ศาลเจ้าพ่อกว้าน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาลเจ้าพ่อกว้าน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญในจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่หลังบ้านพักผู้พิษากษา หัวหน้าศาล ถนนบุญวาทย์ เป็นศาลทรงไทยขนาดใหญ่ กว้ายาวประมาณ 10 คูณ 20 เมตร สร้างด้วยไม้สัก สลักลวดลายที่หน้าจั่วอย่างสวยงาม เป็นศาลตัดสินความของทางราชการ ภายในศาลมีแท่นสำหรับเจ้านาย หรือบัลลังก์ของจ่าบ้าน หรือผู้พิพากษา

สมัยโบราณ เมื่อมีคดีความที่จะต้องพิพากษาตัดสินก่อนจะให้การต่อศาล คู่กรณีต้องไปสาบานต่อหน้าหอเล็กๆ ที่กล่าวนี้ คือ ที่สิงสถิตของเจ้าพ่อกว้าน และศาลสถิตยุติธรรมก็พลอยมีชื่อเรียกว่า ศาลเจ้าพ่อกว้านตามไปด้วย

ต่อมามีการสร้างศาลยุติธรรมขึ้นใหม่ (ศาลจังหวัดปัจจุบัน) การชำระคดี จึงได้ย้ายไปทำกันที่ศาลใหม่ ทางการจึงได้รื้อศาลเจ้าพ่อกว้านหลังเดิมมาสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย เพื่อเป็นการอนุรักษ์เอาไว้ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2479 และโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยได้ใช้ศาลเจ้ากว้านเป็นสโมสรลูกเสือ และใช้เป็นสถานที่อบรมครูจังหวัด ต่อมาได้ใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียน ชั้น ม. 1 นักเรียนบุญวาทย์ครั้งนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นลูกเจ้ากว้านด้วย

ในพ.ศ. 2497 โรงเรียนได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมถึงบริเวณศาลเจ้าพ่อกว้าน ดังนั้นศาลเจ้าพ่อกว้านเดิมจึงถูกรื้อถอน บางส่วนของชิ้นไม้ที่ประกอบเป็นศาลถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดเมืองศาสน์บ้าง วัดพระแก้วดอนเต้าบ้าง และทางโรงเรียนได้สร้างศาลเล็กๆ ขึ้นมาแทน เพื่อเป็นที่สถิตย์ของเจ้าพ่อกว้าน ต่อมาได้ย้ายมาสร้างใหม่ให้ใหญ่โตสวยงามขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน

ทุกครั้งที่มีงานสำคัญ หรือมีกิจกรรมของโรงเรียน ครูและนักเรียนบุญวาทย์ฯ จะไปบอกกล่าวขอความคุ้มครอง ขอกำลังใจจากเจ้าพ่อกว้าน ทุกคนสำนึกว่า นอกจากความเป็นลูกเจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ เลือดแดง - ขาวแล้ว ชาวบุญวาทย์ฯ ยังเป็นลูกเจ้าพ่อกว้านด้วย

เจ้ากว้าน[แก้]

ตามที่ปรากฏในหนังสือ "ที่ระลึก วันครบ 60 ปี บุญวาทย์" โดยแหลนน้อย กล่าวไว้ว่า เจ้ากว้าน เป็นเจ้าพ่อศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ความสำคัญของเจ้ากว้านคงพอๆ กับเจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งนี้สันนิษฐานจากการเซ่นสังเวยทุกครั้งที่มีการสังเวยเจ้าพ่อหลักเมือง จะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของเซ่นไปสังเวยเจ้าพ่อกว้านอยู่เสมอ เมื่อเกิดศึกสงครามทหารจะออกรบ หรือเมื่อตำรวจตามจับผู้ร้ายสำคัญ จะต้องไปบวงสรวงเจ้ากว้านเสียก่อน เครื่องเซ่นมีมีหมูดำปลอด 1 ตัว ไก่คู่ ตีนหมู (สี่ตัว) วัวกีบผึ้ง หางไหม 1 ตัว สมัยก่อนไม่มีที่นั่ง (ม้าขี่คนทรง) การบวงสรวงตกเป็นหน้าที่ของลุงแก่ๆ คนหนึ่ง ชื่อลุงแสน ภวังค์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อนั้น เป็นที่นับถือตั้งแต่เจ้าผู้ครองนครมาจนถึงราษฏรสามัญ ทุกๆปีจะมีการบวงสรวงเซ่นไหว้ประจำปีในเดือน 9 เหนือ แรม 5ค่ำ ไม่มีการเชิญเข้าทรงและฟ้อนฝี ดังเช่นปัจจุบัน "