พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศรีชัย โรจนกุล)
เสวกโท นายกองเอก
พระยาชำนาญอักษร
(ปลอบ โรจนกุล)
ปลัดกรมราชเลขาธิการ
กระทรวงวัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2466 – พ.ศ. 2470
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปลัดกรมกองสารบรรณ
กรมบัญชาการ กระทรวงวัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2466 – พ.ศ. 2470
ก่อนหน้าพระยาราชสาส์นโสภณ (สอาด ชูโต)
ถัดไปไม่ปรากฏ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด29 มีนาคม พ.ศ. 2428
แขวงบ้านช่างหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์
เสียชีวิต25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 (42 ปี)
แขวงบ้านช่างหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์
บุพการี
ญาติร.อ.ต. โปรด โรจนกุล (น้องชาย)
อาชีพข้าราชการ, ขุนนาง
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
สังกัดกองเสือป่า
ประจำการพ.ศ. 2454 – พ.ศ. 2468
ยศ นายกองเอก
หน่วยกรมปลัดเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

เสวกโท นายกองเอก พระยาชำนาญอักษร (29 มีนาคม พ.ศ. 2428 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470) นามเดิมชื่อ ปลอบ เป็นอดีตขุนนางสำนักพระราชวัง[1]: 177  สมาชิกกองเสือป่า อดีตฝ่ายเลขานุการกรมรัฐมนตรีสภา อดีตปลัดกรม กรมปลัดเสือป่าฝ่ายหนังสือ ประจำกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ในรัชกาลที่ 6 อดีตปลัดกรมราชเลขาธิการ และปลัดกรม กรมบัญชาการ สังกัดกรมราชเลขาธิการในรัชกาลที่ 7

ประวัติ[แก้]

พระยาชำนาญอักษร มีชื่อเดิมว่า ปลอบ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือนห้าปีระกาตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2428[2] มีนิวาสสถานอยู่ที่วังหลังย่านบ้านช่างหล่อ ฝั่งธนบุรี[3]: 358  (ปัจจุบันคือ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรของหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนกุล)[2] มีน้องชายชื่อ รองอำมาตย์ตรี โปรด โรจนกุล[4]

เริ่มรับราชการครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นมหาดเล็ก[5]: 3 [6]: 74  (ยังไม่มีบรรดาศักดิ์) ตั้งแต่วัยเยาวน์อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ได้ศึกษาวิชาในสำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน (ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ โรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2445)[7]: 158  ที่ตึกแถวสองชั้นข้างประตูพิมานไชยศรีทางทิศตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง กระทั่ง พ.ศ. 2446 นายปลอบมหาดเล็กจึงสอบไล่ได้ประโยคปกครอง[2]

เมื่อ พ.ศ. 2448 ได้เป็นอาจารย์มหาดเล็กผู้ช่วยสอนวิชาการเสมียนในโรงเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทวนบรรดาศักดิ์แก่นายปลอบมหาดเล็ก เป็น นายรักษ์ภูวนาถ (ปลอบ)[2] หุ้มแพรมหาดเล็ก ได้ถวายงานเป็นอาจารย์ประจำชั้น และประจำกอง โดยสอนหนังสือวิชาอักษรศาสตร์[8]: 12  แก่นักเรียนมหาดเล็ก (แผนกวิสามัญศึกษา) ในพระราชสำนัก โดยมีหลวงบรรโณวาทวิจิตร์ (หรุ่น ปิยะรัตน์)[9]: 53  เป็นหัวหน้าแผนก[10]: 177  ในวาระเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนมหาดเล็ก[8]: 12 

เมื่อ พ.ศ. 2449 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ นายรักษ์ภูวนาถ (ปลอบ) เป็นเสมียนผู้ช่วยอาลักษณ์ ไปรเวตสิเกรตารีหลวงในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนวิจารณ์ราชหัดถ์ (ปลอบ) ตำแหน่ง เสมียนเอกชั้น ๑ เมื่อ พ.ศ. 2450 ต่อมาได้เป็นพนักงานอาลักษณ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนลิขิตปรีชา (ปลอบ) กรมราชเลขานุการและเป็นเสมียนกองเวรรับส่ง สังกัดกระทรวงมุรธาธร และนายเวรกอง กรมราชเลขานุการและยังเป็นอาจารย์สอนวิชาอักษรศาสตร์ของโรงเรียนมหาดเล็กจนถึงจนถึง พ.ศ. 2452

