วีลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วีล่า)
ภาพวาดลายเส้นของวีลา

วิลา (vila) หรือ วีลา (víla; [ˈviːla]; พหูพจน์: vile, หรือ víly [ˈviːli]; บอสเนีย-โครเอเชีย-มอนเตเนโกร-เซอร์เบีย: vila; สโลวีเนีย: vila; บัลแกเรีย: vila, diva, juda, samovila, samodiva, samojuda; สลาฟตะวันออกเก่า: vila; สโลวัก: víla; เช็ก: víla, samodiva, divoženka) เป็นภูตประเภทหนึ่งตามตำนานของชาวสลาฟ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับนิมฟ์ ในตำนานกรีก

สำหรับวิลานั้นเป็นตำนานที่ชาวสลาฟคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยชาวสลาฟมองว่าวิลานั้น เป็น “นางไม้” ประเภทหนึ่ง มีคุณต่อผู้คนและเคารพนับถือพวกเขา ชื่อวิลาจึงมาผูกเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในแถวพื้นที่ที่ชาวสลาฟได้ตั้งรกรากดินแดนอาศัยอยู่

สำหรับวิลานั้น กำเนิดมาจากวิญญาณของเด็กสาวบริสุทธิ์ ทำให้ส่วนมากวิลาจึงมักปรากฎตัวในรูปลักษณ์ของสตรีเพศที่มีความงดงามหาใดเปรียบ พวกเธอมักจะปรากฎตัวในฐานะผู้หญิงผมยาวสลวยงดงาม นอกจากนี้พวกเธอยังสามารถแปลงกายตนเองเป็นสัตว์ชนิดอื่น อาทิเช่น ห่าน หงส์ ม้า เหยี่ยว และหมาป่าได้ด้วย

สำหรับลักษณะนิสัยของเหล่านางวิลานั้น พวกเธอมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พวกเธอมักจะชอบจับกลุ่มกันเต้นรำเป็นวงกลม พวกเธอนั้นมีความชอบในมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีความกล้าหาญจำพวกอัศวิน นักรบ หรือวีรบุรุษ ตามความเชื่อของชาวสลาฟแล้ว คนพวกนี้มักจะได้รับความช่วยเหลือจากเหล่านางวิลา ซึ่งจะมาในรูปของคำอวยพร บ้างก็เป็นอาวุธเวทมนตร์ชั้นดี หรือว่าเป็นเวทมนตร์คุ้มครอง นอกจากนี้เหล่าอัศวินหรือนักรบผู้กล้าหาญทุกคนก็จะมีวิลาคุ้มครองประจำตัวไป ซึ่งพวกเธอเหล่านี้จะเป็นเหมือนกับ “พี่น้องร่วมสาบาน” ที่คอยช่วยเหลือและคุ้มครองผู้กล้าให้ปลอดภัยในหลาย ๆ สถานการณ์ ดั่งจะเห็นได้จากตำนานเจ้าชายมาร์โค (Kraljević Marko) ตำนานกษัตริย์ผู้กล้าของชาวเซอร์เบีย ที่วิลาชื่อว่า ราวิโยยลา (Ravijojia) เป็นภูติประจำตัว[1]

วิลานั้นมีความเป็นมิตรกับมนุษย์ อย่างไรก็ตามวิลาก็มีความเจ้าคิดเจ้าแค้น หากมีใครก็ตามไปดูถูก เหยียดหยามหรือทำร้ายพวกนาง พวกนางก็จะแก้แค้นด้วยความพยาบาท จนกระทั่งคนที่ทำตายตายไปนั่นเอง

ในส่วนชื่อวิลา (Vila) นั้นมาจากไหนยังไม่อาจจะชี้ชัดได้ แต่คาดการณ์กันว่าชื่อของวิลานั้นมาจากคำว่า วิติ (Viti) หรือ วายุ (vāyú) ซึ่งมีความหมายถึง ‘สายลม’ นั่นเอง

อ้างอิง[แก้]

  1. มาดามอักปา. ตำนานนางพญาแห่งผืนป่า. ต่วย'ตูน พิเศษ, ปีที่ 48 ฉบับที่ 472 ธันวาคม 2565.