วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
เกิดวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
7 สิงหาคม พ.ศ. 2495 (71 ปี)
กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
การศึกษาโรงเรียนวัดสังเวช
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
มหาวิทยาลัยชิคาโก
อาชีพนักวิชาการ
นักเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน
มีชื่อเสียงจากนักวิชาการ
ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547
ญาติสถาบันสหสวรรษ

ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการของสถาบันสหสวรรษและกรรมการผู้ทรงวุฒิวิชาการสถาบันการสร้างชาติ[1]ในอดีตเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ช่วง พ.ศ. 2549-2551 กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ. ทีโอที (2550) และ บมจ. ผาแดงอินดัสทรี (2541-2543) อีกทั้งเคยร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของ บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ทริส" (2536-2541) ก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายแผนงานธนาคารกรุงเทพ (2531-2535)

นอกจากนั้น ยังเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศ ราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนหลายแห่ง เช่น ธนาคารโลก สภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงาน ก.พ. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัด

ทางด้านวิชาการ เคยเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษารัฐวิสาหกิจ สังกัดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่า (University of North Carolina) นอกจากการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศแล้ว ดร.วุฒิพงษ์ ยังได้ผลิตบทความทางวิชาการมากมาย ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การบริหารธุรกิจ และนโยบายสาธารณะ

ดร.วุฒิพงษ์ ยังเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “คู่มือทรราช” (2543) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังสือเสียดสีประชดประชันการเมืองที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง รวมถึงหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษในแนวพุทธวิทยาศาสตร์อีกหลายเล่มชื่อ "Dharmodynamics" (2547) "Neodharma" (2555) "Dharmoscience" (2555) และ "Sankhara" (2557) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งหนังสือภาษาอังกฤษสำหรับช่วยสอนวิธีการคิดด้วยภาพที่ชื่อว่า "Draw Your Thoughts" (2557)

ทางด้านการศึกษา ดร.วุฒิพงษ์ สอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทย แผนกวิทยาศาสตร์ ของปีการศึกษา 2512[ต้องการอ้างอิง] ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ. 2513 และทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ พ.ศ. 2520 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสสาชูเสตต์ หรือ เอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology, MIT) ในปี พ.ศ. 2518 ปริญญาโทสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ในปี พ.ศ. 2519 ปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ และปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ในปี พ.ศ. 2522 และ 2527[ต้องการอ้างอิง]

การเมือง[แก้]

วุฒิพงษ์และสถาบันสหสวรรษได้ต่อสู้ทางการเมืองร่วมกับประชาชนคนไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อการคัดค้านและขัดขวางนโยบายที่เอาเปรียบประชาชนของรัฐบาลชุดต่างๆ โดยปล่อยให้กลุ่มธุรกิจใหญ่ที่ผูกโยงกับอำนาจรัฐ เข้ามากอบโกยและหาผลประโยชน์จากประชาชนและผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม การต่อสู้ทางการเมืองของวุฒิพงษ์ มิได้เกิดจากการฝักใฝ่พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากที่ได้เคยต่อสู้กับทั้งรัฐบาลความหวังใหม่ (2540) รัฐบาลประชาธิปัตย์ (2542-43) และได้ร่วมต่อสู้เพื่อล้มระบอบทักษิณของรัฐบาลไทยรักไทย (2548-49)

รูปแบบของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวุฒิพงษ์ นั้นมีหลากหลายนับตั้งแต่การขึ้นปราศรัย บรรยาย ให้ความเห็นผ่านสื่อมวลชน จัดเสาวนาประชาชน จัดทำใบปลิว พิมพ์หนังสือ และผลิตซีดี อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดและคงเส้นคงวาในการแสดงความคิดเห็นสาธารณะก็คือ วุฒิพงษ์จะมิได้เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นแต่จะเสนอแนวทางออกสำหรับบ้านเมืองอยู่เสมอ

เขาได้เขียนหนังสือชื่อ "คู่มือทรราช" ในปี พ.ศ. 2543 ที่พูดถึงนักการเมืองทรราช คอร์รัปชั่น ซึ่งต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้ถูกอ้างอิงถึงในช่วงวิกฤตการการเมืองไทยในปี พ.ศ. 2548 ด้วย[2]

เขาได้ขึ้นเวทีปราศรัยของทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการชุมนุมเมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 ซึ่งในระหว่างนี้ยังเป็นพิธีกรในรายการเสวนาทางการเมืองด้วยตนเอง ที่ห้องประชุมจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการถ่ายทอดสดทางช่องนิวส์วัน

นอกจากนี้แล้วยังเคยสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ด้วย โดยได้หมายเลข 12 โดยได้รับการสนับสนุนจาก นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และ นพ.ประเวศ วะสี 2 ราษฎรอาวุโส แต่ไม่ได้รับการเลือก

เขาเคยร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[3]

กรณีความขัดแย้งกับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร[แก้]

ในระหว่างการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นเขาเป็นผู้คัดค้านการอนุมัติงบ 800 ล้านบาทของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้กองทัพ และการอนุมัติงบประมาณเกินความจำเป็นให้ตนเองพวกพ้อง ทำให้เป็นที่วิพากวิจารณ์กันอย่างมากถึงความเหมาะสม ซึ่งนำมาซึ่งความขัดแย้งกับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งวุฒิพงษ์ได้กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า "หากบอร์ดทีโอทีไม่ให้ทำงานก็พร้อม และไม่รู้สึกหนักใจอะไร เพราะได้ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อสู้กับอำนาจไม่ได้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้"[4]

ซึ่งในเรื่องนี้ ทำให้ต่อมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำของทางกลุ่มพันธมิตรฯได้ออกมาโจมตีวุฒิพงษ์ด้วย [5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]