ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช
เกิด13 ตุลาคม พ.ศ. 2493
อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
เสียชีวิต17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 (อายุ 59 ปี)
อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน
สัญชาติไทย
อาชีพข้าราชการพลเรือน
มีชื่อเสียงจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
คู่สมรสนางปิยธิดา ตรีเดช
บุตรนายชาญวิทย์ ตรีเดช
นายศักดา ตรีเดช

ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช (13 ตุลาคม พ.ศ. 2493 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553) อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประวัติ[แก้]

ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช หรือ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ที่อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (สุขาภิบาล) รางวัลเหรียญทอง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2515 จากนั้นเข้าทำงานในบริษัทเอกชนเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะได้รับทุน ก.พ. ให้ไปต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านการจัดการคุณภาพน้ำ มหาวิทยาลัยทูเลน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2523

สำหรับชีวิตครอบครัว ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช สมรสกับนางปิยะธิดา ตรีเดช มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายชาญวิทย์ ตรีเดช ได้รับทุน ก.พ. กำลังศึกษาปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่วิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน สหราชอาณาจักรอังกฤษ และนายศักดา ตรีเดช กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบรูเนล สหราชอาณาจักรอังกฤษ

การทำงาน[แก้]

หลังจากจบปริญญาเอก ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช กลับมารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ระดับ 4 สังกัดกองมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และได้รับราชการเรื่อยมาจนก้าวหน้าเป็นผู้อำนวยการกอง เป็นรองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ต่อมามีการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 จัดตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแยกออกจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่ง ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนขึ้นเป็นปลัดกระทรวง และในปี พ.ศ. 2550 ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับการผลักดันจากนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้าราชการที่ทำงานในด้านนี้มาก่อน[1]

การทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากร[แก้]

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับการยอมรับในเรื่องผลงานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนนโยบายยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การผลักดันโครงการดาวเทียมธีออส ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการจัดตั้งป่าชุมชนรอบเขตป่าอนุรักษ์ เป็นต้น

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เป็นหนึ่งในคณะที่ร่วมเดินทางไปประชุมเรื่องเขาพระวิหารที่ประเทศบราซิล กับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับการชื่นชมว่ามีความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องข้อมูลเป็นอย่างมาก ด้วยความสามารถ และเป็นข้าราชการที่มีประวัติดีมาโดยตลอด ทำให้มีการเตรียมเสนอชื่อ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ ในสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2553[2]

การเสียชีวิต[แก้]

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก บริเวณอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ระหว่างเดินทางไปตรวจราชการที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯคนใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-27. สืบค้นเมื่อ 2010-08-22.
  2. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ[ลิงก์เสีย]
  3. กำหนดการสวดพระอภิธรรม และพระราชทานเพลิงศพ (จากสำนักบริหารงานกลาง ทส 0901.201/ว6644 ลว.25 ส.ค. 53)
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๙, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