแม่กรรณะ ศกุนิขอร้องให้พระนางคานธารี แก้ผ้าผูกตาของนางออก เพื่อจะทำให้ทุรโยธน์มีร่างกายแข็งแกร่งดังวัชระ แต่ที่ต้นขาของทุรโยธน์ไม่ได้รับการปกป้อง เพราะสวมใบตองคลุมไว้


วันที่สิบแปด
ผู้ตาย: ท้าวศัลยะ โดยยุธิษฐิระ ศกุนิ อุลูกะ วฤกาสุระ โดยสหเทพ ท้าวทมัน ท้าวธรุมเสน ท้าวสัมยมณีและบุตร โดยธฤษฏัทยุมนะ ท้าวสุเกตุ โดยกฤปาจารย์ เจกิตาน โดยทุรโยธน์ ทุรโยธน์ โดยภีมะ
เหตุการณ์สำคัญ: ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปวัชระ (วัชระพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพเป็นแบบปลอดภัยทุกด้าน (สรรวะโตภัทระพยุหะ) ท้าวศัลยะ รับตำแหน่งประธานเสนาบดี และถูกสังหารในวันนี้โดยยุธิษฐิระ ศกุนิถูกสหเทพใช้ขวานฟันคอตายอย่างโหดเหี้ยม หลังจากความตายของท้าวศัลยะและศกุนิ ทุรโยธน์โกรธแค้นมากจึงนำทัพด้วยตนเองและสังหารเจกิตาน กษัตริย์เมืองบุษกรเสียชีวิต ทุรโยธน์ฮึกเหิมมากหลังจากได้รับพรด้วยเกราะวิเศษจากพระนางคานธารี แต่เมื่อกองทัพถูกตีแตกพ่ายยับเยิน ทุรโยธน์ก็จำเป็นต้องหนีไปซ่อนอยู่ในสระแห่งหนึ่ง ใกล้ทุ่งกุรุเกษตร ภีมะ ธฤษฏัทยุมนะ เหล่าปาณฑพ และพระกฤษณะ ได้ตามไปและรบกันด้วยคทา พระพลรามเดินทางมาและร่วมชมการปะทะกันระหว่างลูกศิษย์ทั้งสอง ภีมะเอาชนะทุรโยธน์ไม่ได้ พระกฤษณะจึงตบต้นขาเป็นสัญญาณให้ภีมะใช้คทาฟาดต้นขาใส่ทุรโยธน์ พระพลรามโกรธมากที่ภีมะทำผิดกฎคทายุทธ จะใช้คราดสังหารภีมะ แต่พระกฤษณะเข้าห้าม และอธิบายให้พระพลรามเข้าใจในเหตุการณ์ ทุรโยธน์จึงถูกทิ้งให้นอนรอความตายอยู่ ณ ที่นั้น วันสุดท้ายฝ่ายเการพเป็นฝ่ายแพ้ กองทัพเการพที่เหลือจึงหนีออกจากยุทธสงคราม พระกฤษณะเป่าสังข์ปัญจชัญญะ เป็นสัญญาณว่าสงครามยุติลงแล้ว


คืนวันที่สิบแปด
ผู้ตาย: ธฤษฏัทยุมนะ ศิขัณทิน อุปปาณฑพ อุตตเมาชะ ยุธมันยุ เยาเธยะ สรรวทา นิรมิตร สุโหตระ โดยอัศวัตถามา
เหตุการณ์สำคัญ: อัศวัตถามา กฤปาจารย์ กฤตวรมา เป็นแม่ทัพฝ่ายเการพสามคนที่รอดชีวิต ได้มาพบทุรโยธน์ก่อนจะตาย ทุรโยธน์ตั้งอัศวัตถามาเป็นประธานเสนาบดี และออกคำสั่งสุดท้ายคือ ให้ตัดหัวเหล่าปาณฑพ มาสังเวยให้ตน เขาทั้งสามจึงรับคำสั่งแก้แค้นโดยการบุกค่ายปาณฑพยามค่ำ อัศวัตถามาฆ่าลูกชายของพี่น้องทั้งห้า (อุปปาณฑพ) ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นเหล่าปาณฑพ รวมทั้งธฤษฏัทยุมนะ ศิขัณทิน อุตตเมาชะ ยุธมันยุ และได้หนีไป เมื่อพระนางเทราปที พระกฤษณะ และเหล่าปาณฑพมาพบเข้า ก็เกิดความเศร้าโศกและโกรธแค้น จึงออกติดตามหาตัวอัศวัตถามา ซึ่งกำลังทำพิธีศพให้ทุรโยธน์ อัศวัตถามาจึงคิดที่จะทำลายทายาทของเหล่าปาณฑพแทน จึงแผลงศรพรหมเศียร อรชุนได้ตอบโต้ด้วยศรพรหมาสตร์ ฤๅษีวยาสและเทวฤๅษีนารัท ทราบเรื่องจึงมาขัดขวางการต่อสู้ อรชุนยอมถอนศรพรหมาสตร์คืน แต่อัศวัตถามาไม่ยอมจึงแผลงศรพรหมเศียรไปยังครรภ์ของนางอุตตรา มเหสีของอภิมันยุ เพื่อหวังจะให้นางแท้งลูกตาย พระกฤษณะโกรธมากจึงใช้จักรสุทรรศนะตัดทิพยมณีบนหน้าผากของอัศวัตถามาออก และสาปอัศวัตถามาให้มีชีวิตยืนยาวไปอย่างโดดเดี่ยว จนกว่าจะพบพระกัลกียาวตารจึงจะพ้นคำสาป
หลังจากสงครามสิ้นสุดลง
ผู้รอดชีวิต: ฝ่ายปาณฑพ ได้แก่ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล สหเทพ พระกฤษณะ สาตยกี ยุยุตสุ ฝ่ายเการพ ได้แก่ อัศวัตถามา กฤปาจารย์ กฤตวรมา
เหตุการณ์สำคัญ: ยุธิษฐิระ เดินทางเข้าสู่หัสตินาปุระ ท้าวธฤตราษฎร์ต้องการแก้แค้นภีมะ โดยการสวมกอดภีมะ พระกฤษณะรู้ถึงความคิดในใจและพละกำลังอันมหาศาลของท้าวเธอ จึงนำรูปปั้นที่เหมือนภีมะเข้าไปให้ท้าวธฤตราษฎร์สวมกอด ด้วยพลังมหาศาลรูปปั้นนั้นแตกออก และเมื่อท้าวธฤตราษฎร์ทรงหายพิโรธ ก็ยอมมอบราชบัลลังก์กรุงหัสตินาปุระให้ พระนางคานธารี สาปแช่งพระกฤษณะให้ราชวงศ์ยาทพของพระกฤษณะเข่นฆ่ากันเองเหมือนกับราชวงศ์กุรุ ยุธิษฐิระขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิ ครองกรุงหัสตินาปุระ ภีมะขึ้นเป็นพระมหาอุปราช อรชุนขึ้นครองราชย์กรุงอินทรปรัสถ์ นกุลและสหเทพไปครองแคว้นมัทระของท้าวศัลยะ ยุยุตสุได้รับตำแหน่งมหามนตรีกรุงหัสตินาปุระแทนท้าววิทูรซึ่งสละตำแหน่งไปผนวชเป็นฤๅษี สัญชัยสารถีได้รับตำแหน่งมหามนตรีกรุงอินทรปรัสถ์ กฤปาจารย์กลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำราชสำนักหัสตินาปุระ (กุลคุรุ) ตามเดิม ยุธิษฐิระปกครองอาณาจักรอย่างร่มเย็น สี่เดือนหลังจากสงคราม ภีษมะก็ถึงแก่ความตายท่ามกลางความโศกเศร้าของพี่น้องปาณฑพ หลายปีต่อมา ยุธิษฐิระทำพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอัศวเมธออกไปยังอาณาจักรต่าง ๆ โดยมีอรชุนและวฤษเกตุลูกชายของกรรณะที่ถือกำเนิดหลังสิ้นสุดสงครามทุ่งกุรุเกษตรตามไปด้วย