เมื่อ พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ย้าย ขุนลิขิตปรีชา (ปลอบ) ไปรับราชการที่กรมราชเลขานุการโดยแต่งตั้งให้เป็นปลัดกรม กองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ สังกัดกระทรวงวัง[3]: 358  มีหน้าที่อันเนื่องกับการเลขานุการด้านหนังสือราชการในพระองค์และปฏิบัติงานรับใช้พระมหากษัตริย์ในราชการส่วนพระองค์[11] ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น รองเสวกเอก ขุนลิขิตปรีชา (ปลอบ) ต่อมาได้เลื่อนเป็น หลวงชำนาญอักษร (ปลอบ) เมื่อ พ.ศ. 2454 และเลื่อนเป็นหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) เมื่อ พ.ศ. 2455 และได้รับพระราชทานยศเป็น เสวกตรี เมื่อ พ.ศ. 2457 ตามลำดับ[2]

เมื่อ พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนากองเสือป่าขึ้น หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองเสือป่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชการไปที่กรมปลัดเสือป่า โดยมีตำแหน่ง ผู้รั้งหัวหน้าแผนกหนังสือ[12] กรมปลัดเสือป่า ประจำกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ร.อ. ในรัชกาลที่ 6

เมื่อ พ.ศ. 2456 หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) กับหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนกุล) บิดา ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานนามสกุลสืบตระกูลเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพิษณุโลกในสมัยอยุธยาซึ่งเป็นบรรพบุรุษของท่าน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลว่า โรจนกุล แก่หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) และบิดาของท่าน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 368 ใน สมุดทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน ในรัชกาลที่ 6[13]: 79 

เมื่อ พ.ศ. 2459 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระพิจารย์ราชหัดถ์ (ปลอบ) ปฏิบัติงานราชการด้านหนังสือ รายงาน การทะเบียนกองเสือป่า ขึ้นตรงกับนายกกองเสือป่า โดยมี พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงดำรงตำแหน่งปลัดกรมอยู่ในขณะนั้น ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น เสวกโท เมื่อ พ.ศ. 2462

เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) ถือศักดินา 1600 มีตำแหน่งราชการปลัดกรม กองสารบรรณ กรมบัญชาการขึ้นกับกรมราชเลขาธิการ กระทรวงวัง และพระราชทานยศเสือป่าเป็น นายกองเอก ให้ดำรงตำแหน่งแทนพระยาราชสาส์นโสภณ (สอาด ชูโต) และได้รับพระราชทานเหรียญศารทูลมาลา รับราชการสนองพระเดชพระคุณจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตจนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อ พ.ศ. 2470 เสวกโท นายกองเอก พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล) ล้มป่วยด้วยโรคกระเพาะอักเสบ (กระเพาะอาหารพิการ) อาการทรุดจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน สิริรวมอายุได้ 42 ปี[2] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพพระยาชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2472 ที่วัดอมรินทรารามวรวิหาร และพระราชทานเงิน 1,000 สตางค์กับผ้าขาว 4 พับ[14]

บทบาทราชการอื่นๆ[แก้]

นอกเหนือจากงานราชการทั่วไปแล้ว บทบาทราชการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของพระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) ที่ปรากฏไว้ ดังนี้

พัฒนาบุคลากรระบบการปกครองเทศาภิบาล[แก้]

ในสมัยเริ่มมีการปฏิรูประบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล[15]: 366  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงพระราชดำริอยู่ว่า เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลดังพระราชประสงค์ต้องใช้คนที่มีความรู้ในแบบแผนมากขึ้น แม้มีข้าราชการที่ได้ฝึกหัดอยู่ตามมณฑลบ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้ทรงตั้งโรงเรียนขึ้นในกระทรวงมหาดไทย[15]: 366  (ตึกตรงข้ามหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง) ให้เป็นสถานที่ศึกษาวิชาการปกครอง ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก ณ ประตูพิมานไชยศรี[15]: 371  ในพระบรมมหาราชวัง และเพิ่มครูสำหรับวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) กรมมหาดเล็ก เป็นอาจารย์สอนวิชาอักษรศาสตร์[15]: 373  แก่นักเรียนปกครองที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[15]: 388 [16] พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) จึงได้สอนวิชาอักษรศาสตร์เรื่อยมา จนภายหลังโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[15]: 391 

การแปลงพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลพญาไท[แก้]

เมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้แปลงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมหรูที่ดีที่สุดของประเทศเป็นที่เชิดหน้าชูตาทัดเทียมโรงแรมชั้นนำของโลก[17]: 105  กำหนดเปิดอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2469 (ปีศักราชแบบเก่า คือ พ.ศ. 2468) จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) ปลัดกรม ข้าราชสำนักของกระทรวงวัง[17]: 102  นำแผนที่พระที่นั่ง แผนผังห้องพัก และบริเวณโฮเต็ลพระราชวังพญาไท[17]: 103  พร้อมหนังสือราชการนำส่งถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ความว่า :-


เลขที่ ๓๑/๑๐๓๗ วันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘[17]: 103 

พระยาราชอักษร มาแจ้งว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียกแผนที่พระที่นั่งต่าง ๆ และเยนเนอราลแปลนสำหรับพระราชวังพญาไท ไปยังเสนาบดีกระทรวงวัง ถ้าให้มาแล้วให้ส่งไปถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พระยาชำนาญอักษร
กระทรวงวัง

ในคราวเปิดโฮเต็ลพญาไทนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเปิดโฮเต็ลพญาไทวันที่ 18 กุมภาพัน พ.ศ. 2469 (ปีศักราชแบบเก่า คือ พ.ศ. 2468)[18]: 5  หนังสือ Met in Siam[19] ของสำนักงานการท่องเที่ยวสยาม กล่าวถึงโฮเต็ลพญาไท ว่า "สง่างาม รักษาบรรยากาศของวังไว้ครบ โดยเฉพาะห้องชุด Royal Suite ยากยิ่งจะหาโฮเต็ลอื่นใดเสมอเหมือนได้ รสนิยมดีเลิศ สะดวกสบาย ที่ตั้งอยู่ในท้องทุ่งที่สดชื่น เย็นสบาย เงียบสงบ"[20][18]: 3 

โฮเต็ลพญาไทได้ชื่อว่าเป็น โรงแรมเดอลุกซ์แห่งแรกของประเทศไทย[20] เปิดมาถึง พ.ศ. 2475 และปิดตัวลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2475 อันเนื่องจากผลดำเนินงานขาดทุนจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ[18]: 6 

สนับสนุนศิลปะการเชิดหุ่นกระบอก[แก้]

สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) ได้ให้ แม่ครูเคลือบ นักเชิดหุ่นกระบอกฝีมือเอกสังกัดคณะหุ่นกระบอกของหม่อมราชวงศ์เถาะ ปาลกะวงศ์ และเป็นบุตรสาวคนโตของครูเหน่งผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือด้านการเชิดหุ่นกระบอกไทยสมัยรัชกาลที่ 5 พักอาศัยที่บ้านตน และยังให้แม่ครูเคลือบเปิดการเรียนการสอนศิลปะการเชิดหุ่นกระบอก ครูเหน่งผู้นี้มีชื่อเสียงจากการดัดแปลงหุ่นไหหลำเป็นหุ่นไทย และเชิดร้องเล่นหากินอยู่แถบเมืองเหนือ มีประวัติเพียงว่า "นายเหน่ง คนขี้ยา อาศัยวัด อยู่เมืองสุโขทัย จำหุ่นไหหลำดัดแปลงเป็นหุ่นไทยและออกเชิดร้องเล่นหากิน"[21]: 128 

ต่อมานายวงษ์ รวมสุข ศิษย์ของคุณยายสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ ได้มาเรียนศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกกับแม่ครูเคลือบที่บ้านพระยาชำนาญอักษร[22]: 136 [23]: 246 [24] ในกรุงเทพมหานคร กระทั่งนายวงษ์ รวมสุข สามารถตั้ง คณะชูเชิดชำนาญศิลป์ ขณะเป็นลูกศิษย์แม่ครูเคลือบ และมีโอกาสเชิดหุ่นถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[22]: 136 

ครอบครัวและพี่น้อง[แก้]

พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) มีพี่น้องและผู้สืบทอดสกุลที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

