สกุลบัวหลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สกุลบัวหลวง
Nelumbo nucifera
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Proteales
วงศ์: Nelumbonaceae
สกุล: Nelumbo
Adans.
สปีชีส์

บัวหลวง ชื่อสกุล Nelumbo มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ปทุมชาติ หรือ บัวหลวง มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และไทย มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้า และไหล ใบเมื่อยังอ่อนจะลอยปิ่มน้ำ ส่วนใบแก่จะโผล่พ้นน้ำ ก้านใบ และก้านดอกมีหนาม ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ชูสูงพ้นผิวน้ำ มีทั้งดอกทรงป้อมและแหลม กลีบดอกมีทั้งชนิดซ้อนและไม่ซ้อน สีขาว ชมพู หรือเหลือง แล้วแต่ชนิดพันธุ์ บัวในสกุลนี้เป็นบัวที่รู้จักกันดีเพราะเป็นบัวที่มีดอกใหญ่นิยมนำมาไหว้พระ และใช้ในพิธีทางศาสนา เหง้าหรือที่มักเรียกกันว่ารากบัว และไหลบัว รวมทั้งเมล็ดสามารถนำมาเป็นอาหารได้

บัวหลวงเป็นไม้ล้มลุก ซึ่งเจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน ลำต้นสีเขียวอ่อนจนถึงเหลือง แข็งเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวรูปกลม แผ่นใบจะชูเหนือน้ำ รูปใบเกือบกลมขนาดใหญ่ ใบมีสีเขียว ผิวใบมีนวล ก้านใบแข็งเป็นหนาม ถ้าตัดตามขวาง จะเห็นเป็นรูภายใน ก้านใบมีน้ำยางขาว เมื่อหักจะมีสายใยสีขาว ใบอ่อนสีเทานวล ปลายม้วนงอขึ้นทั้งสองด้าน ก้านใบจะติดตรงกลางแผ่นใบ ดอก เดี่ยวมีสีขาว สีชมพู กลิ่นหอม บัวหลวงจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมือนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียวหรือสีชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น นฐานรองดอกรูปกรวย สีเหลืองนวล ผล รูปกลมรีสีเขียวนวล มีจำนวนมากฝังอยู่ในส่วนที่เป็นรูปกรวย เมื่ออ่อนมีสีเหลือง รูปกรวยนี้เมื่อเป็นผลแก่จะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเทาอมเขียวที่เรียกว่า "ฝักบัว" มีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่เป็นจำนวนมาก

รูปดอกจะเป็นพุ่มทรงสูงกลีบดอกสีชมพู ซ้อนกันหลายชั้น แต่ละกลีบโค้ง มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นจำนวนมาก ถัดเข้าไปตรงกลางเป็นส่วนฐานรองดอก จะขยายเป็นรูปกรวยสีเหลืองเป็นส่วนที่ไข่จะฝังอยู่และไข่จะเจริญไปเป็นผลบัวและฝังอยู่บนฝักบัว บัวชนิดนี้ มีชื่อเรียกว่า ปทุม ปัทมา โกกระนต โกกนุต

บัวหลวงสีชมพู
บัวหลวงสีชมพู
บัวหลวงในอุทยานแห่งชาติ

ในสัญลักษณ์และความเชื่อ[แก้]

บัวมีมาตั้งแต่ สมัยก่อนพุทธกาล ซึ่งมีตำนานกล่าวว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ปรุงยาจากดอกบัวถวายแด่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า แก้อาการอ่อนเพลีย ถือว่าดอกบัวเป็น ดอกไม้ประจำศาสนาพุทธ ตามพุทธประวัติพบว่า บัวมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว แต่เนื่องจากพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัวสี่เหล่า

ตำนานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์[แก้]

เรื่องราวของพระพุทธเจ้าหรือพระเจ้า 5 พระองค์ มีปรากฏอยู่ในตำนานเล่าขานมาว่า ในยุคปฐมกัลป์โน้น มีดอกไม้ชนิดหนึ่งผุดขึ้นมาก่อนดอกไม้อื่น ๆ จำนวน 5 ชนิด ด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า “ปทุม” (ป แปลว่า ก่อน, ทุม แปลว่า ต้นไม้ ต่อมาเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า ดอกบัว )

เมื่อท้าวหัสพรหมทอดพระเนตรเห็นดอกปทุมแต่ละดอกนั้นมีอักขระ คือ “นะ โม พุท ธา ยะ” จึงแสดงความเคารพ แล้วได้ตรัสพยากรณ์ว่า ในภัทรกัลป์นี้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ คือ

  1. พระกักกุสันโธ
  2. พระโกนาคมโน
  3. พระกัสสโป
  4. พระโคตโม /พระพุทธเจ้าปัจจุบัน/
  5. พระเมตตยโย /พระศรีอาริยเมตไตรโย หรือพระศรีอาริย์

คนไทยส่วนใหญ่มักจะใช้ดอกบัว ในการบูชาพระอยู่เสมอ ความเชื่อในทางพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยโบราณว่า ดอกบัวก็เหมือนกับคนเรานี้เอง ดอกบัวที่ชูดอกพ้นจากผิวน้ำขึ้นมารับแสงสว่างได้นั้น ก็เหมือนกับ ผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ซึ่งถือเป็นความหมายอันลึกซึ้ง และเป็นมงคลยิ่งนัก คนโบราณจึงมึความเชื่อว่า ครอบครัวใดที่ปลูกบัวเอาไว้ประจำบ้าน ก็จะช่วยให้คนครอบครัวนั้น มีจิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาด และเบิกบานแจ่มใส เช่นเดียวกับดอกบัว และยังเชื่ออีกว่า สายใยของบัวที่ยืดยาวนั้น คือสายสัมพันธ์ของครอบครัว จะทำให้ทุกคนมีความห่วงใยรักใคร่ และผูกพันต่อกันอย่างแนบแน่น ครอบครัวนั้น ก็จะมีแต่ความสุข เพราะความรักใคร่ปรองดองของคนในครอบครัวทุกคน

ควรปลูกต้นบัวในวันพุธ เพราะวันพุธนั้น เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม ต้นบัวที่ปลูกในวันพุธ จะทำให้บัวผลิดอกบานสะพรั่งงดงามไปทั่วทั้งสระ ผู้ที่เหมาะที่จะปลูกบัวมากที่สุด คือ ผู้ที่เกิดปีจอ เพราะดอกบัวนั้น เป็นต้นไม้ประจำปีของคนเกิดปีจอ หากผู้ที่เกิดปีจอเป็นผู้ปลูก และมีผู้ที่เกิดปีเดียวกันอาศัยอยู่ภายในบ้าน ก็จะช่วยเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้มากยิ่งขึ้นไปอีก (ถ้าไม่มีผู้ที่เกิดปีจอ ก็ควรให้หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ปลูกก็ได้)[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]