ศิลปกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศิลปกรรม (อ่านว่า สิน-ละ-ปะ-กำ) มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า สิ่งที่เป็นศิลปะ, สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ ศิลปกรรม มีความหมายตรงกับวลีภาษาอังกฤษว่า "work of art" และคำภาษาอังกฤษว่า "art"

ความหมาย[แก้]

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดคุณสมบัติของสิ่งที่นับได้ว่าเป็น "ศิลปกรรม" ไว้ดังนี้

  1. ศิลปกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ เช่นพระอาทิตย์ตกดินที่มีความสวยงามมากไม่นับเป็นศิลปกรรม แต่จิตรกรรมหรือภาพเขียนทิวทัศน์พระอาทิตย์นับเป็นศิลปกรรม
  2. ศิลปกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นให้มีความสวยงาม สิ่งมนุษย์สร้างที่ไม่สวยงาม เช่น กองขยะ ป้ายโฆษณารกตา ฯลฯ ไม่นับเป็นศิลปกรรม การสร้างสรรค์โดยมนุษย์เพื่อความงามหรือสุนทรียภาพที่ถือเป็นศิลปกรรมแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
    1. ศิลปกรรมประเภทวิจิตรศิลป์ (fine arts) หมายถึงศิลปกรรมที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อความปีติชื่นชมในตัวชิ้นงาน เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์และงานดุริยางคศิลป์
    2. ศิลปกรรมประเภทประโยชน์ศิลป์ (useful art หรือ applied art) หมายถึงศิลปกรรมที่มีประโยชน์ใช้สอยด้วย เช่นงานจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว เครื่องเรือนและสิ่งใช้สอยต่างๆ ที่มีการบรรจงสร้างขึ้นโดยประณีต ทั้งที่สร้างด้วยมือ (ศิลปหัตถกรรม)และโดยเครื่องจักร (ศิลปหัตถอุตสาหกรรม)
  3. ศิลปกรรม เป็นงานประเภททัศนศิลป์ (visual art) เป็นความหมายที่ใช้กันมาในช่วงศตวรรษก่อน ซึ่งมักหมายเฉพาะงานประเภท จิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ส่วนศิลปะที่เป็นการแสดงจะจัดแยกไว้ต่างหาก เชน การแสดงนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ไม่นิยมรวมไว้ในงานแสดงศิลปกรรม
  4. ศิลปกรรม เป็นผลงานสร้างสรรค์ทางสุนทรียะเฉพาะที่มีคุณภาพดี เป็นการกำหนดความหมาย "ศิลปกรรม" ให้แคบและเฉพาะมากขึ้น มีการแยกงาน "ศิลป์" ที่ไม่ถึงขั้นออกไปด้วยเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่ผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ

การจำแนกงานศิลปกรรมแบบอื่น[แก้]

แม้การจำแนกงานศิลปกรรมมีมากมายหลายวิธี แต่ที่นิยมและเป็นที่ยอมรับเป็นดังนี้

  1. ทัศนศิลป์ (visual art) เป็นศิลปะที่รับรู้ด้วยสายตาทั้ง 2 มิติได้แก่ จิตรกรรมและภาพพิมพ์ และงาน 3 มิติ ได้แก่ประติมากรรม สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม งานศิลปกรรมที่สามารถจับต้องใช้สอยได้มีผู้เรียกว่า "ทัศนะ-ผัสสะศิลป์ (visuo-tactual art)
  2. โสตศิลป์ (auditory art) เป็นศิลปกรรมที่รับรู้ด้วยการฟัง ได้แก่ งานดุริยางค์ศิลป์ หรือ งานดนตรี ไม่มีภาพ มีแต่เสียงจากเครื่องดนตรีขณะบรรเลงเท่านั้น
  3. พจนศิลป์ (verbal art) เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยความเข้าใจในถ้อยคำ ได้แก่งานวรรณกรรม ทั้งร้อยแก้ว และ ร้อยกรอง เป็นศิลปกรรมที่สื่อกันเฉพาะในหมู่ผู้รู้ภาษาเดียวกัน
  4. ศิลปผสม (mixed art) เป็นศิลปกรรมที่ใช้สื่อให้รับรู้หลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่ ละคร ที่ใช้ทั้งทัศนศิลป์ในการสร้างฉากและเครื่องแต่งตัว ใช้ท่าทางการร่ายรำ ใช้การพูดจาด้วยพจน์ศิลป์ และใช้ดนตรีหรือ โสตศิลป์ประกอบไปพร้อม ๆ กัน

การจำแนกด้วยเนื้อที่และเวลา[แก้]

ศิลปกรรม สามารถแบ่งประเภทเป็นกลุ่มใหญ่ได้เช่นกัน ได้แก่

  1. ศิลปกรรมประเภทกินเนื้อที่ ได้แก่งานทัศนศิลป์ทุกสาขา เวลาจัดแสดงต้องใช้เนื้อที่ การจัดเก็บต้องใช้เนื้อที่ มีผู้เรียกศิลปกรรมประเภทนี้ว่า "ปริภูมิศิลป์" (spatail art)
  2. ศิลปกรรมประเภทกินเวลา ได้แก่งานประเภทโสตศิลป์ พจน์ศิลป์และศิลปผสม ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้เวลาในการสื่อหรือแสดงผลงาน

การจำแนกงานศิลปกรรมมีมานานแต่โบราณ และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป โดยเฉพาะในหมู่ศิลปินและนักปรัชญา เนื่องจากจากงานศิลปกรรมมีความหลากหลาย และมีความก้าวทางสังคมและเทคโนโลยีซึ่งอาจมีศิลปกรรมแบบใหม่ให้พิจารณาจำแนกอีก เช่น ศิลปกรรมที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์

อ้างอิง[แก้]

  • อัศนีย์ ชูอรุณ ศิลปกรรม สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 26 พิมพ์ครั้งที่ 1 2549

ดูเพิ่ม[แก้]