  • โปรด โรจนกุล

รองอำมาตย์ตรี โปรด โรจนกุล บุตรหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) เกิดเมื่อวันอังคารวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2437 เป็นผู้ช่วยนายเวร กรมบัญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (ปัจจุบันคือกระทรวงการคลัง) ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2472 ด้วยโรคอัมพาต สิริรวมอายุได้ 35 ปี[4]

  • ขุนโรจนกุลประภัทร (ปอนด์ โรจนกุล)

รองอำมาตย์โท ขุนโรจนกุลประภัทร (ปอนด์ โรจนกุล)[25] ถือศักดินา 800 สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนายอำเภอดังนี้

พ.ศ. 247? – 2474 นายอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
พ.ศ. 2474 – 2475 นายอำเภอเมืองเพ็ชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
พ.ศ. 2475 – 247? นายอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • นายแป้นมหาดเล็ก (ต่อมาคือ ศรีชัย โรจนกุล)

นายแป้นมหาดเล็ก สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี เดิมเป็นข้าราชการทหารมหาดเล็กเป็นทหารม้ารักษาพระองค์ ต่อมารับราชการอยู่ในกรมเสมียนตรามหาดไทย สังกัดกรมมหาดไทย ภายหลังได้ย้ายมาเป็นนายอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ถึง พ.ศ. 2536 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2538 ด้วยวัณโรคปอด

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ยศและบรรดาศักดิ์[แก้]

บรรดาศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2447 นายปลอบมหาดเล็ก[10]: 177 
  • พ.ศ. 2448 นายรักษ์ภูวนาถ (ปลอบ)
  • พ.ศ. 2450 ขุนวิจารณ์ราชหัตถ์ (ปลอบ)
  • พ.ศ. 2450 ขุนลิขิตปรีชา (ปลอบ)[27]
  • พ.ศ. 2454 หลวงชำนาญอักษร (ปลอบ)
  • พ.ศ. 2455 หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ)[2]
  • พ.ศ. 2459 พระพิจารณ์ราชหัดถ์ (ปลอบ)[2]
  • พ.ศ. 2464 พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) ศักดินา 1600[2][28]

ยศข้าราชการกระทรวงวัง[แก้]

  • รองเสวกโท
  • รองเสวกเอก[29]: 90 
  • พ.ศ. 2457 เสวกตรี[2][30]: 183 [31]: 3, 215 
  • พ.ศ. 2462 เสวกโท[2][32]: 3, 712 

ยศกองเสือป่า[แก้]

  • นายหมู่ตรี
  • พ.ศ. 2458 นายหมู่เอก[12]
  • พ.ศ. 2459 นายหมวดตรี[33]
  • พ.ศ. 2460 นายหมวดเอก [34]
  • พ.ศ. 2461 นายกองตรี[3]: 2, 856 [35]
  • พ.ศ. 2462 นายกองโท[36]
  • พ.ศ. 2466 นายกองเอก[37]

ตำแหน่งราชการ[แก้]

พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) มีตำแหน่งราชการดังนี้[38]: 211 [3]: 458 [29]

  • พ.ศ. ไม่ปรากฏ – 2449 มหาดเล็ก เสมียนผู้ช่วยอาลักษณ์ ไปรเวตสิเกรตารีหลวง
  • พ.ศ. 2449 – 2451 มหาดเล็กหุ้มแพร กรมมหาดเล็ก และอาจารย์ผู้สอนวิชาอักษรศาสตร์[15]: 373  โรงเรียนมหาดเล็ก พระบรมมหาราชวัง
  • พ.ศ. 2451 – 2451 เสมียนกองเวรรับส่ง กระทรวงมุรธาธร
  • พ.ศ. 2451 – 2452 นายเวรกอง กรมราชเลขานุการ
  • พ.ศ. 2454 – 2456 ปลัดกรม กองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ[3]: 358  ในรัชกาลที่ 6 (วาระพระยาศรีราชอักษร (มา กาญจนาคม) เป็นเจ้ากรม)[39][40]
  • พ.ศ. 2456 – 2458 ปลัดกรม กองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการในพระองค์ และเลขานุการกรมรัฐมนตรีสภา กระทรวงมุรธาธร
  • พ.ศ. 2458 – 2459 รั้งตำแหน่งปลัดกรม (หัวหน้าแผนกหนังสือ) กรมปลัดเสือป่า กองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ร.อ. ในรัชกาลที่ 6
  • พ.ศ. 2459 – 2462 ปลัดกรม (ฝ่ายหนังสือ) กรมปลัดเสือป่า กองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ร.อ.
  • พ.ศ. 2466 – 2470 ปลัดกรมราชเลขาธิการ และปลัดกรม กองสารบรรณ (แผนกที่ 2) กรมบัญชาการ ขึ้นกับกรมราชเลขาธิการในรัชกาลที่ 7 กระทรวงวัง[1]: 177 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