จนกระทั่งมาถึงเมืองมณีปุระ อรชุนได้พบกับพภรุวาหนะ ลูกชายที่เกิดจากนางจิตรางคทา แต่อรชุนจำไม่ได้จึงรบกับพภรุวาหนะ เขาสังหารวฤษเกตุ และสังหารอรชุนได้ด้วยลูกศรซึ่งได้รับมาจากพระแม่คงคา เพราะพระแม่คงคาแค้นอรชุนที่สังหารภีษมะ ผู้เป็นปู่ของตน จึงต้องการให้ลูกของเขาสังหารตัวเขาเอง ภีมะและพระกฤษณะต้องนำทัพมาช่วย นางนาคอุลูปี มเหสีอีกคนหนึ่งของอรชุน นำนาคมณีมาชุบชีวิตอรชุน ส่วนพระกฤษณะก็ชุบชีวิตวฤษเกตุ เมื่อทุกคนรู้ความจริงทั้งหมดต่างก็ยุติสงคราม อรชุนดีใจมากที่ได้พบลูกของเขาอีกครั้ง อรชุน วฤษเกตุ ภีมะ และพระกฤษณะยกทัพกลับกรุงหัสตินาปุระ ท้าวธฤตราษฎร์ พระนางคานธารี พระนางกุนตี สละวรรณะกษัตริย์ออกผนวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญตบะ ทั้งสามถูกไฟป่าเผาตายในขณะกำลังบำเพ็ญตบะ แต่ก็ได้บรรลุโมกษะหลุดพ้น ส่วนวิทูรที่ออกผนวชก่อน ตายไปก่อนหน้าขณะบำเพ็ญตบะอย่างหนัก 36 ปีต่อมาราชวงศ์ยาทพเข่นฆ่ากันตายภายใต้การนำของสาตยกี กฤตวรมา พระกฤษณะ พระพลราม ฯลฯ ราชวงศ์ยาทพสูญสิ้นเหลือแต่พระกฤษณะและพระพลราม ทั้งคู่จึงสละราชสมบัติออกเดินป่า พระพลรามคืนร่างเป็นพญาอนันตนาคราชกลับสู่เกษียรสมุทร ส่วนพระกฤษณะถูกนายพรานชื่อ ชระ ซึ่งเป็นพาลีกลับชาติมาเกิด ยิงธนูใส่พระบาท จนพระกฤษณะสิ้นพระชนม์ กลับคืนสู่ร่างพระนารายณ์ หลังจากนั้น 7 วัน กรุงทวารกาก็จมลงสู่มหาสมุทร หลังความตายของพระกฤษณะ เหล่าปาณฑพสละราชบัลลังก์ ให้เจ้าชายปรีกษิต ออกเดินทางสู่เขาหิมาลัยพร้อมด้วยพระนางเทราปตี และสุนัขตัวหนึ่ง สุดท้ายพี่น้องปาณฑพทั้งสี่และนางเทราปตีก็สิ้นชีวิตลงและขึ้นสวรรค์บนยอดเขาหิมาลัย จากนั้นสุนัขที่ติดตามมาด้วยก็กลับกลายเป็นพระธรรมเทพ (พระยม) และพายุธิษฐิระขึ้นไปบนสวรรค์ (แต่ตอนนั้นยุธิษฐิระยังไม่ตาย และมีผู้กล่าวว่ายุธิษฐิระเป็นคนคนเดียวในโลกที่สามารถขึ้นไปยังยอดเขาหิมาลัยได้ทั้งเป็น) แต่กลับพบว่าทุรโยธน์นั่งครองบัลลังก์อยู่ แต่ปาณฑพและนางเทราปตีต้องตกนรกเพราะฆ่าพี่น้องของตน ยุธิษฐิระจึงตัดสินใจตกนรกด้วย จากนั้นพระธรรมเทพจึงบอกว่าทั้งหมดเป็นภาพลวงตา จริง ๆ แล้วเการพต้องตกนรก แต่ปาณฑพอยู่บนสวรรค์ ทั้งหมดที่ทำมาคือการทดสอบจิตใจของยุธิษฐิระ ยุธิษฐิระ พี่น้องปาณฑพและนางเทราปตีก็ได้อยู่บนสวรรค์ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมา