สงกรานต์ จิตสุทธิภากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงกรานต์ จิตสุทธิภากร
กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
เริ่มดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2566
(0 ปี 136 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 เมษายน พ.ศ. 2506 (61 ปี)
อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2538—ปัจจุบัน)

สงกรานต์ จิตสุทธิภากร (เกิด 13 เมษายน พ.ศ. 2506) กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์[1]อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย

ประวัติ[แก้]

นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2506 ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นลูกชายคนที่หกของนายเดชชัยและนางโบ้ตัว จิตสุทธิภากร เจ้าของโรงหล่อเหล็กขนาดเล็ก ๆ ในตลาดปากน้ำโพ สำเร็จการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนลาซาลโชติรวี นครสวรรค์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเข้าเรียนที่คณะบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโทเลโด รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 2 ปี

การทำงาน[แก้]

เมื่อศึกษาจบแล้ว นายสงกรานต์ได้ออกมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะไปศึกษาระดับปริญญาโท หลังจากกลับมาเมืองไทย จึงสอบคัดเลือกเข้าเป็นข้าราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคม ในตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์ระดับ 4 ได้เพียงหนึ่งเดือนก่อนมีการรัฐประหารโดย รสช.ในปี พ.ศ. 2534 จึงถูกยืมตัวไปทำงานเป็นคณะทำงานของนายสาริน สกุลรัตนะ ซึ่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยที่นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน รับราชการอยู่ประมาณ 5 ปี ก่อนจะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวให้กับครอบครัว ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยเป็นผู้จัดการ บริษัท เดชชัยรับเบอร์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตลูกยางสีข้าว สำหรับใช้ในโรงสีข้าวขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศเกือบสิบประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้แปลหนังสือเล่มต่าง ๆ จากภาษาอังกฤษเป็นไทยอีกจำนวน 8 เล่ม ในช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2550 โดยเริ่มต้นจาก The 7 Habits of Highly Effective People หรือในชื่อภาษาไทยว่า 7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง จากการที่ส่วนตัวเป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะแนวบุคลิกบุคคล, การบริหาร หรือการพัฒนาตนเอง[2] และในส่วนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ Men are from Mars, Women are from Venus หรือในชื่อภาษาไทยว่า ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ ของจอห์น เกรย์ โดยทั้งหมดเป็นการใช้ชื่อและนามสกุลจริง ไม่ใช้นามปากกา [3]

งานการเมือง[แก้]

นายสงกรานต์เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยไม่เคยเปลี่ยนพรรคเลย จนมาประสบความสำเร็จ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รวมทั้งหมด 2 สมัย

ในระหว่างที่ทำงานในฐานะ ส.ส. สมัยแรก (ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2554) ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ดังต่อไปนี้

  • กรรมาธิการและเลขานุการ คณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร
  • กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร
  • กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม (ICT) สภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานกลุ่มมิตรภาพ ไทย-ฟิลิปปินส์
  • ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ICT กรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553

ขณะทำหน้าที่ ส.ส. สมัยที่สอง ได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ ประธานกลุ่มมิตรภาพ ไทย-ฟิลิปปินส์ รัฐสภา รองประธาน คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สิ้นแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เช็กมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งทุกตำแหน่งที่นี่
  2. "Big Picture คิดต่างระหว่างบรรทัด 31 05 61 เบรก 1". ฟ้าวันใหม่. 2018-05-31.
  3. "ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์". ซีเอ๊ดบุ๊คเซ็นเตอร์.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๖ เก็บถาวร 2013-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๑๓, ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๖๑, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