มรดก[แก้]

สถานที่

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 สำนักราชเลขาธิการ. (2544). ประวัติสํานักราชเลขาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ. 379 หน้า. ISBN 978-9-748-04979-3
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 ข่าวตาย. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๗๐, ๑๑ ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๔๔. หน้า ๒,๙๕๙ – ๒,๙๖๐.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 นาครสงเคราะห์ ประจำพระพุทธศก ๒๔๕๖. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2456.
  4. 4.0 4.1 ข่าวตาย. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๗๒, ๕ มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๔๖. หน้า ๓,๕๑๒.
  5. ราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), พระยา. (2517). บทความบางเรื่อง และพจนานุกรมฉบับเพิ่มเติม. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ณ เมรุวัดโสมนัสวรวิหาร วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๗. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก. 305 หน้า.
  6. ติน ปรัชญพฤทธิ์. (2536). วิชาชีพนิยมของระบบราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : วิวัฒนาการและผลกระทบต่อสังคมไทย. กรุงเทพฯ :โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 277 หน้า. ISBN 978-9-745-83411-8
  7. กรมศิลปากร. (2503). "ต้นกำเนิดของคณะรัฐประศาสนศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย," ใน เทศาภิบาล พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถกระวีสุนทร (สงวน ศตะรัต-อรรถกระวีสุนทร) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม. 195 หน้า.
  8. 8.0 8.1 เพ็ญศรี ดุ๊ก และคณะ. (2530). "ความทรงของนักเรียนหมายเลข ๑: พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน)", ใน ๗๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : รำลึกอดีต. จัดพิมพ์ในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๐. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 437 หน้า. ISBN 974-568-484-8
  9. คณะกรรมการสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ. (2547). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. องคมนตรี ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ. 303 หน้า.
  10. 10.0 10.1 กรมเสนาธิการทหารบก. (2450). "อาจารย์มหาดเล็ก (คือเป็นผู้ดูแลและสั่งสอนนักเรียน)," ใน สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการประจำปี ร.ศ. ๑๒๖. พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ. 357 หน้า.
  11. ประวัติความเป็นมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2565.
  12. 12.0 12.1 พระราชทานยศเสือป่า. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๕๘, ๑๙ มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๒. หน้า ๓,๑๒๕.
  13. คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ ฯลฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2529). ทะเบียฬนามสกุล ที่เราได้ให้ไป วชิราวุธ ปร. กรุงเทพฯ: พี.เพรส.
  14. พระราชทานเพลิงศพ. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๗๒, ๒๘ เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๔๖. หน้า ๒๕๗.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 กรมศิลปากร. (2495). เทศาภิบาล พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: คลังวิทยา. 444 หน้า.
  16. ประกาศให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓).
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 ขนิษฐา บัวงาม. (2557). พระมหาธีรราชเจ้ากับโฮเต็ลวังพญาไท. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. 152 หน้า. ISBN 978-616-04-2003-2, 978-616-04-2200-5
  18. 18.0 18.1 18.2 สุจินต์ สุขะพงษ์. (2563). "การจัดการโรงแรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: กรณีศึกษาโฮเต็ลวังพญาไท," วารสารศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ, 2(1). (มกราคม-มิถุนายน). ISSN 2697-5572
  19. Siam Tourist Bureau. (1926). Met in Siam. Bangkok: Siam Tourist Bureau.
  20. 20.0 20.1 กำเนิด "โฮเต็ลพญาไท" พระราชวังสมัย ร.6 สู่กิจการโรงแรมหรู 7 ปี และฉากสุดท้ายเมื่อ 2475. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์, 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566.
  21. คณะกรรมการจัดทำหนังสือวันสถาปนากรมศิลปากร. (2539). "การแสดงมหรสพเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี," ใน ๘๕ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 151 หน้า
  22. 22.0 22.1 ปิยวดี มากพา. (2551). รายงานการวิจัย การสังเคราะห์งานวิจัยทางนาฏศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 231 หน้า.
  23. ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์. (2538). การศึกษาวิวัฒนาการหุ่นกระบอกไทย: สื่อพื้นบ้านในภูมิภาคตะวันตก. กรุงเทพฯ: ศิริวัฒนา. 361 หน้า. ISBN 978-9-748-92246-1
  24. หุ่นกระบอก: วัฒนธรรมไทย(คนไทยควรสืบสาน). 11 ธันวาคม 2550. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566.
  25. พระราชทานบรรดาศักดิ์. เก็บถาวร 2023-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๗๔, ๑๕ พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๔๘. หน้า ๓,๐๔๑.
  26. การประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ช้างเผือก และมงกุฎไทย พ.ศ. 2527. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 102 ตอนที่ 17, 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528, หน้า 1,184.
  27. ภาษาและหนังสือ ฉบับที่ 4-9. กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2515.
  28. พระราชทานสัญญาบัตร์บรรดาศักดิ์. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๖๔, ๒๙ มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๘. หน้า ๓,๒๑๔.
  29. 29.0 29.1 "ทำเนียบตำแหน่งข้าราชการ กองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ", ใน นาครสงเคราะห์ ประจำพระพุทธศก ๒๔๕๖. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2456.
  30. สำนักราชเลขาธิการ. (2544). ประวัติสํานักราชเลขาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ. 379 หน้า. ISBN 978-9-748-04979-3
  31. พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 34, 3 กุมภาพันธ์ 2460.
  32. พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 37, 6 กุมภาพันธ์ 2463.
  33. พระราชทานยศเสือป่า. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๕๙, ๒ กรกฎาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๓. หน้า ๘๐๗.
  34. พระราชทานยศเสือป่า. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๖๐, ๒๘ ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๔. หน้า ๒,๑๐๒.
  35. พระราชทานยศเสือป่า. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๖๑, ๑๙ มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๕. หน้า ๒,๘๕๖.
  36. พระราชทานยศเสือป่า. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๖๒, ๙ พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๖. หน้า ๒,๒๑๘.
  37. พระราชทานยศเสือป่า. เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (๒๔๖๖, ๑๖ มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๔๐. หน้า ๔,๓๙๐.
  38. กรมเสนาธิการทหารบก. (2450). "ตำแหน่งข้าราชการกรมราชเลขานุการ", ใน สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการ ประจำปี ร.ศ. ๑๒๖. พระนคร: กรมเสนาธิการทหารบก.
  39. สุมน กาญจนาคม. (2478). ปิตุทิศ. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาศรีราชอักษร (มา กาญจนาคม). พระนคร: โรงพิมพ์ห้องสมุดไทย.
  40. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า, ชินวรสิริวัฒน์, พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวง, และนิติศาสตร์ไปศาลย์, พระยา. (2478). พุทธาทิภาษิต. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาศรีราชอักษร (มา กาญจนาคม) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 18 มกราคม 2478. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  41. พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์. (๒๔๕๗, ๑๔ มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๑. หน้า ๒,๘๕๑.
  42. พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์. (๒๔๕๖, ๑๗ พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๓๐. หน้า ๑,๘๙๙.
  43. สิริทัศนา (โสมนัส สุจริตกุล). (2551). สมเด็จอินทร์: Queen Indrasakdi Sachi, consort of King Vajiravudh. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ. ISBN 978-9-741-08045-8
  44. นิตยสารพลอยแกมเพชร, 16(379): 40. (15 พฤศจิกายน 2550).
  45. ส่งเครื่องราชอิศริยาภรณ์ไปพระราชทาน. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43, 2 พฤษภาคม 2469.
บรรณานุกรม
  • กฤตภาส โรจนกุล. (2554). เอกสารการค้นคว้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเรื่อง โรจนกุล ชีวประวัติและเชื้อสายสัมพันธ์. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่). อ้างใน ลิขิตปรีชา (คุ้ม), หลวง. (2378). ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า ต้นฉบับลายมือคัดของนายคุ้ม ร.ศ. ๕๓. กรุงเทพพระมหานคร, [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่).